ตรัง - ชาวบ้านบริเวณริมชายหาดปากเมง แหล่งท่องเที่ยวชื่อดังของจังหวัดตรัง หวั่นข่าวแผ่นดินไหวหลังเกิดขึ้นบ่อยครั้ง เนื่องจากทางจังหวัดเว้นว่างการซ้อมแผนหนีภัยมาหลายปี รวมทั้งป้ายเตือนภัย และอาคารหลบภัยก็เริ่มพังไร้คนดูแลซ่อมแซม
วันนี้ (6 ก.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายสมนึก เซ่งง่าย แกนนำชาวบ้านบริเวณชายหาดปากเมง ม.4 ต.ไม้ฝาด อ.สิเกา แหล่งท่องเที่ยวชื่อดังของจังหวัดตรัง กล่าวว่า เนื่องจากในช่วงระยะนี้มักจะได้ยินข่าวคราวเกี่ยวกับแผ่นดินไหว หรือการเตือนภัยสึนามิอยู่เป็นประจำ ทำให้ผู้คนริมหาดปากเมงเกิดความรู้ตื่นตระหนกทุกครั้ง โดยเฉพาะการเกิดแผ่นดินไหวในทะเลครั้งล่าสุด ที่อยู่ไม่ห่างจากจังหวัดตรังมากนัก
แต่ปรากฏว่า ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาทางจังหวัดกลับไม่ค่อยให้ความสำคัญเรื่องภัยพิบัติเท่าที่ควร และไม่มีการซ้อมแผนหนีภัยสึนามิ ส่วนป้ายเตือนภัยสึนามิตลอดแนวชายฝั่งหาดปากเมง หาดเจ้าไหม ไปจนถึงหาดยาว ระยะทางกว่า 10 กิโลเมตร ได้ชำรุดเสียหายจนมองไม่เห็นสัญลักษณ์แล้ว โดยนับตั้งแต่เกิดสึนามิที่จังหวัดตรัง เมื่อปี 2547 ก็ไม่เคยมีการซ่อมแซม หรือปรับปรุงใดๆ เลย รวมไปถึงอาคารหลบภัยสึนามิซึ่งตั้งอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม และสร้างเสร็จมานานกว่า 2 ปีแล้ว
ทั้งนี้ ล่าสุดปรากฏว่า หลังคาเริ่มรั่ว และหญ้าก็เริ่มขึ้นรกรุงรัง ซึ่งเมื่อสอบถามไปยังองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ไม้ฝาด และอุทยาน ต่างอ้างว่ายังไม่ได้รับส่งมอบ ทั้งๆ ที่ดำเนินการโดยงบประมาณของแผ่นดิน แต่กลับไม่ทราบสังกัด ที่สำคัญคือ ไปสร้างอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม แต่หากท้ายสุดแล้วกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ไม่เห็นชอบ ทุกหน่วยงานก็คงไม่สามารถเข้าไปดำเนินการใดๆ ได้ และจะมีผลให้อาคารหลบภัยสึนามิต้องถูกทิ้งร้างไม่ได้ใช้ประโยชน์ตลอดไป
นอกจากนั้น ยังได้รับการร้องเรียนจากเจ้าหน้าที่ อบต.ไม้ฝาด ว่า เรือยางที่ใช้ในการอพยพชาวบ้านซึ่งจัดซื้อตามโครงการช่วยเหลือผู้ประสบภัยสึนามิเมื่อหลายปีก่อน ก็ยังไม่มีงบประมาณในการซ่อมแซม ทำให้ผู้คนริมหาดปากเมงต่างรู้สึกกังวลว่า หากเกิดสึนามิอีกครั้งเหมือนกับปี 2547 คงเกิดความเสียหายไม่น้อย เพราะจนถึงทุกวันนี้ไม่ว่าจะเป็นการซ้อมแผนหนีภัยก็เว้นว่างกันไปหลายปีแล้ว ส่วนป้ายชี้เส้นทางหนีสึนามิก็หักโค่นล้มลงเป็นแถว แถมตัวหนังสือ หรือลูกศรชี้เส้นทางก็แลดูไม่เห็นแล้ว