xs
xsm
sm
md
lg

สมุนไพรไม้เป็นยา : หญ้าแฝกหอม ยับยั้งเชื้อรา ต้านเบาหวาน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


หญ้าแฝกหอม มีชื่อวิทยาศาสตร์ คือ Vetiveria zizanioides Nash. ชื่อภาษาอังกฤษว่า Vetiver grass, Khuskhus, Cuscus, Sevendara grass มีชื่อเรียกอื่นๆ เช่น หญ้าแฝกหอม (นครราชสีมา, ภาคกลาง), แกงหอม แคมหอม (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ) เป็นต้น เป็นพืชที่มีการกระจายพันธุ์อย่างกว้างขวาง สันนิษฐานว่ามีต้นกำเนิดอยู่ในประเทศอินเดีย

คนไทยคุ้นเคยกับหญ้าแฝกมานานแล้ว สมัยก่อนนิยมนำใบหญ้าแฝกมาใช้มุงหลังคาบ้าน และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงศึกษาศักยภาพของหญ้าแฝก ซึ่งมีคุณสมบัติพิเศษในการช่วยป้องกันการชะล้างพังทลายของหน้าดิน และอนุรักษ์ความชุ่มชื้นใต้ดิน จึงได้พระราชทานพระราชดำริให้ดำเนินการศึกษาทดลองหญ้าแฝกในการป้องกันการเสื่อมโทรมและพังทลายของดิน หญ้าแฝกจึงได้กลายมาเป็นกำแพงธรรมชาติในการอนุรักษ์และคืนธรรมชาติสู่ผืนดิน

ต้นหญ้าแฝกขึ้นเป็นกอแน่น มีขนาดค่อนข้างใหญ่ โคนกอเบียดแน่นไม่มีไหล ส่วนโคนของลำต้นจะแบน โดยเกิดจากส่วนของโคนใบที่แบนเรียงซ้อนกัน มีรากเหง้าเป็นฝอยอยู่ใต้ดินและมีกลิ่นหอม

ใบแทงออกมาจากเหง้าที่อยู่ใต้ดิน เป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับ ใบแคบยาว ขอบเรียบ ปลายใบสอบแหลม ใบยาวตั้งตรงสูงประมาณ 1-2 เมตร

ดอกออกบริเวณปลายยอดเป็นช่อตั้ง ลักษณะเป็นรวง รูปรี ปลายสอบ ด้านหลังดอกมีผิวขรุขระ มีหนามแหลมขนาดเล็ก โดยเฉพาะที่บริเวณขอบ ก้านช่อดอกยาวกลมยื่นพ้นจากลำต้น ก้านช่อดอกและรวงมีความสูงประมาณ 1-2 เมตร มีดอกย่อยขนาดเล็กสีม่วงอมเขียวจำนวนมาก

ผลเป็นผลแห้ง ไม่แตก เมล็ดมีลักษณะเป็นรูปรี หัวท้ายมน ผิวเรียบ เปลือกบาง

ส่วนรากเป็นรากฝอยกระจายแผ่กว้างออก สานกันแน่น หยั่งลึกในแนวดิ่งลงใต้ดินไม่แผ่ขนาน และมีรากฝอยขนาดใหญ่อยู่เป็นจำนวนมาก

ในประเทศไทยพบหญ้าแฝก 2 ชนิด ซึ่งมีลักษณะภายนอกของใบที่แตกต่างกัน คือ

1. หญ้าแฝกหอมหรือหญ้าแฝกลุ่ม (Vetiveria zizanioides Nash) ใบกว้างประมาณ 0-6-1.2 ซม. และยาวประมาณ 45-100 ซม. ใบสีเขียวเข้ม หลังใบโค้งปลายแบน เนื้อใบค่อนข้างเนียน มีไขเคลือบทำให้ดูมัน ส่วนท้องใบจะออกเป็นสีขาวซีดกว่าหลังใบ

2. หญ้าแฝกดอน (Vetiveria nemoralis A. Camus) ใบกว้างประมาณ 0.4-0.8 ซม. และยาวประมาณ 35-80 ซม. ใบสีเขียวซีด หลังใบพับเป็นสันสามเหลี่ยม เนื้อใบหยาบสากมือ มีไขเคลือบน้อยทำให้ดูกร้าน ส่วนท้องใบจะเป็นสีเดียวกับหลังใบ แต่จะมีสีซีดกว่า

ส่วนสำคัญของหญ้าแฝกที่ถูกนำไปใช้ประโยชน์ทางยา คือ “ราก” ในตำรายาไทย กล่าวไว้ว่า รากมีกลิ่นหอมมีสรรพคุณช่วยกล่อมประสาท ใช้ปรุงเป็นยาขับลมในลำไส้ บำรุงโลหิต แก้ปวดท้อง จุกเสียด แก้ท้องอืด ขับปัสสาวะ แก้ไข้ แก้ไข้พิษ แก้ไข้อันเกิดแต่ซาง แก้โรคประสาท แก้ท้องเดิน แก้ร้อน ต้มอาบทำให้กระชุ่มกระชวย

บัญชียาจากสมุนไพร ที่มีการใช้ตามองค์ความรู้ดั้งเดิม ตามประกาศคณะกรรมการแห่งชาติด้านยา (ฉบับที่ 5) ปรากฏการใช้รากแฝกหอม ในยารักษาอาการโรคในระบบต่างๆของร่างกาย รวม 4 ตำรับ คือ

1. ตำรับ “ยาหอมเทพจิตร” สรรพคุณแก้ลมกองละเอียด เช่น อาการหน้ามืดตาลาย สวิงสวาย ใจสั่น
2. ตำรับ “ยาหอมนวโกฐ” สรรพคุณแก้ลมวิงเวียน คลื่นเหียน อาเจียน แก้ลมปลายไข้
3. ตำรับ “ยาประสะกานพลู” สรรพคุณแก้อาการปวดท้อง จุกเสียดแน่นเฟ้อจากอาหารไม่ย่อยเนื่องจากธาตุไม่ปกติ
4. ตำรับ “ยาเขียวหอม” สรรพคุณบรรเทาอาการไข้ แก้ร้อนในกระหายน้ำ แก้พิษหัด พิษสุกใส

นอกจากนี้ ยังมีปรากฏอยู่ในตำรับ “ยามโหสถธิจันทน์” ใช้เข้าเครื่องยาแฝกหอม ร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่นอีก 15 ชนิด แล้วนำมาบดให้ละเอียดทำเป็นแท่ง ใช้น้ำดอกไม้เป็นกระสาย ใช้ชโลมตัวหรือกินเป็นยาแก้ไข้

และยังปรากฏอยู่ในตำรับยาอายุรเวทของอินเดีย ที่นำมาใช้เป็นยาลดไข้ แก้กระหาย และแก้อาการปวดศีรษะ ส่วนในประเทศศรีลังกาได้นำมาสกัดเป็นน้ำมันที่ช่วยให้สงบ ผ่อนคลาย หรือ “Oil of Tranquility”

ส่วนชาวฝรั่งเศสนิยมนำมาทำน้ำหอม กลิ่นที่ได้จะเป็นกลิ่นไอดินและรากไม้ และยังนิยมนำกลิ่นหญ้าแฝกหอมมาแต่งกลิ่นเครื่องสำอาง เช่น สบู่ ยาสระผม ครีมนวดผม เพราะไม่มีอันตราย ไม่เป็นพิษต่อร่างกาย

คนไทยสมัยโบราณนิยมนำรากมากลั่นเป็นน้ำมันหอมระเหย มีคุณสมบัติยับยั้งเชื้อแบคทีเรีย และเชื้อรา ฆ่าเชื้อโรค ผ่อนคลายความเครียด รวมทั้งมาทำเป็นเครื่องหอมอบเสื้อผ้า ไล่แมลงและกลิ่นอับในตู้เสื้อผ้า

นอกจากนี้ หญ้าแฝกยังมีสรรพคุณทางยา ช่วยละลายนิ่วในกระเพาะปัสสาวะ ลดการกระหายน้ำ ลดไข้ ขับเหงื่อ ขับปัสสาวะ บำรุงหัวใจ บำรุงธาตุ การศึกษาทางเภสัชวิทยา พบว่า สารสำคัญในหญ้าแฝกมีฤทธิ์ยับยั้งเชื้อรา ไล่แมลง ต้านมาลาเรีย

การวิจัยของสำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล พบว่า แฝกหอมมีฤทธิ์ต้านเบาหวานได้ด้วย

(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 177 กันยายน 2558 โดย มีคณา)







กำลังโหลดความคิดเห็น