xs
xsm
sm
md
lg

สมุนไพรไม้เป็นยา : “กระชับ” วัชพืชชั้นดี มีฤทธิ์ต้านข้ออักเสบ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


จากวัชพืชไร้ค่าที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ “กระชับ” ได้กลายมาเป็นผักพื้นบ้านที่นิยมนำมารับประทาน และกลายเป็นสมุนไพรที่มีคุณประโยชน์มากมาย

กระชับ มีชื่อวิทยาศาสตร์ คือ Xanthium Strumarium Linn. ชื่อภาษาอังกฤษว่า Cocklebur, Burweed มีชื่อเรียกอื่นๆ เช่น ขี้ครอก(ราชบุรี), หญ้าผมยุ่ง(เชียงใหม่), เกี๋ยงนา มะขัดน้ำ มะขะนัดน้ำ(ภาคเหนือ), เกี๋ยงน้ำ ขี้อ้น ขี้อ้นดอน ขี้อ้นน้ำ(ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ), ชางเอ๋อจื่อ(จีนกลาง), ผักกระชับ เป็นต้น มีถิ่นกำเนิดในทวีปอเมริกา แพร่กระจายเป็นวัชพืชไปทั่วโลก มักขึ้นตามที่โล่งริมแม่น้ำลำธาร ริมตลิ่ง ริมทะเล ตามหนองบึงทั่วไป รวมถึงที่รกร้างว่างเปล่า ขยายพันธุ์โดยเมล็ด

ต้นกระชับป็นไม้ล้มลุก สูงประมาณ 1-1.5 เมตร ลำต้นตั้งตรง ผิวต้นหยาบ มีลายเส้นเป็นเหลี่ยมๆ ทั้งต้นมีขนสีขาวๆ ขึ้นอยู่ประปราย ผิวโคนต้นเป็นสีม่วง ส่วนผิวด้านบนของลำต้นเป็นสีเขียวแต้มด้วยสีน้ำตาลดำ แตกกิ่งก้านได้มาก

ใบเป็นใบเดี่ยวออกเรียงสลับ ลักษณะของใบเป็นรูปไข่แกมรูปสามเหลี่ยม เว้าลึกเป็นแฉก 3-5 แฉก ปลายใบแหลม โคนใบเป็นรูปหัวใจตื้นหรือกลม ขอบใบหยัก แผ่นใบมีขนสากทั้งสองด้าน ดอกเล็กออกเป็นช่อกระจุกแน่น มีจำนวนมาก กลีบดอกสีขาว

ผลรูปไข่หรือรูปกลมรี ออกเป็นคู่ๆ มีหนามนุ่มรูปตะขออยู่บนผิว ที่ปลายผลเป็นจะงอยแหลม 2 อัน ภายในผลมีเมล็ดอยู่ 1 เมล็ด มีสีดำ เรียวยาว และแข็ง

ในประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีการใช้ส่วนต่างๆ ของกระชับรักษาโรคหลายชนิด เช่น เปลือกต้นใช้ต้มน้ำดื่มแก้ไขข้ออักเสบ โรคเกี่ยวกับทางเดินปัสสาวะ ขับเหงื่อ ปวดประจำเดือน ใบใช้แก้โรคต่อมน้ำเหลือง งูสวัด เริม เนื้อลำต้นใช้ตำพอกแผลแมลงกัดต่อย ปวดศีรษะ ปวดหู รากเป็นยาขมช่วยเจริญอาหาร เป็นต้น

ส่วนการแพทย์แผนไทย ได้กล่าวถึงสรรพคุณของกระชับที่นำมาใช้ในการรักษาโรคต่างๆ คือ

ต้น : รสเย็นเฝื่อน ใช้เป็นยาแก้โรคมาลาเรีย ไข้จับสั่น ขับเหงื่อ ขับน้ำลาย ระงับประสาท แก้โรคไขข้ออักเสบ โรคเกี่ยวกับทางเดินปัสสาวะ แก้ปวดประจำเดือน โรคกระเพาะอักเสบ แก้ปวดศีรษะ ปวดหู แก้ปวดกล้ามเนื้อ ระงับความร้อน ตำพอกช่วยลดอาการปวดบวม

ใบ : รสเย็นเฝื่อน แก้โรคที่เกี่ยวกับต่อมน้ำเหลือง งูสวัด เริม แก้หวัด แก้ปวดหู แก้ปวดศีรษะ แก้พิษแมลงสัตว์กัดต่อย ตำพอกแก้ปวดบวมได้ ใบและลำต้น ใช้ตำให้ละเอียดพอกแผลปวดบวม แมลงกัดต่อย ใช้รักษาโรคหิด เมื่อนำมาต้มกรองเอาน้ำใช้ล้างแผล แก้ปวดศีรษะ ปวดหู แก้หวัด

ราก : รสขมเย็น แก้วัณโรค ต่อมน้ำเหลือง มะเร็ง เป็นยาขมเจริญอาหาร ระงับความร้อน ขับเหงื่อ ขับปัสสาวะ แก้ไข้

ผล : รสเย็นเฝื่อน เป็นยาแก้ไข้ทรพิษ เป็นยาบำรุง แก้ริดสีดวงจมูก ระงับการเกร็งของกล้ามเนื้อ โรคอัมพาต ลมพิษ โรคท้องมาน ขับปัสสาวะ ระงับอาการเกร็ง ระงับอาการปวดในโรคข้ออักเสบ ขับเหงื่อ แก้ร้อนภายใน แก้คัน ระงับความร้อน

รากและใบ : เป็นยาสมานแผล ใช้ห้ามเลือด

รากและผล : มีสารจำพวกอัลคาลอนด์ เช่น Xanthinin, Xanthumin และสาร Xanthatin มีสรรพคุณแก้แพ้ แก้อาการอักเสบได้หลายอย่าง เช่น การติดเชื้อทางผิวหนัง โรคกระเพาะอาหาร

เมล็ด : รสเฝื่อน แก้โรคเรื้อน ในเมล็ดมีน้ำมันประมาณ 35% มีสรรพคุณเหมือนเมล็ดทานตะวัน

นอกจากนี้ ยอดอ่อนและต้นอ่อนที่มีใบแท้สมบูรณ์ สามารถนำไปรับประทาน หรือใช้ต้นอ่อน (เพาะจากเมล็ด) นำมาใช้ปรุงอาหาร และเมล็ดยังให้แป้ง ซึ่งสามารถนำมาใช้ทำเป็นเส้นก๋วยเตี๋ยวได้ แต่ก็ควรจะระมัดระวังในการรับประทาน

สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ยังได้วิจัยพบว่า สารสกัดเอทานอลจากผลกระชับ มีฤทธิ์ยั้บยั้งและต้านอาการข้ออักเสบได้

ข้อควรระวัง :
• ต้นกล้าของกระชับจะมีพิษมาก ห้ามรับประทานเด็ดขาด เพราะอาจจะทำให้เกิดอันตรายต่อชีวิตได้

• เมล็ดมีสารพิษ Xanthostrumarin Glycoside ซึ่งเป็นสารที่มีพิษต่อสัตว์ สารนี้จะคงอยู่จนถึงระยะที่เมล็ดงอกเป็นต้นอ่อนมีใบเลี้ยงติดอยู่ เมื่อใบแท้เริ่มมีการเจริญเติบโต ไกลโคไซด์จะลดลงอย่างรวดเร็ว โดยสารพิษชนิดนี้จะไม่สลายตัวแม้จะนำมาตากแดดให้แห้งแล้วก็ตาม

• ส่วนใบอาจทำให้เกิดการแพ้ได้ เพราะลักษณะของใบกระชับจะมีขนอยู่เต็มไปหมด ถ้าถูกผิวก็คันได้ง่ายอยู่แล้ว ยิ่งถ้ามีภาวะแพ้ก็อาจเกิดอาการแพ้ได้ง่าย

(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 175 กรกฎาคม 2558 โดย มีคณา)







กำลังโหลดความคิดเห็น