สมุนไพรเก่าแก่ชนิดหนึ่งคือ “คนทีเขมา” ได้ชื่อว่าเป็นพืชศักดิ์สิทธิ์พิชิตโรคภัย ซึ่งมีความเชื่อว่า หากปลูกไว้ริมน้ำจะช่วยป้องกันตลิ่งพัง และหากปลูกไว้ในบ้านก็จะช่วยแก้สิ่งที่ไม่เป็นมงคล กันผีร้ายที่จะมาทำให้เจ็บป่วย
คนทีเขมา มีชื่อวิทยาศาสตร์ คือ Vitex Negundo Linn. ชื่อภาษาอังกฤษว่า Five-Leaved Chaste Tree, Chinese Chaste, Indian Privet, Negundo Chaste Nut มีชื่อเรียกอื่นๆ เช่น คนทีสอดำ(ภาคเหนือ), คนทิ คนที(ภาคตะวันออก), โคนดินสอ คนดินสอดำ ดินสอดำ ผีเสื้อดำ(อื่นๆ), กูนิง(มาเลเซีย-นราธิวาส), กุโนกามอ(มาเลเซีย-ปัตตานี), หวงจิง(จีนกลาง), อึ่งเกง(จีนแต้จิ๋ว) เป็นต้น มีถิ่นกำเนิดในทวีปอเมริกา เป็นพรรณไม้พื้นเมืองของอเมริกา และได้แพร่พันธุ์มายังเอเชียตอนใต้ ไปจนถึงญี่ปุ่นและต่อมายังเอเชีย ขยายพันธุ์โดยวิธีการเพาะเมล็ด ปักชำ และกิ่งตอน
ต้นคนทีเขมาเป็นไม้พุ่ม สูงประมาณ 3-6 เมตร ลำต้นตั้งตรง ผิวลำต้นเป็นสีเทาปนน้ำตาล กิ่ง ก้าน และใบมีกลิ่นหอม กิ่งอ่อนเป็นเหลี่ยม มีสีเทาและมีขนอ่อนขึ้นปกคลุม รากเป็นสีเหลือง เนื้อในรากเป็นสีขาว
ใบเป็นใบประกอบคล้ายรูปนิ้วมือ มีกลิ่นหอม ออกเรียงตรงข้าม มีใบย่อย 5 ใบ โดย 3 ใบบนจะมีขนาดใหญ่กว่า 2 ใบล่าง ใบบนมีก้าน ส่วนใบล่างไม่มีก้าน ลักษณะของใบเป็นรูปใบหอก ปลายใบยาวแหลม ขอบใบเรียบหรือหยัก หลังใบเป็นสีเขียวเข้ม ส่วนท้องใบเป็นสีขาว ปกคลุมด้วยขนอ่อน
ดอกออกเป็นช่อที่ปลายกิ่งหรือตามซอกใบ สีขาวแกมม่วงอ่อน ดอกย่อยมีขนาดเล็กและมีเป็นจำนวนมาก กลีบดอกแตกออกเป็น 5 แฉก ขนาดไม่เท่ากัน มีขนขึ้นปกคลุมเล็กน้อย เชื่อมติดกันที่โคน ส่วนผลเป็นผลสด รูปกลม แห้งเปลือกแข็งเป็นสีน้ำตาล ภายในมีเมล็ดเล็ก 1 เมล็ด ติดผลราวเดือนกรกฎาคม-กันยายน
คนทีเขมามีกลิ่นหอม เหมาะมากสำหรับผู้หญิง นิยมใช้เข้ายาอาบ ยาอบ ยาประคบ ทำให้เลือดลมดี ผู้หญิงที่ประจำเดือนมาไม่สม่ำเสมอ ถ้านำมาต้มกินหรือต้มอาบเป็นประจำ จะลดอาการไม่สบายก่อนมีประจำเดือน เช่น ปวดหัว วิงเวียน ท้องอืด ปวดเมื่อยตามตัว หงุดหงิด ฉุนเฉียว อารมณ์แปรปรวนง่าย ขี้ลืม นอนไม่หลับ ท้องอืด และเจ็บตึงเต้านม ถ้าต้มกินหรือต้มอาบเป็นประจำ จะทำให้ผิวพรรณผุดผ่องเป็นยองใย
นอกจากนี้ ยังเหมาะกับผู้หญิงวัยทอง ที่มีอาการเลือดจะไปลมจะมา และผู้หญิงหลังคลอด เนื่องจากมีสรรพคุณช่วยปรับระบบการทำงานของเลือดลม อารมณ์ผิดปกติหลังคลอด เช่น ซึมเศร้า หดหู่ อารมณ์แปรปรวน ช่วยขับน้ำนม ขับเหงื่อ
เภสัชกรหญิงผกากรอง ขวัญข้าว เภสัชกรชำนาญการโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร กล่าวถึงสมุนไพรคนทีเขมา ในงานมหกรรมสมุนไพร ครั้งที่ 11 ว่า ต้นคนทีเขมาแบ่งเป็น 2 ชนิด คือ คนทีสอ แปลว่าขาว และคนทีเขมา แปลว่าดำ โดยทั้ง 2 ชนิดเป็นยาที่อยู่ในตำรับยาแก้ปวดเมื่อย สำหรับผู้หญิงที่คลอดบุตรแล้ว หรืออยู่ในช่วงวัยทอง มักจะมีความรู้สึกเบื่อสามี ที่หมอพื้นบ้านเรียกกันว่าโรคเบื่อสามี ซึ่งเป็นเรื่องของฮอร์โมน
จากการศึกษาวิจัยพบว่า คนทีเขมาจะช่วยกระตุ้นเอ็นไซลูทีไนซ์ซิ่งฮอร์โมน (Luteinizing Hormone หรือ LH) ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่ไปกระตุ้นให้ไข่ตก ปรับสมดุลในร่างกาย เมื่อร่างกายได้รับการปรับสมดุล ก็จะช่วยแก้ปัญหาการเบื่อสามีได้
สรรพคุณอื่นๆของคนทีเขมายังมีอีกมากมาย ได้แก่
ใบ : รสหอมร้อน ใช้เป็นยาบำรุงธาตุ ต้มหรือชงน้ำร้อนดื่ม แก้ไข้หวัด แก้เจ็บคอ แก้ปวดศีรษะ แก้ปวดตามข้อตามกล้ามเนื้อ แก้หู้อื้อ แก้เยื่อจมูกอักเสบ แก้ไข้ป่า แก้ดีซ่าน แก้กลากเกลื้อน แก้ฝี แก้โรคเชื้อราที่เท้า แก้อักเสบ แก้อาการบวมฟกช้ำดำเขียว
ดอก : รสหอมฝาด ต้มหรือชงน้ำร้อนดื่ม แก้ไข้ แก้ท้องเสีย
ผล : รสหอมร้อน ต้มหรือบดเป็นผงรับประทาน ขับเสมหะ แก้หอบหืด แก้ไอ แก้ไข้ป่า รักษาแผลในกระเพาะอาหาร แก้อาการเหน็บชา
เมล็ด : รักษาหอบหืด ประจำเดือนมาไม่สม่ำเสมอ ช่วยให้เลือดลมไหลเวียนดี ผิวพรรณผุดผ่อง
เปลือกต้น : รสหอมร้อน ต้มดื่ม แก้ไข้ แก้ริดสีดวง แก้ลมเสียดแทง แก้ปวดท้อง แก้พยาธิ
ราก : รสเมาร้อน แก้ลม ขับเหงื่อ แก้ริดสีดวงแห้ง
ยาง : รสเมาร้อน ขับเลือดและลมให้ไหลเวียน แก้คุดทะราด บำรุงกำลัง
นอกจากนี้ สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ยังได้วิจัยพบว่า สารสกัดจากเมล็ดคนทีเขมาช่วยรักษาอาการข้ออักเสบ และสารสกัดจากใบคนทีเขมา สามารถออกฤทธิ์ช่วยลดน้ำตาลและช่วยลดไขมันในเลือดได้
ข้อควรระวัง :
ห้ามใช้ในผู้ที่มีสีหน้าซีดขาว ผอม ท่าทางอิดโรย อ่อนเพลีย หายใจตื้น ไม่มีแรง (แพทย์จีนเรียกอาการพร่อง)
(จขาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 174 มิถุนายน2558 โดย มีคณา)