xs
xsm
sm
md
lg

Review: Apple Watch สมาร์ทวอตซ์สุดหรูเพื่อผู้ใช้ไอโฟนโดยเฉพาะ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online




หลังจากทีมงานลงบทความพรีวิว Apple Watch (แอปเปิล วอตซ์) ไปแล้วเมื่อช่วงอาทิตย์ที่ผ่านมา พร้อมเสียงตอบรับจากผู้อ่านอยากทราบถึงรายละเอียด การใช้งานและประเด็นสำคัญที่หลายคนตั้งคำถามไว้ก็คือ “Apple Watch ใช้ทำอะไรได้บ้าง” วันนี้ก็ถึงเวลาของรีวิวฉบับเต็มหลังจากทีมงานไซเบอร์บิซได้ทดลองใช้งานเป็นเวลา 1 อาทิตย์เต็ม

แต่ก่อนจะไปรับชมรีวิว ทีมงานไซเบอร์บิซขอสรุปรุ่นและสเปกของ Apple Watch อีกครั้ง เริ่มจากกลุ่มผลิตภัณฑ์ Apple Watch แบ่งเป็น 3 กลุ่มหลัก จับกลุ่มตั้งแต่วัยรุ่น คนทำงานไปถึงกลุ่มไฮโซ ได้แก่



1.Apple Watch Sport เป็นรุ่นเริ่มต้น ตัวเครื่องผลิตจากอลูมิเนียมประกบหน้าจอ Ion-X Glass หน้าจอมีให้เลือก 2 ขนาดได้แก่ 38 มิลลิเมตร (น้ำหนัก 25 กรัม)และ 42 มิลลิเมตร (น้ำหนัก 30 กรัม) ราคาเริ่มต้น 13,500 - 15,500 บาท

2.Apple Watch จับกลุ่มระดับกลาง ตัวเครื่องผลิตจากสแตนเลส สตีล 316L (ทนการกัดกล่อนและทนสนิม) ประกบหน้าจอ Sapphire crystal มีให้เลือก 2 ขนาดได้แก่ 38 มิลลิเมตร (น้ำหนัก 40 กรัม)และ 42 มิลลิเมตร (น้ำหนัก 50 กรัม) ราคาเริ่มต้น 20,500 - 41,500 บาท

3.Apple Watch Edition จับกลุ่มระดับบน ไฮโซสุด เนื่องจากตัวเครื่องผลิตจากทองคำ 18 กะรัตมี 2 สีให้เลือกได้แก่ Rose Gold และ Yellow Gold ประกบหน้าจอ Sapphire crystal มีให้เลือก 2 ขนาดได้แก่ 38 มิลลิเมตร (น้ำหนัก 54 กรัมสำหรับ Rose Gold และ 55 กรัมสำหรับ Yellow Gold) ขนาด 42 มิลลิเมตร (น้ำหนัก 67 กรัมสำหรับ Rose Gold และ 69 กรัมสำหรับ Yellow Gold) ราคาเริ่มต้น 395,000 - 660,000 บาท

สำหรับการวางขายในประเทศไทย เริ่มต้นที่ iStudio 11 สาขาได้แก่ เซ็นทรัล ลาดพร้าว, เซ็นทรัล พระราม 9, เซ็นทรัล แจ้งวัฒนะ, เซ็นทรัล เอ็มบาสซี่, เซ็นทรัล พระราม 2, เดอะมอลล์ บางกะปิ, แฟชั่นไอส์แลนด์, สยามพารากอน, เอ็มควอเทียร์, เมกะบางนา และเซ็นทรัล เฟสติวัล เชียงใหม่

ส่วนรุ่นตัวเครื่องทองคำ 18 กะรัตวางขายเฉพาะ iStudio สยามพารากอนและเอ็มควอเทียร์เท่านั้น

การออกแบบและสเปก



มาถึง Apple Watch ที่ทีมงานจะมารีวิวในวันนี้ ทีมงานเลือก Apple Watch ตัวเครื่องผลิตจากสแตนเลส สตีล (Stainless Steel) ขนาด 42 มิลลิเมตรพร้อมสาย Sport Band ซึ่งถือเป็นรุ่นระดับกลาง มีความละเอียดหน้าจออยู่ที่ 390x312 พิกเซล

โดยขนาดนาฬิกา (Case size) กว้างxยาว อยู่ที่ 42x35.9 มิลลิเมตร หนา 10 มิลลิเมตร น้ำหนักอยู่ที่ 50 กรัม หน้าจอใช้เทคโนโลยี Force Touch รับรู้น้ำหนักแรงกดได้หลายระดับ ครอบทับด้วยกระจก Sapphire crystal ทนแรงขีดข่วนและการตกกระแทกสูงกว่าหน้าจอ Ion-X Glass ในรุ่น Watch Sport



ด้านหลังเคลือบผิวด้วยเซรามิก ตรงกลางเป็นส่วนของเซนเซอร์วัดการเต้นของหัวใจประกอบด้วยกล้อง 2 ตัวและไฟ LED สีเขียว 2 ดวง รอบๆเซนเซอร์จะเป็นตัวหนังสือบอกรุ่นและรหัสของนาฬิกา



นอกจากนั้นบริเวณดังกล่าวยังเป็นที่อยู่ของเซนเซอร์ชาร์จไฟแบบ “Magnetic MagSafe-style” หรือเป็นที่ชาร์จแบบแม่เหล็กแปะติดที่ผนวกเทคโนโลยีการชาร์จแบบไร้สายและ MagSafe เข้าไว้ด้วยกัน ทำให้สมาร์ทวอตซ์จากแอปเปิลไม่จำเป็นต้องติดตั้งพอร์ต Lightning หรือ USB ให้ไปรบกวนการออกแบบที่หรูหรา



ส่วนปุ่มกดรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าบนและล่าง สามารถกดค้างและดึงสายออกเพื่อเปลี่ยนได้ โดยสายนาฬิกา Apple Watch สามารถเลือกซื้อได้ตามใจชอบถึง 6 รูปแบบ ได้แก่



1.Sport Band ราคา 1,900 บาท ผลิตจากยาง Fluoroelastomer
2.Milanese Loop ราคา 5,900 บาท สายสแตนเลส สตีลแบบถักพร้อมตัวล็อคแม่เหล็ก
3.Classic Buckle ราคา 5,900 บาท สายหนังดัตช์พร้อมตัวล็อคสายสแตนเลส สตีล
4.Leather Loop ราคา 5,900 บาท สายบุหนัง Venezia พร้อมตัวล็อคแม่เหล็กแบบปรับได้
5.Modern Buckle ราคา 9,500 บาท สายหนัง Granada พร้อมตัวล็อคแม่เหล็กสองชิ้น
6.Link Bracalet ราคา 16,900 บาท สายโลหะผสมสแตนเลส สตีล 316L พร้อมตัวล็อคแบบปีกผีเสื้อ



มาดูปุ่มกดและส่วนอื่นๆรอบตัวเครื่อง เริ่มจากด้านขวาของตัวนาฬิกา ส่วนหลักจะเป็น “เม็ดมะยม” หรือที่แอปเปิลเรียก “Digital Crown” ที่ทำหน้าที่เป็นส่วนควบคุมการซูมเข้าออกแอปพลิเคชัน เรียกหน้ารวมแอปฯ ไปถึงเลื่อนหน้าต่างขึ้นลง ดูข้อความต่างๆ กดเพื่อย้อนกลับ เป็นต้น และถ้ากดค้างจะเป็นการเรียกผู้ช่วยสิริ (Siri) ขึ้นมา


หน้ารวมแอปฯสามารถใช้ Digital Crown ซูมเข้าออกแอปฯแต่ละตัวได้

ถัดมาปุ่มสี่เหลี่ยมผืนผ้าเป็นปุ่มเรียกเมนู “Friends” หรือ หน้าเมนูเรียกดูเบอร์คนโปรดที่เราโทรบ่อยๆ โดยผู้ใช้ต้องตั้งค่าผ่านแอปฯ Apple Watch บนไอโฟนก่อนเข้าใช้งาน

นอกจากนั้นถ้าผู้ใช้กดปุ่มดังกล่าวข้างไว้จะเข้าสู่หน้าเมนูปิดเครื่อง ไปถึงสามารถใช้ควบคุม Apple Pay ได้



อีกด้านจะเป็นที่อยู่ของลำโพงและไมโครโฟนสำหรับใช้งานโทรศัพท์

ในส่วนรายละเอียดสเปกของ Apple Watch เริ่มจากหน่วยประมวลผลใช้ Apple S1 ที่แอปเปิลออกแบบมาเพื่อ Apple Watch พร้อมระบบปฏิบัติการ WatchOS โดยเฉพาะ ภายในมีเซนเซอร์ตรวจจับสภาพแสง ตรวจจับการเคลื่อนไหว Gyroscope จำนวน 6 แกน เซนเซอร์วัดอัตราการเต้นของหัวใจ และภายในยังมาพร้อมหน่วยเก็บข้อมูลขนาด 8GB ไว้สำหรับติดตั้งแอปพลิเคชัน แคชไฟล์ รวมถึงนำไปใส่เพลงได้สูงสุด 2GB และรูปภาพ 75MB หรือประมาณ 500 ภาพ

ส่วนฮาร์ดแวร์ภายในที่น่าสนใจอีกหนึ่งตัวในชื่อ Taptic Engine จะเป็นรูปแบบการแจ้งเตือนแบบใหม่ที่ใช้ลักษณะคล้ายคนมาสะกิดที่ข้อมือพร้อมเสียงเตือนเบาๆกลมกลืนไปกับความรู้สึกที่เกิดขึ้น ช่วยให้ผู้ใช้รู้สึกถึงการแจ้งเตือนที่เป็นธรรมชาติ โดยเฉพาะความนุ่มนวลที่มากกว่าการสั่นเตือนแบบปกติ

นอกจากนั้นตัว Apple Watch ยังได้มาตรฐานป้องกันน้ำ IPX7 (ทดสอบแล้วสามารถใส่ล้างมือและโดนน้ำฝนได้ ส่วนการใส่ว่ายน้ำในสระหรือใส่อาบน้ำ ทีมงานได้ทดสอบแล้วสามารถทำได้แต่แอปเปิลไม่แนะนำเพราะตัวนาฬิกาเป็น Water resistant ไม่ใช่ Waterproof)

ด้านการเชื่อมต่อต้องทำผ่าน Bluetooth 4.0 Low Energy ร่วมกับไอโฟน 5 เป็นต้นไปเท่านั้น ส่วน WiFi ถามว่าใน Apple Watch มีไหม คำตอบคือจากสเปกซีพียูน่าจะมี WiFi 802.11 b/g/n 2.4GHz และ NFC ติดตั้งไว้ แต่การเรียกใช้งานจะเป็นไปตามระบบที่แอปเปิลกำหนดไว้เอง ส่วน NFC จะเรียกใช้งานได้ก็ต่อเมื่ออยู่ในบริการ Apple Pay เท่านั้น



สำหรับเรื่องความอึดของแบตเตอรีที่หลายคนสงสัย สำหรับการใช้งานทั่วไปจะอยู่ได้ 18 ชั่วโมง ส่วนถ้าสนทนาโทรศัพท์ผ่าน Apple Watch ต่อเนื่องจะอยู่ได้ประมาณ 6.5 ชั่วโมง ตรวจจับการออกกำลังกาย (Workout) จะอยู่ได้นาน 6.5 ชั่วโมง เล่นเพลงต่อเนื่องอยู่ได้นาน 6.5 ชั่วโมง และสุดท้ายเปิดโหมด Power Reserve ใช้งานเป็นนาฬิกาข้อมือบอกเวลาเพียงอย่างเดียวจะอยู่ได้นานถึง 72 ชั่วโมง

ส่วนการชาร์จไฟเข้า 0-80% อยู่ที่ 1.5 ชั่วโมง และ 0-100% อยู่ที่ 2.5 ชั่วโมง




สุดท้ายสำหรับการเชื่อมต่อกับไอโฟน (ต้องไอโฟน 5 เป็นต้นไป) หลังการเชื่อมต่อครั้งแรกเสร็จสิ้น ผู้ใช้สามารถตั้งค่านาฬิกาผ่านแอปฯ Apple Watch ที่ปรากฏบนไอโฟนได้ทั้งหมด ตั้งแต่กำหนดการเปิดปิดแจ้งเตือนต่างๆ ปรับ Layout หน้ารวมแอปฯ กำหนดเพื่อนโปรด ไปถึงการเปิดปิดเซนเซอร์ตรวจจับการเคลื่อนไหวและตรวจวัดหัวใจได้ ปรับความสว่างหน้าจอ ปรับขนาดตัวอักษร เป็นต้น



นอกจากนั้นผู้ใช้ยังสามารถกำหนดอัลบั้ม Playlist เพลงที่ต้องการซิงค์เก็บไว้ใน Apple Watch รวมถึงอัลบั้มรูปภาพที่เราสามารถเลือกซิงค์เก็บไว้ในนาฬิกาได้เช่นกัน



ในส่วนแอปฯที่รองรับ Apple Watch จากผู้พัฒนาภายนอก เช่น Instagram, LINE, Twitter เป็นต้น ปัจจุบันผู้ใช้สามารถดาวน์โหลดได้จาก AppStore (มีแอปฯที่รองรับประมาณ 8,500 แอปฯ) โดยแอปฯใดที่รองรับกับนาฬิกาจะมีข้อความว่า “Offers Apple Watch App”

ฟีเจอร์เด่น


แนะนำให้รับชมวิดีโอนี้ก่อนเพื่อความเข้าใจที่มากขึ้น




เริ่มต้นจากส่วน Clock Face หน้านาฬิกาบอกเวลา แอปเปิลออกแบบมาได้สวยงามและการดูเวลาก็ทำได้ฉลาดและรวดเร็วมาก โดยแอปเปิลจะใช้เซนเซอร์ตรวจจับเมื่อผู้ใช้ยกแขนขึ้นเพื่อมองนาฬิกา หน้าจอ Apple Watch จะถูกปลุกและแสดงหน้านาฬิกาอัตโนมัติ (ถ้ายกแขนดูเวลาค้างไว้ไม่นำแขนลง หน้าจอก็จะติดค้างไว้ให้ประมาณ 7-8 วินาที) ในขณะที่เมื่อผู้ใช้วางแขนลงหน้าจอจะดับอัตโนมัติทันที



ส่วนการเปลี่ยนธีมนาฬิกา สามารถทำได้ด้วยเทคโนโลยี Force Touch โดยที่หน้าจอนาฬิกาบอกเวลา ให้กดหน้าจอลงไปแรงๆ นาฬิการจะสั่นเล็กน้อย และระบบจะพาเข้าสู่หน้าเลือกธีมนาฬิกาที่มีให้เลือกใช้ 10 รูปแบบ ซึ่งในแต่ละรูปแบบสามารถปรับแต่งหน้าตาได้เล็กน้อย เช่น เลือกเปิดโชว์อุณหภูมิ วันที่ เป็นต้น



ระบบแจ้งเตือนแบบอัจฉริยะ ด้วยการที่ Apple Watch ต้องเชื่อมต่อกับไอโฟนตลอดเวลา และแอปเปิลต้องการให้การทำงานระหว่างดีไวซ์ทั้งสองเป็นแบบไร้รอยต่อ เวลามีข้อความแจ้งเตือนจากแอปฯต่างๆเข้ามายังไอโฟน ถ้าผู้ใช้เก็บไอโฟนไว้ในกระเป๋า ข้อความแจ้งเตือนเหล่านั้นจะมาปรากฏบน Apple Watch พร้อมสั่นเตือนด้วยการสะกิดแทน ซึ่งผู้ใช้สามารถดูข้อความแจ้งเตือนเหล่านั้นได้เพียงแค่ยกแขนแล้วมองไปที่นาฬิกาโดยไม่ต้องกดปุ่มใด



อีกทั้งถ้าแอปฯใดรองรับ Apple Watch ผู้ใช้สามารถตอบโต้กับแอปฯเหล่านั้นผ่านนาฬิกาได้ทันที เช่น LINE ที่สามารถส่งสติ๊กเกอร์หรือข้อความเสียงแล้วแปลงเป็นตัวอักษรผ่าน Dictation ได้

ส่วนถ้าผู้ใช้กำลังใช้งานไอโฟนอยู่แล้วมีข้อความแจ้งเตือนเข้ามา Apple Watch จะเข้าใจว่าคุณกำลังเล่นไอโฟนอยู่ ข้อความแจ้งเตือนจะไม่มาปรากฏซ้ำซ้อนบนนาฬิกาให้ผู้ใช้เกิดความรำคาญ

ในขณะเดียวกันถ้าผู้ใช้เชื่อมต่อกับที่ชาร์จไฟหรือวางไว้บนโต๊ะ ระบบแจ้งเตือนจากนาฬิกาจะไม่ส่งเสียงและสัญญาณใดๆ เนื่องจากระบบเข้าใจว่าผู้ใช้ไม่ได้สวมใส่นาฬิกาอยู่ที่ข้อมือ แจ้งเตือนทั้งหมดจะถูกส่งไปที่ไอโฟนแทน



Handoff เป็นอีกหนึ่งฟีเจอร์เด่นช่วยให้การใช้งาน Apple Watch ทำได้ต่อเนื่อง ไร้รอยต่อ ช่วยให้การสลับใช้งานระหว่างตัวนาฬิกากับไอโฟนทำได้่ต่อเนื่องมากขึ้น เช่น เราค้นหาร้านอาหารจาก Wongnai บน Apple Watch และกดนำทางที่นาฬิกาไปแล้ว จากนั้นต้องการให้นำเส้นทางที่ค้นหาได้มานำทางต่อบนไอโฟน ผู้ใช้ก็เพียงหยิบไอโฟนขึ้นมา เปิดหน้าจอและกดไอคอนแผนที่บริเวณมุมซ้ายล่างของหน้า Lock Screen ค้างไว้และสไลด์ขึ้น ผู้ใช้ก็สามารถนำทางต่อด้วยไอโฟนได้แบบไร้รอยต่อ

ความสามารถนี้ยังใช้ได้ดีเมื่อผู้ใช้รับโทรศัพท์จาก Apple Watch และต้องการมาคุยแบบส่วนตัวต่อบนไอโฟนก็สามารถใช้ความสามารถของ Handoff ได้เช่นกัน



Quick Glances เป็นหน้าโชว์แอปฯที่ใช้งานบ่อย โดยผู้ใช้สามารถกำหนดแอปฯที่มาแสดงผ่าน Glances ได้จากแอปฯ Apple Watch บนไอโฟน

ส่วนวิธีเรียกใช้ ที่หน้านาฬิกาบอกเวลา สัมผัสที่หน้าจอแล้วเลื่อนนิ้วขึ้นด้านบนก็จะพบกับ Glances Screen โดยค่าเริ่มต้นหน้าแรกจะเป็น Quick Settings ที่เปิดโอกาสให้ผู้ใช้สามารถเปิด Airplane Mode, เปิดโหมดห้ามรบกวน, Silent Mode และสามารถกดให้ไอโฟนส่งเสียงได้

นอกนั้น ผู้ใช้สามารถปรับแต่งเลือกให้แอปฯต่างๆมาปรากฏบนหน้า Glances ได้ตามใจชอบ เช่น วัดอัตราการเต้นของหัวใจ เครื่องเล่นเพลง แผนที่ระบุพิกัดที่อาศัยอยู่ในปัจจุบัน นาฬิกาโลกพร้อมบอกเวลาพระอาทิตย์ขึ้นและตก เป็นต้น




Activity อีกหนึ่งความสามารถของ Apple Watch ก็คือการใช้เซนเซอร์ทั้งหมดตรวจจับการก้าวเดินและคำนวณเป็นจำนวนแคลอรี่ที่เผาพลาญไปพร้อมระยะทางในแต่ละวัน พร้อมความสามารถในการวัดอัตราการเต้นของหัวใจได้

โดยการแสดงผลค่าการเคลื่อนไหวในแต่ละวันจะแสดงผ่านวงกลม 3 สี 3 วงซ้อนกัน ได้แก่

วงกลมสีแดง แสดงการเคลื่อนไหว (โดยผู้ใช้ต้องกำหนดจำนวนแคลอรี่ที่ต้องการเผาพลาญไว้ทุกอาทิตย์ ค่าเริ่มต้นจะเป็นค่าแคลอรี่ที่ระบบคำนวณตามน้ำหนักตัว อายุและเพศที่ระบุไว้ตอนเริ่มใช้งานครั้งแรก) ซึ่งถ้าในหนึ่งวันเราเดินจนวงกลมสีแดงมาซ้อนทับกันแสดงว่าในวันนี้เราเคลื่อนไหวจนเผาพลาญแคลอรี่ได้ตามเป้าหมายที่กำหนดไว้แล้ว



วงกลมสีเขียว Exercise แสดงการออกกำลังกายแบบจริงจัง โดยระบบจะตรวจจับจากการจำนวนก้าวเดินที่เกิดขึ้นผสมกับข้อมูลที่วัดได้จากอัตราการเต้นของหัวใจว่าสามารถเข้าสู่โซนออกกำลังกายได้หรือไม่ ถ้าหัวใจเต้นเร็วขึ้นสอดคล้องกับจำนวนก้าวเดินที่เพิ่มขึ้นรวดเร็ว เช่น การวิ่งหรือเดินเร็ว ไปถึงการเดินด้วยความเร็วระดับหนึ่งเป็นเวลานานหลายกิโลเมตร ก็สามารถทำให้ขีดสีเขียวนี้ขึ้นได้

โดยเป้าหมายส่วน Exercise จะอยู่ที่วันละ 30 นาที

วงกลมสีฟ้า แสดงการยืน (Stand) ในแต่ละวัน หน่วยเป็นชั่วโมง โดยวงกลมนี้จะช่วยให้ผู้ใช้ได้ทราบว่า วันหนึ่งเรายืนไปกี่ชั่วโมง อีกทั้งยังคอยเตือนผู้ใช้เวลานั่งเฉยๆติดต่อกันเป็นเวลานานด้วย



โดยการแจ้งเตือนในส่วน Activity ผู้ใช้ Apple Watch จะพบเห็นได้บ่อยสุดตลอดทั้งวัน ยกตัวอย่างเช่น เรานั่งนานมากๆ นาฬิกาจะสะกิดบอกเราว่า ถึงเวลา “Time to stand” จากนั้นจะบอกให้เราไปเดินเคลื่อนไหวสัก 1 นาที หรือแม้แต่การสรุปผลทุก 4 ชั่วโมง(หรือตามแต่ที่เราตั้งค่าไว้) ว่าเหลือเป้าหมายอีกเท่าไหร่ถึงจะสำเร็จ เพื่อเป็นแรงกระตุ้นให้ผู้ใช้ Apple Watch ใส่ใจสุขภาพมากยิ่งขึ้น

นอกจากนั้นทุกสัปดาห์ระบบจะมีการสรุปผลประจำสัปดาห์ให้ผู้ใช้ทราบ และสามารถกำหนดเป้าหมายใหม่ในอาทิตย์ถัดไปได้ตามต้องการ



ส่วนผู้ใช้ที่อยากรับชมสถิติการเคลื่อนไหวและออกกำลังกายประจำวันแบบละเอียดมากขึ้น ก็สามารถรับชมผ่านแอปฯ Activity บนไอโฟนได้ (แอปฯจะถูกติดตั้งเองเมื่อเริ่มใช้งาน Activity ครั้งแรก) ซึ่งในแอปฯดังกล่าวผู้ใช้สามารถรับชมสถิติย้อนหลังรวมถึงชมถ้วยรางวัลแห่งความภาคภูมิใจจากการพิชิตเป้าหมายต่างๆลงได้



Apple Health & Heart Rate monitor ด้วยการที่เซนเซอร์ตรวจวัดอัตราการเต้นของหัวใจไม่สามารถทำงานได้ตลอดเวลา เนื่องจากบริโภคพลังงานค่อนข้างสูง แอปเปิลจึงเลือกใช้วิธีตรวจวัดการเต้นหัวใจเป็นระยะร่วมกับผลอ้างอิงจากการตรวจจับการเคลื่อนไหว Activity ร่วมด้วย โดยในหนึ่งวันถ้าผู้ใช้ไม่ค่อยมีกิจกรรม ระบบอาจตรวจวัดการเต้นหัวใจทุก 1-4 ชั่วโมง แต่ถ้าวันไหนมีกิจกรรมต้องเคลื่อนไหวบ่อยครั้ง ระบบอาจตรวจวัดทุกๆนาที หรือ 5-10 นาทีแล้วแต่ความหนักเบาของกิจกรรม

โดยค่าอัตราการเต้นของหัวใจจะถูกนำไปใช้ในเรื่องการคำนวณจำนวนกิโลแคลอรี่ที่ต้องเผาพลาญ รวมถึงถูกเก็บเป็นสถิติไว้ใช้ยามต้องไปพบหมอและในอนาคตค่าเหล่านี้จะถูกนำไปใช้งานร่วมกับแอปฯจากผู้พัฒนารายอื่น

ส่วนการดูผลสรุป ปัจจุบันต้องรับชมผ่านแอปฯ Apple Health บนไอโฟนเท่านั้น ยังไม่มีแอปฯที่สามารถดูกราฟหัวใจแบบลงรายละเอียดได้ลึกเหมือนกับฟิตเนสแบนด์อื่นๆ



มาดูส่วนโทรศัพท์กันบ้าง เนื่องจาก Apple Watch สามารถรับสาย โทรออกและส่งข้อความได้จากตัวนาฬิกา โดยวิธีโทรออกสามารถทำได้จากปุ่มเพื่อนโปรด (Friends) หรือเลือกจาก Contacts ในแอปฯโทรศัพท์บนนาฬิกาได้เช่นกัน จากนั้นระบบจะส่งหมุนเบอร์โทรไปที่ไอโฟนและเมื่อปลายสายรับแล้ว ผู้ใช้ยังสามารถเลือกจะสนทนาผ่านตัวนาฬิกาหรือไอโฟนได้จากฟีเจอร์ Handoff



ส่วนการส่งข้อความจากนาฬิกาสามารถทำได้ง่ายๆด้วยฟีเจอร์ Dictation ด้วยวิธีการคือ พูดข้อความที่ต้องการ (รองรับทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ) ไปที่ไมโครโฟน จากนั้นระบบจะแปลงเสียงพูดพิมพ์เป็นตัวอักษรให้แบบเดียวกับ Dictation บนไอโฟนและแมค



นอกจากนั้นสำหรับใครที่มีเพื่อนใช้ Apple Watch เหมือนกันยังสามารถเปิดใช้ฟีเจอร์ Digital Touch ด้วยการวาดรูปหรือส่งจังหวะการเต้นของหัวใจบอกความรู้สึกไปสะกิดเพื่อนได้



Maps เป็นอีกฟีเจอร์ที่แอปเปิลออกแบบมาได้น่าสนใจ เพราะเราสามารถใช้ Dictation พูดบอกสถานที่ที่เราต้องการให้ระบบนำทางไปได้ พร้อมเลือกวิธีการเดินทางว่าเราจะไปโดยรถหรือเดินไป (ในอนาคตจะรองรับการนำทางด้วยขนส่งมวลชนด้วย)



Siri มาถึงผู้ช่วยคนเก่งที่ล่าสุดเพิ่งร่ำเรียนวิชาภาษาไทยไป ก็มีให้เลือกใช้บน Apple Watch (เข้าใช้โดยกดเม็ดมะยมค้างไว้) ด้วยการซิงค์ระบบและข้อมูลร่วมกับ Siri บนไอโฟน โดย Siri บน Apple Watch สามารถสั่งงานเป็นภาษาไทยและตอบกลับเราเป็นข้อความภาษาไทยได้ (สิริบนนาฬิกาจะไม่พูดเหมือนบนไอโฟน) เช่น สั่งให้เล่นเพลงหรือถามเวลา บางครั้งสิริก็จะตอบกลับมาด้วยวาจากวนประสาทเล็กน้อยก่อนจะเริ่มทำในสิ่งที่เราสั่งไปให้



สุดท้ายกับแอปฯที่มากับนาฬิกาส่วนใหญ่จะคล้ายกับบนไอโฟน เช่น ปฏิทิน นาฬิกาปลุก นาฬิกาจับเวลา อีเมล์ Gallery เป็นต้น โดยการทำงานของแอปฯเหล่านี้จะเข้ามาเติมเต็มเวลาเราไม่สามารถเข้าใช้งานผ่านไอโฟนได้ แอปฯบนนาฬิกาจะเข้ามาเติมเต็มส่วนนี้ ไม่ใช่เข้ามาแทนที่ไอโฟน

ส่วนการทำงานอย่างที่กล่าวไปแล้วข้างต้นว่า แอปเปิลใส่ใจเรื่องการใช้งานแบบไร้รอยต่อมาก การตั้งค่าหรือเปิดดูข้อมูลจาก Apple Watch แล้วมาดูอีกครั้งบนไอโฟนจะต่อเนื่องกันทุกครั้ง ยกตัวอย่างเช่น เราตั้งเวลาแจ้งเตือนหรือตั้งนาฬิกาปลุกบน Apple Watch เมื่อถึงเวลาถ้าเราไม่ได้ใส่นาฬิกา การแจ้งเตือนจะไปแสดงที่ไอโฟนแทน หรือแม้กระทั่งการนำทางบนนาฬิกาก็สามารถมารับชมข้อมูลแบบละเอียดได้จากไอโฟนตลอดเวลา

ทดสอบประสิทธิภาพและสรุป



การทดสอบประสิทธิภาพหลังใช้งาน Apple Watch มาร่วม 1 อาทิตย์เต็ม ด้านการทำงานพบว่าเรื่องการเชื่อมต่อกับไอโฟนแบบตลอดเวลาถือว่าแอปเปิลจัดการได้ดีมาก การเชื่อมต่อไอโฟนกับ Apple Watch ตลอดเวลาไม่กระทบกับแบตเตอรีของไอโฟนแม้จะใช้งานให้นาฬิกาดึงข้อมูลจากไอโฟนหนักเพียงใดก็ตาม ส่วนเรื่องความเสถียรด้านการเชื่อมต่อ ตลอด 1 อาทิตย์ไม่พบอาการเชื่อมต่อหลุดแต่อย่างใด

อีกทั้งการที่เราเผลอเดินออกจากรัศมีบลูทูธจนนาฬิกาหลุดจากการเชื่อมต่อกับไอโฟน แอปฯหลายตัวสามารถทำงานต่อได้ด้วยตัวเองเพราะตัวนาฬิกามีการทำแคชไฟล์ไว้บางส่วน พอเราเดินกลับเข้ารัศมีของบลูทูธระบบก็จะเชื่อมต่อกันอัตโนมัติจนผู้ใช้ไม่เกิดความรู้สึกสะดุดแต่อย่างใด แถมฟีเจอร์ Hnadoff ก็ถือว่าทำงานได้ดีมาก

อีกหนึ่งข้อดีของ Apple Watch อยู่ที่ในอนาคตแอปเปิลจะเปิดโค้ดให้ผู้พัฒนารายอื่นได้ใช้ความสามารถของ Apple Watch พัฒนาแอปฯออกมารองรับได้ดีขึ้นกว่าตอนนี้ โดยเฉพาะแอปฯออกกำลังกาย เช่น ตรวจวัดรอบขาการปั่นจักรยาน แอปฯ Track การออกกำลังกายต่างๆด้วย GPS หรือ Heart Rate Sensor ไปถึงแอปฯถ่ายรูปที่ใช้ Apple Watch เป็นรีโมทกดชัตเตอร์หรือใช้ประยุกต์สร้างสรรค์ผลงานต่างๆ จะเริ่มมีให้เห็นมากขึ้นตั้งแต่วันนี้

"โดยสิ่งที่เกิดขึ้นเหล่านี้จะช่วยให้ Apple Watch มีความน่าสนใจและเกิดความสดใหม่ตลอดเวลา"



มาถึงประเด็นเรื่องวัสดุงานผลิต ทีมงานไม่ขอติเรื่องความหรูหราเพราะแอปเปิลทำได้ดีพอสมควร แต่จะขอกล่าวถึงข้อสังเกตรุ่นตัวเรือนสแตนเลส สตีล โดยเฉพาะสาย Link Bracalet ที่ทีมงานไช้งานในชีวิตประจำวันอยู่ว่า “เป็นรอยง่ายมากกว่าช้อนรับประทานข้าวสแตนเลสที่แถมมากับชุปก้อนเสียอีก” ลองคิดดู สาย Link Bracalet ราคาสูงถึง 16,900 บาท แค่เดินเฉี่ยวกำแพงบ้านนิดเดียวก็เป็นรอยหรือแม้แต่วางมือเฉยๆลงบนเครื่องแมคบุ๊ก สายก็สามารถเป็นรอยได้ง่ายมากในขณะที่ตัวเครื่องแมคไม่มีรอยใดๆเลย

ส่วนตัวเครื่องตามที่หลายคนได้เห็นภาพจากสื่อต่างประเทศว่าเป็นรอยง่ายเช่นกัน ส่วนนี้ทีมงานได้ลองสังเกตตลอดการใช้งาน 1 อาทิตย์ก็พบรอยขนแมวเล็กๆน้อยๆ เท่านั้น

ด้านหน้าจอ Sapphire crystal ส่วนนี้ต้องขอชมเรื่องความแข็งแรงที่ดีมาก และการใช้งานตลอดหนึ่งอาทิตย์ (มีแอบทำเครื่องตกจากโต๊ะบ้าง) หน้าจอก็ยังไม่พบรอยขีดข่วนใดๆเลย

**ไฮไลท์สำคัญอีกหนึ่งอย่างของส่วนหน้าจอและตัวเรือน Apple Watch คือ มีการเคลือบสารกันหยดน้ำเกาะไว้ และจากการทดสอบลองโยนตัวนาฬิกาลงสระน้ำพบว่าไม่มีปัญหาใดๆเกิดขึ้น แต่ก็อย่างว่า “แอปเปิลไม่แนะนำนะจ๊ะ ถ้าเครื่องมีปัญหาขึ้นมาอาจต้องน้ำตาตกใน”**

มาถึงเรื่องสายขอแบ่งวิจารณ์เป็นสองแบบได้แก่ แบบแรกสาย Sport Band ที่ราคาถูกสุด และมองครั้งแรกแล้วดูไม่ต่างจากสายยางที่ใช้กับฟิตเนสแบนด์หลายยี่ห้อ แต่เมื่อลองสัมผัสและใช้จริง พบว่าวัสดุสายแบบ Fluoroelastomer ค่อนข้างนุ่ม ไม่ระคายเคืองผิวและมีความยืดหยุ่นสูงมาก และที่สำคัญไม่เก็บกลิ่นเหงื่อ กลิ่นอับชื้นให้ผู้ใช้ต้องทำความสะอาดบ่อยๆด้วย

มาดูสายเส้นที่สอง Link Bracalet หลังจากวิจารณ์ข้อสังเกตไปแล้ว ก็เป็นส่วนของข้อดีกับเรื่องการปรับความยาวสายที่สามารถปรับได้ด้วยตัวล็อก “แค่กดและดึงออกเท่านั้น” จะปรับสายให้สั้นแค่ไหนก็แค่ดึงข้อต่อแต่ละข้อออกตามต้องการ

นอกจากนั้นเรื่องตัวล็อกสายกับข้อมือแบบปีกผีเสื้อก็ถือว่าใช้งานถอดเข้าออกได้สะดวกดีมาก

สุดท้ายมาดูในเรื่องความเสถียรของ WatchOS ที่ทีมงานมองว่าในเวอร์ชันแรกนี้ การทำงานหลายส่วนยังไม่สมบูรณ์เท่าที่ควร ยกตัวอย่างเช่น ความสามารถของฮาร์ดแวร์ตรวจจับการเคลื่อนไหวที่มีให้ครบครัน แต่ซอฟต์แวร์ Activity ยังดึงประสิทธิภาพออกมาได้ไม่เต็มที่ โดยเฉพาะระบบวัดอัตราการเต้นของหัวใจที่ไม่มีแอปฯเฉพาะเหมือนการวัดก้าวเดิน ไปถึงแบตเตอรีที่อยู่ได้แค่ 18 ชั่วโมง จะนำมาใช้ตรวจจับการนอนหลับก็ทำได้ยากลำบากเพราะต้องชาร์จแบตเตอรีแบบวันต่อวัน

หรือแม้แต่เรื่องแอปฯจากผู้พัฒนาภายนอกที่เมื่อทำงานบน Apple Watch แล้วมีอาการหน่วงช้าและบางครั้งก็เกิดอาการแอปฯปิดตัวเองบ่อยครั้งรวมถึงการที่แอปเปิลยังไม่เปิดโอกาสให้ผู้พัฒนารายอื่นเข้าถึงฮาร์ดแวร์ได้เต็มที่ คงต้องรอดูการเปลี่ยนแปลงที่เพิ่มมากขึ้นจาก WatchOS 2 อีกครั้ง

สรุปภาพรวม Apple Watch ถือว่าเป็นสมาร์ทวอตซ์ราคาสูงจากแอปเปิลที่ถูกออกแบบมาให้ใช้งานร่วมกับไอโฟนโดยเฉพาะ ซึ่งนอกจากเป็นนาฬิการบอกเวลาและเป็นสินค้าแฟชั่นสร้างภาพลักษณ์ไฮโซแล้ว Apple Watch ยังเป็นเหมือนส่วนเติมเต็มของไอโฟน (ย้ำชัด!ว่าไม่สามารถใช้งานแทนไอโฟนได้ เพราะอุปกรณ์ทั้งสองต้องพึ่งพาอาศัยกัน!) ยกตัวอย่างเช่น เรายืนอยู่บนรถไฟฟ้าไม่สามารถหยิบไอโฟนออกมาได้ Apple Watch จะเข้ามาเสริมตรงส่วนการช่วยแจ้งเตือนเวลามีข้อความสำคัญเข้ามา มีคนโทรเข้ามา ในขณะที่นักเล่นหุ้นก็สามารถตรวจดูกราฟหุ้นผ่านนาฬิกาได้ หรือแม้แต่คนที่ชอบเดินทาง ชอบออกกำลังกาย Apple Watch จะเข้ามาช่วยตรวจจับก้าวเดิน ตรวจวัดการเต้นของหัวใจและสามารถเป็น GPS นำทางได้โดยไม่ต้องหยิบไอโฟนออกมา และเมื่อถึงเวลาที่เราต้องการรับชมรายละเอียดที่เพิ่มมากขึ้นกว่าที่นาฬิกาจะแสดงข้อมูลได้ ไอโฟนก็จะเข้ามารับบทบาทเหล่านั้นต่อ

ก็ถือเป็นสมาร์ทวอตซ์สำหรับผู้ใช้ไอโฟนโดยเฉพาะ (เพราะรองรับแค่ไอโฟนรุ่น 5 และ 6 เท่านั้น) ที่มีข้อดีที่ชัดเจน เอกลักษณ์ของแอปเปิลตั้งแต่การออกแบบและจัดการระบบภายในยังถือเป็นเสน่ห์ที่ดึงดูดเงินในกระเป๋าผู้ใช้แอปเปิลและไอโฟนได้ไม่ยาก แต่ทั้งนี้ทีมงานมองว่าถ้าไม่รีบร้อนจนเกินไป อยากให้รอ Apple Watch รุ่นที่ 2 หรือรอดูการเปลี่ยนแปลงในด้านระบบปฏิบัติการ WatchOS 2 ก่อน เพราะในรุ่นแรกนี้ทุกอย่างยังคงเหมือนการทดลองตลาดที่ระบบหลายส่วนยังไม่สมบูรณ์ดีนัก


ใครไม่เข้าใจเรื่องการใช้งานและระบบการทำงานของ Apple Watch กรุณาคลิกชมคลิปวิดีโอชุดนี้อีกครั้ง

ข้อดี
- ออกแบบดี เซนเซอร์ฉลาด หน้าจอ Sapphire crystal แข็งแรงมาก
- Taptic Engine ให้ความรู้สึกการสั่นที่เป็นธรรมชาติ
- การสลับใช้งานระหว่างไอโฟนและ Apple Watch ทำได้ลื่นไหล ไม่สะดุดด้วยฟีเจอร์ Handoff
- การแจ้งเตือนแบบอัจฉริยะ
- ระบบตรวจจับการเคลื่อนไหว ก้าวเดิน แคลอรี่ที่เผาพลาญ และวัดอัตราการเต้นของหัวใจ พร้อมแจ้งเตือนเมื่อนั่งนานเกินไป

ข้อสังเกต
- สแตนเลส สตีล 316L เป็นรอยง่ายเกินไป
- WatchOS รุ่นแรกยังขาดความสมบูรณ์หลายส่วน ตัวเครื่องมีอาการหน่วงให้รู้สึกบ้างบางครั้ง
- แบตเตอรีต้องชาร์จวันต่อวัน
- ไม่มีระบบตรวจจับการนอนหลับเหมือนสมาร์ทวอตซ์คู่แข่ง

Company Related Link :
Apple

————————————————————————————
อีกหนึ่งช่องทางติดตามไซเบอร์บิซ ออนไลน์ ผ่านทางแอปพลิเคชัน LINE คลิกเพิ่มเพื่อนที่ปุ่ม Add Friends ด้านล่างจากสมาร์ทโฟนหรือเข้าไลน์ค้นหาไอดี @opu3945f

เพิ่มเพื่อน
————————————————————————————






สาย Sport Band แอปเปิลจะให้มาสองขนาด
ตัวอย่างแอปฯจากผู้พัฒนาอื่นๆ
Apple Watch รองรับทั้งคนถนัดซ้ายและขวา นอกจากนั้นยังรองรับการเชื่อมต่อกับ Health Device อื่นๆด้วย
แอปฯ Stock
แอปฯบอกสภาพอากาศ
แอปฯ Wongnai บน Apple Watch
กำลังโหลดความคิดเห็น