แพทย์ชี้ 3 โรครุมเร้าพระสงฆ์ สามเณร เหตุจากฉันอาหารที่มีรสจัด หวานจัด เค็มจัด มีแป้ง ไขมันสูง และขาดการออกกำลังกาย แนะควรเลือกอาหารใส่บาตร พร้อมแนะพระสงฆ์บริหารร่างกาย
นายแพทย์สุพรรณ ศรีธรรมมา อธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า จากข้อมูลการรักษาผู้ป่วยนอกของโรงพยาบาลสงฆ์ ปีงบประมาณ 2555-2557 พบพระสงฆ์- สามเณรอาพาธด้วยโรค 3 อันดับแรก คือ โรคเกี่ยวกับระบบการย่อยและดูดซึมสารอาหาร ความดันโลหิตสูง และเบาหวาน นอกจากนี้ ยังพบโรคอื่นๆที่เป็นปัญหาสำคัญ เช่น ไขมันในเลือดสูง ปอดอุดกั้นเรื้อรัง ไตวายเรื้อรัง ข้อเข่าเสื่อม ต้อกระจก เป็นต้น
สาเหตุเกิดจากหลายปัจจัย ได้แก่ การฉันภัตตาหารที่รสจัด เช่น หวานจัด เค็มจัด มีแป้งและไขมันสูง ขาดการออกกำลังกายหรือการบริหารร่างกาย ประกอบกับสภาพเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป ส่งผลให้การดำเนินชีวิตและการปฏิบัติศาสนกิจของพระสงฆ์ อาจมีความแตกต่างจากสมัยพุทธกาล เช่น การเดินบิณฑบาตในเมือง ในระยะทางที่สั้นลง รวมถึงการปฏิบัติกิจวัตรประจำวัน และการปฏิบัติศาสนกิจที่แตกต่างจากบุคคลทั่วไป ตามพุทธบัญญัติที่พระสงฆ์ควรอยู่ในอาการที่สำรวม เป็นผู้ดำรงอยู่ในศีล 227 ข้อ ทำให้พระสงฆ์มีข้อจำกัด ไม่สามารถออกกำลังกายเหมือนบุคคลทั่วไปได้ ส่งผลให้มีโอกาสเกิดโรคต่างๆ ได้ง่าย
แนวทางการออกกำลังกายที่เหมาะสมกับพระสงฆ์ จำเป็นต้องสำรวมและเป็นที่ยอมรับของสังคม จึงควรเลือกสถานที่ที่เป็นส่วนตัว เช่น ในกุฏิ ห้องออกกำลังกายสำหรับพระสงฆ์ พื้นที่โล่งในเขตวัด มีอากาศถ่ายเทได้สะดวก สำหรับการนุ่งห่ม อาจนุ่งสบง รัดประคด เพื่อให้กระชับรัดกุม ไม่จำเป็นต้องสวมจีวร เพื่อความสะดวกในการเคลื่อนไหว
ถ้าเป็นการเดิน ควรเดินในทางราบเรียบ ไม่ชื้นแฉะ และควรสวมใส่รองเท้าที่เบาสบาย เพื่อป้องกันการบาดเจ็บที่ฝ่าเท้า เพราะการเดินด้วยเท้าเปล่า อาจทำให้เหยียบถูกของมีคมหรือก้อนกรวดบนพื้น โดยเฉพาะพระสงฆ์ที่อาพาธด้วยโรคเบาหวาน
วิธีการออกกำลังกายที่พระสงฆ์สามารถทำได้โดยง่ายและเหมาะสมกับทุกวัย คือ การเดิน เช่นการเดินบิณฑบาต การเดินจงกรม ซึ่งควรเดินต่อเนื่อง 30 นาทีขึ้นไป หรือเดิน 10 -15 นาที 2-3 รอบ สะสมรวมกัน 30 นาที
นอกจากนี้ ควรมีกิจกรรมอย่างอื่นร่วมด้วย เช่น การกวาดลานวัด หรือการขึ้นลงบันได ยกเว้นพระสงฆ์สูงอายุที่เป็นโรคข้อเข่าเสื่อม ซึ่งก่อนและหลังการออกกำลังกาย ควรมีการอบอุ่นร่างกายและยืดเหยียดกล้ามเนื้อ เพื่อป้องกันการบาดเจ็บของกล้ามเนื้อ ช่วยลดความตึงและเพิ่มความยืดหยุ่นของข้อต่อและกล้ามเนื้อ และควรออกกำลังกายในช่วงที่ไม่หิวหรืออิ่มเกินไป ถ้าฉันภัตตาหารไปแล้วควรรอหลังอาหารอย่างน้อย 2 ชั่วโมง
ทั้งนี้ หากมีอาการแน่นหน้าอก เหนื่อยมาก หอบ หายใจไม่ทัน วิงเวียนศีรษะ หน้าซีด คล้ายจะเป็นลม ควรหยุดออกกำลังกายทันที
อธิบดีกรมการแพทย์กล่าวเพิ่มเติมว่า การทำบุญตักบาตรพระสงฆ์ ควรคำนึงถึงอาหารเพื่อสุขภาพ โดยเลือกแต่อาหารที่มีประโยชน์ ไม่มีรสเค็มจัดหวานจัด หรือมันจัด แต่เน้นอาหารที่มีผักมากๆ ถูกต้องตามหลักโภชนาการ คือ
• อาหารประเภทนม ควรเลือกถวายนมพร่องไขมัน เหมาะสำหรับพระสงฆ์ที่มีภาวะไขมันในเลือดสูง
• อาหารประเภทข้าว ควรเลือกถวายอาหารประเภทข้าวกล้อง ขนมปังโฮลวีท เพราะจะให้ประโยชน์เรื่องใยอาหารและวิตามินบีรวม
• อาหารประเภทเนื้อสัตว์ ควรเลือกเนื้อปลา หรือเนื้อสัตว์ไขมันต่ำ
• อาหารประเภทผัก ควรเป็นผักหลากสีซึ่งจะมีวิตามินต่างกัน
• อาหารประเภทผลไม้ ควรเลือกผลไม้ที่มีรสไม่หวานจัด เช่น ส้ม มะละกอ แตงโม แคนตาลูป ส้มโอ ฝรั่ง สับปะรด กล้วย แอปเปิ้ล แก้วมังกร เป็นต้น
ที่สำคัญควรหลีกเลี่ยงการถวายอาหารที่ใช้น้ำมันจำนวนมากในการปรุง เช่น อาหารที่มีกะทิ อาหารที่ปรุงโดยการผัดน้ำมันมากๆ และอาหารทอด ควรงดเว้นหรือหลีกเลี่ยงการถวายขนมที่มีรสหวานจัด เพื่อให้พระสงฆ์ สามเณรมีร่างกายที่สมบูรณ์แข็งแรง
(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 176 สิงหาคม 2558 โดย กองบรรณาธิการ)