xs
xsm
sm
md
lg

ชวนคิดชวนทำ : 9 เคล็ดลับกำราบ “อารมณ์เหวี่ยง”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


สภาพชีวิตความเป็นอยู่ที่เร่งรีบ และมลภาวะของสิ่งแวดล้อมในปัจจุบันนี้ เช่น การแย่งกันทำมาหากิน รถติด น้ำท่วม อากาศเสีย ฯลฯ ส่งผลให้ผู้คนในสังคม เกิดอารมณ์แปรปรวนทางร้ายหรืออารมณ์เหวี่ยงกันมากขึ้น

บางคนเหวี่ยงใส่คนอื่นทั้งวันเพราะควบคุมตัวเองไม่ได้ จนไม่มีใครชอบหน้าหรือคบค้าสมาคมด้วย ถ้าคุณกำลังตกอยู่ในสภาพนั้น อย่าชะล่าใจ ควรหาทางกำราบอารมณ์เหวี่ยง ก่อนถูกตราหน้าว่าเป็น “ขาวีนจอมเหวี่ยง”

1. หายใจลึกๆ นับ 1-10
เมื่อต้องตกอยู่ในสถานการณ์บางอย่างที่ทำให้รู้สึกหงุดหงิด ฉุนเฉียวได้ง่าย เช่น โดนแซงคิว โดนรถขับปาดหน้า ฯลฯ ซึ่งเกิดขึ้นทันทีทันควัน โดยที่คุณไม่อาจควบคุมได้

ต้องรีบบอกตัวเองให้หยุดคิดแง่ร้าย พยายามระงับสติอารมณ์ ด้วยการนับ 1-10 และหายใจเข้าออกลึกๆ เพื่อดึงตัวเองออกจากสถานการณ์ยั่วยุ ที่อาจนำไปสู่เรื่องร้ายอย่างไม่คาดคิด

2. เดินหนีไปสงบอารมณ์
สิ่งสำคัญที่ต้องจำขึ้นใจ เมื่อต้องการควบคุมอารมณ์เหวี่ยงที่เกิดขึ้น คือ การเดินหนีออกจากสถานการณ์ที่ทำให้รู้สึกโกรธจนไม่อาจควบคุมตัวเองได้ ไม่ว่าจะเป็นการกระทำหรือคำพูด เช่น หากคุณกำลังโต้เถียงกับเพื่อนหรือคนรัก และรู้ว่าสถานการณ์เริ่มแย่ลง ควรหยุดและพูดว่า “ขอโทษ ขอเวลานอกสักครู่” จากนั้นเดินออกไปหาที่เงียบๆ สงบอารมณ์ เมื่อรู้สึกดีขึ้นและใคร่ครวญเรื่องราวที่เกิดขึ้นแล้ว จึงค่อยกลับไปพูดคุยกันใหม่ อย่างน้อยๆ มันจะช่วยให้คุณไม่พูดหรือทำในสิ่งที่อาจทำให้เสียใจในเวลาต่อมา

3. พูดคุยกับเพื่อนสนิท
คนบางคนตกอยู่ในวังวนของอารมณ์ด้านลบ เช่น โกรธ เกลียด เสียใจ ที่แวบเข้ามาในความคิดเป็นระยะๆ จนกลายเป็นจอมเหวี่ยง และบางครั้งก็หาทางออกไม่เจอ

เพราะฉะนั้น สิ่งที่ดีที่สุดที่ควรทำคือ โทรศัพท์พูดคุยกับเพื่อนสนิท เพื่อระบายความคับข้องใจ วิธีนี้นอกจากจะทำให้รู้สึกดีขึ้นได้แล้ว ยังทำให้รู้ว่า คุณไม่ได้อยู่โดดเดี่ยวตามลำพัง และการได้รู้ว่า ยังมีใครบางคนที่พึ่งพิงได้ในยามนี้ จะช่วยให้คุณควบคุมอารมณ์มิให้แปรปรวนได้

4. หาตัวช่วยให้ใจสงบ
มีวิถีทางมากมายที่จะช่วยให้ใจสงบ ซึ่งแต่ละคนก็จะมีวิธีการแตกต่างกันไป บางคนแค่ออกไปเดินเล่นนอกบ้าน ใจก็โล่งสบายแล้ว ขณะที่บางคนนั่งจิบกาแฟ ฟังเพลงเบาๆ หรือเล่นกับสัตว์เลี้ยง จิตใจก็ผ่อนคลายลง หรือบางคนก็ใช้วิธีสวดมนต์ นั่งสมาธิ ให้จิตสงบ

ดังนั้น เมื่อใดคุณเริ่มรู้สึกถึงอารมณ์ที่แปรปรวน จงลงมือทำสิ่งที่เคยทำแล้วช่วยให้ใจสงบ คุณก็จะรู้สึกดีขึ้นมาก

5. ตั้งสติ คิดก่อนพูด
นี่คือกฎเหล็กอีกข้อที่ใช้ควบคุมอารมณ์เหวี่ยงอย่างเห็นผล เพราะเมื่อเริ่มรู้สึกไม่ดี คุณอาจพูดอะไรๆที่ไม่ดีออกไป ทำให้ผู้ที่เกี่ยวข้องด้วยรู้สึกแย่ และคุณเองต้องมานั่งเสียใจในภายหลัง ดังนั้น ทางที่ดี ขอให้หยุดคิดสักนิดก่อนที่จะพูดออกไป

การหยุดนิ่งชั่วครู่โดยไม่ต้องพูดอะไร เป็นวิธีช่วยให้คุณตั้งสติและควบคุมตัวเองได้เช่นกัน เพราะการพูดในสิ่งที่คุณไม่ได้ตั้งใจ อาจทำให้เกิดปฏิกิริยาโต้ตอบที่ทำให้สถานการณ์เลวร้ายลงกว่าเดิม และบางทีจะทำให้คุณรู้สึกแย่กว่าเดิมอีกด้วย

6. อย่าปล่อยให้หิว
หลายคนอยู่ๆก็รู้สึกหงุดหงิด ฉุนเฉียว เกรี้ยวกราด โดยหารู้ไม่ว่า สาเหตุที่แท้จริงเกิดจากระดับน้ำตาลในเลือดลดลง มีงานวิจัยชี้ว่า อาหารอาจส่งผลต่อการรับรู้สถานการณ์ใดๆ หากขาดอาหาร อาจทำให้เรามองเห็นแต่สิ่งเลวร้าย ทั้งๆที่มันไม่ได้เกิดขึ้นจริง

เพราะฉะนั้น หากคุณไม่ได้รับประทานอะไรเลยนานหลายชั่วโมง แล้วรู้สึกหงุดหงิด ฉุนเฉียว ต้องรีบหาอะไรใส่ท้องโดยด่วน แล้วอารมณ์แปรปรวนนั้นก็จะหายไป

7. ออกไปเดินเล่น
เมื่ออารมณ์เริ่มขุ่นมัว การได้ออกไปเดินเล่นนอกบ้าน เปลี่ยนบรรยากาศ มองเห็นวิถีชีวิตของคนอื่นๆ จะช่วยให้คุณตระหนักว่า ยังมีคนจำนวนมากที่มีปัญหาเช่นเดียวกับคุณ หรือแย่กว่าคุณด้วยซ้ำ

มีการพิสูจน์แล้วว่า การเดินเล่นช่วยต่อสู้กับอารมณ์ไม่ดีอย่างได้ผล นอกจากนี้ การออกไปเดินรับอากาศบริสุทธิ์นอกบ้านสักครึ่งชั่วโมง ยังช่วยคลายความเครียด ลดความเสี่ยงโรคหลอดเลือดหัวใจ เส้นเลือดสมองตีบ โรคอ้วน และมะเร็งบางชนิดได้

8. จัดการที่ต้นเหตุ
มีสิ่งต่างๆมากมายที่คอยกวนอารมณ์ให้ขุ่นมัว หากคุณสามารถจัดการกับต้นเหตุนั้นได้ ควรลงมือดับที่เหตุก่อน เช่น เพื่อนบ้านเปิดเพลงเสียงดัง ก็ขอร้องให้เขาเปิดเบาหน่อย แต่ถ้าเป็นเหตุที่คุณไม่สามารถจัดการได้ ต้องหาวิธีเลี่ยง เช่น นั่งอยู่ในรถที่ติดยาวเหยียด แล้วอารมณ์บ่จอย ลองเปิดเพลงเบาๆที่ช่วยให้ผ่อนคลาย หรือหากเพื่อนที่ทำงานบางคนทำให้คุณหัวเสียเป็นประจำ พยายามหลีกเลี่ยงหรือพูดคุยกับเขาให้น้อยที่สุด

9. เขียนไดอารี่
การเขียนไดอารี่ เป็นการระบายความรู้สึกอย่างหนึ่งในยามที่คุณไม่อาจพูดคุยกับใครได้ และช่วยให้เห็นถึงการเกิดอารมณ์ด้านลบในสถานการณ์ต่างๆ เพื่อที่จะหลีกเลี่ยงมิให้มันเกิดขึ้นอีก โดยเขียนสิ่งที่เกิดขึ้นในแต่ละวัน ว่าสิ่งใดทำให้มีความสุข สิ่งใดทำให้เป็นทุกข์

พยายามจดบันทึกอย่างน้อยวันเว้นวัน ทำเรื่อยๆจนเป็นนิสัย เพราะการได้อ่านทบทวนความรู้สึกนึกคิดในไดอารี่ จะช่วยให้เราระมัดระวังและควบคุมอารมณ์ได้ดีขึ้น

(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 176 สิงหาคม 2558 โดย ประกายรุ้ง)

กำลังโหลดความคิดเห็น