กรมสุขภาพจิตชี้ฆ่าตัวตายยกครัว เหตุเจ็บป่วยจิตใจ มีภาวะเครียดเรื้อรัง ขาดการรับคำปรึกษา เผยคนลงมือมักเป็นผู้นำครอบครัว มีอิทธิพลเหนือคนในครอบครัว คิดเองถ้าตายคนเดียวคนข้างหลังจะลำบาก เลยลากพาไปตายทั้งหมด แนะสังเกตความเครียด หาวิธีจัดการ คนรอบข้างช่วยรับฟัง
นพ.เจษฎา โชคดำรงสุข อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวถึงกรณีพ่อค้าหนุ่มเครียดตกงาน 3 ปี คว้าปืนฆ่ายกครัว ยิงลูกเมียดับก่อนฆ่าตัวตายคาบ้านย่านบางขุนศรี ว่า การฆ่าตัวตายเกิดขึ้นได้กับทุกคน โดยคนไทยมีการฆ่าตัวตายสำเร็จไม่น้อยกว่า 3,600 รายต่อปี สาเหตุการฆ่าตัวตายมีหลายปัจจัย ทั้งด้านร่างกาย จิตใจ สังคม เศรษฐกิจ วัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม การเจ็บป่วยด้วยโรคทางจิต โดยเฉพาะผู้ป่วยโรคซึมเศร้า ผู้ที่ใช้สารเสพติด หรือเหตุบกพร่องในการทำหน้าที่ของครอบครัว มีประวัติการฆ่าตัวตายในครอบครัว เป็นผู้ครอบครองปืน หรือมีปัญหาเศรษฐกิจ เป็นต้น โดยขณะมีความเครียดอาจเลือกคิดถึงสิ่งต่างๆ ในทางลบ แล้วควบคุมไม่ได้ คิดว่าสิ่งนั้นน่าจะเป็นทางออก ทำให้เลือกใช้วิธีรุนแรงกับตัวเองและครอบครัว
นพ.เจษฎา กล่าวว่า สำหรับการฆ่าตัวตายในครอบครัว ส่วนใหญ่จะเกิดจากการเจ็บป่วยทางด้านจิตใจ อยู่ในภาวะเครียดเรื้อรังมานาน ทำให้เกิดภาวะท้อแท้สิ้นหวัง ที่อาจรุนแรงถึงขั้นเกิดภาวะซึมเศร้า ประกอบด้วยการขาดการขอรับคำปรึกษา จากคนรอบข้าง หรือเข้ารับบริการทางการแพทย์ นอกจากนี้ ก็มักจะพบว่า คนที่มีอิทธิพลทางจิตใจเหนือกว่าคนอื่น ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นพ่อ ที่จะมีเหนือลูกหรือแม่ มักเลือกตัดสินใจยุติชีวิตคนในครอบครัวไปด้วย เพราะคิดว่าถ้าตัวเองไปคนเดียวจะทำให้คนอื่นลำบาก ไม่สามารถดำรงชีวิตต่อไปได้ ความคิดเช่นนี้เป็นความคิดที่ผิดโดยสิ้นเชิง เพราะทุกชีวิตย่อมมีสิทธิที่จะอยู่สู้ชีวิตบนโลกนี้ต่อไป นอกจากนี้ ยังมีคนที่เหลือและเครือญาติที่ยังต้องทนอยู่กับความทุกข์นี้ไปตลอดชีวิต
“การฆ่าตัวตายป้องกันได้ ถ้าสามารถชะลอความคิดฆ่าตัวตายในช่วงนั้นและให้ความช่วยเหลือ เพราะอารมณ์อยากฆ่าตัวตายเกิดขึ้นเพียงชั่ววูบ หากผ่านช่วงนั้นไปได้ ทั้งให้คำปรึกษา รักษา หรือให้ยาที่ทำให้สภาพจิตใจสงบลง ความคิดอยากฆ่าตัวตายก็จะหมดไป แนวทางป้องกัน คือ มีวิธีจัดการกับความเครียดที่ดี เช่น ออกกำลังกายสม่ำเสมอ ยึดหลักศาสนา ฝึกคลายเครียด ฝึกหายใจ ฝึกสมาธิ ขณะที่ครอบครัวและชุมชน ควรต้องดูแลกันและกัน โดยการเอาใจใส่สังเกตพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปจากเดิมมาก เช่น ฉุนเฉียวง่าย คุมอารมณ์ไม่ได้ แยกจากเพื่อนฝูง ครอบครัว เป็นต้น ยิ่งมีประวัติทำร้ายตัวเองยิ่งต้องระวังเป็นพิเศษ ควรรับฟังปัยหาอย่างตั้งใจ ไม่ตำหนิวิจารณ์” อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าว
นพ.เจษฎา กล่าวว่า นอกจากนี้ ควรเริ่มสังเกตตนเองว่ามีความไม่สบายใจ วิตกกังวล เครียด หรือมีอารมณ์ฉุนเฉียว โดยไม่รู้สึกตัวบ้างหรือไม่ แล้วรีบหาวิธีจัดการ หาเพื่อนปรึกษา พูดคุยระบาย ช่วยกันคิดแก้ปัญหา ไม่เก็บปัญหาไว้คนเดียว รวมทั้งสามารถขอรับคำปรึกษาได้ที่หน่วยบริการสาธารณสุขใกล้บ้าน ตลอดจน สายด่วนสุขภาพจิต 1323 โทร. ฟรี ตลอด 24 ชั่วโมง หากพบว่าตนเองอยู่ในภาวะเครียดรุนแรง ควรรีบพบแพทย์ หรือขอรับบริการได้ที่โรงพยาบาลจิตเวช
ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่