xs
xsm
sm
md
lg

"เครียดอยู่หรือเปล่า" เรามีคำแนะนำจากคุณหมอ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ในท่ามกลาง “สภาวะความเครียด” ที่ทุกคนต้องเจอในแต่ละทุกช่วงเวลานั้น แน่นอนว่า ย่อมเกิดขึ้นได้แทบทุกเพศทุกวัย ไม่ว่าจะวัยเด็ก วัยรุ่น วัยทำงาน ยัน วัยชรา ซึ่งปัจจัยที่สำคัญ คงหนีไม่พ้นเรื่องที่ไปประสบพบเจอมาต่างๆ นานา และ ไม่สามารถแก้ไขปัญหาในขณะนั้นได้ทันท่วงที จนสุดท้ายลงเอยด้วย "การเครียด" และบางทีหนักหนาถึงขั้นเครียดสะสมและนำไปสู่การกระทำที่เป็นความสูญเสียทั้งแก่ตนเองและผู้อื่นอย่างที่เห็นเป็นข่าวบ่อยๆ
เครดิตภาพ : blogspot.com
นพ.ศิระ กิตติวัฒนโชติ แพทย์ประจำโรงพยาบาลเจ้าพระยา จะมาไขความกระจ่างถึงสภาวะดังกล่าว ว่า ความเครียด นั้น มันไม่ใช่เรื่องเล็กๆ ที่ไม่ควรใส่ใจ ปล่อยปละละเลยอย่างเด็ดขาด...
นพ.ศิระ กิตติวัฒนโชติ
ที่มาของ ‘ภาวะเครียด’

“สภาวะความเครียด เกิดมาจาก สาร Cortisol หลั่งในร่างกายครับ เกิดในตอนสภาวะเครียด แล้วต่อมใต้สมองก็หลั่งสารตัวนี้ออกมา ซึ่งการหลั่งสารนี้ก็ทำให้เกิดอาการของภาวะนี้อย่างเห็นได้ชัด คืออารมณ์ของมนุษย์ จิตใจ และ สมอง มีความสัมพันธ์กันอยู่แล้ว เวลาคนเรามีอารมณ์เครียด สาร หรือฮอร์โมนที่เกี่ยวข้องกับความเครียด ก็จะหลั่งออกมา เพราะฉะนั้น คนที่มีความเครียดบ่อยครั้ง สามารถใช้คำว่า ภาวะความเครียดได้ครับ
เครดิตภาพ : giangvien.net
อาการ

“สำหรับอาการของสภาวะความเครียดนั้น สามารถแสดงออกได้หลายทางครับ อย่างเรื่องอารมณ์ก็อาจจะเครียด ซึมเศร้า วิตกกังวล”

“ถ้าเป็นเรื่องความคิดก็จะเป็น มองอะไรในแง่ลบหรือในแง่ร้ายเกินความเป็นจริง มองเห็นทางออกของปัญหาไม่ได้ คือถ้าอยู่ในภาวะปกติเขาอาจจะมองได้ แต่ถ้ามีภาวะเครียด เขาอาจจะมีการสับสน หรือ มองอะไรไม่ค่อยออก หรือหนักหน่อย อาจจะมองตัวเองไร้ค่า และรู้สึกสิ้นหวังจนไม่มีใครช่วยเขาได้”

“แล้วถ้าในแง่ของร่างกาย บางคนเครียดแล้วปวดศีรษะไมเกรน บางคนเครียดลงกระเพาะก็ลงกระเพาะ หรือบางคนก็ส่งผลชีพจร ความดันสูง หรือการหายใจ คนที่เครียด จะหายใจไม่ทั่วท้อง หายใจตื้นๆ กล้ามเนื้อก็เกร็งตึง หลายคนก็ปวดต้นคอ ปวดตามกล้ามเนื้อ อันนี้ส่งผลต่อร่างกาย ส่วนเรื่องพฤติกรรม ในแง่คนที่เครียด เค้าก็จะดูหงุดหงิดง่าย หรือบางที แสดงออก หรือพูดจาอะไรไม่เหมาะสมได้”
การรักษา

“คือแต่ละคนก็จะมีวิธีจัดการความเครียดที่แตกต่างกันออกไป มีการพักผ่อนการทำงาน ก็แล้วแต่คนชอบแตกต่างกันไป คงต้องให้สมดุลกัน ให้สาเหตุที่ทำให้เกิดความเครียดน้อยที่สุด เช่น การออกกำลังกาย ก็ช่วยได้ดี หรือทำงานอดิเรกที่ตัวเองชอบ อาจจะต้องหางานอดิเรกให้ตัวเอง บางคนยุ่งทุกวัน ก็ไม่แบ่งเวลาให้ตัวเองคลายเครียดเลย ก็ควรจะหาเวลาให้ตัวเองด้วย หรือถ้าเครียดถึงจุดหนึ่ง อาจจะต้องหาคนรอบข้าง หรือคนสนิทอะไรก็ตาม บางคนได้พูดคุยปรึกษา ได้ระบายความเครียด ก็อาจจะดีขึ้น แต่ถ้าพยายามจัดการความเครียดแล้ว ยังไม่ดีขึ้นสักที คือถ้าเริ่มรุนแรงขึ้น นอนไม่หลับหรือซึมเศร้า อาจจะต้องมาพบแพทย์ หรือปรึกษากันว่าเป็นโรคมั้ย รักษารึเปล่า และถ้ามีอาการหนักเข้า การใช้ยาคลายเครียดหรือยานอนหลับก็คงเป็นวิธีท้ายๆ ในการรักษา”


กำลังโหลดความคิดเห็น