xs
xsm
sm
md
lg

พยาบาลไทยเครียดสูง หวั่นกระทบดูแลคนไข้ เสนอ 3 ทางแก้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

สำรวจพบพยาบาลไทยเครียดสูง 8 - 10% พึ่งยานอนหลับ คุณภาพชีวิตด้านสุขภาพแย่กว่าผู้หญิงที่ทำงานด้านอื่น หวั่นส่งผลกระทบการดูแลคนไข้ ขณะที่กลุ่มพยาบาลอายุน้อยเสี่ยงลาออกมากกว่า เสนอ 3 ข้อสร้างการทำงานปลอดภัย

วันนี้ (5 ก.พ.) ที่โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ ดร.กฤษดา แสวงดี หัวหน้าโครงการวิจัยสุขภาพและชีวิตการทำงานของพยาบาลไทย (TNCs) แถลงข่าว “ผลวิจัยคุณภาพชีวิตพยาบาล” ว่า จากการเก็บข้อมูลพยาบาลวิชาชีพทั่วประเทศ จำนวน 18,765 คน พบว่า มากกว่าครึ่งมีความเครียด โดย 45.5% มีความเครียดจากการทำงานระดับสูง ซึ่ง 1 ใน 3 มีปัญหาเรื่องการนอนหลับ และ 8-10% เคยใช้ยานอนหลับ ปัจจัยเสี่ยงคือ การทำงานเป็นเวรผลัดต่อเนื่องมากกว่า 12 ชั่วโมงต่อวัน ซึ่งความเครียดส่งผลต่อการบาดเจ็บ เช่น ถูกเข็มทิ่มตำ การบาดเจ็บจากของมีคม และเจ็บป่วยด้วยโรคกระดูกและกล้ามเนื้อ ส่วนดัชนีคุณภาพชีวิต ด้านสุขภาพ พบว่า อยู่ที่ 0.75 ต่ำกว่าผู้หญิงไทยในอาชีพอื่นซึ่งอยู่ที่ 0.95 โดยพยาบาลอายุน้อยจะมีคุณภาพชีวิตด้านสุขภาพต่ำกว่าระดับอาวุโส ซึ่งสัมพันธ์กับความมั่นคงในการทำงาน ส่งผลให้มีการลาออกหรือเปลี่ยนอาชีพ เฉลี่ยอายุการทำงานในวิชาชีพเพียง 22.5 ปี นอกจากนี้ พบว่า ในรอบ 1 ปีที่ผ่านมา พยาบาลไทย 1 ใน 5 เคยประสบความรุนแรงจากการทำงาน และตั้งใจที่จะออกจากงานภายใน 1 - 2 ปี มากกว่าพยาบาลที่ไม่เคยประสบ

“ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายในการสร้างความปลอดภัยในการทำงานของพยาบาล ได้แก่ 1. ให้ความรู้เพื่อให้ตระหนักถึงภาวะคุกคามต่อสุขภาพในสถานที่ทำงาน ทั้งร่างกายและจิตใจ โดยบรรจุเป็นส่วนหนึ่งของวิชาอาชีวอนามัยของหลักสูตรพยาบาล หรือในการปฐมนิเทศพยาบาลจบใหม่ 2. กระตุ้นให้หน่วยบริการคำนึงถึงการสร้างสิ่งแวดล้อมด้านบวก ครอบคลุมภาวะคุกคามสุขภาวะทุกประเภท และ 3. มีการตรวจติดตามและประเมินผลโครงการสร้างเสริมสิ่งแวดล้อมด้านบวก และส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาวิจัยและองค์ความรู้ที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพและคุณภาพชีวิตของพยาบาลไทยอย่างต่อเนื่อง เพื่อการปรับปรุงและพัฒนาประสิทธิภาพในการดูแลสุขภาพพยาบาลไทย” ดร.กฤษดา กล่าว

รศ.ดร.จินตนา ยูนิพันธุ์ นายกสมาคมพยาบาลแห่งประเทศไทยฯ กล่าวว่า ความไม่ปลอดภัยในการทำงานและคุณภาพชีวิตที่ต่ำของพยาบาล อาจส่งผลกระทบต่อการดูแลคนไข้ได้ แม้พยาบาลจะพยายามอย่างเต็มที่ในการดูแลคนไข้แล้วก็ตาม ข้อเสนอเชิงนโยบายดังกล่าวจะพยายามผ่านทุกช่องทางที่สามารถดำเนินการได้ เพื่อให้เกิดการป้องกันและดูแลคุณภาพชีวิตพยาบาล ทั้งนี้ จะประชุมสัมมนาพยาบาลทั่วประเทศให้มีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็นนำไปสู่แนวทางการแก้ปัญหา ระหว่างวันที่ 9 - 13 พ.ย. โดยจะผลักดันเรื่องความปลอดภัยในการทำงานของพยาบาลเป็นวาระแห่งชาติ

“ทั้งนี้ หากสภาพแวดล้อมในการทำงานไม่มีความปลอดภัยหรือคุณภาพชีวิตไม่ดี จะส่งผลต่อการรักษากำลังคนด้านพยาบาลให้อยู่ในระบบสาธารณสุข เสี่ยงกับการที่พยาบาลที่ยังมีอายุน้อยจะลาออกจากระบบในอีก 2 ปีข้างหน้า ในทางกลับกันหากสิ่งแวดล้อมในการทำงานปลอดภัยและมีความสุขในการทำงาน ก็จะสามารถดึงพยาบาลไว้ในระบบสาธารณสุขภาครัฐได้นาน” รศ.ดร.จินตนา กล่าว

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่



กำลังโหลดความคิดเห็น