xs
xsm
sm
md
lg

รอบรู้โรคภัย : บ้าหรือไม่บ้า ตรวจให้รู้ว่า คุณเป็น “โรคจิตเภท” หรือเปล่า

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ปัญหาสุขภาพจิตเกิดขึ้นได้ในทุกช่วงวัย ปัจจุบัน ทั่วโลกมีผู้ประสบปัญหาสุขภาพจิตมากกว่า 450 ล้านคน ในส่วนของประเทศไทยพบว่า มีผู้ป่วยโรคจิตเพิ่มมากขึ้น มีจำนวนผู้ป่วยเข้ารับการรักษาไม่น้อยกว่า 1.4 ล้านรายในแต่ละปี

ต้นเหตุของปัญหาเกิดจากหลายสาเหตุ หนึ่งในนั้น คือ การเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของสังคม ทั้งด้านเศรษฐกิจ การเมือง วัฒนธรรม ตลอดจนการสื่อสารที่ไร้พรมแดน ที่อาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพจิต

แม้ว่าทุกคนมีโอกาสป่วยทางจิต แต่ก็สามารถรักษาให้หายได้ หากได้รับการรักษาแต่เนิ่นๆ เพราะฉะนั้น การเรียนรู้ลักษณะอาการของโรคจิตจึงเป็นเรื่องสำคัญ

โรคจิตเภทคืออะไร
โรคจิตเภท (schizophrenia) คือ กลุ่มอาการของโรคจิต ที่มีความผิดปกติของความคิด มีลักษณะอาการแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภทคือ ลักษณะอาการทางบวก และลักษณะอาการทางลบ

กลุ่มลักษณะอาการทางบวก หมายถึง อาการที่มีเพิ่มมากกว่าคนปกติทั่วไป ได้แก่
- ประสาทหลอน เช่น ได้ยินเสียงคนพูดคุย ได้ยินเสียงคนพูดตำหนิ พูดโต้ตอบเสียงนั้นเพียงคนเดียว
- อาการหลงผิด เช่น คิดว่ามีเทพวิญญาณอยู่ในร่างกาย คอยบอกให้ทำสิ่งต่างๆ
- ความคิดผิดปกติ เช่น พูดไม่เป็นเรื่องเป็นราว พูดไม่ต่อเนื่อง เปลี่ยนเรื่องพูดโดยไม่มีเหตุผล
- พฤติกรรมผิดปกติ เช่น อยู่ในท่าแปลกๆ หัวเราะหรือร้องไห้ สลับกันเป็นพักๆ

กลุ่มลักษณะอาการทางลบ หมายถึง อาการที่ขาดหรือบกพร่องไปจากคนปกติทั่วๆไป ได้แก่
- สีหน้าอารมณ์เฉยเมย ชีวิตไม่มีจุดหมาย ไม่มีสัมพันธภาพกับใคร ไม่พูด ไม่มีอาการยินดียินร้าย

อาการ
อาการโดยรวมที่พบได้ในภาวะความเจ็บป่วยของโรคนี้ ได้แก่
1. มองโลกผิดไปจากความเป็นจริง
ผู้ป่วยโรคจิตเภทมักมองโลกผิดไปจากความจริง ซึ่งแตกต่างจากคนทั่วๆไป ผู้ป่วยอาจจะมีอาการวิตกกังวล รู้สึกสับสน อาจจะดูเหินห่าง แยกตัวจากสังคม บางครั้งอาจนั่งนิ่งเป็นหิน ไม่เคลื่อนไหวและไม่พูดจาใดๆ เป็นชั่วโมงๆ หรืออาจเคลื่อนไหวช้า ทำอะไรช้าๆ ผู้ป่วยอาจมีพฤติกรรมแปลกๆ อยู่ตลอดเวลา

2. ประสาทหลอน
ผู้ป่วยอาจคิดว่ามีบางสิ่งบางอย่างเกิดขึ้น ทั้งๆที่ความจริงไม่มีสิ่งเหล่านั้นเกิดขึ้น เช่น ได้ยินเสียงคนมาสั่งให้ตนทำโน่นทำนี่ ได้ยินคนมาพูดคุยกับตน มาเตือน หรือมาตำหนิในเรื่องต่างๆ ทั้งๆที่ความจริงไม่มีคนพูดหรือไม่มีต้นกำเนิดเสียงเหล่านี้เลย ซึ่งเราเรียกอาการนี้ว่า “หูแว่ว”

ผู้ป่วยบางคนอาจมองเห็นคน ผี หรือสิ่งของต่างๆ ซึ่งในความเป็นจริงแล้วไม่มีสิ่งเหล่านี้และไม่มีใครเห็นเหมือนผู้ป่วย เราเรียกอาการนี้ว่า “เห็นภาพหลอน”

3. ความคิดหลงผิด

ความคิดหลงผิดเป็นความเชื่อของผู้ป่วยที่ผิดไปจากความเป็นจริง และไม่ได้เป็นความเชื่อในวัฒนธรรมของผู้ป่วย ซึ่งความคิดหลงผิดในผู้ป่วยจิตเภทนี้ มักจะแปลกประหลาดมาก เช่น เชื่อว่าพฤติกรรมของเขาหรือของคนอื่นๆ ถูกบังคับให้เป็นไปด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าจากต่างดาว เชื่อว่าความคิดของตนแพร่กระจายออกไปให้คนอื่นๆที่ไม่รู้จัก รับรู้ได้ว่าตนคิดอะไรอยู่ หรือเชื่อว่าวิทยุหรือโทรทัศน์ต่างก็พูดถึงตัวผู้ป่วย ทั้งๆที่ในความเป็นจริงไม่ได้เป็นอย่างนั้น

4. ความคิดผิดปกติ
ผู้ป่วยจะไม่สามารถคิดแบบมีเหตุมีผลได้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะส่งผลให้ผู้ป่วยพูดคุยกับคนอื่นไม่ค่อยเข้าใจ เมื่อคนอื่นคุยกับผู้ป่วยไม่ค่อยเข้าใจ ก็มักจะไม่ค่อยคุยด้วย ซึ่งส่งผลให้ผู้ป่วยถูกแยกให้อยู่คนเดียว

5. การแสดงอารมณ์ไม่เหมาะสม
ผู้ป่วยมักจะแสดงอารมณ์ไม่เหมาะสมกับเรื่องที่กำลังพูด เช่น พูดว่าตนกำลังถูกปองร้ายจะถูกเอาชีวิต ซึ่งขณะพูดก็หัวเราะอย่างตลกขบขัน (โดยไม่ใช่คนปกติที่ต้องการทำมุขตลก)

พบได้บ่อยเช่นกันที่ผู้ป่วยจิตเภท จะไม่ค่อยแสดงสีหน้า หรือความรู้สึกใดๆ รวมทั้งการพูดจาก็จะใช้เสียงระดับเดียวกันตลอด ไม่แสดงน้ำเสียงใดๆ (monotone) ซึ่งอาการของผู้ป่วยจิตเภทนี้ส่วนใหญ่มักจะเป็นเรื้อรัง มีบ้างในบางคนที่มีอาการเพียงช่วงเวลาสั้นๆ และสามารถหายเป็นปกติได้ แต่ก็มักต้องการการรักษาที่ต่อเนื่องเป็นระยะเวลานานเหมือนๆกัน

6. ในเรื่องของการฆ่าตัวตาย
การฆ่าตัวตายเป็นเรื่องที่เป็นอันตรายมากสำหรับผู้ป่วยจิตเภท ถ้าผู้ป่วยพยายามฆ่าตัวตาย หรือมีการวางแผนที่จะทำอย่างนั้น ควรจะต้องให้การช่วยเหลืออย่างรีบด่วน เพราะผู้ป่วยจิตเภทมีการฆ่าตัวตายสูง

สาเหตุ
เชื่อว่าเกิดจากความผิดปกติของสมองบางส่วน โดยอาจขาดการกระตุ้นให้ทำงาน จากสารสื่อสารของใยประสาทในสมอง ซึ่งสาเหตุที่แท้จริงยังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่

ในปัจจุบันยังไม่รู้สาเหตุที่แท้จริงของโรคจิตเภท ดูเหมือนว่ากรรมพันธุ์และสิ่งแวดล้อมจะมีอิทธิพลต่อการเกิดโรคนี้พอๆกัน นักวิทยาศาสตร์ก็ยังไม่สามารถให้คำตอบได้ตรงไปตรงมาว่า ยีนส์อะไร สารเคมีตัวไหน หรือความเครียดแบบใดที่เป็นสาเหตุของโรคจิตเภทนี้โดยตรง

โรคจิตเภทมีสาเหตุมาจากปัจจัยทางด้านร่างกายและจิตใจ ซึ่งทางร่างกายนั้นเกิดจากความผิดปกติในการทำงานของสมอง ในการสร้างสารบางอย่างที่มีปริมาณมากหรือน้อยเกินไป ส่วนทางด้านจิตใจนั้น เกิดจากความเครียดในชีวิตประจำวัน เป็นตัวกระตุ้นให้เกิดความเจ็บป่วยขึ้น

ดังนั้น หากสงสัยว่าท่านหรือผู้ใกล้ชิดมีอาการดังกล่าว ขอแนะนำให้รีบไปปรึกษาแพทย์ เพื่อจะได้ให้การบำบัดรักษาที่เหมาะสมตั้งแต่เริ่มแรก

การรักษา
เป้าหมายของการรักษามี 3 ประการคือ
1. รักษาอาการให้หายหรือบรรเทาลง
2. ป้องกันไม่ให้ป่วยอีก โดยการให้ยากินติดต่อกัน หลีกเลี่ยงสาเหตุที่จะทำให้ป่วย หรืออาการกำเริบขึ้น ควรสังเกตอาการก่อนที่จะมีอาการกำเริบใหม่ เพื่อปรับการรักษาก่อนที่จะมีอาการรุนแรง
3. การฟื้นฟูสมรรถภาพ ทำให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เช่น ฝึกทักษะการใช้ชีวิตในสังคม ทักษะในการประกอบอาชีพ ทักษะในการสื่อสาร

การรักษาให้หายหรือบรรเทาลง การรักษาด้วยยา เป็นวิธีการรักษาโรคจิตเภทที่สำคัญที่สุด ยาที่ใช้รักษาโรคจิตเภทมี 2 กลุ่มใหญ่ๆคือ

1. ยารักษาโรคจิตเภททั่วๆไป เช่น คลอโพรมาซีน ฮอโลเพอริดอล เป็นต้น การออกฤทธิ์ส่วนใหญ่โดยปิดกั้นการทำงานของสารสื่อสารประสาทโดปามีน

อาการข้างเคียง และข้อควรระวัง

อาจเกิดอาการข้างเคียงได้ ขึ้นกับตัวยาและบุคคล เช่น การเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อผิดปกติ โดยอาจเกิดอาการกล้ามเนื้อเกร็ง มือสั่น ตัวแข็ง คอแข็งได้ อาจแก้ไขด้วยยาแก้แพ้ อาการข้างเคียงอื่นๆที่อาจพบได้ เช่น ง่วง น้ำหนักตัวเพิ่ม ซึ่งแก้ไขโดยการควบคุมอาหารและการหมั่นออกกำลังกาย เป็นต้น

2. ยารักษาโรคจิตกลุ่มใหม่ เช่น โคลซาปีน ริสเพอริโดน โดยจะออกฤทธิ์ปิดกั้นการทำงานของสารสื่อสารประสาท ทั้งโดปามีนและซีโรโทนิน ซึ่งจะเหมาะกับผู้ป่วยที่มีกลุ่มลักษณะทางบวก หรืออาการลบหลงเหลืออยู่ หรือมีผลข้างเคียงจากการใช้ยารักษาโรคจิตจากตัวอื่นๆ เช่น การเคลื่อนไหวผิดปกติ

ข้อดีของยารักษาโรคจิตกลุ่มใหม่นี้ คือ
- ทำให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
- ประสิทธิภาพดีเท่ากับหรือดีกว่ายากลุ่มแรก
- อาการข้างเคียงต่อการเคลื่อนไหวผิดปกติ จะน้อยลง
- ลดอัตราการฆ่าตัวตายของผู้ป่วยได้

สามารถรักษาให้หายขาดได้หรือไม่
การรักษาโรคจิตเภท ผู้ป่วยควรต้องกินยาอย่างต่อเนื่องตามแพทย์สั่ง อาจต้องใช้เวลาหลายปี แต่ยาจะช่วยควบคุมอาการ และทำให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น กลับเข้าสู่สังคมได้ ดูแลตนเอง และทำงานได้

การดูแลผู้ป่วยให้สามารถดำรงชีพอยู่ได้ ได้แก่
- กระตุ้นให้รู้จักช่วยเหลือตัวเองให้มากที่สุด เช่น อาบน้ำ แต่งตัว ซักผ้า
- ให้ช่วยทำงานบ้านอย่างง่ายๆ เช่น รดน้ำต้นไม้ ถูบ้าน ล้างชาม
- ให้ประกอบอาชีพเดิมที่เคยทำอยู่ ตามความสามารถของผู้ป่วย เช่น ค้าขาย ทำสวน
- ให้ประกอบอาชีพใหม่ใกล้บ้านตามความสนใจและตามความถนัด

ญาติมีส่วนช่วยในการดูแลผู้ป่วย
ในการดูแลผู้ป่วยโรคจิตนั้น สิ่งสำคัญอันดับแรกคือ
- ญาติต้องให้ความเข้าใจ และเห็นใจผู้ป่วย เพราะผู้ป่วยมิได้มีเจตนาจะสร้างความเดือดร้อน ความรำคาญให้กับญาติ ควรให้อภัยและไม่ถือโทษโกรธผู้ป่วย ไม่ควรขัดแย้งหรือโต้เถียงกับผู้ป่วยเกี่ยวกับอาการทางจิต แต่ควรแสดงความเห็นใจในความทุกข์ที่ผู้ป่วยได้รับจากอาการทางจิตเหล่านั้น พร้อมทั้งเสนอความช่วยเหลือแก่เขา ซึ่งทั้งหมดต้องอาศัยความอดทนอย่างมาก

- ช่วยดูแลให้ผู้ป่วยรับประทานยาสม่ำเสมอตามแพทย์สั่ง ไม่ควรเพิ่ม หยุด หรือลดยาเอง

- ช่วยพาผู้ป่วยไปรับการบำบัดรักษาให้สม่ำเสมอ ตรงตามที่แพทย์นัดทุกครั้ง เพราะผู้ป่วยส่วนใหญ่ให้การดูแลตัวเองได้ไม่ดีพอ

- ถ้าผู้ป่วยมีพฤติกรรมที่ดูสับสน วุ่นวาย ดื้อ ไม่ยอมกินยา ไม่ยอมมาพบแพทย์ ญาติควรจะมาติดต่อกับแพทย์ เพื่อเล่าอาการของผู้ป่วยให้แพทย์ทราบ ซึ่งญาติจะได้รับคำแนะนำ เพื่อนำไปช่วยเหลือผู้ป่วยต่อไป

- หมั่นสังเกตอาการผิดปกติของผู้ป่วย ถ้าพบความผิดปกติ เช่น พูดพร่ำ พูดเพ้อเจ้อ พูดคนเดียว เอะอะ อาละวาด หงุดหงิด ฉุนเฉียว หัวเราะหรือยิ้มคนเดียว เหม่อลอย หลงผิด ประสาทหลอน หวาดกลัว ควรรีบพาผู้ป่วยไปพบแพทย์ทันที

- จัดหากิจกรรมให้ผู้ป่วยทำโดยเฉพาะในเวลากลางวัน เพื่อไม่ให้ผู้ป่วยคิดมาก ฟุ้งซ่าน แต่ก็ไม่ต้องถึงกับบังคับมากเกินไป

(ข้อมูลจาก ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล
และหน่วยงานสุขภาพจิตและจิตเวชชุมชน รพ.ศรีธัญญา)


(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 174 มิถุนายน 2558 โดย กองบรรณาธิการ)




กำลังโหลดความคิดเห็น