ห่วงผู้ป่วยจิตเวชเข้าถึงการรักษาแค่ครึ่งเดียว สธ. จัดยารักษากว่า 35 รายการ ลงโรงพยาบาลชุมชน ช่วยเพิ่มการเข้าถึง พร้อมจัด อสม. ออกเยี่ยมบ้าน ช่วยดูแลผู้ป่วยร่วมครอบครัว
ศ.นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า ในปี 2556 พบผู้ป่วยจิตเวชทั้งหมด 1,152,044 ราย จำนวนนี้เป็นผู้ป่วยโรคจิตเภท 409,003 ราย มากเป็นอันดับ 1 ของผู้ป่วยโรคทางจิตเวชทั้งหมด ผลการศึกษาพบว่า ผู้ป่วยเข้าถึงบริการรักษาด้วยยาประมาณร้อยละ 50 เนื่องจากมีโรงพยาบาลจิตเวชเพียง 17 แห่งทั่วประเทศ สธ. จึงแก้ปัญหาด้วยการพัฒนาระบบบริการ 2 เรื่อง คือ 1. การเพิ่มการเข้าถึงยาของผู้ป่วย ได้กระจายยารักษาโรคจิตเภท รวมทั้งยารักษาโรคทางจิตเวชอื่นๆ เช่น ยาต้านซึมเศร้า ยาคลายเครียดวิตกกังวล ยากันชัก เป็นต้น รวมทั้งหมด 35 รายการ ซึ่งยานี้เป็นตัวเดียวกับที่ใช้รักษาในโรงพยาบาลจิตเวช ให้ผู้ป่วยทุกรายเข้าถึงยา สามารถไปรับยาได้อย่างต่อเนื่องที่โรงพยาบาลชุมชนใกล้บ้าน 736 แห่งทั่วประเทศ ใช้ได้ทุกสิทธิการรักษา และ 2. ให้อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) และเจ้าหน้าที่สาธารณสุขประจำโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ออกเยี่ยมบ้านที่มีผู้ป่วยจิตเวช ช่วยดูแลผู้ป่วยร่วมกับครอบครัว ให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับผู้ป่วยโรคจิตเวช
“โรคจิตเวชเป็นโรคเรื้อรัง รักษาควบคุมอาการได้และอยู่ร่วมกับครอบครัวและชุมชนได้เหมือนคนทั่วไป ประการสำคัญคือผู้ป่วยต้องกินยาอย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้งได้รับการยอมรับ ดูแลเอาใจใส่จากบุคคลในครอบครัวทำให้อาการป่วยทางจิตดีขึ้น ผู้ป่วยสามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ” รมว.สาธารณสุข กล่าว
ด้าน นพ.เจษฎา โชคดำรงสุข อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า สาเหตุของโรคจิตเภท เกิดจากหลายปัจจัย เช่น กรรมพันธุ์ ความผิดปกติของสมอง ความเครียด หรือการใช้สารเสพติด โดยผู้ป่วยจะมีปัญหาเกี่ยวกับการรับรู้ตัวเองและสิ่งแวดล้อมรอบข้าง ไม่สนใจตัวเอง บางครั้งนั่งนิ่งไม่เคลื่อนไหว มีความคิดผิดเพี้ยนจากความเป็นจริง เช่น มีอาการหลงผิด คิดว่าคนอื่นจะมาทำร้าย มีอาการประสาทหลอน เช่น หูแว่ว ได้ยินเสียงคนมาสั่งให้ทำโน่นทำนี่ ได้ยินคนมาพูดคุยกับตน ทั้งๆ ที่ความจริงไม่เป็นเช่นนั้น รวมทั้งเห็นภาพหลอน
การดูแลรักษาผู้ป่วยโรคนี้ มี 3 วิธี ได้แก่ 1. การใช้ยา 2. การรักษาโดยใช้จิตบำบัด ซึ่งเป็นการพูดคุยให้กลุ่มผู้ป่วยได้วิเคราะห์กลับมาดูตัวเขาเอง และ 3. การบำบัดทางสังคมสิ่งแวดล้อม โดยจัดกิจกรรมกลุ่มให้ผู้ป่วยได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์ รวมทั้งฝึกทักษะทางสังคม เช่น การสร้างสัมพันธภาพกับผู้อื่น รู้วิธีการสื่อสารที่ดีเพื่อไม่ให้มีการขัดแย้งเกิดขึ้น โดยเรื่องที่ต้องระวังเป็นพิเศษ คือ ปัญหาการขาดยา หรือการลดยา รวมถึงการใช้สารเสพติด โดยเฉพาะยาบ้าและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิด ห้ามใช้อย่างเด็ดขาด เพราะจะทำให้ผู้ป่วยเกิดอาการทางจิตขั้นรุนแรง ญาติจึงต้องดูแลอย่างใกล้ชิด หากพบว่า ผู้ป่วยนอนไม่หลับ หงุดหงิด มีความคิดแปลกๆ ก้าวร้าว วิตกกังวล หวาดกลัว ฉุนเฉียวง่าย ขอให้รีบพาไปพบแพทย์ หรือโทร.ปรึกษา สายด่วน 1323 ฟรีตลอด 24 ชั่วโมง
“หากมีผู้ป่วยจิตเภทอยู่ในบ้าน ต้องพยายามทำความเข้าใจ ไม่รังเกียจ ไม่ถือโทษโกรธผู้ป่วย ไม่ควรขัดแย้งหรือโต้เถียงกับผู้ป่วยเกี่ยวกับอาการทางจิต คอยให้กำลังใจ ประคองให้กลับสู่โลกของความเป็นจริง นอกจากนี้ ควรกระตุ้นให้ผู้ป่วยรู้จักช่วยเหลือตัวเองให้มากที่สุด เช่น อาบน้ำ แต่งตัว ซักผ้า ช่วยทำงานบ้านอย่างง่ายๆ รดน้ำต้นไม้ ถูบ้าน ล้างชาม หรือให้ประกอบอาชีพเดิมที่เคยทำอยู่ตามความสามารถของผู้ป่วย เช่น ค้าขาย ทำสวน หรือประกอบอาชีพใหม่ใกล้บ้านตามความสนใจและตามความถนัด ตลอดจนจัดหากิจกรรมให้ผู้ป่วยทำ โดยเฉพาะในเวลากลางวัน เพื่อไม่ให้ผู้ป่วยคิดมากและ ฟุ้งซ่าน สำหรับการป้องกันไม่ให้เกิดโรคทางจิต ขอให้ประชาชนออกกำลังกายทุกวัน เพื่อสลายความเครียดจากชีวิตประจำวัน เมื่อมีปัญหาทางจิตใจ เช่นเครียด วิตกกังวล ว้าวุ่นใจ ไม่ควรพึ่งสารเสพโดยเฉพาะเหล้า หรือยาเสพติด เพราไม่มีผลในการแก้ไขปัญหา ขอให้ปรึกษาคนใกล้ชิดที่ไว้ใจ จะเป็นการระบายทุกข์ออกไปได้ รวมทั้งการนั่งสมาธิ ซึ่งจะช่วยในการผ่อนคลายประสาทในสมองได้” นพ.เจษฎา กล่าว
ติดตาม Instagram และ Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่