xs
xsm
sm
md
lg

ธรรมะกับชีวิตประจำวัน : เหยื่อ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“ถ้าไม่อยู่ในฐานะนักล่า เราก็จะต้องถูกล่า
ปลาทุกตัวไม่ได้ฮุบเหยื่อเพื่อนักตกปลา
คนตกเบ็ดก็ไม่ได้เกี่ยวเหยื่อด้วยความเมตตา
ปลากินเบ็ดเพราะต้องการอาหาร
คนตกเบ็ดเพราะต้องการปลา”


เราทุกคนล้วนตกเป็นเหยื่อของอะไรบางอย่าง ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง...

ไม่ตกเป็นเหยื่อของคนอื่นที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับเราในชีวิตประจำวัน ก็ตกเป็นเหยื่อความอยากของกิเลสที่รุมเร้าอยู่ในจิตใจตัวเอง ซึ่งเปรียบเสมือนหลุมดำความอยากขนาดใหญ่ที่ถมไม่มีวันเต็ม จุดอ่อนจากหลุมดำนี่เอง ทำให้เราตกเป็นเหยื่อถูกล่าได้อย่างง่ายดาย

ลองนึกภาพปลาตัวโตตัวหนึ่ง ว่ายน้ำอยู่ดีๆ เกิดหลงไปฮุบเหยื่อที่นักตกปลาเกี่ยวเบ็ดลวงไว้ คราวนี้ต่อให้ดิ้นอย่างไรก็ไม่มีทางหลุด ยิ่งดิ้นก็ยิ่งเจ็บปาก เพราะเกิดการชักคะเย่อกันระหว่างคนกับปลา

จะเปรียบไปแล้ว เราก็ไม่ต่างจากปลา เพราะได้ตกเป็นเหยื่อคำโฆษณาชวนเชื่อตามสื่อต่างๆ ที่ป่าวประกาศสะกดจิตว่า “คุณยังไม่ดีพอ ไม่แข็งแรงพอ ยังไม่หล่อ ไม่สวย ไม่เท่ห์ ไม่เก่ง” หรือไม่อะไรก็แล้วแต่ นอกจากจะซื้อสินค้าของเขามาใช้ เราจึงจะเป็นคนเต็มคน มีความสุขสมบูรณ์พร้อม น่าภาคภูมิใจตัวเอง เหมือนคำที่เขายกขึ้นมาโฆษณาอวดอ้าง

แรกๆฟังแล้วเราก็อาจขำๆ เฉยๆ แถมยังคิดแย้งอีกว่า “ไม่เห็นจะจริงเลย ไร้สาระสิ้นดี ฉันไม่ได้เป็นอย่างนั้นสักหน่อย” แต่พอโดนกระทุ้งบ่อยๆ เข้า ข้อมูลชวนเชื่อเหล่านี้ มันก็ทะลุทะลวงเข้าไปอยู่ในจิตใต้สำนึกของเราอย่างไม่รู้ตัว สุดท้ายก็ต้องควักกระเป๋าซื้อสินค้าชนิดนั้น มาบริโภคใช้สอยตามระเบียบ นั่นเพราะเราถูกสะกดจิตว่า ความสุข ความสมบูรณ์พร้อม มันมีตัวแปร คือสิ่งที่พวกเขาโฆษณากรอกหูอยู่ทุกวัน ดังที่ พระพรหมบัณฑิต (ประยูร ธมฺมจิตฺโต) อธิการบดีมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ชี้ให้ดูอย่างจะแจ้งตรงประเด็น

“การโฆษณาสมัยนี้ทำออกมาเป็นชิ้นสั้นๆ เพื่อป่าวประกาศตามสื่อต่างๆ เมื่อคนได้ชมสปอตโฆษณาเหล่านั้น อาจด่วนสรุปและเชื่อไปตามนั้น เช่น โฆษณาขายเบียร์ยี่ห้อหนึ่งว่า เป็นความสุขที่คุณดื่มได้ เขาต้องการกล่อมให้คนเห็นว่าดื่มเบียร์แล้วจะทำให้มีความสุข นี่คือการสร้างสถานการณ์ตามทฤษฎีสั่นกระดิ่งของพาฟลอฟ

นักจิตวิทยาชาวรัสเซีย ชื่อ “อีวาน พาฟลอฟ” ได้ค้นพบว่า เมื่อสุนัขเห็นอาหาร น้ำลายของมันจะไหล
ออกมา ต่อมาพาฟลอฟสั่นกระดิ่ง แล้วจึงให้อาหารแก่สุนัข ปรากฏว่าคราวนี้สุนัขจะน้ำลายไหลทุกครั้งเมื่อได้ยินเสียงกระดิ่ง แม้ว่าบางครั้งจะเป็นสัญญาณกระดิ่งหลอก คือไม่มีอาหารเลยก็ตาม แต่สุนัขก็น้ำลายไหลเหมือนกัน นี่แสดงว่าสุนัขได้เชื่อมโยงเสียงกระดิ่งเข้ากับอาหาร เมื่อได้ยินเสียงกระดิ่งจึงน้ำลายไหล

การโฆษณาเป็นการสั่นกระดิ่งให้เกิดกับผู้ชม เช่นเดียวกันเบียร์ยี่ห้อหนึ่งได้โฆษณาตัวเองว่า “เป็นความสุขที่คุณดื่มได้”

เบียร์เหมือนกระดิ่ง ความสุขเหมือนอาหาร เมื่อเห็นเบียร์ยี่ห้อนี้แล้วคนจะคิดโยงไปถึงความสุข คือคิดว่าเบียร์เป็นเงื่อนไขของความสุข ทั้งที่ความจริงก็คือ การโฆษณาเป็นการสั่นกระดิ่งหลอกกัน!!”


ซุนวู ปราชญ์ชาวจีนผู้เรืองนาม ได้กล่าวไว้ว่า “รู้เขา...รู้เรา...รบร้อยครั้ง ก็ชนะร้อยครั้ง”

แน่นอน ในการรบ ไม่ว่าสมรภูมินั้นจะอยู่บนบก บนฟ้า หรือใต้ทะเลลึก หากเรารู้เท่าทันถึงกลอุบายของฝ่าย
ตรงข้าม สถานการณ์ของเราย่อมเป็นต่อ

“กระดิ่ง” มันอาจจะเป็นอะไรก็ได้ ซึ่งไม่จำเป็นต้องเป็นแค่ “เบียร์” มันอาจจะเป็นอาหารเลิศรสสักจานในร้านหรู รองเท้า เสื้อผ้า คอมพิวเตอร์ โทรศัพท์มือถือ ทีวี รถยนต์ ฯลฯ ฉะนั้น ก่อนที่เราจะตกเป็นเหยื่อคนอื่นด้วยการสะกดจิตจากโฆษณา พึงระลึกไว้ว่า “มันคือการสั่นกระดิ่งหลอกกัน!!”


เหยื่อล่อมีมากมายสารพัดที่จะทำให้ปลาติดเบ็ด ต่อให้ลวงด้วยเหยื่อล่อโอชะปานใด หากปลาไม่หลงเข้าไปฮุบเหยื่อ... ตะขอเบ็ดจะทำอะไรได้

กิเลสมีมากมายสารพัน ล่อให้มนุษย์เกลือกกลั้วหลงติด ต่อให้กิเลสวิวัฒนาการไปอย่างวิจิตรพิสดารปานใด หากจิตไม่หลงเข้าไปเกาะเกี่ยวข้องแวะ ตะขอเบ็ดอย่างกิเลสจะทำอะไรได้ มันก็อยู่อย่างเก้อๆไปเท่านั้น


ในมหาสมุทรแห่งชีวิต มีเกลียวคลื่นคือความหลง หรืออวิชชาความไม่รู้ ซัดกระหน่ำถาโถมเข้าใส่เรือชีวิตของเราทุกวัน หากไม่รู้เท่าทัน กัปตันอย่างเราย่อมเกิดความหวั่นกลัว หวาดระแวง ไม่แน่ใจ ในขณะที่เรายังลอยเคว้งอยู่ในนาวากลางมหาสมุทรอันเวิ้งว้าง จับทิศจับทางไม่ถูก สุดแท้แต่คลื่นลมจะพาไป แล้วทั้งคลื่น ฉลาม ยันไปถึงอสูรร้าย ก็คอยจ้องจะเล่นงานเรา โชคดีที่เรือชีวิตลำนี้ ยังไม่ล่มอับปางลงกลางทะเล

และที่เหนืออื่นใดคือ ยังพอมีไกด์นำทางดุจแสงสว่าง ดั่งเข็มทิศ ที่ช่วยประคองเรือชีวิตของเราลำนี้ ให้อยู่รอดปลอดภัยอย่างรู้เท่าทัน โดยไม่ตกเป็นเหยื่อของคลื่นร้าย รวมทั้งฝูงนักล่าในมหาสมุทร และไกด์นำทางแสนประเสริฐผู้นั้นจักเป็นใครไปไม่ได้เลยนอกจาก “องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า” ที่ทรงสอนวิธีนำตนให้พ้นภัยจากการตกเป็นเหยื่อคำคนชวนเชื่อ หรือโฆษณา ดังที่พระพุทธองค์ตรัสไว้ในพระไตรปิฎกเรื่อง “สุสัมมุฏธสูตร” ความโดยย่อมีดังนี้

“บุคคลเหล่าใด รู้แจ่มแจ้งในธรรมทั้งหลาย ไม่ลืมเลือนในธรรมทั้งหลาย บุคคลเหล่านั้น ย่อมไม่ถูกชักจูงไปในวาทะของคนอื่น เพราะผู้รู้ดี รู้ทั่วถึงธรรมโดยชอบ ย่อมประพฤติธรรมสม่ำเสมอ ในขณะที่คนอื่นๆ ยังประพฤติลุ่มๆดอนๆกันอยู่ ฉะนั้น”

สรุปก็คือ การโฆษณาเป็นการสั่นกระดิ่งหลอก จากพวกนักล่าที่แฝงตัวมากับสื่อต่างๆ พวกนี้คือฝูงนักล่าที่หิวโหย ซึ่งมีความประสงค์แน่ชัดคือ ล้วงเอาเงินในกระเป๋าของเราไป เหมือนที่ โรเบิร์ต คิโยซากิ แนะนำไว้ในหนังสือ “พ่อรวยสอนลูก” ว่า....

“สิ่งใดที่ซื้อมาแล้วไม่สามารถเรียกเงินเข้ากระเป๋าได้ จัดเป็น ‘หนี้สิน’ สิ่งใดที่ซื้อมาแล้วสามารถกวักเงินมาเข้ากระเป๋าได้ จัดเป็น ‘ทรัพย์สิน’ คนรวยชอบสะสมทรัพย์สิน คนจนชอบสะสมหนี้สิน”

ปราชญ์ทางโลกอย่างเก่งๆ ก็แค่บอกให้เราฉลาดขึ้น โดยไม่ตกเป็นเหยื่อของคนอื่น แต่ปราชญ์ทางธรรมประเสริฐกว่านั้น เพราะช่วยให้เราดีขึ้นเจริญขึ้น กระทั่งเกิดปัญญาจักษุรู้เท่าทันกิเลสภายในจิตใจ ไม่ตกเป็นเหยื่อของตนเองและผู้อื่น

คำว่า “คนพ้นโลก” ไม่ได้หมายถึงมนุษย์อวกาศที่ออกไปยืนลอยเท้งเต้งเคว้งคว้างอยู่นอกโลก แต่หมายถึงคนที่มีชีวิตอยู่ในโลก แต่ไม่ตกเป็นเหยื่อของโลก ดังพุทธภาษิตที่หลวงพ่อชา วัดหนองป่าพงฯ กล่าวไว้

“บัวเกิดแต่ตมกับน้ำ
แต่ไม่ติดตมติดน้ำ ฉันใด
คนพ้นโลก เกิดในคนกับโลก
แต่ไม่ติดคน ติดโลก ฉันนั้น”


(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 175 กรกฎาคม 2558 โดย ทาสโพธิญาณ)


กำลังโหลดความคิดเห็น