xs
xsm
sm
md
lg

ความรู้คู่สุขภาพ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


กอดกันบ่อยๆ ช่วยเพิ่มภูมิคุ้มกันโรค-ลดเครียด
“กอด” ใครคิดว่าไม่สำคัญ กอดเบาๆเท่านั้น ยังทำให้หัวใจทำงานดีขึ้นเยอะเลย

เพราะรายงานที่ตีพิมพ์ในวารสาร Psychological Science บอกว่า การกอดกันช่วยเพิ่มภูมิคุ้มกัน ป้องกันเชื้อไวรัสไข้หวัด และลดความเครียดได้ด้วย

ผลการวิจัยพบว่า คนที่รู้สึกว่าตนเองได้รับการเกื้อหนุนจากคนรอบข้าง มีโอกาสป่วยน้อยกว่า และที่สำคัญคือ คนที่ได้รับการสวมกอดบ่อยที่สุด จะเป็นกลุ่มที่มีร่างกายแข็งแรงที่สุด

นักวิจัยยังพบด้วยว่า หากเจ็บป่วยขึ้นมา คนกลุ่มที่ได้รับการสวมกอดบ่อยๆ จะหายเร็วกว่ากลุ่มที่ไม่ค่อยมีใครให้กอดหรือไม่ค่อยกอดใคร

ศาสตราจารย์ Sheldon Cohen แห่งภาควิชาจิตวิทยา มหาวิทยาลัย Carnegie Mellon ผู้นำการวิจัย ชี้ว่าการได้รับการสวมกอดจากคนใกล้ชิด เป็นการให้กำลังใจและความห่วงใยที่ดีมาก และยิ่งกอดบ่อยมากเท่าไร ก็อาจช่วยลดความเครียดได้มากขึ้นด้วย

ก่อนหน้านี้ ศาสตราจารย์ Cohen ได้ศึกษาพบว่า คนที่มีปฏิสัมพันธ์น้อยกับคนรอบข้าง มีโอกาสมากที่จะเป็นโรคความดันโลหิตสูง และการสวมกอดทำให้การทำงานของหัวใจและปอดดีขึ้น

เพราะการกอดจะช่วยกระตุ้นฮอร์โมนอ๊อกซิโตซิน(Oxytocin) ซึ่งช่วยเพิ่มความผูกพันระหว่างคนที่เรารัก ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญกับร่างกายและจิตใจ

สารพัดวิธีบรรเทาอาการหลงๆลืมๆ
เรื่องหลงๆลืมๆ ไม่ใช่เป็นแต่เฉพาะคนแก่เสมอไป แต่อาการนี้เกิดขึ้นได้กับคนทุกวัย

เคยมีการทำวิจัยพบว่า โทรศัพท์มือถือ กุญแจ และเอกสาร อยู่ในอันดับต้นๆ ของสิ่งที่คนเรามักจะลืมมากที่สุด

ศาสตราจารย์ Daniel L.Schacter แห่งภาควิชาจิตวิทยา มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด บอกว่าอาการหลงๆลืมๆน่าจะเกิดจากความผิดปกติในด้านการขาดความใส่ใจ และความจำ เพราะหากไม่ใส่ใจว่า วางกุญแจรถไว้ที่ไหน เมื่อถึงเวลาจะใช้ ก็อาจไม่สามารถเรียกความทรงจำกลับมาได้ง่ายๆ

ผู้เชี่ยวชาญหลายคนได้แนะวิธีแก้อาการหลงๆลืมๆ ไว้ว่า การวางสิ่งของตรงที่เดิมเป็นประจำ ก็ช่วยได้ เช่น แว่นตาอยู่ตรงหัวเตียง โทรศัพท์มือถืออยู่บนโต๊ะ หรือกุญแจอยู่ในตะกร้าหน้าประตู รวมทั้งการเปล่งเสียงออกมาดังๆ เพื่อย้ำเตือนตัวเอง เช่น เมื่อวางกุญแจก็พูดออกมาดังๆ ว่า “ฉันวางกุญแจไว้ตรงนี้นะ” หรือถ้าไม่อยากตะโกน ก็ใช้วิธีคิดแบบย้ำๆ อยู่ในหัวก็ได้ ส่วนอีกวิธีหนึ่งคือการนึกให้เป็นภาพ เช่น เมื่อวางกุญแจแล้ว ก็หลับตานึกภาพตะกร้าที่วางกุญแจ เป็นต้น

ทั้งนี้เพราะสมองคนเราโดยเฉพาะด้านที่เกี่ยวกับความทรงจำ จะมีประสิทธิภาพสูงสุดเมื่ออายุ 20 ปี จากนั้นก็จะค่อยๆเสื่อมลงตามวัยที่เพิ่มขึ้น แต่หากมีการฝึกสติเป็นประจำ ก็จะช่วยบรรเทาอาการหลงลืมได้เป็นอย่างดี

จริงหรือ.. “วิ่งเหยาะๆ” อายุยืนกว่า “วิ่งเร็วๆ”
การวิ่งเป็นการออกกำลังกายที่คนส่วนใหญ่นิยมมาก แต่ก็ยังมีการถกเถียงกันอยู่ว่า วิ่งช้าหรือเร็วดีกว่ากัน

มีรายงานที่ตีพิมพ์ในวารสาร Journal of the American College of Cardiology ซึ่งนักวิจัยเดนมาร์กได้ทำการศึกษาการวิ่งของผู้ใหญ่ที่วิ่งเป็นประจำ 1,098 คน เรื่องความถี่ในการวิ่ง ระยะทาง เวลาที่ใช้ และอัตราเร่ง โดยเก็บข้อมูลมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 2001 แล้วนำไปไปเปรียบเทียบกับคนที่ไม่ค่อยออกกำลังกาย 3,950 คน

ผลการศึกษาพบว่า คนที่วิ่งเป็นประจำแม้จะวิ่งเหยาะๆ จะมีอายุยืนกว่าคนที่ไม่ได้วิ่งเลย และมีอายุยืนกว่าคนที่วิ่งเร็วด้วย ในรายงานนี้ยังบอกด้วยว่า ระยะเวลาการวิ่งที่ทำให้อายุยืนที่สุด คือการวิ่งเหยาะๆ ประมาณ 1–2 ชม.ครึ่ง ต่อสัปดาห์

Jacob Louis Marott ผู้นำการวิจัยบอกว่า การวิ่งเร็วเกินไปอาจไม่ค่อยได้ประโยชน์ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับความยืนยาวของชีวิต เพราะการออกกำลังกายหนักเป็นประจำ อาจสร้างผลเสียต่อกล้ามเนื้อหัวใจ

ผู้ป่วยโรคกระเพาะ เลี่ยงดื่มกาแฟ เสี่ยงปวดแสบท้อง-ความดันสูง
เดี๋ยวนี้ “กาแฟ” จัดเป็นเครื่องดื่มยอดนิยม เพราะหันไปทางไหนก็มีแต่ร้านขายกาแฟเต็มไปหมด แต่การดื่มกาแฟมากๆก็เป็นโทษต่อร่างกายเหมือนกัน โดยเฉพาะคนที่เป็นโรคกระเพาะ

ศ.นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข บอกว่า กาแฟเป็นเครื่องดื่มที่มีสารคาเฟอีนในหนึ่งวันไม่ควรรับสารคาเฟอีนเข้าสู่ร่างกายเกิน 200 มิลลิกรัม คือ เมื่อเทียบต่อแก้ว ไม่ควรดื่มเกินวันละ 3 แก้ว

เพราะผลกระทบต่อร่างกายเมื่อได้รับสารคาเฟอีน อาทิ ผลต่อระบบประสาทส่วนกลาง ถ้าได้รับในปริมาณพอควร จะไปกระตุ้นประสาทให้ตื่นตัว มีผลทำให้รู้สึกกระปรี้กระเปร่า ตาสว่าง หายง่วง แต่ถ้ารับในปริมาณมาก จะทำให้เกิดอาการปวดศีรษะ นอนไม่หลับ กระวนกระวาย หงุดหงิด

ผลต่อระบบการไหลเวียนของโลหิต คือ หากดื่มกาแฟ 2 ถ้วยจะทำให้ความดันโลหิตสูง แต่ถ้าดื่มมากๆมีผลทำให้หัวใจเต้นแรงและเร็วขึ้น และอาจทำให้เกิดโรคความดันโลหิตสูงได้ อีกทั้งยังส่งผลต่อระบบทางเดินปัสสาวะ ซึ่งจะเพิ่มการขับปัสสาวะ

ส่วนในระบบทางเดินอาหาร จะช่วยให้มีการหลั่งน้ำย่อยและกรดในกระเพาะอาหารมากขึ้น ทำให้ระบบย่อยอาหารทำงานได้ดียิ่งขึ้น แต่ผู้ที่เป็นโรคกระเพาะควรงดดื่ม เพราะจะทำให้ปวดแสบกระเพาะมากขึ้น

แพทย์แนะ “นอนตะแคงขวา” ช่วยให้หลับสบายที่สุด
การพักผ่อนที่ดีที่สุดคือการนอนหลับ และท่านอนก็มีความสำคัญที่จะช่วยให้หลับสบาย

นพ.ชนินทร์ ลีวานันท์ ภาควิชาเวชศาสตร์ฟื้นฟู คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ได้เคยบอกไว้ว่า โดยปกติคนทั่วไปนิยมนอนหงาย เพราะเป็นท่านอนมาตรฐาน การนอนหงายที่เหมาะสมนั้น ควรใช้หมอนต่ำ และต้นคอควรอยู่ในแนวเดียวกันกับลำตัว เพื่อไม่ให้ปวดคอ

แต่ท่านอนหงายไม่เหมาะกับผู้ป่วยโรคปอดและโรคหัวใจ เพราะกล้ามเนื้อกระบังลมจะกดทับปอดทำให้หายใจไม่สะดวก ส่งผลทำให้การทำงานของหัวใจลำบากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ ผู้มีอาการปวดหลัง การนอนหงายจะทำให้อาการปวดรุนแรงขึ้นด้วย

ท่านอนคว่ำเป็นท่าที่ทำให้หายใจติดขัด และปวดต้นคอ เพราะต้องเงยหน้ามาทางด้านหลัง หรือบิดหมุนไปข้างใดข้างหนึ่งเป็นเวลานาน ดังนั้น ถ้าจำเป็นต้องนอนคว่ำ ควรใช้หมอนรองใต้ทรวงอก เพื่อป้องกันอาการปวดเมื่อยต้นคอ

ส่วนท่านอนตะแคงซ้าย ซึ่งจะช่วยลดอาการปวดหลัง แต่ควรกอดหมอนข้างและพาดขาไว้ เพื่อป้องกันอาการชาที่ขาซ้ายจากการนอนทับเป็นเวลานาน แต่ท่านอนตะแคงซ้ายอาจทำให้เกิดลมจุกเสียดบริเวณลิ้นปี่ เนื่องจากอาหารที่ยังย่อยไม่หมดในช่วงก่อนเข้านอน คั่งค้างในกระเพาะอาหาร

สำหรับท่านอนที่ดีที่สุด คือ ท่านอนตะแคงขวา เพราะจะช่วยให้หัวใจเต้นสะดวก และอาหารจากกระเพาะจะถูกบีบลงลำไส้เล็กได้ดี ทั้งยังช่วยบรรเทาอาการปวดหลังได้เป็นอย่างดีอีกด้วย

(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 174 มิถุนายน 2558 โดย กองบรรณาธิการ)




กำลังโหลดความคิดเห็น