ทีมหมอครอบครัวที่จะมาดูแลสุขภาพคนไทยทุกครัวเรือน ซึ่งประเดิมปีแรกในปี 2558 ใน 3 กลุ่มเป้าหมาย คือ ผู้สูงอายุติดเตียง คนพิการ และ ผู้ป่วยระยะท้าย ซึ่งการดำเนินงานในรอบ 5 เดือนที่ผ่านมานี้ นพ.สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยว่า มีทีมหมอครอบครัวแล้ว 66,353 ทีม แบ่งเป็นทีมอำเภอ 3,890 ทีม และทีมระดับชุมชน 50,326 ทีม โดยในช่วง 6 เดือนหลังคือ มิ.ย.-ธ.ค. นี้ คนไทยทุกคนจะต้องมีทีมหมอครอบครัวประจำตัวทุกครัวเรือน
อย่างไรก็ตาม ทีมหมอครอบครัว ไม่ใช่มีแต่เพียงบุคลากรทางการแพทย์ เช่น แพทย์ พยาบาล เภสัชกร ทันตแพทย์ นักกายภาพบำบัด ฯลฯ ในการดูแลสุขภาพประชาชนเท่านั้น แต่ยังหมายรวมไปถึงเครือข่าย อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) และชุมชนที่จะต้องเข้ามามีส่วนร่วมในการดูแลกันและกันอย่างเป็นระบบด้วย
สำหรับ ต.บึงยี่โถ อ.ธัญบุรี จ.ปทุมธานี เป็นหนึ่งพื้นที่ตัวอย่างที่ชุมชน โดยเฉพาะเทศบาลตำบลบึงยี่โถ ได้เข้ามามีส่วนร่วมกับหมอครอบครัวในการดูแลสุขภาพประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ
นางขวัญใจ แจ่มทิม บ้านแทนคุณ ศูนย์พัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ เทศบาลบึงยี่โถ กล่าวว่า ตำบลบึงยี่โถ มีประชากรประมาณ 5,000 หลังคาเรือน โดยศูนย์ฯได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการดูแลสุขภาพผู้สูงอายุกับทีมหมอครอบครัวด้วย โดยแบ่งหน้าที่กันโดยทีมหมอครอบครัว ในส่วนของบุคลากรทางการแพทย์ก็จะเน้นในการดูแลผู้พิการ และผู้ป่วยระยะท้าย ส่วนศูนย์ฯจะดูแลผู้สูงอายุทั้งที่ยังมีสุขภาพดี และผู้สูงอายุติดบ้าน ให้ได้ออกมามีกิจกรรมร่วมกันในสังคม เป็นการสร้างเสริมคุณภาพชีวิตให้แก่ผู้สูงอายุในพื้นที่ ถือเป็นการแบ่งเบาภาระของกันและกัน
ในการดูแลผู้สูงอายุที่ยังมีสุขภาพดีนั้น นางขวัญใจ เล่าว่า จะมีกิจกรรมต่างๆ หมุนเวียนกันไปให้ผู้สูงอายุได้เข้าร่วม เช่น การฝึกสอนโยคะ แอโรบิก ลีลาศ รำไทย ว่ายน้ำ คาราโอเกะ และสอนคอมพิวเตอร์ เป็นต้น ซึ่งแต่ละกิจกรรมพบว่า มีผู้สูงอายุเข้าร่วมเป็นจำนวนมากจนเต็มคลาส อย่างการสอนเทคโนโลยีต่างๆ และคอมพิวเตอร์ ซึ่งตอนแรกคิดว่าจะไม่มีผู้สูงอายุสนใจมาเรียน ก็มีคนมาเรียนเป็นจำนวนมาก แต่ศูนย์ฯเรามีเครื่องในการสอน 7 ตัว ก็เลยต้องจัดคิวผู้มาเรียนสลับกันไปเป็นคอร์ส โดย 1 คอร์สจะเรียน 6 ชั่วโมงใน 1 สัปดาห์ หรืออย่างโยคะก็มีผู้เข้าร่วมจนเต็มห้อง 30 คน นอกจากนี้ ยังมีการสอนอาชีพให้ผู้สูงอายุด้วย โดยจะมีการสอบถามว่าอยากลองทำอะไร เช่น อยากทำขนม ก็จัดเป็นกรุ๊ปสำหรับผู้สูงอายุที่อยากทำประมาณ 30 คน ศูนย์ฯก็จะจัดหาคนมาสอนให้
“การดำเนินงานใช้งบประมาณไม่มาก ซึ่งศูนย์ฯ จะได้รับงบประมาณจาก 2 แหล่ง คือ เทศบาล และกองทุนสุขภาพตำบลของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ซึ่งถือว่าเพียงพอต่อการดำเนินงาน ไม่ว่าจะเป็นการค่าเช่าสถานที่ โดยศูนย์ฯจะเช่าสโมสรของหมู่บ้านเป็นที่ดำเนินงาน ซึ่งมีความกว้างขวางมาก เทศบาลก็ได้มาทำความสะอาด ติดแอร์ และปรับปรุงใหม่จนสามารถรองรับการดูแลผู้สูงอายุได้ นอกจากนี้ ก็ยังนำมาเป็นค่าจ้างบุคลากร ซึ่งถือว่ามาก เพราะนอกจากบุคลากรประจำแล้ว บุคลากรต่างๆ ที่ผลัดกันมาสอนผู้สูงอายุส่วนใหญ่จะเป็นจิตอาสา เช่น สอนภาษาอังกฤษ ภาษาจีน การสอนอาชีพ จะเป็นจิตอาสาในหมู่บ้านมาช่วยสอน โยคะ คอมพิวเตอร์ก็เป็นจิตอาสาจากเจ้าหน้าที่เทศบาล ยกเว้นแอโรบิก และ ลีลาศ ที่จำเป็นต้องจ้างครูมาสอนเท่านั้น”
สำหรับผู้สูงอายุติดบ้านนั้น นางขวัญใจ เล่าว่า รพ.สต.บึงยี่โถ แม้จะโอนย้ายมาอยู่สังกัดเทศบาล แต่ก็ยังมีการออกเยี่ยมบ้านประชาชนอย่างต่อเนื่อง และมีการเก็บข้อมูลสุขภาพทำให้รู้ว่าครัวเรือนไหนมีปัญหาสุขภาพอย่างไร ซึ่งเราก็ใช้ข้อมูลดังกล่าวในการออกไปเยี่ยมบ้านผู้สูงอายุที่มีปัญหาติดบ้าน การดำเนินการเริ่มแรกนั้นจะเข้าไปพูดคุยกับผู้สูงอายุติดบ้านก่อน และให้ทำกิจกรรมระบายสี เพื่อดูทัศนคติของผู้สูงอายุติดบ้านว่าเขามีความรู้สึกเช่นไรในทางจิตวิทยา จากนั้นจะพูดคุยถึงความต้องการหรือปัญหาของเขาที่ทำให้ไม่ยอมออกจากบ้าน ซึ่งเราต้องหาให้เจอและแก้ไข และทำให้เขารู้สึกมีส่วนร่วมในสังคม ซึ่งบางคนก็ยอมออกจากบ้านมาร่วมกิจกรรมกันที่ศูนย์ฯ บางคนมาด้วยตัวเอง บางคนลูกหลานก็พามา ซึ่งหลังจากมาทำกิจกรรมร่วมกันแล้ว พบว่า 95% มีความสุข อยากออกจากบ้าน ไม่อยู่ติดบ้านอีกต่อไป นอกจากนี้ ผู้สุงอายุติดบ้านส่วนใหญ่จะมีปัญหาเรื่องการดูแลสุขภาพตัวเอง การกินยา เราก็จะเข้าไปสอน ไปให้ความรู้ในเรื่องเหล่านี้ด้วย
“อย่างคุณลุงคนหนึ่งก็มีปัญหาติดบ้าน มีปัญหานอนไม่หลับ แต่พอชักจูงให้ออกมาร่วมกิจกรรมกับศูนย์ฯ ได้ ทั้งโยคะ ไทเก๊ก ขณะนี้ก็ทำมาได้แล้วประมาณ ปี ก็พบว่านอนหลับได้สนิทขึ้น มีความสุขดี ไม่อยู่ติดบ้านอีกต่อไป ความดันโลหิตสูงที่เป็นก็สามารถควบคุมได้โดยที่ไม่ต้องรับประทานยา อย่างไรก็ตาม ผู้สูงอายุบางคนที่ต่อต้านก็มี มาร่วมกิจกรรมที่ศูนย์ฯแล้วไม่ยอมมาอีก กลับไปติดบ้านเหมือนเดิม ก็จะพยายามเข้าไปหาที่บ้านแทน เพื่อให้เกิดการพูดคุยที่มากขึ้น ทำความเข้าใจมากขึ้น จนกว่าจะรู้ความต้องการที่แท้จริง ความเครียดของเขาคืออะไร แต่หากเป็นผู้สูงอายุติดบ้านที่แอนตีการออกจากบ้านจริงๆ สุดท้ายก็ต้องปล่อย”
นางขวัญใจ บอกอีกว่า แต่ส่วนใหญ่จะพบว่าดีใจที่เราให้ความสำคัญกับผู้สูงอายุ เขาดีใจมากและมีความสุขที่มีคนมาคอยดูแล ได้มีกิจกรรมทำ ได้ดูแลสุขภาพตัวเอง ซึ่งตรงนี้ถือเป็นอีกหนึ่งตัวช่วยทีมหมอครอบครัวในการดูแลสุขภาพคนในพื้นที่
ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่