เพราะวันที่ 1 มิถุนายน นี้ เป็นวันวิสาขบูชา วันสำคัญยิ่งใหญ่ในพุทธศาสนา “บัวน้อย” ก็เลยจัดหาเรื่องราวที่เข้ากับบรรยากาศในวันบูชาใหญ่นี้มาให้ชม นั่นคือ การพับกระดาษในรูปแบบทางพุทธศาสนา
พูดถึงเรื่องการพับกระดาษ ก็ดูเป็นเรื่องธรรมดา แต่ที่น่าตื่นตาตื่นใจก็เพราะ...เขาพับรูปแบบที่ไม่ธรรมดานั่นเอง
วิธีการพับกระดาษที่แสนจะวิจิตรพิสดารนี้ มีชื่อเรียกว่า โอริงามิ (Origami) คือ ศิลปะการพับกระดาษของญี่ปุ่น มาจากคำในภาษาญี่ปุ่นคือ “ori” แปลว่า การพับ รวมกับคำว่า “kam” แปลว่า กระดาษ (แต่ที่กลายเป็น Origami ก็เพราะเป็นกฎการออกเสียงคำของญี่ปุ่น)
มีประวัติกล่าวว่า ศิลปะการพับกระดาษของญี่ปุ่น เริ่มขึ้นหลังจากที่บรรดาพระสงฆ์นำกระดาษจากจีน เข้ามาในประเทศญี่ปุ่น ช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 6 โดยโอริงามิชิ้นแรกถูกประดิษฐ์ขึ้น เพื่อนำไปใช้ในพิธีทางศาสนาเท่านั้น เนื่องจากในยุคนั้นกระดาษมีราคาแพง
เหตุที่รูปแบบโอริงามิบางชนิด ถูกนำมาหลอมรวมเข้ากับพิธีการในศาสนาชินโต ก็เนื่องจากคำว่า “Kami” ซึ่งแปลว่ากระดาษ เป็นคำพ้องรูปและเสียงกับคำที่มีความหมายว่า วิญญาณหรือเทพเจ้า โดยรูปแบบโอริงามิที่เกี่ยวข้องกับพิธีการของชินโต ยังคงลักษณะเดิมมานานหลายศตวรรษ
การพับกระดาษสไตล์โอริงามิให้เป็นรูปร่างต่างๆนั้น เริ่มจากกระดาษแผ่นสี่เหลี่ยมจัตุรัส ซึ่งอาจใช้สีเดียวกัน สีต่างกัน หรือกระดาษที่มีลวดลายต่างๆ และพับทบไปมาจนเป็นรูปร่าง โดยไม่มีการตัดกระดาษ สำหรับกระดาษที่ใช้ในการพับ มีลักษณะพิเศษคือ บางและไม่ขาดง่าย ส่วนใหญ่จะเป็นกระดาษสี่เหลี่ยมจัตุรัส มีขนาดตั้งแต่ 2.5 ซม. จนถึง 25 ซม.
เมื่อวันเวลาผ่านไป โอริงามิก็ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายไปทั่วโลก มีผู้เชี่ยวชาญหรือที่เรียกกันว่าศิลปินโอริงามิเกิดขึ้นมากมาย และมีการพัฒนาเทคนิคและรูปแบบการพับใหม่ๆ เพื่อสร้างสรรค์งานศิลปะที่ต้องอาศัยความชำนาญเป็นพิเศษ
หนึ่งในศิลปินเหล่านั้น คือ เกียง ดินห์ ชาวเวียดนาม วัย 49 ปี จบการศึกษาด้านสถาปัตยกรรมในสหรัฐอเมริกา ปัจจุบัน เขาอาศัยอยู่ในรัฐเวอร์จิเนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา
เกียง ดินห์ หันมาสนใจและเริ่มการพับกระดาษเมื่อ 7 ปีที่แล้ว แต่ผลงานสร้างสรรค์ที่ดูราวกับมีชีวิตของเขาก็ได้รับการกล่าวถึงเป็นอย่างมาก เพราะจัดอยู่ในงานพับกระดาษที่แสดงถึงบทกวีและจิตวิญญาณอย่างชัดเจน ซึ่งเป็นที่นิยมในปัจจุบัน
ศิลปินหนุ่มบอกถึงสาเหตุที่เขาหันมาสนใจการพับกระดาษว่า
“กระดาษเป็นวัสดุธรรมดาๆที่เราคุ้นเคย มันกลายเป็นเพื่อนของผม ตั้งแต่ผมเริ่มหัดอ่าน เขียน และวาดรูป กระดาษเป็นสิ่งบอบบาง คุณควรจับต้องอย่างเบามือ รักมัน และมันอาจจะรักคุณกลับ เช่นเดียวกับชีวิต
โอริงามิ เป็นเสมือนการแกะสลักแบบพิเศษ ที่เริ่มต้นด้วยกระดาษแผ่นหนึ่ง และจบลงด้วยกระดาษแผ่นเดิม โดยไม่ต้องเติมหรือตัดบางอย่างออกไปเหมือนการแกะสลักอื่นๆ
การพับกระดาษส่วนเกินซ่อนไว้ ทำให้ศิลปินโอริงามิสามารถสรรสร้างโลกขึ้นมาใหม่ ดูราวกับมายากล วัสดุที่ใช้ก็แสนจะธรรมดา แต่สร้างความเป็นไปได้อย่างไม่รู้จบ โดยไม่จำเป็นต้องใช้เครื่องมือพิเศษหลายชิ้น เพราะหลักๆแล้ว มันเป็นการสื่อสารระหว่างหัวใจและมือของคุณ กับกระดาษแผ่นหนึ่งเท่านั้นเอง”
เกียง ดินห์ เป็นชาวพุทธ ดังนั้น ส่วนหนึ่งของผลงานไม่ว่าจะเป็นรูปแบบการพับง่ายๆสไตล์เซน และรูปพระพักตร์พระพุทธเจ้า ทำให้เรามองเห็นความเคารพและความศรัทธาในพระพุทธศาสนาของเขา ซึ่งหาได้ยากในโลกของโอริงามิ ที่มักเกี่ยวข้องกับวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์
ความสมบูรณ์แบบในความเรียบง่ายนี้ ปรากฏเด่นชัดในงานชิ้นเยี่ยมของเขา ที่มีชื่อว่า “Prayer” หรือ “การสวดมนต์” ซึ่งอาศัยการพับง่ายๆ 2- 3 ทบ ก็กลายเป็นรูปภิกษุกำลังสวดมนต์ โดยส่วนที่พับแน่นที่สุด คือ มือสองข้างประนมเพื่อสวดมนต์ เขาบอกว่าได้รับแรงบันดาลใจจากศิลปะและปรัชญาเซน
อีกชิ้นหนึ่งที่ยอดเยี่ยมไม่แพ้กัน คือ ผลงานที่ชื่อว่า “Buddha” เกียง ดินห์ พับเป็นรูปพระพักตร์พระพุทธเจ้า 2 ชิ้น ชิ้นหนึ่งเป็นพระพักตร์ที่สมบูรณ์ มีพระเนตร พระนาสิก และพระโอษฐ์ ส่วนอีกชิ้นหนึ่งเป็นพระพักตร์ที่ว่างเปล่า
เขาบอกว่าชอบชิ้นที่พระพักตร์ว่างเปล่า พร้อมกับฝากปรัชญาไว้ให้คิดว่า
“โปรดจำไว้ว่า ความเป็นพุทธะมีอยู่ในตัวเราทุกคน ผมหวังว่า ผู้ที่มองเห็นสิ่งที่ถูกต้อง จะนำมันไป “เติมเต็มความว่าง” และมองเห็น “พระพักตร์ของพุทธะ” ได้ด้วยตัวเอง อย่าไปมองหาพุทธะจากภายนอกเลย แต่จงหันกลับมามองหาพุทธะที่อยู่ภายในตัวเองจะดีกว่า”
บอกตั้งแต่ต้นแล้วว่า โอริงามิไม่ใช่เป็นแค่เรื่องราวการพับกระดาษธรรมดาๆ เพราะญี่ปุ่นถึงกับจัดตั้งพิพิธภัณฑ์การพับกระดาษญี่ปุ่น ชื่อว่า “Nippon Origami Museum” ที่เมืองคางะ จังหวัดอิชิกาวะ ซึ่งก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2001 และมีงานโอริงามิมากกว่า 100,000 ชิ้น จัดแสดงให้ชม
แต่ถ้าใครไปญี่ปุ่นแล้วไม่ได้ไปดูที่เมืองคางะ ก็แวบไปดูได้ที่สาขาของ Nippon Origami Museum ซึ่งอยู่ที่สนามบินนานาชาตินาริตะ บริเวณ Terminal 1 ที่นี่จัดแสดงโอริงามิราว 400 ชิ้นทั้งชิ้นใหญ่สุด และเล็กสุด ที่ทำขึ้นภายใต้กล้องจุลทรรศน์ และต้องดูภายใต้กล้องจุลทรรศน์เท่านั้น!! ดูแล้วจะฟินเวอร์แค่ไหน เขียนมาเล่าให้ “บัวน้อย” ฟังบ้างนะจ๊ะๆ
(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 174 มิถุนายน 2558 โดย บัวน้อย)