xs
xsm
sm
md
lg

ตีฆ้องร้องป่าว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เจดีย์พระโพธิญาณ บรรจุอัฐิหลวงพ่อชา
จดหมายจากครูเก่าแฟนเก่า

สวัสดีค่ะบรรณาธิการนิตยสารธรรมลีลา

ดิฉันอ่านหนังสือธรรมลีลามาหลายปีแล้ว ตั้งแต่ยังไม่เกษียณ จนเดี๋ยวนี้เกษียณแล้ว ก็ยังอ่านอยู่ค่ะ เดี๋ยวนี้หนังสือดูดีขึ้นมากนะคะ อ่านง่าย สบายตา รูปเล่มก็สวยงาม เนื้อหาสาระธรรมะก็ยังเข้มข้นดีเหมือนเดิม แถมเพิ่มเรื่องเกี่ยวกับสุขภาพที่น่าสนใจมากๆ อ่านแล้วมีประโยชน์ บางอย่างลองนำไปปฏิบัติดู ก็ได้ผลดีกับร่างกายจริงๆค่ะ

ตอนนี้ดิฉันเกษียณมาเกือบ 2 ปีแล้ว ก็ได้อาศัยหนังสือธรรมลีลา เป็นแหล่งความรู้ทั้งทางโลกและทางธรรม เพราะปกติดิฉันเป็นคนไม่ค่อยเข้าวัด เนื่องจากได้รู้ได้เห็นข่าวพระสงฆ์ที่ไม่ดี ซึ่งทำให้รู้สึกหมดศรัทธา ถึงแม้ว่า ส่วนใหญ่จะเป็นพระดี มีส่วนน้อยเท่านั้นที่ไม่ดี มันก็เหมือนกับว่าปลาเน่าตัวเดียว มันเหม็นไปทั้งข้อง

เมื่อก่อนตอนที่ยังรับราชการเป็นครู ดิฉันสอนอยู่ในโรงเรียนเล็กๆแห่งหนึ่ง เวลามีข่าวเกี่ยวกับพระทำไม่ดี เช่น เล่นการพนัน ติดยา ค้ายา ฯลฯ ออกทางทีวี เด็กก็มักจะมาถามว่า ทำไมคนเป็นพระถึงทำไม่ดี ดิฉันก็ไม่รู้ว่าจะอธิบายให้เด็กเข้าใจได้ยังไง

พูดถึงเด็กๆ ในฐานะที่ดิฉันเคยเป็นครู ก็อดห่วงไม่ได้ค่ะ เดี๋ยวนี้เด็กไม่ชอบเขียนหนังสือกันแล้ว จะเขียนก็เฉพาะที่โรงเรียนและการบ้านที่ต้องส่งครู เวลาเขียนก็ไม่ค่อยเป็นภาษา สะกดผิดๆถูกๆ เพราะเด็กหันไปสนใจกับโทรศัพท์มือถือที่พิมพ์คุยกัน หันไปทางไหนเห็นก้มหน้าดูแต่โทรศัพท์ คงอย่างที่เขาว่า สมัยนี้มันเป็นสังคมก้มหน้าไปแล้ว หรือไม่ก็ดิฉันกลายเป็นคนล้าหลังเสียเอง

ดิฉันดีใจที่ได้ลงมือเขียนจดหมายฉบับนี้ อาจจะบ่นยืดยาวไปสักหน่อย ก็ตามประสาครูนั่นแหละค่ะ อ้อ..ฝากความคิดถึงคุณ “บัวน้อย” ที่เขียนคอลัมน์ตื่นตาตื่นใจด้วยนะคะ เพราะดิฉันเคยอ่านเรื่องจากต่างแดนที่เธอเคยเขียนไว้ในธรรมลีลา เมื่อหลายปีก่อน รู้สึกชอบมาก ได้ความรู้เกี่ยวกับพุทธศาสนาในต่างแดนมากมาย แต่ตอนนี้เรื่องที่นำมาเขียนก็ยังน่าสนใจไม่แพ้กัน เพราะมันช่วยสร้างแรงบันดาลใจได้ อย่างน้อยก็ช่วยสร้างแรงบันดาลใจให้ดิฉัน เมื่อได้อ่านเรื่องของผู้ชายคนหนึ่งที่ใช้เวลาพากเพียรแกะสลักไส้ดินสอเป็นรูปร่างต่างๆ อ่านจบแล้วดิฉันก็คิดถึงดินสอขึ้นมาทันที เลยไปหยิบดินสอมานั่งดู แล้วก็ใช้ดินสอเขียนจดหมายฉบับนี้ส่งมานี่แหละค่ะ

สุดท้ายนี้ ดิฉันขออาราธนาคุณพระศรีรัตนตรัย และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในสากลโลก โปรดดลบันดาลให้คณะผู้จัดทำนิตยสารธรรมลีลา ประสบแต่ความสุข ความเจริญ มีความสุขกายสบายใจตลอดไปค่ะ

ขอแสดงความนับถือ

สมพร
จ.อุบลราชธานี


เรียนคุณครูสมพร ขอกราบขอบพระคุณที่ได้ติดตามและเป็นกำลังใจให้ “ธรรมลีลา” มาโดยตลอด ลายมือของคุณครูสวยมาก เส้นดินสอคมชัด บ่งบอกถึงความเป็นคนตั้งใจและเอาใจใส่กับการงานทุกอย่างที่ทำ

อยากบอกว่า อย่าหมดศรัทธากับพระสงฆ์เลย อย่างที่คุณครูบอกว่าพระส่วนใหญ่นั้นดี แต่ส่วนน้อยที่ไม่ดีนั้นไม่อาจเรียกว่าพระ ควรจะเรียกว่า “เหลือบศาสนา” หรือ “มารศาสนา” คือผู้ที่เข้ามาเกาะกินหาประโยชน์ในศาสนา

เพราะ “พระ” มาจากคำว่า “วร” แปลว่า ประเสริฐ เลิศ วิเศษ เป็นคำที่เรียกกันมาแต่โบราณ เพื่อยกย่องนักบวชในพระพุทธศาสนา ซึ่งเดิมเรียกกันว่า “ภิกษุ” แปลว่า “ผู้ขอ”

คุณครูสมพรอยู่อุบลราชธานี ทำให้นึกถึงสุดยอดพระสุปฏิปันโนองค์หนึ่งที่เป็นพระแท้ นั่นคือ พระโพธิญาณเถร หรือหลวงพ่อชา สุภัทโท แห่งวัดหนองป่าพง อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี

หลวงพ่อชาเป็นครูบาอาจารย์ที่มีลูกศิษย์ลูกหามากมาย รวมทั้งชาวต่างชาติที่มาบวชกับท่านก็มาก ในหนังสือ “อุปลมณี” ได้เล่าว่า สิ่งที่หลวงพ่อชาพยายามชี้ให้ลูกศิษย์ได้เห็น ได้สัมผัสอยู่เสมอคือ ความไม่เที่ยง ความไม่แน่นอน เพราะท่านเห็นว่า ความรู้ความเห็นในเรื่องนี้เป็นสัมมาทิฐิ เป็นตัวปัญญา

“ไม่แน่” คำนี้เป็นคำสอนที่หลวงพ่อย้ำนักย้ำหนาในหลายๆรูปแบบ จนแทบจะกล่าวได้ว่า เป็นคาถาบทสำคัญ หรืออาจถือเป็นเอกลักษณ์ในคำสอนของท่านก็ว่าได้ ตัวอย่างเช่น

“อะไรก็ช่างเถอะ ถึงจะเกิดอารมณ์อะไรที่ไม่พอใจ จนถึงกับน้ำตามันจะไหลออกมา ให้เรานึกถึงคำสอนที่ว่า อันนี้ไม่แน่ ไว้เสมอเลยทีเดียว ด้วยสติสัมปชัญญะของเรา มันจะพอใจไม่พอใจ มันจะดีมันจะชั่ว ก็ให้เห็นพอดี มันก็ถอนอุปาทานได้....”

ส่วนปฏิปทาในการสอนลูกศิษย์ ที่ท่านได้ดำเนินมาตั้งแต่ต้น คือ

“การสอนนี่ต้องดูว่าเขาจะรับได้แค่ไหน ดูความพอดีของเขา เพราะความพอดีนั่นแหละคือธรรมะ ถ้าไม่พอดีไม่เป็นธรรมะ” อันความพอดีนั้น มิได้หมายถึงเฉพาะในฝ่ายลูกศิษย์ฝ่ายเดียว แต่ดำเนินข้อวัตรทุกอย่าง ซึ่งเป็นไปเพื่อการฝึกสอนทั้งสิ้นนั้น ก็อยู่ในเกณฑ์พอดีด้วย

ขอฝากข้อธรรมของหลวงพ่อชา เป็นการบ้านส่งคุณครูมา ณ ที่นี้ และขอให้คำอวยพรนั้นประสบแด่คุณครูด้วยเช่นกัน


ขอหนังสือมาช่วยสอน

เรียนบรรณาธิการนิตยสารธรรมลีลา

กระผมชื่อ น.ช.เอก เป็นผู้ช่วยสอนหนังสือนักเรียนธรรมศึกษาชั้นตรี อยู่ในเรือนจำกลางสันมหาพน เชียงใหม่ แดน 7 สอนผู้ต้องขังที่สนใจในพระพุทธธรรมคำสั่งสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และสอนพระอภิธรรมในพระไตรปิฎก

ผู้ต้องขังที่สนใจในการศึกษา ส่วนใหญ่จะเป็นผู้ต้องขังที่มีอายุมาก กระผมได้อ่านนิตยสารธรรมลีลาจากห้องสมุด ซึ่งยืมมาอ่าน 4-5 เล่มแล้ว รู้สึกว่าเป็นหนังสือที่ดีมีคุณภาพมาก มีความรู้สอดแทรกความบันเทิงต่างๆหลายด้าน มีรูปภาพประกอบสีสันสวยงาม

กระผมมีความคิดว่า ถ้าได้หนังสือธรรมลีลา มาช่วยในการเรียนการสอน จะทำให้ดึงดูดผู้ต้องขัง หันมาเรียนธรรมะมากขึ้น

กระผมจึงขอความอนุเคราะห์จากท่าน บก.นิตยสารธรรมลีลา โปรดกรุณาหาคนผู้อนุเคราะห์อุปถัมภ์ให้กระผมด้วย จะเป็นกุศลหาที่เปรียบมิได้ ขอให้ท่านจงมีความสุขความเจริญด้วยเทอญ

จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณา ขอแสดงความเคารพ

น.ช.เอก
รจก.สันมหาพน เชียงใหม่


เรียนคุณเอก ผู้ที่รับเป็นสมาชิกอุปถัมภ์ เพื่อสนับสนุนการเรียนการสอนธรรมะให้แก่ผู้ต้องขัง เป็นเวลา 1 ปี คือ คุณกิรติชล ประทุม จากชลบุรี

หวังว่าคุณคงจะมีกำลังใจและประสบความสำเร็จในการทำหน้าที่ผู้ช่วยสอนธรรมศึกษาต่อไป


(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 174 มิถุนายน 2558 โดย กองบรรณาธิการ)
หลวงพ่อชากับศิษย์ต่างชาติ
กำลังโหลดความคิดเห็น