xs
xsm
sm
md
lg

จิตกับธรรม : จิตตนคร (ตอนที่ ๒๔) จิตตนครมีสองศาสนา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ได้ทรงนิพนธ์เรื่อง “จิตฺตนคร” ขึ้นสำหรับบรรยายทางรายการวิทยุ อส.พระราชวังดุสิต ประจำวันอาทิตย์ ระหว่าง พ.ศ. ๒๕๑๑-๒๕๒๓ และได้รวบรวมพิมพ์ครั้งแรกในเรื่อง การบริหารทางจิตสำหรับผู้ใหญ่ เมื่อ พ.ศ.๒๕๒๑

พระนิพนธ์เรื่องนี้ ทรงนำเอาเรื่องจิตและธรรมะที่เกี่ยวกับจิตในแง่มุมต่างๆมาผูกเป็นเรื่องราวทำนองปุคคลาธิษฐาน


เรื่องการผจญมารของพระพุทธเจ้า ตลอดจนถึงทรงผจญธิดามารจนทรงได้ชัยชนะ เรื่องนี้เป็นเรื่องของพระพุทธเจ้า ผู้ทรงอุบัติขึ้นในโลกเมื่อประมาณ ๔๕ ปีก่อนพุทธศักราช และพระพุทธศาสนาได้เกิดขึ้นในสมัยนั้น พุทธบริษัทก็ได้เริ่มมีขึ้นในสมัยนั้นเช่นเดียวกัน

ก่อนแต่พระพุทธศาสนาเกิดขึ้น ก็ได้มีศาสนาอื่นอยู่แล้วหลายศาสนา และยังได้มีศาสนาต่างๆ เกิดตามหลังพระพุทธศาสนาอีกหลายศาสนา ในปัจจุบันนี้ได้มีศาสนาต่างๆ สั่งสอนกันอยู่ในโลกหลายศาสนา

แต่เป็นข้อที่แปลกอย่างยิ่งที่ในจิตตนครมีอยู่เพียง ๒ ศาสนาเท่านั้น คือ พุทธศาสนา และสมุทัยศาสนา กับมีข้อที่ยิ่งแปลกคือ พระพุทธเจ้าในจิตตนคร หาได้เสด็จดับขันธปรินิพพานเหมือนองค์พระพุทธเจ้าในโลกไม่ พระพุทธองค์ยังทรงดำรงอยู่ ซึ่งผู้ที่เห็นธรรมเท่านั้นจึงจะเห็นพระองค์ได้

ดังที่ได้ตรัสไว้ว่า “ผู้ใดเห็นเราผู้นั้นเห็นธรรม ผู้ใดเห็นธรรมผู้นั้นเห็นเรา” ดังนี้ ข้อที่แปลกข้อหลังนี้จะได้กล่าวเมื่อถึงตอนที่ควรจะกล่าวต่อไปอีก ในตอนนี้จะกล่าวถึงแต่ข้อแรกคือสองศาสนาดังกล่าว

พุทธศาสนานั้นคือศาสนาคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าตามที่เข้าใจกันนั่นแหละ ส่วนสมุทัยศาสนา คือศาสนาคำสั่งสอนของสมุทัยที่พระพุทธเจ้าตรัสเรียกว่า “มารๆ” นั่นเอง จึงเกิดปัญหาว่ามารหรือสมุทัยก็มีศาสนาด้วยหรือ เรื่องเป็นอย่างไร จึงขอเล่าเสียเลยว่า

เมื่อพระพุทธเจ้าทรงประกาศพระพุทธศาสนาในจิตตนคร ฝ่ายสมุทัยกับคู่อาสวะ เกรงว่าพระองค์จะทรงทำชาวจิตตนครให้เป็นพุทธบริษัทไปเสียหมด และตนก็จะเสื่อมถอยอำนาจ จะสิ้นอำนาจครองใจคนต่อไป จึงเห็นว่าจำจะต้องตั้งศาสนาขึ้นต่อต้านไว้

แต่การที่จะตั้งศาสนาขึ้นนั้น จำจะต้องแสดงตนเป็นศาสดา กล่าวสั่งสอนลัทธิปฏิบัติที่ชวนให้โลภโกรธหลง หัวโจกทั้งสามนี้สมุทัยได้ใช้ให้คุมใจคน และคอยสอดแทรกอยู่ในใจคนอยู่แล้ว สมุทัยจึงแสดงตนเป็นศาสดา กล่าวสั่งสอนลัทธิปฏิบัติดังกล่าว สอดแทรกโลภโกรธหลงหรือกิเลสตัณหาพร้อมทั้งอารมณ์ ล่อให้เห็นเป็นรูปนิมิตจริงจัง เช่นเห็นเป็นเทพเจ้ามาปรากฏองค์ ได้ยินเสียงกระซิบกระซาบบอกกล่าวข้ออนุศาสน์บางอย่าง เมื่อใส่โลภเข้าไปในใจแล้ว สมุทัยก็รู้ว่าสอนวิธีให้ได้สมโลภบ้าง ก็จะเกิดความนับถือ เมื่อใส่หลงเข้าไปในจิตแล้ว สมุทัยก็รู้ว่าหลงใหลในโลก ไม่อยากจะตาย อยากจะเกิดเสวยสุขอยู่นิรันดร ก็สอนเรื่องภูมิแห่งสุขนิรันดรเช่นนั้น จึงเกิดเป็นศาสนาขึ้นอีกศาสนาหนึ่ง เรียกให้ต่างจากพุทธศาสนาว่า “สมุทัยศาสนา” หรือ “มารศาสนา”

มารศาสนานี้ตรงกันข้ามกับพุทธศาสนา เหมือนอย่างว่าพุทธศาสนาสอนให้ไปทางทิศตะวันออก มารศาสนาก็สอนให้ไปทางทิศตะวันตก สอนค้านกันอยู่ดังนี้ เพราะพระพุทธเจ้าทรงสอนให้พ้นจากอำนาจสมุทัย ส่วนสมุทัยสอนผูกพันไว้ ไม่ปล่อยให้หลุดพ้นไปได้ ชาวจิตตนครจึงพากันพะว้าพะวัง บางคนนับถือทางนี้ บางคนนับถือทางโน้น คนเดียวกันนั่นแหละ บางคราวนับถือพระ บางคราวนับถือมาร ด้วยเข้าใจว่าเป็นเทพผู้ศักดิ์สิทธิ์ไปก็มี

ผู้มาบริหารจิตก็คือผู้กำลังพยายามทำจิตตนครของตน ให้มีเพียงพุทธศาสนาเท่านั้น ไม่ให้มีศาสนามาร นั่นก็คือผู้มาบริหารจิตกำลังพยายามทำจิตของตน ให้พ้นจากอำนาจของสมุทัย มีโลภโกรธหลงเป็นสำคัญ ทำได้ผลมากเพียงไร คือฟังเสียงสั่งสอนของศาสนามารน้อยลงเพียงไร ก็จะมีจิตใจที่เป็นสุขยิ่งขึ้นเพียงนั้น

ผู้นำศาสนาทั้งสองเข้าไปตั้งในจิตตนคร
ได้กล่าวถึงศาสนาในจิตตนคร ว่ามีเพียง ๒ ศาสนาเท่านั้น คือพุทธศาสนาและสมุทัยศาสนา หรือศาสนาของพระพุทธเจ้ากับศาสนาของมาร น่าจะมีใครสงสัยบ้างก็ได้ ว่าใครเป็นผู้นำศาสนาทั้งสองเข้าไปสั่งสอนในจิตตนคร

ก็น่าจะบอกเสียทีเดียวว่า สำหรับมารศาสนาหรือสมุทัยศาสนานั้น คู่อาสวะนั่นเองเป็นผู้นำเข้าไป และคอยแนะนำนครสามีให้นับถือ ส่วนพุทธศาสนาก็คู่บารมีของนครสามีเป็นผู้นำเข้าไป และก็คอยแนะนำนครสามีให้นับถือ

ชั้นแรกนครสามีเอนเอียงไปทางคู่อาสวะมาก สมุทัยกับพรรคพวกครองอำนาจในจิตตนครเต็มที่ คุมระบบสื่อสารทั้งหมด คุมชาวจิตตนครทั้งหมดทุกบ้านทุกตัวคน คุมไตรทวารของจิตตนคร ดังที่ได้กล่าวมาแล้ว

ต่อมาเมื่อความยุ่งยากความทุกข์เดือดร้อนเกิดมากขึ้น เพราะพรรคพวกอาสวะเกิดชะล่าใจ ประพฤติทุจริตจะแจ้งมากขึ้นทุกที จนชาวจิตตนครเริ่มรู้สึกถึงความชั่วร้ายของพรรคพวกสมุทัย คู่บารมีจึงได้โอกาสเริ่มเข้าพบ แนะนำนครสามีให้เรียกศีลและหิริโอตตัปปะ มาใช้ในกิจการบ้านเมืองดูบ้าง ตามคำแนะนำสั่งสอนขององค์พระบรมครู คือพระสัมมาสัมพุทธเจ้า นครสามีได้ยอมปฏิบัติตาม โดยเรียกศีลเป็นต้นมาใช้ พุทธศาสนาจึงได้เริ่มเข้าสู่จิตตนคร เป็นเหตุให้สมุทัยหวาดสะดุ้ง หาโอกาสเข้ายุแหย่นครสามี ให้เลิกใช้ศีลและหิริโอตตัปปะ กลับไปใช้พรรคพวกของสมุทัยตามเดิม

ครั้นความทุกข์เดือดร้อนกลับเกิดขึ้นมาอีก คู่บารมีก็เข้าให้สติ ตักเตือนนครสามีให้เรียกศีลกับหิริโอตตัปปะกลับมาใช้อีก และคราวนี้คู่บารมีเสริมกำลังโดยเพิ่มอินทรียสังวร สติสัมปชัญญะ และสันโดษ มาช่วยศีลกับหิริโอตตัปะเข้ามาอีก

ฝ่ายสมุทัยก็เข้าขอให้คู่อาสวะช่วยให้แข็งแรงขึ้น เพราะสมุทัยนั้นมีปกติกลัวคู่บารมี ไม่กล้าสู้หน้า ต้องอาศัยคู่อาสวะซึ่งนับว่าเป็นฝ่ายข้างในของนครสามี เข้าช่วยสนับสนุนตน และคู่อาสวะนั้นเป็นคู่ปรับสำคัญของคู่บารมี เป็นพวกสมุทัย จึงได้เข้าช่วยสมุทัย โดยแนะนำนครสามีให้เลิกใช้ผู้ที่คู่บารมีนำเข้ามาเสียทั้งหมด

เมื่อเห็นว่าจะไม่อาจให้นครสามีเลิกใช้ได้ทั้งหมด เพราะนครสามีก็ฟังคู่บารมีอยู่มาก ก็แนะนำให้เรียกใช้ฝ่ายสมุทัยด้วย เพราะจะทำให้บ้านเมืองสนุกสนานและเจริญ

ฝ่ายนครสามีฟังทางโน้นบ้างทางนี้บ้าง ในที่สุดก็เรียกใช้ทั้งสองฝ่าย เพราะมีอยู่ทั้งคู่อาสวะทั้งคู่บารมี ในจิตตนครจึงมีทั้งฝ่ายกุศล ทั้งฝ่ายอกุศล ศาสนาก็มีทั้งพุทธศาสนา มารศาสนา ต่างก็แสดงสั่งสอนแก่ชาวจิตตนครกันอย่างเต็มที่

ข้อความที่กล่าวมานี้ ดูน่าจะซํ้ากับที่ได้กล่าวเล่ามาแล้ว เป็นข้อความที่ซํ้าจริง ด้วยความจงใจกล่าว เพื่อทบทวนข้อความที่กล่าวมาแล้วมากและนานโดยย่อสักครั้งหนึ่งก่อนที่จะเล่าต่อไป

และน่าคิดว่าชาวจิตตนครก็น่าจะเหมือนกับชาวโลกทั่วๆไป ซึ่งต่างก็ทำดีบ้างชั่วบ้าง เพราะความดีความชั่วย่อมมีอยู่ตามธรรมดาโลก แต่ก็มีข้อต่างกันที่ชาวจิตตนครเป็นผู้ที่นับถือศาสนาด้วยกันทั้งนั้น ถ้ามิใช่พุทธศาสนิกชนก็มารศาสนิก ที่จะไม่นับถือศาสนาอะไรเลยนั้นหามีไม่ และข้อที่น่าเห็นว่าแปลกอีกข้อหนึ่งก็คือ โดยมากนับถือกันทั้งสองศาสนาอย่างเปิดเผย

เมื่อคนมีทั้งคู่บารมีคือฝ่ายดี และคู่อาสวะคือฝ่ายชั่ว คอยกระซิบใจอยู่ตลอดเวลาปกติ จึงย่อมจะทำดีบ้างชั่วบ้าง เพราะเชื่อเสียงคู่อาสวะบ้างและเชื่อเสียงคู่บารมีบ้าง ปัญญาหรือเหตุผลเท่านั้นที่จะทำให้เห็นชัดถูกต้องตามความเป็นจริง ว่าเสียงของคู่บารมีคือเสียงของฝ่ายดีเท่านั้นที่ควรฟัง ควรเชื่อ และควรปฏิบัติตาม เสียงของคู่อาสวะคือเสียงของฝ่ายไม่ดีไม่ควรฟัง ไม่ควรเชื่อ และไม่ควรปฏิบัติตาม และก็ปัญญาหรือเหตุผลเท่านั้นที่จะทำให้ตัดสินลงไปได้ถูกต้อง ว่าเสียงไหนคือเสียงของฝ่ายดีและเสียงไหนคือเสียงของฝ่ายชั่ว นอกจากปัญญาและเหตุผลแล้ว จะไม่มีอะไรทำให้รู้ได้ด้วยตนเอง

บรรดาผู้มาบริหารจิตทั้งหลาย จึงควรอบรมปัญญาอบรมความมีเหตุผลให้ยิ่งขึ้น จนถึงสามารถทำจิตตนครของตนให้มีแต่พุทธศาสนาเท่านั้น มารศาสนาจะไม่อาจอยู่ทำลายความสงบสุขของจิตใจได้เลย

(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 175 กรกฎาคม 2558 โดย สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก)

กำลังโหลดความคิดเห็น