xs
xsm
sm
md
lg

จิตตนคร (ตอนที่ ๒๕) ความแตกต่างแห่งสองศาสนา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ได้ทรงนิพนธ์เรื่อง “จิตฺตนคร” ขึ้นสำหรับบรรยายทางรายการวิทยุ อส.พระราชวังดุสิต ประจำวันอาทิตย์ ระหว่าง พ.ศ. ๒๕๑๑-๒๕๒๓ และได้รวบรวมพิมพ์ครั้งแรกในเรื่อง การบริหารทางจิตสำหรับผู้ใหญ่ เมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๑

พระนิพนธ์เรื่องนี้ ทรงนำเอาเรื่องจิตและธรรมะที่เกี่ยวกับจิตในแง่มุมต่างๆมาผูกเป็นเรื่องราวทำนองปุคคลาธิษฐาน


จะเล่าสักเล็กน้อยว่าพุทธศาสนาในจิตตนครสอนอย่างไร มารศาสนาสอนอย่างไร

พุทธศาสนาสอนให้ปฏิบัติดังนี้

ให้มีศีล คือให้เว้นจากการฆ่าสัตว์ตัดชีวิต การประทุษร้ายร่างกาย การทรมานทรกรรมสัตว์ เว้นจากการลักขโมยฉ้อโกงต่างๆ เว้นจากความประพฤติผิดในทางกาม เว้นจากพูดเท็จหลอกลวง เว้นจากดื่มนํ้าเมาคือสุราเมรัยทุกชนิด

ให้มีหิริ คือความละอายรังเกียจความชั่วหรือบาปทุจริตต่างๆ เหมือนอย่างชายหนุ่มหญิงสาวผู้รักสวยรักงามรังเกียจสิ่งสกปรก

ให้มีโอตตัปปะ ความเกรงกลัวต่อความชั่วหรือบาปทุจริตต่างๆ เหมือนอย่างบุคคลผู้รักชีวิตเกรงกลัวต่ออสรพิษ ไม่อยากที่จะเข้าใกล้

ส่วนมารศาสนาสอนให้ปฏิบัติดังนี้
ให้ฆ่า ให้ประทุษร้าย ให้ทำทรมานทรกรรมสัตว์ ให้ลักขโมย ฉ้อโกง ให้ประพฤติผิดในทางกาม ให้พูดเท็จหลอกลวง ให้ดื่มนํ้าเมา เมื่อมีกฎหมายห้ามและมีบทลงโทษ ผู้ประพฤติละเมิดกลัวจะถูกลงโทษตามกฏหมาย หากจะฝืนกฏหมายก็ทำ อย่าให้ถูกจับได้ เมื่อยังไม่มีโอกาสจะฝืนกฏหมาย ก็ให้ปฏิบัติตามกฏหมายไปก่อน มีโอกาสเมื่อใดก็ให้ทำตามที่อยากทำ ไม่จำต้องคำนึงถึงศีลธรรมอะไร ให้นิยมยินดีในการทำความชั่วหรือบาปทุจริตต่างๆ ไม่ต้องอาย ไม่ต้องรังเกียจ ไม่ต้องเกรงกลัวอะไร

นอกจากนี้ พุทธศาสนาสอนให้ปฏิบัติในธรรมเหล่านี้

ให้มีอินทรียสังวร ความสำรวมอินทรีย์ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ไม่ให้ยินดียินร้ายในเวลาที่ตาเห็นรูป หูได้ยินเสียง เป็นต้น มีสติรักษาใจมิให้ซัดส่ายขึ้นลง เพราะความยินดียินร้ายในอารมณ์ต่างๆ

ให้มีสติสัมปชัญญะ คือมีสติระลึก สัมปชัญญะรู้ตัว ในเวลายืน เดิน นั่ง นอน หรือในอิริยาบถเล็กน้อย หรือในอากัปกิริยาต่างๆ

ให้มีสันโดษ คือความยินดีด้วยสิ่งที่มีอยู่ มีความอิ่ม ความเต็ม ความพอใจในผลต่างๆที่ได้รับ แต่ก็มีความเพียรปฏิบัติในเหตุหรือในกรณียะ(กิจที่ควรทำ)ให้ยิ่งขึ้น ท่านอธิบายสันโดษดังกล่าวออกไปเป็นความยินดีตามได้ ความยินดีตามกำลัง ความยินดีตามความสมควร

แต่มารศาสนาสอนให้ปล่อยตาให้ดู ปล่อยหูให้ฟัง ตลอดถึงปล่อยให้คิดไปตามสบาย ให้ยินดีในสิ่งที่น่ายินดี ให้ยินร้ายในสิ่งไม่ชอบ อย่าไปฝืนจิตใจให้เป็นทุกข์เดือดร้อน สนุกสนานไปในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ดีกว่า สอนให้ปล่อยสติสัมปชัญญะ ไม่จำเป็นต้องไปพะวง ทำความรู้ตัวอยู่ในอาการเดิน ยืน นั่ง นอน ของตน ในอากัปกิริยาต่างๆ สอนให้โลภ อยากได้ให้มากๆ เมื่อยังมีอยู่น้อยก็อย่าเพิ่งไปอิ่มไปพอเสียก่อน แม้เมื่อมีมากขึ้นแล้ว ก็อย่าเพิ่งพอเช่นเดียวกัน เพราะจะสู้คนอื่นเขาไม่ได้ ให้อุดหนุนความโลภให้เกิดขึ้นมากๆ นอกจากโลภ ก็ให้เพิ่มความโกรธความหลงให้มากขึ้น จะทำให้ชีวิตมีรสชาติผาดโผนสนุกสนาน ไม่เงียบเหงาซบเซายากจน

กล่าวได้ว่า ศาสนาทั้งสองนี้ต่างสอนกันไปในทางตรงกันข้าม คู่บารมีนับถืออุปถัมภ์พุทธศาสนา ส่วนคู่อาสวะนับถืออุปถัมภ์มารศาสนา ผู้อุปถัมภ์ทั้งสองนี้ต่างก็แข็งด้วยกัน และดำเนินการประกาศเผยแพร่ศาสนาของตนในจิตตนครอย่างเต็มที่

ในกรณีนี้ นครสามีหรือเจ้าเมืองแห่งจิตตนครหรือเราท่านทั้งหลายนี้เอง มีหน้าที่สำคัญจะต้องช่วยคุ้มครองป้องกันจิตตนครของตน ให้ร่มเย็นเป็นสุข อะไรที่จะนำให้เกิดทุกข์เกิดร้อนต้องป้องกันกำจัด

แต่การจะดูให้เห็นว่า อะไรเป็นความสุขที่แท้จริง อะไรเป็นความทุกข์ของจิตตนครนั้น ดูให้เห็นได้ยาก สามัญชนทั่วไปมักจะเห็นความทุกข์เป็นสุข เห็นความร้อนเป็นความเย็น ปัญญาและเหตุผลเท่านั้นที่จะช่วยให้เกิดความเห็นตรงตามความจริง จนถึงรังเกียจสิ่งที่เป็นโทษ หรือฝ่ายคู่อาสวะ ปรารถนาสิ่งที่เป็นคุณหรือคู่บารมี

การศึกษาพระพุทธศาสนา การปฏิบัติตามพระธรรมคำสอน คือการอบรมปัญญาและเหตุผล ที่จะทำให้เห็นคุณของคู่บารมี และเห็นโทษของคู่อาสวะ สามารถทำจิตตนครคือใจ ให้มีทุกข์น้อย มีสุขมาก

ในจิตตนครมีเสรีภาพเต็มที่ในการถือศาสนา
ได้กล่าวถึงศาสนาในจิตตนครแล้วว่า ชาวจิตตนครส่วนใหญ่พากันนับถือทั้งพุทธศาสนาและมารศาสนากันอย่างเปิดเผย และได้มีกระบวนการประกาศเผยแพร่ศาสนาทั้งสองนั้นในจิตตนคร โดยมีคู่บารมีของนครสามีและคู่อาสวะต่างอุปถัมภ์กันข้างละหนึ่ง จึงเป็นเหตุให้นครสามีผู้เป็นเจ้าเมืองจิตตนคร ต้องรับเป็นศาสนูปถัมภกทั้งสองศาสนา และประชาชนชาวจิตตนคร ย่อมมีเสรีภาพในการนับถือ และปฏิบัติลัทธิพิธีกรรมศาสนาตามที่นับถือ ในเมื่อการนับถือปฏิบัตินั้นไม่ขัดต่อความเรียบร้อยของบ้านเมือง

ก็ดูเหมือนกับประชาชนแห่งชาติเสรีประชาธิปไตยทั้งหลายในโลก ที่ประชาชนมีเสรีภาพในการนับถือศาสนาตามศรัทธาของแต่ละคน แม้ใครจะไม่นับถือศาสนาอะไรก็ได้ แต่ในจิตตนครดังกล่าวแล้ว ทุกคนนับถือศาสนาทั้งนั้น

ดูก็น่าเห็นว่าแปลกจากในโลกทั่วไป อันที่จริงถ้าดูเข้าให้ถึงจิตใจแล้ว ก็ไม่น่าจะแปลก เพราะทุกคนจะต้องมีความเห็นอย่างใดอย่างหนึ่งและนับถือความเห็นนั้น เช่นนับถือความเห็นทางลัทธิอย่างหนึ่ง นับถือความเห็นของตนว่าควรนับถือ
หรือไม่ควรนับถือศาสนาแม้ทั้งหมด ความเห็นนั่นแหละเท่ากับเป็นศาสนาของจิตใจโดยตรง ถ้าเป็นสัมมาทิฐิความเห็นที่ถูก ก็เป็นพุทธศาสนา ถ้าเป็นมิจฉาทิฐิความเห็นผิด ก็เป็นมารศาสนา

ฉะนั้น เมื่อพูดด้วยภาษาของจิตตนคร ทุกคนจึงนับถือศาสนาทั้งนั้น ไม่พุทธศาสนาก็มารศาสนาหรือทั้งสอง และจะต้องอธิบายการนับถือพุทธศาสนาต่างออกไปจากที่เข้าใจและถือกันทั่วไปบ้าง เพราะตามที่เข้าใจและถือกัน เมื่อแสดงตนเป็นผู้นับถือ ก็ชื่อว่านับถือได้ หรือแม้เกิดในตระกูลของผู้นับถือ ก็ชื่อว่านับถือตามกันมา แต่ตามภาษาของจิตตนครอยู่ที่ความเห็นดังกล่าว ไม่ใช่อยู่ที่การแสดงตนดังนั้น

ฉะนั้น แม้แสดงตนว่านับถือ หรือเกิดในตระกูลของผู้นับถือพุทธศาสนา แต่มีความเห็นผิด ยืนยันอยู่ในความเห็นผิดนั้น เช่น เห็นว่าทำดีไม่ได้ดี ทำชั่วไม่ได้ชั่ว หรือเห็นกลับกันว่าทำดีได้ชั่ว ทำชั่วได้ดี เห็นศีล หิริ โอตตัปปะ เป็นต้น ไม่อำนวยประโยชน์ มัวรักษาศีลจะต้องยากจนดังนี้เป็นต้น ก็หาชื่อว่านับถือพุทธศาสนาไม่ แต่โดยที่แท้กลายเป็นนับถือมารศาสนาต่างหาก

ถ้ามีความเห็นถูกต้องตรงกันข้าม เช่นมีความเห็นถูกต้องตามหลักของกรรม เป็นเหตุให้ละกรรมที่ชั่วที่ผิด ประกอบกรรมที่ดีที่ชอบ แม้จะมิได้แสดงตนว่านับถือพุทธศาสนา ก็ชื่อว่านับถือพุทธศาสนา เพราะมีความเห็นชอบถูกต้องตามคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า เป็นเหตุให้ปฏิบัติถูกต้องตามคำสั่งสอนของพระพุทธองค์ด้วย

น่าพิศวงที่นครนี้คล้ายกับเป็นเมืองชั้นในที่ตั้งอยู่ในจิตใจนี้เอง ทำนองเป็นเมืองลับแล มิใช่เป็นเมืองลับแลภายนอก เป็นลับแลภายในจิตใจ มีอะไรๆที่ดูเหมือนต่างจากโลกภายนอก เป็นอย่างนี้ในโลกภายนอก แต่เป็นอีกอย่างหนึ่งในจิตตนคร เช่นที่เกี่ยวกับศาสนา ในโลกภายนอกมีมากมาย แต่ในจิตตนครมีสองเท่านั้น

ในโลกภายนอกใครจะนับถือหรือไม่นับถือเลยก็ได้ ในจิตตนครนับถือทั่วหน้ากันหมด ในโลกภายนอกชื่อว่านับถือตามที่แสดงตนเป็นต้น ในจิตตนครชื่อว่านับถือศาสนาไหนตามทิฏฐิที่มีอยู่จริงๆ ของแต่ละคน ลองมนสิการให้ดีๆ จะรู้สึกว่าจิตตนครมิใช่เมืองลับแล แต่เป็นเมืองเปิดเผยจริงแท้แน่นอน

บรรดาผู้มาบริหารจิตทั้งหลาย คือผู้มีความเห็นถูกต้องตามหลักของกรรม หรือมิฉะนั้นก็เป็นผู้ที่สนใจจะอบรมความเห็นถูกต้องเช่นนั้นให้เกิดขึ้น เรียกว่าเป็นผู้นับถือพุทธศาสนาตามแบบของจิตตนคร มิใช่ผู้นับถือมารศาสนา เป็นผู้พยายามฝึกฝนอบรมตนให้ปฏิบัติถูกชอบตามคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ซึ่งจะเป็นเหตุให้ถึงความสุขสวัสดิ์ยิ่งขึ้นสืบไป อันเป็นผลดีของการทำเหตุดี

(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 176 สิงหาคม 2558 โดย สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก)
กำลังโหลดความคิดเห็น