xs
xsm
sm
md
lg

ธรรมาภิวัตน์ : อาจาริยบูชา พระโพธิญาณเถร (ชา สุภทฺโท) (ตอนที่ 1)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“ผมไม่มีอะไร ไม่ต้องห่วง ผมไม่มีอะไร”

นี่เป็นคำปรารภของพระโพธิญาณเถร หรือที่เรารู้จักกันในนาม “หลวงปู่ชา สุภทฺโท” แห่งวัดหนองป่าพง จ.อุบลราชธานี เพื่อปลอบใจลูกศิษย์ ก่อนที่ท่านจะอาพาธหนัก และเมื่อเวลา 05.20 น. ของวันพฤหัสบดีที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2535 หลวงปู่ชาได้ละสังขารไปด้วยอาการสงบ จบการเดินทางอันยาวนานในวัฏสงสารอย่างงดงาม

หลวงปู่ชา สุภัทโท เป็นลูกอีสานโดยกำเนิด ท่านเกิดเมื่อวันที่ 17 มิถุนายน พ.ศ. 2461 เติบโตมาในหมู่บ้านก้นถ้วย อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี เป็นบุตรชายคนที่ 5 ของพ่อมาและแม่พิมพ์ ช่วงโชติ

ในหนังสืออัตชีวประวัติของหลวงปู่ชาหลายเล่ม เขียนไว้ตรงกันว่า หลวงปู่ชามีลักษณะเป็นผู้นำตั้งแต่เด็ก เมื่ออยู่ในกลุ่มเพื่อนไม่ว่าจะเล่นอะไรก็ตาม ท่านจะเป็นผู้ที่วางแผน มอบหมายหน้าที่ให้เพื่อนๆอยู่เสมอ ลักษณะเด่นของท่านจะเป็นคนร่าเริง มีน้ำใจ โอบอ้อมอารี และรักสันติ ไม่เคยมีใครเห็นท่านทะเลาะเบาะแว้งหรือมีปากมีเสียงกับใครเลย ซึ่งเป็นลักษณะนิสัยที่่ติดตัวมาจนแก่ชรา ลูกศิษย์ลูกหาต่างพูดตรงกันว่า หลวงปู่ชาสอนธรรมะไปยิ้มไป แม้จะดุบ้างในบางครั้ง แต่ก็เข้าใจได้ในความปรารถนาดีที่มีต่อลูกศิษย์

สิ่งที่สำคัญอีกอย่างคือ เมื่อครั้งที่หลวงปู่ชาเป็นเด็กนั้น ท่านมักจะชอบเล่นเป็นพระให้ศีลให้พรแก่เพื่อนๆ ต่อมาเดือนมีนาคม พ.ศ. 2474 เมื่ออายุได้ 13 ปี ท่านก็ได้บรรพชาเป็นสามเณร และศึกษาบทท่องสวดมนต์ต่างๆ อย่างเคร่งครัด จนเมื่ออายุ 16 ปี ก็ลาสิกขาออกไป แต่ท้ายสุดท่านก็กลับเข้ามาอุปสมบทเป็นภิกษุ เมื่อวันที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2482 ขณะอายุได้ 21 ปีบริบูรณ์ โดยบวชที่วัดก่อ อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี โดยมีพระครูอินทรสารคุณ เป็นพระอุปัชฌาย์ พระครูวิรุฬ สุตการ เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และพระอธิการสวน เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ซึ่งการบวชในครั้งนั้นหลวงปู่ชาได้รับฉายาว่า “สุภทฺโท” แปลว่า ผู้เจริญด้วยดี

ในช่วงแรกของการบวช หลวงปู่ชาได้ศึกษาข้อวัตรปฏิบัติกับพระอาจารย์รูปอื่นๆอยู่ตลอด โดยเฉพาะการอยู่ศึกษาเล่าเรียนธรรมะกับหลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต ที่วัดหนองเผือนาใน อ.พรรณานิคม จ.สกลนคร ก่อนจะกราบลาเพื่อธุดงค์ต่อไป

ต่อมาวันที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2497 หลวงปู่ชาได้ธุดงค์มาถึงชายป่าดงดิบอันหนาทึบ ชาวบ้านเรียกที่แห่งนี้ว่า “ดงหนองป่าพง” อยู่ห่างจากบ้านก่อ บ้านเกิดของหลวงปู่ชาประมาณ 2-3 กิโลเมตร ตอนนั้นดงหนองป่าพง เป็นป่ารกร้างมาก จนแทบจะหาที่วางบริขารไม่ได้ ชาวบ้านจึงช่วยกันจัดที่พักชั่วคราวไว้ให้บริเวณต้นมะม่วงใหญ่ ซึ่งก็คือด้านทิศใต้ของโบสถ์ในปัจจุบันนั่นเอง

ต่อมาเมื่อพิจารณาเห็นสมควร จึงได้จัดตั้งเป็นสำนักสงฆ์ และได้เริ่มปลูกสร้างเสนาสนะขึ้น ด้วยแรงศรัทธาของญาติโยมชาวบ้านก่อและบ้านกลาง มีกุฏิเล็กสามสี่หลัง ซึ่งแต่ก่อนนั้นอยู่กันอย่างยากลำบากมาก แต่ก็ใช้เพื่อเป็นการปฏิบัติธรรมของหลวงปู่ชาและคณะได้อย่างไม่บกพร่องครับ

หลวงพ่อไพฑูรย์ ขนฺติโก (สามเณรรูปแรกของหลวงปู่ชา) เล่าถึงภาพในอดีตของวัดหนองป่าพง ให้ “ธรรมาภิวัตน์” ฟังว่า

"เสนาสนะที่อยู่ครั้งแรก พื้นไม่มีปูนซีเมนต์เลย เป็นดินแท้ๆ เป็นดินเหนียว ดินจอมปลวก เอามาตำแน่นๆ แล้วเอาน้ำประพรม เอาเสื่อธรรมดาปู ประตูไม่มี หน้าต่างไม่มี ชายคาต่ำๆ สูงประมาณหนึ่งเมตร พอจะเข้าไปต้องมุดหัวเข้าไป

เราเคยสัมผัสมากับหลวงพ่อชาในยุคที่ตั้งวัดหนองป่าพงใหม่ๆ มีแคร่ทำเป็นอาสน์สงฆ์ ยาวประมาณ 8 เมตร กว้าง 5 เมตร ศาลามุงหญ้าคา นั่นคือความเป็นอยู่ในยุคนั้น อยู่กันแบบกันดารอดอยาก ตั้งแต่เป็นปะขาวยังไม่บวชเป็นสามเณร

มีครั้งหนึ่งที่จำได้ไม่ลืม มันสะดุดความรู้สึก คือ เราเป็นปะขาวใหม่ๆ อาหารก็ฉันเหลืออยู่บ้างบางอย่าง อะไรไม่รู้จำไม่ได้ เหลืออยู่บ้างในกะละมัง พระอาจารย์ชาก็นั่งอยู่นั่น มองเห็นว่าปะขาวนี่ฉันเหลือ ไม่หมด ก็เรียกว่า …

"ปะขาว ฉันอิ่มหรือยัง?” (หลวงปู่ชา)
"อิ่มแล้ว" (พระอาจารย์ไพฑูรย์)
"ไหนเอามาดู?” (หลวงปู่ชา)

… ก็เอาถวายท่าน ท่านเอาไปฉัน ทีนี้เราก็ตะลึงเลย แปลกใจว่าท่านไม่ถืออะไร ท่านเอาของเราไปฉันได้ คือตอนนั้นมันลำบาก อาหารมีน้อย หาได้ยาก บิณฑบาตไม่ค่อยได้ ไม่ค่อยมีใครใส่บาตร นั่นคือชีวิตที่สัมผัสได้จากอาจารย์ชาสมัยอยู่ร่วมกับท่าน"


ระหว่างที่อยู่วัดหนองป่าพง หลวงปู่ชาได้ยึดหลักคำสอนของพระพุทธองค์ที่ตรัสว่า "ทำตนให้ตั้งอยู่ในคุณธรรมสมควรเสียก่อน แล้วจึงสอนคนอื่นทีหลัง จึงจะไม่เป็นบัณฑิตสกปรก"

ฉะนั้น ไม่ว่าจะทำกิจวัตรอันใด เช่น กวาดลานวัด จัดที่ฉัน ล้างบาตร ตักน้ำ ทำวัตร นั่งสมาธิ หลวงปู่ชาจะลงมือทำเป็นตัวอย่างของศิษย์โดยยึดหลักว่า "สอนคนด้วยการทำให้ดู ทำเหมือนพูด พูดเหมือนทำ" ดังนั้น ลูกศิษย์และญาติโยมจึงเกิดความเคารพเลื่อมใสในปฏิปทาที่หลวงปู่ดำเนินอยู่ และปฏิบัติตามท่านด้วยจิตยินดี

"นิสัยหลวงปู่ชาท่านอดทน ท่านเอาจริง ถ้าดูผิวเผินเหมือนกับท่านดุ ท่านขยันพูด เทศน์ เช้าเทศน์ ตีระฆังตีสามมาแล้ว ตีระฆังบ่ายสามมาแล้ว ตีระฆังหกโมงเย็นมาแล้ว ท่านจะมาก่อนเลย ทำเป็นแบบอย่างให้ลูกศิษย์ทั้งหลายทำตาม" หลวงพ่อไพฑูรย์ เอ่ยถึงพระอุปัชฌายาจารย์

ด้าน พระครูปัญญา ธรรมโสภิต เจ้าอาวาสวัดป่าธรรมวิเวการาม อ.ทรายมูล จ.ยโสธร (วัดหนองป่าพง สาขาที่ 37) กล่าวกับ “ธรรมาภิวัตน์” ถึงปฏิปทาของหลวงปู่ชาว่า

“การปฏิปทาของท่านนั้น น่าเลื่อมใส น่าเคารพมาก การปฏิบัติของท่านคือ ท่านปฏิบัติอย่างไร ท่านพูดอย่างนั้น ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นตัวของท่านเอง"

ในคำสอนของหลวงปู่ชาที่มีต่อลูกศิษย์ลูกหานั้น ต่างเอ่ยไปในทำนองเดียวกันว่า หลวงปู่ชาเป็นผู้มีแนวทางการสอนที่เป็นธรรมชาติ เข้าใจแก่นของเนื้อหาแห่งธรรมะที่ต้องการสื่อสารได้เป็นอย่างดี ไม่ว่าจะเป็นลูกศิษย์ชาวไทยหรือพระชาวต่างชาติ ก็สามารถเข้าใจวิธีการสอนธรรมแบบของหลวงปู่ชาได้อย่างไม่ยากเย็นครับ

"ในตอนแรกอาตมาก็ไม่แน่ใจ แต่สิ่งหนึ่งที่ได้เห็นมามากตอนอาตมามาที่นี่ครั้งแรก คือ การเทิดทูนในตัวท่าน สังเกตได้จากภาพถ่ายของท่านมากมายในทุกๆที่ มันดูเหมือนไม่เหมาะสม และอาตมาไม่ชอบเอาเสียเลย มันทำให้อาตมาเริ่มท้อถอย อาตมาว่ามันยากที่จะตัดสินใจมาฝึกฝนที่นี่ ต้องใช้เวลาระยะหนึ่ง เพื่อทำความคุ้นเคยกับท่าน

ก็เหมือนกับตอนเริ่มต้นที่อาตมาบอกไป คือท่านสร้างทุกอย่างและให้โอกาสที่ดีสำหรับทุกคนในการฝึกปฏิบัติ หลังจากนั้นก็ขึ้นอยู่กับแต่ละคนว่าจะเลือกอย่างไร ซึ่งเป็นแง่มุมหนึ่งของพุทธศาสนา และนั่นเป็นสิ่งหนึ่งที่ดึงดูดอาตมา มันไม่ใช่บางสิ่งที่อาตมาต้องเชื่อ มันเปิดรับสำหรับคำถามเสมอ ซึ่งทำให้อาตมายกย่องและชื่นชมตลอดมา และที่วัดหนองป่าพงมีทุกอย่างที่ช่วยในการฝึกปฏิบัติ การแนะนำการฝึกสมาธิก็เข้าใจง่าย"
(พระอาจารย์เขมธมฺโม วัดป่าสันติธรรม 
เมืองวอริค ประเทศอังกฤษ)

“ท่านสอนเกี่ยวกับวิถีการใช้ชีวิตของพระสงฆ์ ธรรมวินัย แก่นของพุทธศาสนา วิธีที่จะระมัดระวังสิ่งต่างๆได้อย่างไร และในแง่ของธรรมะ เท่าที่อาตมาจำได้ ท่านจะสอนเกี่ยวกับสัจธรรมอยู่เสมอ ให้เผชิญกับความทุกข์ที่เรามี ความขัดแย้ง ความยากลำบากต่างๆ” (พระอาจารย์วีรธมฺโม วัดป่าติสรณะ ประเทศแคนาดา)

"หลวงปู่ท่านจะทำของเข้าใจยากให้เข้าใจง่าย ท่านจะยกเอาอุปมาอุปไมย อย่างเช่น ท่านถามว่าหินหนักไหม? ทุกคนก็จะบอกว่าก้อนใหญ่ขนาดนี้ ต้องหนักมาก แต่หลวงปู่บอกว่า ถ้าไม่ไปยกไม่หนัก เห็นไหม วางมันไว้เฉยๆ สิท่านบอก

คนเราก็เหมือนกัน เขาด่าเรา ไม่เฮิร์ทไม่เจ็บไม่ปวดไม่กระทบ คือเราฟังแล้วปล่อยไปเฉยๆ เขาด่าเราแสดงว่าเขาเห็นผิด เขาจึงพูดผิด เราไม่ไปแบกอารมณ์ อารมณ์นี้จริงอยู่เป็นสิ่งที่มองไม่เห็น เป็นของที่ไม่มีตัวตน เบายิ่งกว่านุ่น แต่มันหนักยิ่งกว่าภูเขา ท่านจึงบอกว่า แบกอะไรก็ไม่หนักเท่ากับแบกอารมณ์"
(พระครูสันติภาพธรรมวิเทศ รองเจ้าอาวาสวัดจิตตาราม ประเทศอิตาลี)

หลวงปู่ชายังเป็นผู้วางแนวทางสอนธรรมะให้กับลูกศิษย์ลูกหาทั่วโลกได้อย่างน่าสนใจ โดยเฉพาะการมุ่งไปที่ "ศรัทธา" ในพระพุทธศาสนา ซึ่งเป็นเครื่องพิสูจน์ชัดเจนว่า ศรัทธานั้นไม่ได้อยู่ที่ตัวบุคคล เพราะบุคคลเป็นสิ่งที่ไม่เที่ยง แม้สังขารของหลวงปู่ชาก็ตาม หรือของพระผู้มีพระภาคเจ้าก็ตาม ล้วนเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไปได้ด้วยกันทั้งนั้น

ขณะที่เวลาผ่านมา 2557 ปีแล้ว ทว่าพุทธศาสนา หลักธรรมคำสอน และพระธรรมวินัย กลับยืนหยัดอยู่ได้ และหลวงปู่ชาก็เป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการเผยแผ่พุทธศาสนาออกไป เป็นวัดสาขาของวัดหนองป่าพงทั่วโลก อันเป็นคุณูปการที่ยิ่งใหญ่ที่หลวงปู่ชาได้ละทิ้งไว้เป็น "มรดกธรรม" ให้แก่ลูกศิษย์ลูกหา

เมื่อถึงวันละสังขารของหลวงปู่ชา วันที่ 16 มกราคม ของทุกปี วัดหนองป่าพงจะจัดงานปฏิบัติธรรมประจำปี เพื่อเป็นอาจาริยบูชา โดยมีพระภิกษุสงฆ์และสามเณร ที่เป็นศิษยานุศิษย์ของหลวงปู่ชาจากทั่วโลก รวมถึงญาติโยมที่มีความศรัทธาหลวงปู่ชา จะมารวมกันที่บริเวณเจดีย์พระโพธิญาณ สถานที่เก็บอัฐิของหลวงปู่ชา พิธีเป็นไปอย่างเรียบง่าย โดยมีการเดินประทักษิณารอบเจดีย์ พร้อมด้วยดอกไม้ธูปเทียน เพื่อเป็นการไหว้ครูและรำลึกถึงพระคุณของหลวงปู่ชา บุรพาจารย์ผู้ล่วงลับดับขันธ์นั่นเองครับ

ติดตามบรรยากาศและบันทึกเรื่องราวงานอาจาริยบูชา หลวงปู่ชา สุภทฺโท ได้ต่อ ใน “ธรรมลีลา” ฉบับหน้านะครับ

(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 172 เมษายน 2558 โดย กานต์ จอมอินตา ผู้อำนวยการโครงการธรรมาภิวัตน์ สถานีโทรทัศน์ NEWS1)
เจดีย์โพธิญาณ




ผู้เขียนเข้าร่วมงานนี้ด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น