xs
xsm
sm
md
lg

เปิดแง่มุม "พระสงฆ์ดี" เดินทางสายกลาง ไม่ยึดติด ไม่สนวัตถุ!!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ขอบคุณภาพจาก เฟซบุ๊ก “วีระศักดิ์ โพธิสัตย์, เฟซบุ๊ก “บ๊อบ สายแข็ง”
เกิดอะไรขึ้นกับประเทศไทยที่ขึ้นชื่อว่าเป็นเมืองพุทธ ภาพพระสงฆ์ฟุ้งเฟ้อเกินพอดี นับวันยิ่งมีมากขึ้นให้เห็นเกลื่อนตา หรือไม่ละเมิดวินัยสงฆ์ทำลายศาสนาจนสั่นคลอนความศรัทธาพุทธศาสนิกชนมากขึ้นทุกวัน ยังดีที่พอจะหลงเหลือภิกษุสงฆ์โดยเนื้อแท้ตามหลักพระพุทธศาสนาให้เห็นอยู่บ้าง แม้จะน้อยนิดหาได้ยากไม่ต่างจากงมเข็มในมหาสมุทร!

 
 
นี่แหละ! “พระสงฆ์” ที่น่ากราบ

 
กลายเป็นกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนาหูไปเสียแล้วสำหรับพฤติกรรม เสียๆ หายๆ ของบุคคลในผ้าเหลืองให้ได้กล่าวถึงไม่เว้นแต่ละวันทั้งเรื่องความฟุ่มเฟือยฟุ้งเฟ้อ หรือแม้แต่การทำตัวไม่เหมาะสม ทำให้พุทธศาสนิกชนเกิดความเสื่อมศรัทธาลงทุกวัน แต่หลายคนอาจยังไม่รู้ว่าแท้จริงแล้วพระดีๆ ในประเทศไทยยังอีกมีอยู่มากมาย เพียงแต่ท่านไม่เปิดเผยตัวตนเท่านั้นเอง

 
พุทธศาสนิกชนชาวไทยเรายังได้ชื่นใจกันอยู่บ้าง เพราะอย่างน้อยประเทศไทยเราไม่เคยขาด " พระอริยสงฆ์ " ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบอย่าง “หลวงปู่บัวทอง กันตปทุโม” วัดป่าสัมมานุสรณ์ ที่ถึงแม้ท่านจะมรณภาพไปแล้วก็ตาม แต่ครั้นที่ท่านยังมีชีวิตอยู่ท่านใช้ชีวิตอยู่อย่างสมถะ มุ่งปฏิบัติธรรม และไม่แสวงหาคำสรรเสริญแต่อย่างใด

 
ส่วนอย่างอื่นที่แสดงออกถึงความฟุ้งเฟ้อนั้นท่านจะไม่มีเลย โดยในห้องนอนของท่านจะมีเพียงเสื่อหนึ่งผืน กับผ้าปูบางๆ มีกลดหนึ่งหลังกับบริขารแปด และบริขารอาศัยที่จำเป็นเท่านั้น ท่านจะใช้ชีวิตอยู่อย่างเรียบง่ายสมถะ ไม่ฟุ้งเฟ้อไปตามวัตถุของยุคสมัย ซึ่งจะแตกต่างกับพระในสมัยปัจจุบัน ที่บางท่านอาจจะคล้อยไปตามวัตถุนิยม ซึ่งเป็นเหตุให้ทำให้ศาสนามัวหมองและอาจจะทำให้ผิดหลักธรรมวินัยก็เป็นได้

 
ทว่า พระดีๆ ในเมืองไทยยังไม่หมดเพียงเท่านี้ หากย้อนกลับไปเมื่อ 2 ปีก่อน กลายเป็นข่าวดังตามหน้าสื่อ หนังสือพิมพ์ เมื่อผู้คนแห่กราบไหว้พระธุดงค์ “พระอุดม โชติวชิโร” ที่มีพฤติกรรมน่าเลื่อมใส ไม่เรี่ยไรขอเงินบริจาคจากญาติโยม ส่วนสิ่งของที่นำมาถวายนั้น จะทำการแบ่งปันไปยังชาวบ้านใกล้เคียง โดยพระอุดมจะใช้ชีวิตแบบเรียบง่าย อีกทั้งไม่ปริปากพูดกับใครมานานถึง 10 ปี แต่จะใช้วิธีการเขียนหนังสือแทน

 
โดยให้เหตุผลว่า ที่ไม่ยอมพูดจากับใครนั้น เพราะที่ผ่านมาได้ไปจำวัดตามสถานที่ต่างๆ พบเห็นความสับสนวุ่นวายทางโลกมากมาย ซึ่งมิใช่ความปรารถนาของตนเองที่แท้จริงจึงตัดสินใจไม่พูดจากับผู้ใดตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา แต่จะใช้การสื่อสารผ่านการเขียนหนังสือแทน แต่เวลาสวดมนต์เป็นภาษาบาลี ก็จะเปล่งเสียงออกมาตามปกติ




 
ปิดท้ายกันด้วยเรื่องราวดีๆ ของ “บ็อบ สายแข็ง” เป็นเหตุการณ์ที่น่าประทับใจเหตุการณ์หนึ่ง โดยเขาได้เดินทางไปยังต่างจังหวัด และได้พบกับพระธุดงค์รูปหนึ่ง จึงถือโอกาสทำบุญแต่พระท่านกลับยื่นปัจจัยกลับมาพร้อมบอกว่าช่วยนำปัจจัยนี้ไปทำบุญกับคนที่ต้องการมากกว่าอาตมา เรื่องราวดังกล่าวถูกแชร์ผ่านโลกออนไลน์กันอย่างแพร่หลายโดยมีใจความว่า

 
“2-3 ปีที่ผ่านมา ผมมีโอกาสเดินทางบ่อยด้วยมอเตอร์ไซค์ บางเดือนเดินทาง 10,000-15,000 กม. หนึ่งเหตุการณ์ที่ผมมักเจอบ่อยๆ คือได้พบเจอ ได้เห็นพระภิกษุกำลังเดินธุดงค์ ทุกภูมิภาคที่เดินทางไป อย่างพระท่านนี้ พบเจอท่านระหว่างเส้นทาง อ.แม่สอดมุ่งหน้าไป อ.อุ้งผาง โดยมีสัมภาระดังที่เห็น จึงได้เข้าไปถือโอกาสทำบุญ โดยการถวายปัจจัยเงินสดซึ่งท่านก็รับไว้ แต่ก่อนที่ผมจะลุกขึ้น ท่านยื่นปัจจัยกลับมา แล้วบอกว่าช่วยนำปัจจัยนี้ไปให้ทำบุญกับคนที่ต้องการมากกว่าอาตมา

เพราะอาตมาไม่มีความจำเป็นต้องใช้เงิน ก็เลยถวายน้ำเปล่ากับเครื่องดื่มเกลือแร่ ท่านบอกว่าอันนี้แหล่ะเหมาะกับอาตมามากกว่า ถามท่านว่าท่านธุดงค์ไปไหน ท่านตอบว่า มาจาก อ.แม่สอด จ.ตาก เดินทางไป จ.กาญจนบุรี บอกตรงๆ ผมอึ้งเลย เราขับมอเตอร์ไซค์ยังเหนื่อยเลย แต่ท่านเดินแบกสัมภาระ อีกทั้งการเดินในอากาศร้อนๆ เท้าเปล่า แบกทั้งสัมภาระ บาตร กลด รู้สึกว่า ทำไมมันช่างแตกต่างกับการเดินธุดงค์ที่กำลังเป็นกระแสสังคมอยู่ตอนนี้ ที่สร้างความวุ่นวายเกิดคำถามมากมายในสังคม ถึงความเหมาะสมหรือไม่ พุทธศาสนาที่แท้จริงคืออะไร”



 
 
อย่า! ถวายของเกินฐานะของพระ

 
จากข้อความดังกล่าวข้างต้นทำให้ฉุกคิดมาว่าเพราะเหตุใดทำไมพระในปัจจุบันถึงเปลี่ยนไปได้เช่นนี้ 'ศ.ดร.วัชระ งามจิตรเจริญ' อาจารย์ประจำภาควิชาปรัชญา คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้ความเห็นกับทางทีมข่าวASTV ผู้จัดการLive ว่า พระสมัยก่อน แตกต่างกับพระปัจจุบัน เพราะด้วยความที่ยุคสมัยมันเปลี่ยนไป อะไรๆ ก็เปลี่ยนตาม แต่ถึงอย่างไรก็ต้องดูตามความเหมาะสมด้วยว่าสิ่งที่มีอยู่เกินฐานะหรือไม่?

 
“ยกตัวอย่างเช่นรถ ถ้าถามว่าจำเป็นไหมสำหรับการมีรถก็ผิด ถ้าสำหรับพระที่ทำหน้าที่บริหารคณะสงฆ์ก็ถือว่าจำเป็นเพราะว่าเวลาท่านเดินทางไปตามต่างจังหวัด ถ้าไม่มีรถส่วนตัวก็ถือว่าลำบาก เพราะว่าพระอาจจะขึ้นรถขึ้นลาอาจจะไม่สะดวกเหมือนกันฆราวาส และถ้ายิ่งต่างจังหวัดเรื่องรถก็ค่อนข้างจะไม่สะดวกในการเรียกใช้บริการด้วยนะครับ เพราะฉะนั้น จากประสบการณ์ที่ต่างจังหวัดก็ค่อนข้างจะลำบาก เวลาจะไปติดต่องานคณะสงฆ์ จะไปทำงานคณะสงฆ์ต่างๆ ถ้ามีรถส่วนตัวก็จะสะดวก”

 
ถึงอย่างไรก็ตาม พระบางรูปอาจติดค่านิยม อาจใช้ของที่เกินฐานะอันนี้ถือว่าไม่เหมาะสมจึงทำให้ผิดหลักธรรมวินัย และส่วนหนึ่งอาจเกิดมาจากญาติโยมที่ค่อนข้างมีฐานะจึงถวายสิ่งของแพงๆ ทำให้เกิดความไม่เหมาะสม

 
“แต่เราต้องดูว่ารถมันเกินฐานะไหม ถ้าเกิดท่านซื้อเองแล้วเกินฐานะของท่านก็อาจจะเป็นไปได้ เช่น ถ้าเป็นเพียงพระผู้น้อยมีเงินยังไม่ค่อยเยอะแต่ไปซื้อรถราคาหลายล้านซื้อเบนซ์ซื้อบีเอ็ม ก็อาจจะเกินฐานะ แต่ถ้าวัดท่านเหมือนกับว่ามีมีปัจจัยเยอะแล้วท่านใช้งานมันเยอะ ถ้าซื้อรถแพงๆ หน่อย แล้วมันคุ้มมันปลอดภัย มันทน อันนี้ก็อาจจะมองได้ว่ามันไม่เกินไป แต่แน่นอนถ้าพระรูปนั้นติดค่านิยมต้องการรถหรูเอาหน้าเอาตา อันนี้ก็ไม่เหมาะกับพระอยู่แล้วนะครับ

แต่ถ้าเป็นกรณีของญาติโยมที่นำไปถวายท่านเองก็คงต้องไปโทษญาติโยมว่าสิ่งที่นำไปถวายท่านเหมาะสมไหม เพราะว่าโยมที่ถวาย ส่วนใหญ่ค่อนข้างมีฐานะ เวลาถวายเขาก็จะถวายของดีๆ แพงๆ นะครับ ก็ถ้าดูภายนอกอาจจะเกินฐานะของพระ เพราะฉะนั้นก็อาจจะเป็นไปได้ว่าผิดที่ญาติโยมด้วยนะครับ”

 
ถือว่าพระสมัยก่อนกับปัจจุบันแตกต่างกันมาก เพราะสมัยก่อนการบริหารงานของคณะสงฆ์ยังไม่เคร่งเท่ากับสมัยนี้ เป็นเหตุให้พระที่เข้าข่ายตกเป็นจำเลยของสังคม คือพระที่ทำงานบริหาร เพราะถือว่าท่านเป็นพระที่มีฐานะพอสมควร
 
“พระที่เข้าข่ายตกเป็นจำเลยของสังคมในกรณีอย่างนี้คือ พระที่ทำงานบริหาร เพราะท่านพอจะมีฐานะ ถ้าท่านซื้อรถใช้ให้สมกับตำแหน่งของท่านก็คิดว่ายังพออนุโลมได้นะครับ แต่สำหรับท่านที่ใช้เกินเลยฐานะตนเองอย่างปัจจัยน้อย ตำแหน่งยังไม่สูงแต่ใช้รถซะโก้หรูเลยก็อาจจะดูไม่สมฐานะ และถ้าท่านใช้น้อยงานไม่เยอะแต่ไปใช้รถแพงๆ ดีๆ เกินไป คนก็มองได้ว่าเกินฐานะเกินความจำเป็นเหมือนกัน

สมัยก่อนการบริหารงานคณะสงฆ์ก็คงไม่เท่ากับสมัยนี้ สมัยก่อนพระน้อยงานน้อย สมัยนี้กิจกรรมจะเยอะขึ้น สมัยก่อนรถจะหายาก พระปัจจัยก็จะไม่เยอะเหมือนสมัยนี้ การใช้รถพวกนี้จะเห็นว่าน้อย เดี๋ยวนี้อะไรก็เยอะขึ้น เรื่องการใช้รถก็เลยแพร่หลายกว่าสมัยก่อน

แต่เราก็ต้องแยก เพราะพระที่ใช้รถพวกนี้ส่วนใหญ่ท่านไปทำงานที่จะต้องวิ่งไปวิ่งมา ถ้าเกิดเป็นพระที่ไม่ได้บริหารงานคณะสงฆ์ส่วนใหญ่ก็จะนั่งสมาธิ ท่านก็คงไม่ได้ไปไหน ท่านก็คงไม่ได้ใช้รถอย่างมากก็อาจจะมีรถวัดสักคันหนึ่งเอาไว้ใช้เวลามีกิจธุระจริงๆ ก็คงเป็นรถถูกธรรมดา ก็จะมีหลายกลุ่มหลายประเภท”

ยึดหลักสมถะ อย่ายึดติด!

 
ตามหลักพระธรรมวินัย จริงๆ แล้วควรยึดหลักสมถะ หากพระมีข้าวของเครื่องใช้เกินความจำเป็นถือว่าผิด ทว่า ด้วยความที่ยุคสมัยเปลี่ยนไปเรื่องบางอย่างถือเป็นการผ่อนปรนให้กับท่าน

 
“ด้วยหลักการจริงๆ ควรยึดหลักสมถะนะครับ ถ้าท่านใช้ตามความเหมาะสมตามความจำเป็นของท่าน แต่เนื่องจากว่าตรงนี้จะมองว่าเป็นส่วนเกินตามพระธรรมวินัยนะครับ แน่นอนข้าวของเครื่องใช้เกินความจำเป็นเช่นรถ พระไม่มีเป็นสมบัติอยู่แล้ว มันเป็นส่วนเกิน แต่เนื่องจากยุคสมัยมันเปลี่ยนไป ก็เหมือนกับว่าเราให้พระทำงานแต่เราไม่มีเครื่องมือให้ท่าน ท่านก็ทำงานไม่ได้ ตรงนี้เราก็เหมือนกับว่าเราก็ต้องผ่อนปรนให้ท่าน

ถ้าพูดตรงๆ ถึงหลักพระธรรมวินัยก็คือผิดนะครับ ถ้าเป็นส่วนตัวนะ ถ้าเป็นวัดก็ไม่เป็นไร ถ้าเป็นรถส่วนตัวอยู่ในครอบครองของท่าน ก็มองแล้วมันก็เกินสมบัติของพระ ตามพระธรรมวินัยแบบเคร่งคัดถือว่าผิดนะครับ เพราะฉะนั้น ญาติโยมก็จะมาว่าพระฟุ่มเฟือย ฟุ้งเฟ้อ ไปเหมือนฆาราวาสเขาไหม ถ้าโยมไม่ได้ถวาย แต่ท่านไปหาซื้อมาเองท่านก็ต้องรับผิดชอบว่าท่านใช้เกินฐานะหรือเปล่า”

 
ด้วยความที่เป็นพระควรยึดหลักพระธรรมวินัยและทำอะไรต้องอยู่ในกรอบอย่างเหมาะสม เพราะฉะนั้น พระเหล่านี้ย่อมแตกต่างจากพระที่มุ่งการหลุดพ้น แต่อาจจะไม่ได้ช่วยงานคณะสงฆ์สักเท่าไหร่ ก็ถือว่าได้อย่างเสียอย่าง

 
“เป็นพระต้องยื่นหลักพระธรรมวินัยไว้ก่อน อันไหนที่ทำได้ต้องพยายามทำไว้ก่อน ส่วนอันไหนที่เกินความจำเป็นต้องทำอยูในกรอบที่เหมาะสม ที่เรียกว่ารับได้แม้อาจจะมองว่าผิดวินัยอย่างที่ว่านี้นะครับ แต่ว่าถ้ามันไม่มากเกินไปผมก็คิดว่าเราพอยอมรับได้ เพราะฉะนั้น ถ้าทำในกรอบได้ผมก็ถือว่าเป็นพระที่ดีนะครับ เพียงแต่ว่าแน่นอนครับย่อมแตกต่างจากพระที่มุ่งการหลุดพ้น ท่านก็จะเคร่งคัดกว่านี้ แต่พระเหล่านั้นก็จะไม่ได้ช่วยงานสังคม ไม่ได้ช่วยงานคณะสงฆ์เท่าไหร่ เพราะฉะนั้น ก็ถือว่าได้อย่างเสียอย่าง




เพราะฉะนั้น พระดีอาจจะมี 2 กลุ่ม พระดีตามพระธรรมวินัยเลย คือพระที่ไม่ได้มายุ่งเกี่ยวกับกิจการของสังคม กิจการบริหารคณะสงฆ์ ท่านก็เคร่งคัดปฏิบัติ ธุดงค์ อะไรของท่านไป แต่ถ้าเป็นพระที่ดีในระดับที่อยู่กับสังคม ก็เป็นพระที่แม้ว่าจะมีอะไรผิดพระวินัยบ้าง แต่ว่าก็ไม่เกินเลย อยู่ในขอบเขตที่พอเหมาะพอสม ไม่ใช่ประเภทที่ไม่สำรวมเลย ไปสถานที่ที่ไม่ควรไปหรือไปแล้วเป็นสถานที่อโคจร ชาวบ้านมองแล้วทำไมพระมาอยู่ที่นี่อย่างนี้”

 
อย่างไรก็ตาม เหล่าพุทธศาสนิกชนเองก็ต้องถวายของให้ถูกตามหลักพระวินัย ถวายของไม่ให้เกินความจะเป็นของพระ หากถวายอย่างไม่เหมาะสมจะเป็นการทำให้พระเคยตัวในการใช้ของฟุ้งเฟ้อก็เป็นได้

 
“พุทธศาสนิกชนที่ศรัทธาอยากทำบุญหรือถวายของพระ พยายามถวายของที่ถูกตามพระธรรมวินัย หรือของบางอย่างที่อาจจะมีราคาแพง หรืออาจจะดูเกินความจำเป็นของพระ ก็ให้เลือกถวายตามความเหมาะสม อย่าให้กลายเป็นว่าเราไปสปอยพระ ทำให้พระเสียเพราะใช้ของแพงๆ ใช้ของฟุ่มเฟือยจนเคยตัวและเสียนิสัย
เพราะฉะนั้น เราอุปถัมภ์พระแต่พอดีเดินทางสายกลางนะครับ ไม่ให้มันมากเกินไปจนกระทั่งพระท่านติดความสบาย ติดความฟุ่มเฟ้อ ถวายเท่าที่คิดว่าท่านจำเป็น เช่นถ้าคิดว่าท่านจำเป็นต้องใช้รถ ก็ถวายรถตามความเหมาะสมของท่าน แต่ถ้าท่านไม่จำเป็นก็ไม่ต้องถวายขนาดนั้น” อาจารย์ประจำภาควิชาปรัชญา กล่าวทิ้งท้าย

 
 
ข่าวโดยASTV ผู้จัดการLive
ขอบคุณภาพและข้อมูลบางส่วน: เฟซบุ๊ก “วีระศักดิ์ โพธิสัตย์", เฟซบุ๊ก “บ๊อบ สายแข็ง”




มาตามติด Facebook Fanpage และ Instagram

"ASTVผู้จัดการ Live" และ "@astv_live" กันได้ที่นี่!!

และสามารถส่งข่าวสารและเรื่องราวร้องทุกข์ในสังคมมาได้: astvmanager.live.lite@gmail.com
หรือ โทร.0-2629-4488 ต่อ 1477, Fax 0-2629-4754



กำลังโหลดความคิดเห็น