xs
xsm
sm
md
lg

ธรรมปฏิบัติ : อุปกรณ์ที่ช่วยปฏิบัติสมาธิ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ทีนี้จะพูดถึง เครื่องอุปกรณ์ทั้งหลายที่จะช่วยการปฏิบัติสมาธิภาวนา เราจะต้องเป็นผู้มีจิตใจเผื่อแผ่ โอบอ้อมอารี ที่เรียกว่า “เมตตาธรรม” ให้เป็นผู้มีเมตตาเป็นคุณธรรม เช่นว่าเรากำจัดตัวโลภะ หรือตัวเห็นแก่ตัวออก ทางพระท่านว่า “การให้ทาน” การให้คือทาน คนเราถ้าเห็นแก่ตัวแล้วไม่สบาย เห็นแก่ตัวแล้วไม่ค่อยสบาย แต่คนชอบจะเห็นแก่ตัว แต่ไม่รู้สึกตัว

จะรู้ได้ในเวลาไหน รู้ว่าในเวลาเราหิวอาหาร ถ้าเราได้แอปเปิ้ลมาลูกหนึ่งขนาดนี้ เราจะแบ่งคนอื่น จะแบ่งให้เพื่อน คิดแล้วคิดอีก อยากจะให้เพื่อนก็อยากจะให้ แต่ว่าอยากจะเอาลูกเล็กๆให้ จะเอาลูกใหญ่ให้ก็แหมเสียดายเหลือเกิน คิดยากนักหนา เอาไป..เอาลูกนี้ไป เราก็ให้ลูกเล็ก ให้แอปเปิ้ลลูกน้อยๆไป แต่เอาลูกใหญ่ไว้ นี่ความเห็นแก่ตัวชนิดนี้อันหนึ่ง แต่คนไม่ค่อยจะเห็น

การให้ทานนี่การทรมานจิตนะ มันอยากให้เขาลูกเล็กๆ อุตส่าห์บังคับเอาลูกใหญ่ให้เพื่อน พอให้แล้วเออ..สบายนะ

นี่การทรมานจิตอย่างนี้ ต้องบังคับจิตให้มันรู้จักให้ ให้มันรู้จักละ ไม่ให้มันเห็นแก่ตัว เมื่อเราให้คนอื่นเสียแล้ว มันก็สบายหรอก ถ้าเรายังไม่ให้นี่ จะให้ลูกไหนหนอ มันลำบากมากเหลือเกิน กล้าตัดสินใจว่าให้ลูกใหญ่นี่หนา เสียใจนิดหน่อยนะ แต่พอตกลงใจให้เขาแล้ว มันก็แล้วไป นี่เรียกว่าทรมานจิตในทางที่ถูก มันเป็นอย่างนี้

ถ้าเราทำให้ได้อย่างนี้ เรียกว่าเราชนะตัวเอง ถ้าเราทำไม่ได้อย่างนี้ เรียกว่าเราแพ้ตัวเอง เห็นแก่ตัวเรื่อยไป

ก่อนนี้เรามีความเห็นแก่ตัว อันนี้ก็เป็นกิเลสอันหนึ่งเหมือนกัน ต้องขจัดออก ทางพระเรียกว่าการให้ทาน การให้ความสุขแก่คนอื่น อันนี้เป็นเหตุช่วยให้ชำระความสกปรกในใจของเราได้ และต้องให้เป็นคนมีจิตใจอย่างนี้ ให้พิจารณาอย่างนั้น อันนี้ประการหนึ่งที่ควรทำไว้ในใจของเรา

บางคนอาจจะเห็นว่า อย่างนี้ก็เบียดเบียนตัวเอง นี่ไม่ใช่เบียดเบียนตัว แต่เป็นการเบียดเบียนกิเลสตัณหาต่างหากล่ะ ถ้าในตัวมันมีกิเลสขึ้นมา ให้กิเลสมันหายไป

กิเลสนี่เหมือนแมว ถ้าให้กินตามใจ มันก็ยิ่งมาเรื่อยๆ แต่มีวันหนึ่งมันข่วนนะ ถ้าเราไม่ให้อาหารมัน ไม่ต้องให้อาหารมัน มันจะมาร้องแง้วๆ อยู่เหมือนกันแหละ กิเลสไม่มากวนเรา เราก็จะได้ส'บใจ ต่อไปทำให้กิเลสกลัวเรา อย่าทำให้เรากลัวกิเลส ให้กิเลสกลัวเรา นี่พูดให้เห็นในธรรมในปัจจุบัน ในใจของเราอย่างนี้

ธรรมะของพระพุทธเจ้าของเราอยู่ที่ไหน อยู่ที่ความรู้ความเห็นในใจของเราอย่างนี้ รู้ได้ทุกคน เห็นได้ทุกคน ไม่ใช่อยู่ในตำรา ไม่ต้องไปเรียนให้มันมาก พิจารณาเดี๋ยวนี้ก็เห็นที่อาตมาพูด ก็เห็นได้ทุกคน เพราะมันอยู่ในใจทุกคน แต่ก่อนนี้เราต้องการเลี้ยงกิเลสไว้ ให้รู้จักกิเลส อย่าให้มันมากวนเรา อันนี้เป็นอันหนึ่งที่ยังไม่บังเกิด ให้ทำให้เกิดขึ้น ที่เกิดแล้วก็ทำให้มากขึ้น

ทีนี้ข้อปฏิบัติต่อไปคือการรักษาศีล ศีลนี้จะดูแลธรรมะเจริญขึ้นเหมือนพ่อแม่กับลูก การรักษาศีลคือการเว้นการเบียดเบียน และทำการเกื้อกูลช่วยเหลือ อย่างต่ำนี้ให้มี 5 ข้อคือ

ข้อ 1 ให้เมตตาสัตว์และมนุษย์ทั้งหมด ไม่ให้ทำร้ายเบียดเบียน ตลอดถึงการฆ่า
ข้อ 2 ให้มีความสุจริต อย่าไปข้ามสิทธิ์ของกันและกัน พูดง่ายๆ ก็คือไม่ให้ขโมยของกันนั่นเอง
ข้อ 3 ให้รู้จักประมาณในกามบริโภค อยู่ในฆราวาสวิสัยก็ต้องมีครอบครัว มีพ่อบ้านแม่บ้าน แต่ถ้ารู้จักประมาณก็ปฏิบัติธรรมได้ ให้รู้จักพ่อบ้านของเรา รู้จักแม่บ้านของเราเท่านั้น ให้รู้จักประมาณ อย่าทำเกินประมาณ ให้มีขอบเขต แต่โดยมากคนจะไม่มีขอบเขตเสียด้วยนะ

บางทีมีพ่อบ้านคนเดียวก็ไม่พอ มีสองคนบ้าง บางทีมีแม่บ้านคนเดียวก็ไม่พอ ต้องมีสามด้วยอย่างนี้ก็มี อาตมาว่าคนเดียวก็กินไม่หมดแล้ว จะมีไปสองคนสามคนนี่ มันเรื่องสกปรกทั้งนั้นนี่ อย่างนี้ต้องพยายามชำระ พยายามฝึกใจ ให้มันรู้จักประมาณ

ความรู้จักประมาณนี้ มันบริสุทธิ์ดี ที่ไม่รู้จักประมาณนี่ มันไม่มีขอบเขต ถึงได้อาหารเอร็ดอร่อยอย่างนี้ อย่าไปนึกถึงความเอร็ดอร่อยมันมาก ให้รู้จักท้องของเรา ให้รู้จักประมาณ ถ้าเรากินมากก็ลำบากเหมือนกัน ให้รู้จักประมาณ ความรู้จักประมาณนี่ดีที่สุด ให้มีแม่บ้านคนเดียวก็พอแล้ว มีพ่อบ้านคนเดียวก็พอแล้ว มีสองมีสามเกินขอบเขตแล้ววุ่นวาย

ข้อ 4 คือความซื่อสัตย์ นี้ก็เป็นเครื่องกำกับกิเลสเราเหมือนกัน เป็นคนตรงมีสัจจะ เป็นคนซื่อสัตย์
ข้อ 5 เป็นคนที่ไม่ดื่มสุราน้ำเมา อย่างนี้ก็ให้รู้จักประมาณ ให้เลิกเสียก็ดี คนเราเมามัวก็มากแล้ว เมาลูกเมาหลาน เมาทรัพย์สมบัติหลายอย่าง มันก็พอแล้ว ยิ่งเอาเหล้ามากินเข้าไปอีก มันก็มืดเท่านั้นแหละ อันนี้บริษัททั้งหลายไม่รู้ ดูตัวเราเอง ถ้าหากว่ามันมาก ใครมีมากก็พยายามค่อยๆปัดเป่ามันออกไป ปัดเป่ามันออกไปให้หมด

ต้องขอโทษด้วยนะ พูดด้วยความปรารถนาดีนะ อยากจะให้ดี อยากจะให้รู้จัก เราต้องรู้จักว่าอะไรเป็นอะไร ที่เรามาทุกวันนี้ อะไรมันกดดันอยู่ เพราะอะไรการกระทำเหล่านั้นจึงกดดันเรา ทำดีมันก็ได้ดี ทำชั่วมันก็ได้ชั่ว อันนี้เป็นเหตุ อันนี้ขอฝากไว้นะ ขอโทษด้วยนะ ไม่อยากจะพูดหรอก แต่พระพุทธเจ้าบอกให้พูด ทั้งหมดที่พูดมานี้เป็นเครื่องอุปกรณ์อันหนึ่ง ให้เราปฏิบัติกันดูนะ

ทีนี้เมื่อมีศีลบริสุทธิ์ดีแล้ว มีความรักกัน ซื่อสัตย์ ก็จะมีความสุข ความเดือดร้อนไม่มีนะ เมื่อความเดือดร้อนไม่มีแล้ว เพราะไม่เคยเบียดเบียนซึ่งกันและกัน อย่างนี้ก็มีความสุข นี่คืออยู่ในเมืองสวรรค์ แล้วสบาย กินก็สบาย นอนก็สบาย มีความสุข สุขเกิดจากศีล เมื่อมีการกระทำอย่างนี้ ก็เป็นเหตุให้อันนี้เกิดขึ้นมา ละความชั่วเช่นนี้เป็นกฎอันหนึ่ง เพื่อความดีนี้เกิดขึ้นมา

นี่ถ้าเรามีศีลอย่างนี้ ความชั่วหนีไป ความสุขเกิดขึ้นมา นี่ล่ะเกิดเพราะการปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ

ทีนี้ยังไม่จบแค่นี้ คนเราถ้ามีความสุขแล้ว ชอบเผลอเหมือนกัน ชอบเผลอ ไม่อยากไปที่ไหน ชอบติดสุขอยู่ที่นั่นแล้ว ไม่อยากไปที่ไหนหรอก ชอบสุข มันเป็นสวรรค์ ถ้าพูดตามบุคคลาธิษฐาน เป็นเมืองสวรรค์ ผู้ชายก็เป็นเทวบุตร ผู้หญิงก็เป็นเทวดา สบายไม่รู้เนื้อรู้ตัว อันนี้ให้ทำความพิจารณาอีกทีหนึ่ง อย่าหลงมัน ให้พิจารณาอีก ให้พิจารณาโทษของความสุขอีกว่า ความสุขนั้นก็จะละเลิกจากเรา นี่เป็นของไม่แน่เหมือนกัน

เมื่อความสุขเลิกจากเรา ความทุกข์เกิดขึ้นมา เราก็ร้องไห้อีกแหละ ท่านให้พิจารณาโทษของมัน แต่ในเวลาที่มันสุขนี้ ไม่รู้จักมันประการหนึ่งล่ะ ความสงบเที่ยงแท้แน่นอน มีความสุขนี่มันทำให้เราไม่เห็นทุกข์หรอก

ทีนี้ความสุขนี้ก็ยังไม่ใช่ความสงบเที่ยงแท้แน่นอนเหมือนกัน เป็นกิเลสอันหนึ่ง เป็นกิเลสอย่างละเอียดที่คนทั้งหลายชอบกัน ทุกคนชอบมีความสุข ที่เป็นสุขก็เพราะเราไปชอบมันเองน่ะ เมื่อหากเวลาที่ไม่ชอบนี่ มันจะทุกข์เกิดขึ้นมา

อันนี้ให้พิจารณาทับมันขึ้นไปอีกทีหนึ่งว่า สุขนี้มันก็ไม่แน่เหมือนกัน ให้เห็นโทษของความสุข เมื่อมันเปลี่ยนขึ้นมาแล้วมันมีทุกข์เกิดขึ้น นี่คือของไม่แน่เหมือนกัน อย่าไปหมายมั่นมัน อันนี้เรียกว่า “อาทีนวกถา” คือให้พิจารณาความสุขอีกทีหนึ่ง อย่าปล่อยเฉยอย่างนั้น ให้เห็นเช่นนี้

ให้เห็นความสุขนั้นว่า เป็นเรื่องไม่แน่นอน เมื่อเห็นเป็นของไม่แน่นอนเช่นนั้น เราก็ต้องไม่เข้าไปจับอย่างเต็มที่ เราไม่ยึดอย่างเต็มที่ มันก็ยึดมาโดยปล่อยวาง ไม่ใช่ยึดไม่วาง ให้เห็นความสุขอย่างนี้ มีสุขก็พิจารณาสุขให้ดี แล้วเห็นโทษของความสุขนี้ อันนี้เป็นคุณสมบัติของผู้ประพฤติปฏิบัติดี

ทีนี้เมื่อมองเห็นว่าอันนั้นก็เป็นทุกข์ อันนี้ก็เป็นทุกข์ จิตใจมันก็เห็นเนกขัมมกถาแล้ว จิตใจมันก็ต้องออก เบื่อแล้ว เบื่อแล้วว่ารูปก็เป็นอย่างนั้น เสียงก็เป็นอย่างนั้น กลิ่นก็เป็นอย่างนั้น รสก็เป็นอย่างนั้น ความรักก็เป็นอย่างนั้น ความเกลียดก็เป็นอย่างนั้น เบื่อไม่อยากจะยึดมั่นต่อไป ไม่อยากจะยึดมั่นถือมั่นแล้ว ออกจากอุปาทานนั้น มายืนอยู่ตรงนี้ให้สบาย มองดูเฉยๆไม่ต้องไปยึดมั่นถือมั่น นั่นก็คือความสงบของการปฏิบัติ

(ข้อมูลส่วนหนึ่งจากเรื่องสมาธิภาวนา)

(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 172 เมษายน 2558 โดย พระโพธิญาณเถร(หลวงพ่อชา สุภัทโท) วัดหนองป่าพง จ.อุบลราชธานี)

กำลังโหลดความคิดเห็น