ในช่วงฤดูร้อน ซึ่งสภาพอากาศร้อนและแห้งแล้ง เหมาะกับการเจริญเติบโตของเชื้อโรคหลายชนิด ที่ก่อให้เกิดโรคระบบทางเดินอาหาร และโรคระบบทางเดินอาหารที่พบมากเป็นอันดับ 1 ของทุกปี ก็คือ โรคอุจจาระร่วงเฉียบพลัน
โดยข้อมูลจากโรงพยาบาลเวชศาสตร์เขตร้อน คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ให้ความรู้เกี่ยวกับเรื่องอุจจาระร่วงไว้ดังนี้
อุจจาระร่วง (diarrhea) หมายถึง การที่คนเราถ่ายอุจจาระเหลวผิดจากปกติ ตั้งแต่ 3 ครั้งขึ้นไปใน 1 วัน หรือถ่ายอุจจาระเป็นน้ำหรือเป็นมูกเลือดแม้เพียงครั้งเดียว
โรคอุจจาระร่วงสามารถแบ่งได้ตามระยะเวลาที่ป่วยออกเป็น 2 กลุ่ม คือ อุจจาระร่วงเฉียบพลัน (หมายถึง มีอาการอุจจาระร่วงน้อยกว่า 7 วัน) และอุจจาระร่วงยืดเยื้อหรือเรื้อรัง (หมายถึง มีอาการอุจจาระร่วงนานกว่า 7 วัน) เป็นโรคที่พบไม่บ่อย แต่มีสาเหตุและการรักษาที่ค่อนข้างยุ่งยาก ผู้ที่เป็นโรคอุจจาระร่วงยืดเยื้อเรื้อรังจึงควรหาหมอเพื่อตรวจรักษาทุกราย ดังนั้น ในที่นี้จะพูดถึงเรื่องอุจจาระร่วงเฉียบพลันเท่านั้น
โดยทั่วไปหมอจะแบ่งอุจจาระร่วงออกเป็น 2 กลุ่มตามลักษณะของอุจจาระ คือ อุจจาระเป็นน้ำหรือเหลว และอุจจาระเป็นมูกเลือด ซึ่งการรักษาทั้ง 2 กลุ่มจะแตกต่างกัน
ดังนั้น เวลาที่คนไข้อุจจาระร่วงไปหาหมอ หมอจะถามเสมอว่า ลักษณะอุจจาระเป็นอย่างไร มีมูกเลือดหรือมีเลือดปนหรือไม่ ถ้าเป็นไปได้หมอจะตรวจอุจจาระเสมอ และอาจนำอุจจาระไปเพาะหาเชื้อโรค โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนไข้ที่มีอาการรุนแรง หรือต้องนอนโรงพยาบาล
• อุจจาระร่วงเป็นน้ำ มีสาเหตุที่พบบ่อยหรือที่สำคัญดังนี้
1. อาหารเป็นพิษ
โรคนี้มักเกิดในฤดูร้อน มักจะเกิดจากอาหารที่ปรุงไว้ล่วงหน้านานๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากมีการห่ออาหารไว้อย่างหนาแน่น เชื้อแบคทีเรียบางชนิดที่ปนเปื้อนในอาหารจะเจริญเติบโตได้ดีในอุณหภูมิที่อุ่นพอเหมาะ ในภาวะที่ไม่มีออกซิเจน และสร้างสารพิษออกมา
สารพิษดังกล่าวมีฤทธิ์ทำให้ถ่ายอุจจาระเป็นน้ำ ปวดท้องแบบบิดๆ เป็นพักๆ บางครั้งมีอาการคลื่นไส้อาเจียน อาการดังกล่าวมักเกิดหลังกินสารพิษเข้าไป 2 ถึง 12 ชั่วโมง
สารพิษนี้บางชนิดถูกทำลายได้ด้วยความร้อน แต่บางชนิดก็ไม่สามารถทำลายได้ด้วยความร้อน ดังนั้น บางครั้งแม้จะนำอาหารดังกล่าวมาอุ่นใหม่ก่อนรับประทาน ก็ยังทำให้เกิดโรคอุจจาระร่วงได้ วิธีป้องกันที่ดีที่สุดจึงต้อ
รับประทานอาหารที่ปรุงสุกใหม่ๆ เท่านั้น
ลักษณะที่เด่นชัดของโรคนี้อีกประการหนึ่งคือ มักเกิดในคนที่กินอาหารแบบเดียวกันพร้อมกันหลายคน แต่บางคนอาจมีอาการมาก บางคนมีอาการน้อย โรคนี้หายได้เอง แต่คนไข้บางคนที่มีอาการรุนแรง เช่น ถ่ายมาก หรืออาเจียนมาก ก็จำเป็นต้องได้รับการรักษา โดยให้น้ำเกลือทางเส้นเลือดดำ ให้ยาแก้ปวดท้อง แก้อาเจียน
2. ติดเชื้อไวรัสโรตา
เชื้อไวรัสโรตาเป็นเชื้อโรคขนาดเล็กมากชนิดหนึ่ง มักก่อให้เกิดโรคในเด็กเล็กๆ ที่มีอายุต่ำกว่า 2 ปี มีลักษณะพิเศษคือ มักเกิดในฤดูหนาว ขณะที่โรคอุจจาระร่วงจากสาเหตุอื่นๆ มักเกิดในฤดูร้อน เด็กอาจมีไข้ต่ำๆ มีอาการคล้ายหวัดแล้วตามด้วยอุจจาระร่วง อาเจียน หรือบางคนอาจไม่มีอาการหวัดก็ได้ อุจจาระจะมีลักษณะเป็นน้ำ บางคนมีอาการน้อยและหายได้เอง แต่บางคนจะมีอาการมากจนต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล
โรคนี้มีลักษณะพิเศษอีกอย่างหนึ่งคือ เชื้อโรคจะทำลายเยื่อบุลำไส้เล็ก ทำให้ลำไส้ลดการหลั่งน้ำย่อยที่ใช้ในการย่อยน้ำตาลแลคโตสในนม นมที่ไม่ย่อยจะถูกแบคทีเรียในลำไส้สลายเกิดเป็นกรด และทำให้อุจจาระร่วงมากขึ้นอีก เด็กจะถ่ายเป็นน้ำพุ่งและเป็นฟอง บริเวณก้นจะแดง เนื่องจากการระคายเคืองจากอุจจาระที่เป็นกรด
เด็กที่หมอสงสัยว่าจะย่อยนมไม่ได้ อาจแนะนำให้งดนม หรือเปลี่ยนเป็นนมสูตรพิเศษที่ไม่มีน้ำตาลแลคโตส เช่นนมที่ทำจากถั่วเหลือง กินประมาณ 2 สัปดาห์ แล้วจึงเปลี่ยนเป็นนมตามปกติ
โรคนี้สามารถติดต่อไปสู่คนอื่นได้ทางอุจจาระของคนไข้ ดังนั้น เด็กที่เป็นโรค ไม่ควรคลุกคลีกับเด็กอื่น ผู้ดูแลเด็กที่เป็นโรคควรหมั่นล้างมือฟอกสบู่ให้สะอาด โรคนี้สามารถป้องกันได้ด้วยวัคซีน โดยปัจจุบันมีวัคซีนชนิดกิน ให้ตั้งแต่อายุ 6 สัปดาห์ แต่ราคายังแพงค่อนข้างมาก
3. อหิวาตกโรค
โรคนี้ถึงแม้ปัจจุบันจะไม่พบบ่อย แต่ก็เป็นโรคที่มีความสำคัญ เนื่องจากคนไข้อาจมีอุจจาระร่วงรุนแรง และหากให้การรักษาไม่ทันท่วงทีก็อาจเสียชีวิตได้ นอกจากนี้ โรคนี้ติดต่อได้ง่ายทางอาหารและน้ำ คนเป็นโรคนี้จากการกินน้ำหรืออาหารที่ไม่สะอาด มีเชื้อโรคนี้ปนอยู่เข้าไป บางครั้งอาจมีการระบาดของโรคนี้ได้ แต่โชคดีที่เชื้ออหิวาตกโรคถูกทำลายได้ด้วยความร้อน ดังนั้น การกินอาหารที่ทำให้สุกด้วยความร้อน จะป้องกันโรคนี้ได้
ลักษณะที่เด่นชัดของโรคนี้คือ คนไข้จะถ่ายอุจจาระเป็นน้ำพุ่งครั้งละมากๆ และบ่อย บางคนจะถ่ายอุจจาระเป็นลักษณะคล้ายน้ำซาวข้าว คนไข้จะเสียน้ำอย่างรวดเร็วจนความดันโลหิตต่ำ (ที่เราเรียกว่าช็อก) และเสียชีวิตได้
อย่างไรก็ตาม คนที่ติดเชื้อโรคนี้บางคนอาจไม่มีอาการ หรือมีอาการอุจจาระร่วงไม่รุนแรง ดังนั้น หากเกิดการระบาด ผู้สัมผัสโรคอาจจำเป็นต้องได้รับการตรวจและรักษา แม้จะมีอาการไม่มากก็ตาม
• คนที่อุจจาระร่วงเป็นน้ำ เมื่อไหร่จึงควรไปหาหมอ
โรคอุจจาระร่วงเป็นน้ำ ส่วนใหญ่เป็นโรคที่หายได้เอง ไม่ต้องใช้ยารักษาเฉพาะโรค ยกเว้นอหิวาตกโรคที่ต้องใช้ยาเพื่อฆ่าเชื้อ การรักษาที่สำคัญคือการให้น้ำและเกลือแร่ ทดแทนน้ำและเกลือแร่ที่เสียทางอุจจาระและจากการอาเจียน
ในคนไข้ที่มีอาการไม่มาก อาจให้กินสารละลายน้ำตาลเกลือแร่ หรือที่เรามักรู้จักกันในชื่อ “โอ-อาร์-เอส (ORS)” จิบแทนน้ำบ่อยๆ แต่ที่ต้องทำความเข้าใจคือ โอ-อาร์-เอส จะทดแทนน้ำและเกลือแร่ที่เสียไปเท่านั้น ไม่ได้ทำให้หยุดถ่ายทันที
และที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือ โอ-อาร์-เอส ที่เป็นผง ต้องผสมน้ำกับปริมาณที่ถูกต้องตามที่ระบุในสลากยา หากผสมเข้มข้น หรือเจือจางเกินไป อาจทำให้ไม่ค่อยได้ผล หรือเกิดภาวะแทรกซ้อนได้
หากไม่จำเป็นจริงๆ ไม่ควรกินยาที่ทำให้หยุดถ่ายทันที เนื่องจากอาจก่อให้เกิดผลเสียมากกว่าผลดี เช่น ท้องอืด ถ่ายอุจจาระนานขึ้น ในเด็กเล็กอาจทำให้เด็กหยุดหายใจได้!!
คนที่ควรหาหมอ คือคนไข้ที่อาเจียนหรือถ่ายอุจจาระบ่อยมาก หรือขาดน้ำรุนแรง หรือเป็นนานเกิน 1 วัน แล้วยังไม่ดีขึ้น คนที่มีอาการมาก หมออาจรับเข้ารักษาในโรงพยาบาล เพื่อให้น้ำเกลือทางหลอดเลือดดำ
อาการที่บอกว่าคนไข้ขาดน้ำรุนแรง ในผู้ใหญ่จะมีอาการอ่อนเพลียมาก หน้ามืด ใจสั่น ตาโหล เป็นตะคริว ปัสสาวะออกน้อยและสีเข้ม
ส่วนในเด็กเล็ก เนื่องจากเด็กจะไม่รู้อาการหน้ามืด ใจสั่น เป็นอย่างไร ดังนั้น ผู้ปกครองต้องคอยสังเกตสีและปริมาณปัสสาวะ และดูอาการตาโหล ริมฝีปากแห้ง กระหม่อมบุ๋ม ซึมหรือกระสับกระส่าย ไม่เล่นตามปกติ หากมีอาการดังกล่าวควรรีบหาหมอทันที
(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบะบที่ 172 เมษายน 2558 โดย กองบรรณาธิการ)