กานพลูเป็นพรรณไม้พื้นเมืองของหมู่เกาะโมลุกกะ และเป็นพืชประจำถิ่นของประเทศฟิลิปปินส์ มีชื่อวิทยาศาสตร์ คือ Syzygium aromaticum Merr. et Perry ชื่อภาษาอังกฤษว่า Clove มีชื่อเรียกอื่นๆ เช่น จีนจี่(ภาคเหนือ) และดอกจันทร์ เป็นต้น ชอบขึ้นในดินร่วนซุย ระบายน้ำดี ความชื้นสูง ฝนตกชุก ขึ้นได้ดีบนพื้นที่ราบถึงที่สูง
ลักษณะเป็นไม้ยืนต้น ทรงพุ่ม มีกิ่งก้านสาขามาก สูงประมาณ 5-20 เมตร ลำต้นตั้งตรง เปลือกเรียบ สีเทา ใบเป็นใบเดี่ยวออกตรงข้าม รูปหอก รูปรี หรือรูปไข่กลับ ปลายเรียวแหลม โคนสอบแคบ ขอบเรียบ แผ่นใบมันเป็นเงา
ดอกออกเป็นช่อ เชื่อมติดกันเป็นรูปท่อที่ซอกใบ หรือปลายกิ่ง ปลายแยกเป็นแฉกรูปสามเหลี่ยม กลีบดอกสีขาว และร่วงง่าย ส่วนผลเป็นผลสด รูปกรวยยาว มีสีแดงเข้ม
ส่วนที่ใช้เป็นยาของกานพลูที่นิยมกันมากคือ ดอกตูม ซึ่งมีน้ำมันหอมระเหยมาก
ดอกตูมจะช่วยขับลม บรรเทาอาการคลื่นไส้อาเจียน หน้ามืดตาลาย แก้อาการสะอึก และใช้แต่งกลิ่น
ดอกตูมแห้ง หากยังไม่ได้สกัดเอาน้ำมันออก จะมีกลิ่นหอมจัด รสเผ็ด ช่วยขับลม แก้อาการท้องอืด ท้องเฟ้อ ปวดท้อง แน่นจุกเสียด แก้อุจจาระพิการ แก้โรคเหน็บชา แก้หืด แก้ไอ แก้น้ำเหลืองเสีย เลือดเสีย ขับน้ำคาวปลา แก้ลม แก้ธาตุพิการ บำรุงธาตุ ขับเสมหะ แก้เสมหะเหนียว ขับลมในลำไส้ และแก้ท้องเสียในเด็ก
น้ำมันหอมระเหยมีสารยูจีนอล(Eugenol) ออกฤทธิ์เป็นยาชา ทำให้ผิวหนังชาเฉพาะที่ บรรเทาอาการปวดฟัน รักษาโรครำมะนาด(โรคปริทันต์) โรคเลือดออกตามไรฟัน ลดการอักเสบ ดับกลิ่นปาก และฆ่าเชื้อทางทันตกรรมได้ โดยใช้สำลีพันก้านชุบน้ำมันกานพลู ทาไปบนฟันและเหงือกรอบๆฟันที่มีอาการปวด
บัญชียาสมุนไพร ตามประกาศคณะกรรมการแห่งชาติด้านยา(ฉบับที่ 5) ระบุว่า มีการใช้กานพลูร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่นๆ ในยารักษากลุ่มอาการทางระบบไหลเวียนโลหิต(แก้ลม) ปรากฏในตำรับ “ยาหอมเทพจิตร” และตำรับ “ยาหอมนวโกฐ” มีสรรพคุณแก้ลมวิงเวียน แก้อาการหน้ามืด ตาลาย ใจสั่น คลื่นเหียนอาเจียน แก้ลมจุกแน่นในท้อง
ในยารักษากลุ่มอาการทางระบบอาหาร ประกอบด้วย “ยาธาตุบรรจบ” มีสรรพคุณบรรเทาอาการท้องอืดเฟ้อ และอาการท้องเสียที่ไม่เกิดจากการติดเชื้อ และตำรับ “ยาประสะกานพลู” มีสรรพคุณบรรเทาอาการปวดท้อง จุกเสียด แน่นเฟ้อจากอาหารไม่ย่อย เนื่องจากธาตุไม่ปกติ
ตำรายาไทย มีการใช้กานพลูในหลายตำรับ ตัวอย่างเช่น ใน “พิกัดตรีพิษจักร” คือการจำกัดจำนวนตัวยาที่มีรสซึมซาบไวดังกงจักร 3 อย่าง ได้แก่ ผลผักชีล้อม ผลจันทน์เทศ และกานพลู สรรพคุณแก้ลม แก้พิษเลือด แก้ธาตุพิการ บำรุงโลหิต ใน “พิกัดตรีคันธวาต” คือการจำกัดจำนวนตัวยาที่มีกลิ่นหอมแก้ลม 3 อย่าง ได้แก่ ผลเร่วใหญ่ ผลจันทน์เทศ และกานพลู มีสรรพคุณ แก้ธาตุพิการ แก้จุกเสียด
ส่วนฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาของกานพลูนั้น ได้แก่ ฤทธิ์ลดการอักเสบ แก้แพ้ ฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือด เป็นยาชาเฉพาะที่ ฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรียอันเป็นสาเหตุอาการแน่นจุกเสียดจากท้องเสียและแผลในกระเพาะอาหาร ฤทธิ์ป้องกันเยื่อบุกระเพาะ เพิ่มการเคลื่อนไหวของลำไส้ และลดการบีบตัวของลำไส้
นอกจากนี้ ยังพบบันทึกการใช้ดอกตูมเป็นยาในสมัยราชวงศ์ฮั่น (207 ปี ก่อนคริสต์ศักราช) จักรพรรดิจีนจะอมดอกกานพลูเพื่อดับกลิ่นปาก หมอจีนใช้เป็นยาช่วยย่อย แก้ท้องเสีย แก้ไส้เลื่อน แก้กลากเกลื้อนฮ่องกงฟุต และหมออายุรเวทของอินเดียใช้ในโรคระบบทางเดินหายใจ ช่วยย่อยอาหาร
ปี ค.ศ. 1512 กานพลูแพร่เข้าไปในยุโรป มีการใช้กานพลูช่วยย่อยอาหาร แก้ท้องอืดท้องเฟ้อ แก้คลื่นไส้อาเจียน ท้องเสีย รวมทั้งช่วยแก้ไอ รักษาอาการเป็นหมัน แก้หูด แก้กลากเกลื้อน แก้แผล แก้ปวดฟัน
คริสต์ศตวรรษที่ 19 กานพลูแพร่เข้าไปในอเมริกา มีการสั่งใช้ในหมู่หมอโฮมิโอพาธี เพื่อช่วยย่อยอาหารและผสมลงไปในยารสขมเพื่อช่วยกลบรส ซึ่งกลุ่มหมอเหล่านี้ได้พัฒนาการกลั่นน้ำมันจากกานพลู นำมาใช้ในการรักษาโรคเหงือก และแก้ปวดฟัน
มีงานวิจัยพบว่า น้ำมันกานพลูสามารถช่วยละลายลิ่มเลือดและช่วยลดการจับตัวเป็นก้อนได้ และยังเป็นหนึ่งในสมุนไพรที่นำมาใช้ในการย้อมสีผม ซึ่งจะให้สีผมที่ใกล้เคียงกับสีดำ นำมาใช้แต่งกลิ่นอาหาร แต่งกลิ่นสบู่ ยาสีฟัน ช่วยไล่ยุง และช่วยต่อต้านอนุมูลอิสระในร่างกาย เพราะมีสารประกอบอย่างฟีโนลิก(Phenolic) ปริมาณมาก
สำหรับส่วนต่างๆของกานพลู ยังมีสรรพคุณหลากหลาย ดังนี้
ใบ : มีส่วนช่วยเผาผลาญแคลอรี ช่วยลดความอยากน้ำตาล ช่วยลดและควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด แก้ปวดมวน
เปลือกต้น : แก้ปวดท้อง แก้ลม คุมธาตุ
ผล : ใช้เป็นเครื่องเทศ เป็นตัวช่วยให้มีกลิ่นหอม
สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ทำการวิจัยพบว่า น้ำมันกานพลูมีฤทธิ์ระงับปวด แต่ยังมีประสิทธิภาพน้อยกว่ายาแผนปัจจุบัน
ข้อควรระวัง :
• หญิงอยู่ระหว่างการตั้งครรภ์ควรหลีกเลี่ยงการใช้น้ำมันหอมระเหยกานพลู
• หญิงให้นมบุตร เด็ก ผู้ป่วยโรคตับ ไต และผู้ป่วยเบาหวาน ควรได้รับคำแนะนำจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ
(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 171 มีนาคม 2558 โดย มีคณา)