xs
xsm
sm
md
lg

สมุนไพรไม้เป็นยา : “เกษมณี” สมุนไพรความหมายดี ช่วยยับยั้งเซลล์มะเร็งเม็ดเลือดขาว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


สมุนไพรที่มีความหมายว่า เรียบราบ ปลอดโปร่ง และยังเชื่อว่า เป็นของสูงที่มีค่า บ้านใดปลูกไว้ประจำบ้าน จะทำให้เกิดความสวยงาม ความสะอาด ความเรียบร้อย ช่วยให้เกิดความสามัคคี การผสมกลมกลืนเป็นอันหนึ่ง นั่นคือ “ต้นเลี่ยน” หรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า “ต้นเกษมณี”

เลี่ยน มีชื่อวิทยาศาสตร์ คือ Melia Azedarach Linn. ชื่อภาษาอังกฤษว่า Bestard Cedar, Persian Lilac, Bead Tree, China Berry, China Tree, Pride of India, Pride of China, Umbrella China Berry มีชื่อเรียกอื่นๆ เช่น เกรียน เคี่ยน เฮี่ยน(ภาคเหนือ), เลี่ยนใบใหญ่ เลี่ยน เกษมณี(ภาคกลาง), เลี่ยนดอกม่วง(ทั่วไป), ลำเลี่ยน(ลั้วะ), โขวหนาย(จีนแต้จิ๋ว), ขู่เลี่ยน ขู่เลี่ยนซู่ (จีนกลาง) เป็นต้น เจริญเติบโตได้ดีในดินร่วนซุย ดินร่วนปนทราย และชอบความชุ่มชื้นเล็กน้อย พบขึ้นได้ตามชายป่าดิบและป่าเบญจพรรณ

ต้นเลี่ยนมีทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่ มีสรรพคุณทางยาเหมือนกัน เลี่ยนเล็กสูงประมาณ 10-15 เมตร ส่วนเลี่ยนใหญ่ลักษณะเป็นไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ ตระกูลเดียวกันกับสะเดา สูงประมาณ 20-30 เมตร ลำต้นตั้งตรง แตกกิ่งก้านออกเป็นจำนวนมาก เปลือกเรียบสีเทาดำ หรือน้ำตาลแดง

ใบออกเป็นช่อ ใบย่อยเป็นรูปไข่ ปลายใบเรียวแหลม โคนใบมนหรือสอบ ขอบใบจักเป็นฟันเลื่อย แผ่นใบเกลี้ยง ด้านบนใบเป็นสีเขียวเข้ม ส่วนด้านล่างเป็นสีเขียวอ่อน

ดอกออกเป็นช่อแยกแขนง ตามซอกใบ รูปสามง่าม สีขาวอมม่วง ม่วงอ่อนหรือสีฟ้า กลิ่นหอมเย็นอ่อนๆ ส่วนผลมีลักษณะกลมรี ผลอ่อนเป็นสีเขียว ผลสุกเป็นสีเหลืองอ่อนหรือสีน้ำตาลเหลือง

ทุกส่วนของต้นเลี่ยนมีรสขมเมา มีสารขมอยู่หลายชนิด ส่วนที่นำมาใช้ประโยชน์ ได้แก่ ต้น เปลือกต้น เปลือกราก ใบ ดอก และผล มีสรรพคุณดังนี้

ต้น : มีสรรพคุณเป็นยาอายุวัฒนะ บำรุงร่างกายให้แข็งแรง ช่วยทำให้เจริญอาหาร แก้โรคผิวหนัง กลากเกลื้อน โรคเรื้อน

เปลือกต้นและเปลือกราก : รสขม เป็นยาเย็นจัด ใช้เป็นยาถ่ายพยาธิตัวกลม พยาธิปากขอ พยาธิตัวแบน รักษาโรคมาลาเรีย โรคผิวหนัง แก้ผดผื่นคัน เชื้อราบนหนังศีรษะ และน้ำกัดเท้า ทำให้อาเจียน

เปลือกต้นหรือผลที่โตเต็ม ใช้ฆ่าเหา โดยใช้ผลสดๆ โขลกให้ละเอียด ผสมกับน้ำมันมะพร้าว ชะโลมผมที่เป็นเหาทิ้งไว้ 1 ชั่วโมง แล้วสระผมให้สะอาดติดต่อกัน 2-3 วัน

อาการข้างเคียงเมื่อใช้เปลือกต้นเลี่ยนในการถ่ายพยาธิ จะมีอาการมึนหัว ซึม ปวดหัว อยากอาเจียน ปวดท้อง และจะหายไปเองภายในไม่กี่นาที นานที่สุด 16 ชั่วโมง

ใบและดอก : รสขมเมา ช่วยบำรุงธาตุไฟในร่างกาย มีฤทธิ์เป็นยาฝาดสมาน นอกจากนี้ ยังมีสารแคโรทีนอยด์(Carotenoid) ช่วยต้านอนุมูลอิสระ น้ำคั้นจากใบใช้เป็นยาขับปัสสาวะ แก้นิ่ว ขับพยาธิ ช่วยบำรุงโลหิต ประจำเดือนของสตรี ใช้ตำพอกศีรษะ แก้อาการปวดศีรษะ ปวดประสาท คนไทยโบราณใช้ใบเลี่ยนนำมาชงกับน้ำ กินเป็นยาแก้ปวด แก้เมื่อย และใช้เป็นสีย้อมผ้า

ส่วนดอกใช้ทาแผลผุพองจากไฟไหม้ น้ำร้อนลวก แก้โรคผิวหนัง โดยนำมาตำให้แหลกผสมกับน้ำมันพืชหรือมะพร้าวเล็กน้อย ทาบริเวณที่เป็นวันละ 2-3 ครั้ง ติดต่อกันจนกว่าจะหาย

ผล : รสเมา สรรพคุณเป็นยาแก้โรคเรื้อน แก้ฝี ฆ่าเหา

เมล็ด : ใช้น้ำมันจากเมล็ด ทาแก้ปวดข้อ ปวดในกระดูก

ยาง : ช่วยแก้ม้ามโต

นอกจากนี้ ไม้เลี่ยนสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้หลายประเภท เช่น ใช้ทำไม้อัด เนื่องจากเนื้อไม้มีลายสวย

มีการวิจัยของสำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล พบว่า สารสกัดจากผลเลี่ยนมีฤทธิ์ยับยั้งเซลล์มะเร็ง โดยเฉพาะเซลล์มะเร็งเม็ดเลือดขาว

ข้อควรระวัง :
• ห้ามใช้ในผู้ที่มีอาการแขนขาเย็น ไม่กระหายน้ำ มีอาการกลัวหนาว ท้องร่วง ปวดท้อง เป็นฝ้าขาวบนลิ้น
• ไม่ควรรับประทานเกินกว่าปริมาณที่กำหนด เพราะจะทำให้ตับเป็นพิษ

(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 172 เมษายน 2558 โดย มีคณา)





กำลังโหลดความคิดเห็น