xs
xsm
sm
md
lg

ธรรมะกับสุขภาพ : ภาวะเสพติด บำบัดได้ ด้วยการเจริญสติ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ภาวะเสพติดสารบางอย่าง เช่น บุหรี่ สุรา ยาบ้า ยาอี โคเคน หรือภาวะเสพติดพฤติกรรมบางอย่าง เช่น เสพติดการพนัน เสพติดการชอปปิ้ง เสพติดงาน เสพติดอาหาร เสพติดอินเตอร์เน็ต เสพติดทางเพศ เป็นต้น กำลังเป็นปัญหาใหญ่ของโลก เนื่องจากภาวะเสพติดจะทำให้เกิดการสูญเสียอย่างมากต่อชีวิตครอบครัว สังคม และประเทศโดยรวม

กรณีเสพติดยาบ้า ทำให้ต้องถูกจับติดคุกเสียอนาคต ผู้ต้องขังส่วนใหญ่ในเรือนจำร้อยละ 60 มาจากคดียาเสพติด ในกรณีติดการพนัน ต้องทำให้พนักงานธนาคารโกงเงินในบัญชีลูกค้าไปใช้หนี้ เมื่อถูกจับได้ก็โดนไล่ออกจากงานและถูกดำเนินคดีอาญา หรือกรณีเสพติดทางเพศของไทเกอร์ วูดส์ ที่ซื้อบริการทางเพศจากหญิงเกือบสิบราย ซึ่งออกมาเปิดเผยเป็นข่าวบนหน้าหนังสือพิมพ์ จนเขาหมดอนาคต ต้องหย่าขาดกับภรรยา ครอบครัวก็แตกร้าว เป็นต้น

ภาวะเสพติด เป็นภาวะที่บุคคลใดบุคคลหนึ่ง ไม่สามารถควบคุมตนเองต่อการใช้สารหรือพฤติกรรมบางอย่างได้ ทั้งๆที่รู้ว่ามันจะเกิดผลเสียอะไรตามมา เมื่อพยายามหยุดก็จะเกิดอาการไม่สบายกายไม่สบายใจ หงุดหงิด กระสับกระส่าย ใจสั่น นอนไม่หลับ จนต้องกลับไปหามันอีก นอกจากนั้น บางคนยังเกิดภาวะอยาก (Craving) ใช้สารนั้นๆอีก หรือกลับไปทำพฤติกรรมแบบเดิมๆอีก ทั้งที่หยุดไปพักหนึ่งแล้ว แม้ว่าจะไม่มีอะไรมากระตุ้นให้นึกถึงสิ่งนั้นก็ตาม

ตัวเลขขององค์การสหประชาชาติ พบว่า ทั่วโลกมีคนติดยาเสพติด 185 ล้านคน (UNODCCP 2002) ในสหรัฐอเมริกา ประชากรร้อยละ 20 เคยใช้ยาเสพติด เรื่องนี้จึงเป็นปัญหาใหญ่ของโลกปัจจุบัน นักวิทยาศาสตร์ด้านสมองพบว่า คนที่ใช้สารเสพติด เมื่อสารเหล่านี้เข้าสู่ร่างกายแล้วจะมีผลต่อสมอง ทำให้สมองหลั่งสารสื่อประสาทบางตัวออกมา เช่น โดปามีน (Dopamine) และเอ็นโดรฟิน (Endorphins) ซึ่งทำให้มีความสุข ผู้คนจึงติดยาง่ายและเลิกยาก เพราะมันเป็นวิธีหาความสุขที่อยากได้

นักวิทยาศาสตร์ยังพบด้วยว่า ผู้ที่ติดยาเสพติดบางคนมีความผิดปกติทางพันธุกรรม ทำให้มีการตอบสนองต่อการกระตุ้นของยาเสพติดมากกว่าคนธรรมดา 10-20 เท่า ทำให้มีแนวโน้มที่จะติดยามากกว่าคนทั่วไป ในกรณีที่ขาดยา สมองก็จะหลั่งสาร Norepinephrine, corticotropin-releasing factor และ Dynorphin ทำให้มีอาการกระสับกระส่าย ไม่สบายทางกายใจเกิดขึ้น หรือเวลาที่อยากเสพยา สมองก็มีการหลั่งสารพวก glutamate และ GABA เป็นต้น ทำให้ต้องกลับไปใช้ยาอีก โดยไม่สามารถยับยั้งได้

คนไข้จะสูญเสียความสามารถในการควบคุมตนเอง ตรงนี้เองที่ทำให้คนรอบข้างมองว่า เขาเป็นคนไม่ดี ขาดคุณธรรมจริยธรรม ชอบมั่วสุมเสพยาเสพติดหรือชอบล้อมวงกินเหล้าทุกวัน หรือมีพฤติกรรมเลวร้ายบางอย่างเช่น ชอบมั่วเพศ จึงตั้งข้อรังเกียจและปฏิบัติต่อผู้ป่วยแบบดูถูกดูแคลน เหยียดหยาม ทำให้ผู้ป่วยกลับมาดำรงตนอยู่ในสังคมใหม่ได้ยาก

ผู้ป่วยที่ติดยามีสาเหตุหลายประการ เช่น มีปัญหาในชีวิตครอบครัวแล้วกลุ้มใจ มีความเครียดในที่ทำงาน จึงเสพยาเพื่อให้ลืมปัญหาต่างๆ หรือมีสิ่งแวดล้อม เช่น คบคนที่ติดยาเป็นเพื่อน เพื่อนก็เอายามาให้ลอง ในวัยรุ่นพบได้บ่อย หรืออยู่ในกลุ่มเพื่อนชอบเที่ยวกลางคืน ตามแหล่งบันเทิงต่างๆ ก็มักจะมีปัญหาเรื่องติดสุรา ยาเสพติดได้ง่าย

ปัญหาเสพติดยาเป็นปัญหาสลับซับซ้อน เมื่อผู้ป่วยได้รับการบำบัดรักษาแล้ว 2 ใน 3 มักจะกลับไปเสพติดซ้ำอีก โดยเฉพาะคนที่เสพมานาน พวกที่เสพติดยา และพวกเสพติดด้านพฤติกรรม ก็มีลักษณะคล้ายกัน มักจะสะสมพฤติกรรมมาอย่างยาวนานจนเป็นนิสัย จึงแก้ได้ยาก

ทั้งนี้ นักวิทยาศาสตร์ทางสมอง พบว่าภาวะเสพติดเป็นเรื่องของความผิดปกติทางสมอง ไม่ใช่เป็นเรื่องของการเป็นคนไม่ดี ขาดคุณธรรมจริยธรรม ดังที่คนทั่วไปเข้าใจกัน แต่เนื่องจากเมื่อเสพติดแล้ว สมองจะเกิดการเปลี่ยนแปลงไปในทางลบ ผู้ป่วยเหล่านี้จะมีจิตใจที่อ่อนแอ ขาดสติ ไม่รู้สึกตัว ไม่สามารถควบคุมตนเองได้ ทำให้ไม่สามารถเลิกอาการเสพติดได้ด้วยตนเอง พวกเขาต้องการความช่วยเหลือจากแพทย์ ต้องการการดูแลอย่างใกล้ชิดจากครอบครัว ด้วยความรักความเข้าใจ โดยผู้ใกล้ชิดจะต้องเข้าใจธรรมชาติของโรคนี้ และผู้ป่วยจะต้องได้รับการฟื้นฟูสมรรถภาพทั้งร่างกายและจิตใจ

การบำบัดของแพทย์ก็จะใช้ยาออกฤทธิ์ที่สมอง ซึ่งมุ่งไปที่การใช้ยาลดความอยากเสพยา และลดอาการข้างเคียง อาการไม่สบายกายไม่สบายใจที่เกิดขึ้นเมื่อหยุดเสพยาเสพติด ร่วมกับการบำบัดทางจิตที่เรียกว่า Cognitive Behavior Therapy (CBT) และ The 12 Steps of AA (Alcoholics Anonymous1976) ซึ่งก็ได้ผลดี แต่ปัญหาในผู้ป่วยเหล่านี้คือการกลับเป็นซ้ำอีก

ปัจจุบันนี้จึงมีแพทย์ที่ทำงานด้านบำบัดผู้ป่วยที่มีภาวะเสพติด พยายามหาวิธีทำให้ผู้ป่วยที่ได้รับการบำบัดแล้ว ไม่กลับมาเสพติดซ้ำอีก ซึ่งมีงานวิจัยที่น่าสนใจและใช้เป็นที่อ้างอิงทั่วไป คือ การศึกษาของ ศาสตราจารย์ จี อลัน มาร์แลตต์ (G.Alan Marlatt) ศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยา และผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเกี่ยวกับพฤติกรรมเสพติด แห่งโรงเรียนแพทย์มหาวิทยาลัยวอชิงตัน

ศาสตราจารย์มาร์แลตต์เป็นชาวพุทธที่ปฏิบัติธรรมมายาวนานกว่า 30 ปี ตามแบบของสำนักชัมบาลา(Shambhala Tradition) ท่านเห็นว่า การเจริญสติสามารถทำให้สมองเกิดการพัฒนาและเปลี่ยนแปลงได้ ทั้งในด้านโครงสร้าง การทำงาน และการหลั่งสารสื่อประสาท

การเจริญสติช่วยให้สมองบริเวณที่เกี่ยวกับการใช้ความคิด อารมณ์ ความจำ ดีขึ้น เวลาที่เราเจริญสติจะมีเลือดไปเลี้ยงสมองมากขึ้น สมองสามารถซ่อมแซมส่วนที่เสียหายให้กลับมาดีขึ้นเหมือนเดิมได้ การหลั่งสารเคมีในสมองก็จะกลับมาเป็นปกติ การเจริญสติจึงสามารถบำบัดภาวะเสพติดได้ ซึ่งนักวิทยาศาสตร์ด้านสมองได้ศึกษามาแล้วก่อนหน้านี้ (ดูเรื่องการเจริญสติพัฒนาสมอง ในธรรมลีลา ฉบับที่ 151 เดือนกรกฎาคม 56) ท่านจึงได้พัฒนาโปรแกรมการเจริญสติเพื่อบำบัดภาวะเสพติดยา เพื่อป้องกันการกลับไปใช้ยาซ้ำ ( Mindfulness-Based Relapse Prevention Program)

ศาสตราจารย์มาร์แลตต์ได้ทำการศึกษาการเจริญสติในผู้ติดยาเสพติด โดยรายงานแรกศึกษาผู้เสพติดในเรือนจำ 173 ราย เป็นชาย อายุเฉลี่ย 40 ปี ร้อยละ 60 เป็นผู้ป่วยติดกัญชา โคเคน สุรา เขาแบ่งผู้ป่วยเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มหนึ่ง ให้การรักษาตามปกติ อีกกลุ่มหนึ่งใช้การเจริญสติ โดยสอนให้ฝึกหลักสูตรวิปัสสนา 10 วัน ตามแนวของท่านโกเอ็นก้า แล้วติดตามผลเป็นเวลา 3 เดือน โดยคัดเลือกผู้ป่วยที่ใกล้พ้นโทษเพื่อติดตามในระยะหลังพ้นโทษไปแล้ว

ส่วนรายงานที่สอง เป็นการศึกษาในผู้เสพติดยาทั่วไป จำนวน 153 ราย ติดตามผลไป 3-6 เดือน ใช้หลักสูตร MBSR แบบของศาสตราจารย์จอน คาแบค ซิน สอนให้ฝึกการเจริญสติในทุกอิริยาบถ ฝึกเจริญสติในการหายใจ การเดิน โดยนำผู้ป่วยเดินขึ้นภูเขาและเจริญสติไปด้วย ฝึกให้ผู้ป่วยอยู่กับสิ่งที่ตนกำลังทำ ให้อยู่กับปัจจุบัน

หลังจากนั้น เมื่อฝึกไประยะหนึ่งจนผู้ป่วยใจสงบลงได้บ้างแล้ว จิตเป็นสมาธิมากขึ้น เขาก็จะสอนให้ดูใจตนเอง เมื่อมีอารมณ์หรือความคิด ความรู้สึกสุข ทุกข์ เกิดขึ้นก็ให้รู้ตัว โดยใช้การกำหนดรู้ (Noting or Labeling) เรียกชื่อของอารมณ์ต่างๆที่เกิดขึ้น ให้ตรงตามเป็นจริง เช่น สุขหนอ เบื่อหนอ อยากเสพยาหนอ คิดหนอ หงุดหงิดหนอ เป็นต้น ฝึกบ่อยๆจนมีความชำนาญ สติมีกำลังมากขึ้น

ฝึกให้สังเกตสิ่งที่เกิดขึ้นกับร่างกายและจิตใจ และฝึกให้คนไข้หยุด ไม่ทำตามใจคิด หรือความอยากที่เกิดขึ้น ฝึกดูเฉยๆ ไม่ต้องทำตาม เวลาความอยากเสพยาเกิดขึ้น ก็ให้สังเกตดู จะเห็นว่าความอยากจะทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อย เหมือนกระดานโต้คลื่นที่นักกีฬายืนอยู่บนนั้น พอคลื่นลูกใหญ่ๆมา กระดานโต้คลื่นจะขึ้นสู่ยอดคลื่นพอถึงจุดสูงสุดแล้ว กระดานโต้คลื่นจะลดระดับลงมาอย่างรวดเร็ว ความอยากก็เหมือนกัน พอมันเกิดขึ้นแล้วให้คนไข้ตามดูไปเรื่อยๆ อย่าตอบสนองมัน ในที่สุดมันก็จะลดกำลังลง

ขณะใดสติมีกำลัง รู้ตัว มันจะดับลง การที่คนไข้เห็นความอยากในใจลดลง นั่นหมายความว่า เขาเกิดปัญญารู้ว่า ความอยากนั้นมีธรรมชาติที่เกิดขึ้นแล้วก็จะดับไป เทคนิคนี้ทางจิตบำบัดเรียกว่า Urge Surfing ทางธรรมเราเรียกว่า ฝึกให้เห็นการเกิดดับของรูปนาม

แท้ที่จริงแล้วการที่คนเสพติดเพราะไม่รู้ตัว ขาดสติ พออยากเสพยาก็เสพโดยอัตโนมัติ เหตุการณ์เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว และซ้ำๆเป็นเวลานาน เสพแล้วมีความสุข ลืมเรื่องที่ไม่สบายใจ และทำจนเป็นนิสัย จึงเลิกได้ยาก เวลายึดติดแล้วปล่อยวางได้ยาก มีวิธีเดียวที่ช่วยได้คือทำให้สติมีกำลัง รู้ตัว และเห็นมันเกิดขึ้นในใจ แล้วเฝ้ามองมันจนมันหายไป เมื่อมันเกิดขึ้นอีก ก็ฝึกให้รู้ตัวอีก ทำซ้ำๆแบบนี้ตลอด แม้ความอยากยังคงอยู่ในใจ แต่ทำอะไรเราไม่ได้ นั่นแปลว่า เราสามารถควบคุมตัวเองได้ ซึ่งต้องอาศัยการฝึกฝน ฝึกบ่อยๆ ก็จะปล่อยวางได้ ไม่กลับไปเสพอีก

ความอยากยังคงมีอยู่ เกิดขึ้นแล้วหายไป เราก็อยู่กับมันอย่างมีความสุข แต่มันก็จะไม่มีกำลังเหมือนก่อน เพราะมีตัวสติคอยสกัดอยู่ตลอดเวลา ทำให้มันอ่อนกำลังลง เราก็จะควบคุมมันง่ายขึ้น ทางธรรมท่านเรียกว่า “ตทังคประหาน” ในที่สุดเราก็ปล่อยวางได้

สติเป็นธรรมฝ่ายกุศล จะทำให้ผู้ป่วยมีเหตุผล รู้จักผิดชอบชั่วดี ไม่ถูกครอบงำโดยอารมณ์อีกต่อไป

ศาสตราจารย์มาร์แลตต์ พบว่า ผู้ป่วยกลุ่มที่ฝึกการเจริญสติจะกลับไปใช้ยาเสพติดอีกนั้น น้อยลงกว่ากลุ่มที่ไม่มีการฝึกเจริญสติ คนไข้สามารถควบคุมตนเองได้ เวลาเกิดอาการไม่สบายกายไม่สบายใจเวลาขาดยาหรืออยากยา คนไข้สามารถใช้สติกำหนดรู้ได้ ควบคุมตนเองได้ดีขึ้น วิธีการนี้ช่วยป้องกันให้ผู้ป่วยไม่กลับไปเสพติดซ้ำ มีอารมณ์ดีขึ้น มองโลกในแง่ดี สามารถมีชีวิตอยู่อย่างมีความสุขได้ สิ่งเหล่านี้เป็นคุณค่าของการเจริญสติ

ในฐานะที่เราเป็นชาวพุทธ โปรดจำไว้ว่า ปัญหาทุกปัญหา มันมาจากตัณหาหรือความอยากทั้งสิ้น ความอยากเป็นสมุทัย มันเป็นต้นเหตุของความทุกข์ทุกชนิดในโลกนี้ พระพุทธเจ้าทรงสอนวิธีแก้ทุกข์ คือ การเจริญสติ เพื่อตัดกระแสความอยาก ดังที่ทรงแสดงไว้ในโสฬสปัญหา ว่า

“กระแสทั้งหลายเหล่าใดในโลก สติเป็นเครื่องกั้นกระแสเหล่านั้น เรากล่าวบอกว่า กระแสทั้งหลายเหล่านั้นจะปิดหรือละเสียได้ด้วยปัญญา”

ศาสตราจารย์อลัน มาร์แลตต์ จบปริญญาเอกด้านจิตวิทยาคลินิค จากมหาวิทยาลัยอินเดียน่า ในปี 1968หลังจากนั้นเข้าทำงานที่ มหาวิทยาลัยบริติสโคลัมเบีย มหาวิทยาลัยวิสคอนซิล และมหาวิทยาลัยวอชิงตัน ตั้งแต่ปี 1972 จนถึงปัจจุบัน

ท่านมีความสนใจในการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับภาวะเสพติดยาเสพติด สุรา และพฤติกรรมเสพติดต่างๆ มีผลงาน บทความทางวิชาการ และเขียนตำรา รวมกันกว่า 200 ชิ้น รวมทั้งเขียนหนังสือเผยแพร่กว่า 10 เล่ม ได้รับรางวัลทางวิชาการมากมาย ท่านเคยดำรงตำแหน่ง ประธานสมาคมจิตบำบัด สาขาภาวะเสพติดสารเสพติดและพฤติกรรมแห่งสหรัฐอเมริกา หลายสมัย

ท่านเป็นชาวพุทธที่ฝึกจิตตภาวนามายาวนาน ได้นำวิธีการเจริญสติแบบพุทธมาใช้ในการบำบัดภาวะเสพติดด้านพฤติกรรมต่างๆ และสารเสพติด และได้สร้างเครือข่ายชาวพุทธเพื่อการฟื้นฟูผู้ป่วยภาวะเสพติด ในปี 2008 (The Buddhist Recovery Network, www.buddhistrecovery.org) ท่านเสียชีวิตเมื่อเดือนมีนาคม 2011 ทิ้งมรดกผลงานทางวิชาการไว้ให้โลกอย่างมากมาย (Washington.edu/abrc) ท่านผู้อ่านสามารถเข้าไปฟังคำบรรยายของท่านได้ใน www.youtube.com/addiction and the mind, part 1-2009

(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 172 เมษายน 2558 โดย นพ.แพทย์พงษ์ วรพงศ์พิเชษฐ)



ศาสตราจารย์อลัน มาร์แลตต์
การประชุมของเครือข่ายชาวพุทธ เพื่อการฟื้นฟูผู้ป่วยภาวะเสพติด
หนังสือและตำราที่ศาสตราจารย์อลัน มาร์แลตต์ ได้เขียนขึ้น
หนังสือและตำราที่ศาสตราจารย์อลัน มาร์แลตต์ ได้เขียนขึ้น
หนังสือและตำราที่ศาสตราจารย์อลัน มาร์แลตต์ ได้เขียนขึ้น
หนังสือและตำราที่ศาสตราจารย์อลัน มาร์แลตต์ ได้เขียนขึ้น
หนังสือและตำราที่ศาสตราจารย์อลัน มาร์แลตต์ ได้เขียนขึ้น
กำลังโหลดความคิดเห็น