คณะกรรมการควบคุมยาเสพติดระหว่างประเทศ (INCB) แจงรายงานสถานะการยาเสพติดโลก เผยเป็นห่วงสาร “เมทิลเฟนิเดต” รักษาสมาธิสั้น กำลังระบาดเสพติดในกลุ่มวัยรุ่น
วันนี้ (3 มี.ค.) เมื่อเวลา 11.00 น. ที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) น.ส.รัชนีกร สรสิริ รองเลขาธิการ ป.ป.ส. พร้อมด้วย Mr.Jeremy Douglas ผู้แทนสำนักงานยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (UNODC) ดร.วิโรจน์ สุ่มใหญ่ คณะกรรมการควบคุมยาเสพติดระหว่างประเทศ (INCB) และMr.Matthew Nice ผู้ประสานงานการบริหารจัดการชายแดน ร่วมสรุปรายงานประจำปีค.ศ. 2014 ของ INCB และรายงาน INCB เรื่องสารตั้งต้นและเคมีภัณฑ์ที่มักถูกใช้ในการผลิตยาเสพติด หรือวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท
น.ส.รัชนีกรกล่าวว่า ในระยะ 3 ปีที่ผ่านมาประเทศไทยถือเป็นประเทศที่ประสบความสำเร็จในการควบคุมสารตั้งต้น และเคมีภัณฑ์ที่ใช้ในการผลิตยาเสพติด ล่าสุดเจ้าหน้าที่สามารถจับกุมยาแก้หวัดที่มีส่วนผสมของซูโดอีเฟรดีนที่ท่าอากาศยานและบริเวณชายแดนได้ก่อนสารดังกล่าวจะถูกลำเลียงไปสู่แหล่งผลิตยาเสพติดซึ่งในจำนวนที่จับกุมได้นั้นสามารถนำไปผลิตเป็นยาบ้าได้กว่า 100 ล้านเม็ด
รองเลขาธิการ ป.ป.ส.กล่าวอีกว่า ในวันที่ 9-17 มี.ค.นี้จะมีการประชุมคณะกรรมาธิการยาเสพติดที่กรุงเวียนนา ประเทศฝรั่งเศส โดยมีตัวแทนจาก 53 ประเทศเข้าร่วมประชุม สำหรับประเด็นที่ประเทศไทยจะเสนอในที่ประชุม ได้แก่ ความสำคัญในการควบคุมสารตั้งต้น การพัฒนาทางเลือก เช่น การปลูกพืชทดแทน และเน้นย้ำถึงการลดความต้องควบคู่ไปกับการปราบปราม นอกจากนี้จะแสดงจุดยืนไม่เห็นด้วยกับการอนุญาตให้มีการใช้สารเสพติดอย่างเสรีเหมือนกลุ่มประเทศละตินอเมริกา และประเทศในกลุ่มยุโรป
ด้านนายวิโรจน์ สุ่มใหญ่ คณะกรรมการควบคุมยาเสพติดระหว่างประเทศ (INCB) กล่าวถึงแนวทางการแก้ปัญหายาเสพติดในกลุ่มประเทศละตินอเมริกาที่อนุญาตให้ใช้สารเสพติดบางชนิดได้เสรีว่า ตอนนี้กำลังจะกลายมาเป็นแรงกดดันกระเพื่อมมาถึงไทยและประเทศแถบเอเชีย จนทำให้เกิดความเข้าใจผิดว่าการปราบปรามยาเสพติดอย่างเข้มข้นผิดหรือไม่ ทั้งที่การปล่อยให้ประชาชนเสพยาเสพติดนั้นผิดวัตถุประสงค์ของการป้องกันสุขภาพของประชาชน ขณะนี้ต้องยอมรับว่าแนวคิดการแก้ปัญหายาเสพติดในกลุ่มประเทศละตินอเมริกานั้นส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของประเทศไทย
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้มีข้อกังวลในเรื่องการนำยาเสพติดหรือวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทมาใช้อย่างถูกกฎหมายตามวัตถุประสงค์ทางการแพทย์ อุตสาหกรรม และวิทยาศาสตร์ ซึ่งรัฐบาลทั่วโลกที่เป็นสมาชิกต้องปฏิบัติตามอนุสัญญาการควบคุมยาเสพติดระหว่างประเทศ เดิมเข้าใจว่าสารดังกล่าวสามารถนำมาใช้ในผู้ป่วยเพื่อการบำบัดรักษา แต่ปรากฏว่าขณะนี้มีการนำสารกระตุ้นที่เรียกว่า “เมทิลเฟนิเดต” ที่ใช้ในการรักษาโรคสมาธิสั้นในกลุ่มเด็กอายุระหว่าง 4-19 ปี แต่ INCB พบว่าในกลุ่มวัยรุ่นได้นำสารดังกล่าวมาใช้เสพในปริมาณที่สูงขึ้น
“จากรายงานพบว่า การใช้สารออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทชนิดใหม่ได้ขยายตัวขึ้นทั่วโลก จากในปี 2557 ระบุว่ามีสารดังกล่าวเพียง 348 ชนิด แต่ปัจจุบันเพิ่มขึ้นเป็น 388ชนิด” นายวิโรจน์กล่าว