xs
xsm
sm
md
lg

38 ประเทศร่วมวงถกสกัดสารตั้งต้นผลิตยาเสพติด ไทยเตรียมผลักดันกม.ควบคุม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม


ASTVผู้จัดการ - เริ่มแล้วประชุมสารตั้งต้นผลิตยาเสพติด 38 ประเทศเข้าร่วม ไทยเตรียมผลักดันกฎหมายควบคุมสารตั้งต้นคาด 1-2 เดือนรู้ผล

วันนี้ (21 เม.ย.) เมื่อเวลา 09.00 น. ที่ศูนย์ประชุมสหประชาชาติ พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เป็นประธานเปิดการประชุมระหว่างประเทศเรื่องสารตั้งต้น เคมีภัณฑ์และสารที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทชนิดใหม่ๆ ซึ่งจัดขึ้นโดยความร่วมมือของคณะกรรมการควบคุมยาเสพติดระหว่างประเทศ (INCB) ร่วมกับสำนักงานยาเสพติดอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (UNODC) และสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ONCB) ระหว่างวันที่ 21-24 เมษายน 2558 โดยมีตัวแทนจาก 38 ประเทศเข้าร่วมประชุม เพื่อหาแนวทางสกัดกั้นไม่ให้สารตั้งต้น เคมีภัณฑ์ และสารที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทชนิดใหม่ๆ ถูกนำไปสู่แหล่งลักลอบผลิตยาเสพติด

พล.อ.ไพบูลย์กล่าวว่า ประเทศไทยรวมทั้งประเทศเพื่อนบ้านได้รับผลกระทบจากสารตั้งต้นมาก โดยในการประชุมครั้งนี้ขอให้ประเทศที่เป็นผู้ผลิตสารตั้งต้นให้ความสำคัญต่อเรื่องนี้ การประชุมที่ผ่านมาเป็นเพียงการกระตุ้นให้แต่ละประเทศมีการควบคุ้มสารตั้งต้นไม่ให้ไปสู่แหล่งลักลอบผลิตยาเสพติด แต่ยังไม่มีกฎหมายรองรับที่ชัดเจน อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาแม้ระบบการควบคุมสารตั้งต้นและเคมีภัณฑ์ระหว่างประเทศสามารถดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่ยังมีการนำเคมีภัณฑ์บางชนิดไปใช้ในทางที่ผิด โดยได้รับรายงานจากรัฐบาลของแต่ละประเทศว่ามีการนำวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทชนิดใหม่ๆ เกือบ 400 ชนิดที่ไม่ได้อยู่ในการควบคุมไปใช้แบบผิดกฎหมาย

ทั้งนี้ แต่ละประเทศมีความเห็นตรงกันว่าจำเป็นต้องดำเนินการต่อเรื่องดังกล่าวบนพื้นฐานของอนุสัญญาระหว่างประเทศด้านยาเสพติด โดยที่ประชุมได้ให้ความสำคัญกับ 6 ประเด็น คือ 1. ความร่วมมือระหว่างภาครัฐและอุตสาหกรรม 2. กิจกรรมด้านการปฏิบัติการสืบสวน เครือข่ายและการเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับสารตั้งต้น 3. ความท้าทายและแนวโน้มจากการลักลอบค้าเคมีภัณฑ์ สารตั้งต้นในแต่ละภูมิภาครวมไปถึงสารที่มิได้อยู่ภายใต้ตารางควบคุม 4. แนวโน้มและแนวปฏิบัติที่ดีที่สุดในการควบคุม NPS 5. กิจกรรมด้านการปฏิบัติการสืบสวน เครือข่าย และการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท และ 6. ความร่วมมือระหว่างภูมิภาคและแนวทาง รวมทั้งบทบาทของศูนย์ประสานงานระดับภูมิภาค ทั้งนี้ ผลที่ได้รับจากการประชุมครั้งนี้จะเป็นแนวทางในการเสริมสร้างศักยภาพให้กับหน่วยงานปราบปรามยาเสพติดของแต่ละประเทศ เพื่อให้เกิดความร่วมมือในการสกัดกั้นการลักลอบผลิตยาเสพติดต่อไป

ด้านนายเพิ่มพงษ์ เชาวลิต เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด(ป.ป.ส.) กล่าวว่า ปัจจุบัน UN ให้ความสำคัญกับปัญหาสารตั้งต้น และเคมีภัณฑ์ โดยพยายามผลักดันให้แต่ละประเทศออกประกาศควบคุมสารตั้งต้นและสารเคมี เพราะหากไม่สามารถควบคุมได้ปัญหายาเสพติดก็จะแก้ไขได้ยาก เมื่อปี 2556 มีการจัดประชุมระดับเอเชียแปซิฟิกเพื่อให้แต่ละประเทศให้ความสำคัญเรื่องนี้แล้วมีการออกปฏิญญาว่าด้วยเรื่องการควบคุมสารตั้งต้น และให้ทุกประเทศมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลหากมีการเคลื่อนย้ายสารเคมี หรือสารตั้งต้นไปยังประเทศใดประเทศหนึ่ง

สำหรับการประชุมวันนี้จะมีการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ภาคพื้นต่างๆ รวมทั้งแนวโน้มของโลกที่ระบุถึงตัวยาใหม่ๆ หรือยารักษาโรคที่มีสารประกอบสามารถสกัดเป็นยาเสพติดได้ ขณะนี้เราถือว่าเป็นตัวยาที่ยังถูกกฎหมายอยู่ และยังไม่ได้มีการควบคุม ส่วนใหญ่ยาดังกล่าวอยู่ประเทศโซนยุโรป

เลขาธิการ ป.ป.ส.กล่าวอีกว่า ในส่วนของประเทศไทยจะมีนำเสนอปัญหาสารตั้งต้นและสารเคมีซึ่งปัจจุบันเราให้ความสำคัญมากขึ้น เพราะถ้าสกัดสารเหล่านี้ไม่ได้ปัญหายาเสพติดก็จะแก้ไขได้ยาก ทั้งนี้ ในการประชุมโครงการความร่วมมือแม่น้ำโขงปลอดภัยในสัปดาห์หน้าที่ จ.เชียงใหม่ จะนำเรื่องนี้เข้าที่ประชุมด้วย

นอกจากนี้จะมีการผลักดันกฎหมายควบคุมสารตั้งต้น และสารเคมี เพราะที่ผ่านมามีการควบคุมเฉพาะหน่วยงาน เช่น องค์การอาหารและยา (อย.) ดูแลสารเคมีบางส่วนที่นำไปผลิตยา กรมโรงงานอุตสาหกรรม ดูแลเรื่องสารเคมีที่นำมาใช้ในอุตสาหกรรม ซึ่งการควบคุมสารที่สามารถนำมาใช้ผลิตเป็นยาเสพติดได้ยังไม่มีหน่วยงานใดที่รับผิดชอบโดยตรง ทั้งนี้ เรากำลังศึกษากฎหมายในหลายประเทศ เช่น จีน สหรัฐอเมริกา หรือยุโรป ว่า ป.ป.ส.จะต้องมีส่วนเข้าไปดูแลได้อย่างไรบ้าง โดยเรื่องนี้จะผลักดันให้แล้วเสร็จภายใน 1-2 เดือนนี้




กำลังโหลดความคิดเห็น