คุณผู้อ่านคงเคยไปงานบวชมากันบ้างแล้วใช่ไหมครับ?
เวลาที่เราไปงานบวช หลังจากพิธีการปลงผมเราจะเห็นผู้ที่บวชนุ่งห่มด้วยชุดสีขาว อันบ่งบอกถึงความสะอาดบริสุทธิ์ เพราะผู้ที่จะบวชนั้นจะต้องชำระล้างร่างกายจิตใจมาเรียบร้อยแล้ว ส่วนผู้ที่เราเห็นนุ่งห่มชุดสีขาวสะอาดจะใช้คำเรียกแทนบุคคลผู้นั้นว่า “นาค”
นาค แปลว่า ผู้ประเสริฐ หรือ ผู้ไม่ทำบาป เหตุที่ได้ชื่อว่านาคนั้น มีเรื่องเล่าตามตำนานว่า
เมื่อพระพุทธเจ้ายังมีพระชนมชีพอยู่ นาคซึ่งเป็นสัตว์ชนิดหนึ่งคล้ายงู อาศัยอยู่ใต้บาดาล มีฤทธิ์สามารถแปลงตัวได้ นาคตนนี้ได้แปลงกายเป็นมนุษย์ มาบวชเวลากลางวัน ส่วนเวลากลางคืนนอนหลับ ก็กลับมาเป็นนาคตามเดิม
อยู่มาคืนหนึ่ง มีภิกษุรูปหนึ่งไปพบเข้าจึงเกิดตกใจกลัว ภิกษุนั้นจึงไปกราบทูลพระพุทธเจ้า พระพุทธองค์ทรงรับสั่งถามได้ความว่า นาคมีศรัทธาปสาทะในพระศาสนา จึงกลายร่างมาบวช
พระพุทธองค์จึงตรัสว่า สัตว์เดรัจฉานไม่อยู่ในฐานะที่จะบวชได้ จึงทรงให้ลาเพศบรรพชิตเสีย แล้วกลับไปเป็นนาคดังเดิม แต่นาคนั้นมีความอาลัย จึงขอฝากชื่อไว้ในพระศาสนา
ทว่าในความเป็นจริงแล้ว “นาค” อาจเป็นคำที่พระท่านใช้เรียกเพื่อสะดวก หรือหากวิเคราะห์ตามหลักภาษาศาสตร์แล้ว โดยความหมายของคำว่า “นาค” จะตรงกับพฤติการณ์ของการบวช อันเป็นการละเพศคฤหัสถ์ (ที่พร้อมทำบาปได้ทุกเมื่อ) แต่เมื่อมาบวชจะทำบาปไม่ได้ เพราะต้องอยู่ในวินัยของสมณะ เป็นการกลับตัวกลับใจใหม่ ผู้มาบวชจึงถูกเรียกว่านาค ซึ่งแปลว่า ผู้ไม่ทำบาปหรือผู้ประเสริฐ ดังที่กล่าวมาแล้ว ดังนั้น การเรียกว่านาค จึงเป็นชื่อเรียกแทนตัวผู้ที่จะบวชมาจนถึงทุกวันนี้ครับ
ผศ.ดร.พระมหามฆวินทร์ ปุริสุตฺตโม วัดอาวุธวิกสิตาราม ได้ขยายความเพิ่มเติมในเรื่องนี้ให้ “ธรรมาภิวัตน์” ฟังว่า
"ทุกวันนี้ ก่อนที่เราจะมาบวชเป็นพระ เราจะเป็นนาคก่อน ในประวัติศาสตร์ช่วงที่พระพุทธศาสนารุ่งเรือง ตอนที่พระพุทธเจ้ายังมีพระชนมชีพอยู่ มีคนอยากบวชเยอะมาก แม้กระทั่งคนประเภทอื่นก็อยากบวชด้วย
อย่างกรณีนาคที่อยากจะบวช แต่ตอนนั้นยังไม่มีการบัญญัติ นาคที่อยากจะบวชก็เลยมาสำแดงตนขอบวช มันเป็นเงื่อนไขว่า ตรงนี้มันบวชไม่ได้ตามญัตติ แต่ว่าท้ายสุดแล้วก็คือ เพื่อเห็นเจตนารมณ์อันดีของนาค ที่จะมาบวชในศาสนา อาตมาคิดว่ามันเป็นกระบวนการที่จะให้นาคมีส่วนร่วมในการบวช ก็เลยเป็นข้อตกลงว่า ในกรณีที่ต่อไปใครจะมาบวชเป็นพระ ก็ให้นาคมีส่วนในตรงนี้ด้วย ถือเป็นวัฒนธรรม
ถามว่าถ้าไม่เป็นนาคก่อนได้ไหม โยมคงเห็นว่าคนที่บวชมาบางคนเป็นนาคหลายวัน บางคนก็เป็นชั่วข้ามคืน บางคนก็แค่แวบเดียว อันนี้ก็เห็นได้ว่า ทั้งปรากฏในตัวเนื้อหาและเราก็เอามาทำเป็นวัฒนธรรมด้วย แล้วถามว่า มีไหมที่ใครเป็นนาคแล้วไม่เป็นพระ เท่าที่อาตมาเห็นไม่มีนะ"
เมื่อปลงผมโกนหนวดเคราหมดจดแล้ว ในขั้นตอนนี้ผู้บวชจะถูกเรียกว่านาค ซึ่งการแต่งกายประกอบด้วยเสื้อเชิ้ตแขนยาวสีขาว สบงขาว อังสะขาว เข็มขัดนาก และเสื้อคลุมนาค ซึ่งบ่งบอกถึงความบริสุทธิ์ทั้งกายวาจาและใจนั่นเอง
และหากนาคยังไม่ได้ขอขมาพ่อแม่หรือญาติผู้ใหญ่ อาจมีการขอขมาเพิ่มเติมได้อีกในช่วงเวลานี้ ซึ่งถ้อยคำการขอขมาจะมีความเป็นทางการขึ้นกว่าตอนเป็นฆราวาสครับ
เมื่อเสร็จพิธีการตามขั้นตอนในการอุปสมบทแล้ว ต่อไปก็เป็นเรื่องของการครองสมณเพศโดยสมบูรณ์ตลอดระยะเวลาในการบวช เริ่มจากวันแรกของการครองผ้ากาสาวพัสตร์ เมื่ออยู่ในผ้าเหลืองแล้ว ภิกษุต้องพึงระลึกไว้ว่า แต่นี้เป็นต้นไป เราอยู่ในสถานะของผู้ทรงศีล ย่อมมีวิถีชีวิตที่แตกต่างจากตอนเป็นฆราวาส จึงต้องมีการเรียนรู้และปฏิบัติตามกฎระเบียบต่างๆของภิกษุ รวมทั้งต้องกระทำกิจกรรมเพื่อเป็นการฝึกฝนตนเองด้วย
ข้อหนึ่งในกิจวัตรที่มีด้วยกัน 10 อย่างของภิกษุก็คือ การบิณฑบาตเลี้ยงชีพ ประโยชน์ที่ได้รับคือการได้เจริญรอยตามพระพุทธองค์ ทั้งยังได้โอกาสออกกำลังกาย ได้เห็นทุกข์ในการแสวงหาอาหาร และยังจะได้ทำตนให้เป็นเนื้อนาบุญยิ่งขึ้น
พระมหาไชยณรงค์ ภัททมุนี พระพี่เลี้ยงของพระบวชใหม่ที่วัดชลประทานรังสฤษดิ์ จังหวัดนนทบุรี เล่าให้ “ธรรมาภิวัตน์” ทราบถึงกิจวัตรของพระภิกษุที่วัดในแต่ละวันว่า
"ตื่นตี 3 ครึ่ง ทำภารกิจส่วนตัว ตี 4-ตี 5 ทำวัตรเช้า หลังจากนั้นก็ออกบิณฑบาต แบ่งเป็นสายตามหมู่บ้าน กลับจากบิณฑบาตก็มาฉันที่ลานหินโค้งทุกเช้า จะเสร็จประมาณ 8 โมงครึ่ง
จากนั้นก็เข้าเรียนตอน 9-11 โมง เสร็จแล้วก็จะมีอีกช่วงหนึ่ง เรียกว่าช่วงกรรมฐาน นั่งสมาธิประมาณ 5 วัน ช่วงนั้นก็จะไม่ค่อยได้ฟังบรรยายเท่าไรนัก จะพาเดินจงกลม นั่งสมาธิ 9-11 โมง แล้วฉันเพล เข้าเรียนอีกทีบ่ายโมงครึ่งถึงบ่ายสามครึ่ง"
กิจวัตรของภิกษุ นอกจากการบิณฑบาตเลี้ยงชีพแล้ว ภิกษุต้องลงปาติโมกข์ เพื่อขัดเกลาตนเอง และทำให้เกิดความสามัคคี ต้องสวดมนต์ไหว้พระ เพื่อรำลึกถึงพระธรรมคำสอนของพระพุทธองค์ เข้าใจศาสนพิธี ศึกษาสิกขาบท และปรนนิบัติครูบาอาจารย์ อันเป็นการแสดงความกตัญญูรู้คุณอาจารย์ตามธรรมเนียมโบราณ อีกทั้งยังได้มีโอกาสซักถามความรู้และข้อธรรมอย่างใกล้ชิดด้วย
นอกจากนั้น ภิกษุต้องอยู่ปริวาสกรรม เพื่อทบทวนในสิ่งที่พลั้งเผลอ เพื่อปรับปรุงความประพฤติมิให้เป็นเช่นนั้นอีก ได้กำจัดอาบัติโทษ ทำให้การปฏิบัติได้บรรลุผล ส่วนประโยชน์จากการแสดงอาบัติคือ ทำให้ภิกษุเป็นผู้ไม่ประมาท ปราศจากมลทิน มีศีลบริสุทธิ์ เพราะได้บอกอาบัติกำจัดความรังเกียจ ทั้งแก่ตนเองและบุคคลภายนอก
ภิกษุพึงพิจารณาปัจจเวกขณะ พิจารณาก่อนถึงบริโภคปัจจัย 4 คือ จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และเภสัช ไม่บริโภคด้วยตัณหา ซึ่งจะทำให้ภิกษุไม่เป็นหนี้ ฉันอาหารที่ไม่เป็นโทษ และเป็นประโยชน์แก่กัมมัฏฐาน
กิจวัตรอีกอย่างของภิกษุ คือต้องรักษาผ้าครอง ประโยชน์ที่ได้รับ คือการได้เอาใจใส่ในกิจวัตร ทั้งยังได้ตื่นแต่เช้า เป็นการฝึกหัดจิตใจ นอกจากนี้ พึงต้องโกนผม หนวด เครา และตัดเล็บ เพื่อให้ร่างกายสะอาด มีสุขภาพดี และมีรูปลักษณ์ที่น่าเลื่อมใสศรัทธา
ภิกษุต้องกวาดวิหาร ลานเจดีย์ เพื่อให้รู้จักการเสียสละ และทำให้สถานที่สะอาด เป็นระเบียบเรียบร้อย อีกทั้งยังได้ออกกำลังกายและคลายเครียดอีกด้วย โดยภิกษุบวชใหม่ที่วัดชลประทานฯ ต่างปฏิบัติกิจวัตรเหล่านี้อย่างเข้าใจ ซึ่งเป็นไปตามพระธรรมวินัยบัญญัติ
พระวิสากโล หรือชื่อก่อนบวชคือ “นายธรรมดา เฉียบแหลม” ชายหนุ่มผู้ใช้ชีวิตโลดโผน ได้เล่าให้ “ธรรมาภิวัตน์” ฟัง ถึงการบวชที่วัดชลประทานฯ ครั้งนี้ว่า ได้รับการสั่งสอนและฝึกปฏิบัติตามพระธรรมวินัย ซึ่งช่วยให้ชีวิตและจิตใจที่เคยอ่อนไหวอ่อนแอ ได้เข้มแข็งขึ้น
"พระอาจารย์สอนไม่ให้ยินดียินร้ายกับสิ่งที่เข้ามา ไม่ว่าสรรเสริญ นินทา ทุกข์หรือสุข ต้องมองด้วยจิตใจหนักแน่น เพราะทุกสิ่งทุกอย่างตั้งอยู่บนกฎไตรลักษณ์ ก็คือเกิดขึ้นตั้งอยู่ ดับไป ซึ่งมันก็คือความจริงของชีวิต ชีวิตเราจะประสบพบเจออะไร แต่ความจริงก็คือหนีไม่พ้นแน่นอน ถามว่าถ้าเรายอมรับความจริงจุดนี้ได้ จิตใจเราจะเข้มแข็งขึ้นและทุกข์น้อยลง"
วัดชลประทานรังสฤษดิ์จัดการอุปสมบทหมู่เช่นนี้ประจำทุกเดือนครับ เมื่อเดือนเก่ากำลังจะเคลื่อนผ่านไป เดือนใหม่ก็กำลังจะมาแทนที่ พระที่อุปสมบทหมู่ของเดือนก่อนหน้านี้ ก็จะถึงเวลาในการลาสิกขา เพื่อกลับออกไปใช้ชีวิตฆราวาส ตามแนววิถีของแต่ละคน
เหตุที่เรียกว่า “ลาสิกขา” นั้น เพราะภิกษุมีสิกขา หรือไตรสิกขา หมายถึงข้อที่พึงศึกษา พึงปฏิบัติอบรม 3 ประการสำคัญ ได้แก่
• อธิศีลสิกขา ฝึกอบรมในเรื่องศีล
• อธิจิตตสิกขา ฝึกอบรมในเรื่องสมาธิ
• อธิปัญญาสิกขา ฝึกอบรมในเรื่องปัญญา
ผู้ประสงค์จะลาสิกขา ต้องนำดอกไม้ธูปเทียนไปทำวัตร เมื่อถึงวันกำหนดแล้วให้จัดสถานที่ นิมนต์พระสงฆ์มาพร้อมกันแล้ว พระภิกษุผู้จะลาสิกขาต้องแสดงอาบัติเสียก่อน กราบลาขอขมาเสมา ขอขมาพระประธาน ซึ่งเปรียบดังองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า จากนั้นจึงขอขมาโทษพระอุปัชฌาย์เป็นลำดับต่อไป เป็นอันเสร็จพิธี
ผศ.ดร.พระมหามฆวินทร์ ปุริสุตฺตโม วัดอาวุธวิกสิตาราม ได้เมตตาอธิบายเรื่องการลาสิกขาไว้เพิ่มเติมว่า
"การลาสิกขาก็คือการยุติการบวช คือ การยุติศีลสิกขา สมาธิสิกขา และปัญญาสิกขา แต่อาตมาเชื่อว่าคนที่ยุติการบวชเป็นพระ ก็ยังต้องรักษาศีลต่อไป ยังต้องมีสมาธิกับตนเองต่อไป ยังต้องใช้ปัญญาในการประคับประคองชีวิตต่อไป เพียงแต่ว่าศีลหรือตัวบัญญัติของพระสงฆ์ กับตัวที่เป็นของญาติโยมนั้นแตกต่างกัน
ฉะนั้นแล้ว การลาสิกขาก็เป็นพิธีกรรมอย่างหนึ่ง คือการแสดงว่าตนไม่พร้อมที่จะอยู่ในบริบทนี้ แต่ก็พร้อมไปอยู่ในบริบทอื่น แต่ความเป็นคนดีหรือคนไม่ดีนั้นมันก็ยังอยู่ต่อไป การลาสิกขาก็คือการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิต เพศเรามีแค่ 2 แบบคือ เพศบรรพชิตกับเพศคฤหัสถ์ ถ้าคุณไม่เปลี่ยนเป็นบรรพชิต คุณก็เป็นคฤหัสถ์ ถ้าคุณไม่เป็นคฤหัสถ์ คุณก็เปลี่ยนเป็นบรรพชิตก็เท่านั้นเอง"
หลังการลาสิกขาผ่านไป “ธรรมาภิวัตน์” ได้มีโอกาสสนทนากับอดีตพระวิสากโล อีกครั้ง โดยเจ้าตัวเล่าย้อนให้ฟังว่า
การบวชช่วยชีวิตเขาไว้ได้มาก ชีวิตก่อนบวชกับหลังบวชนั้น ต่างกันโดยสิ้นเชิง นับเป็นประสบการณ์ที่ดีครั้งหนึ่งในชีวิต และจิตใจได้ซึมซับธรรมะมาเป็นเข็มทิศบ่งชี้ชีวิต ให้ดำเนินไปในทิศทางที่ถูกต้อง ดีงาม
"หลังสึกนี่จะโล่งแล้วครับ ตอนบวชแรกๆ จะพะวง อยากทำให้ดี เหมือนเราเกร็ง ไม่เป็นธรรมชาติ ช่วง 15 วันแรกรู้สึกทรมานมากครับ ปกติเคยนอนตี 3 แต่ต้องมาตื่นตี 3 เหมือนร่างกายยังปรับไม่ได้ แต่พอเรามาอยู่ในสถานที่ดีๆ อยู่กับคนดีๆ เหมือนจิตจะซึมซับสิ่งเหล่านั้น เราก็จะกลายเป็นสิ่งเหล่านั้นไปเรื่อยๆ จนกลายเป็นธรรมชาติครับ
ผมรู้สึกดีที่ได้มาบวชที่นี่ ที่นี่ให้อะไรหลายอย่างกับผม ทำให้มีสติและมีเหตุผลมากขึ้น เอาไปใช้ในชีวิตได้จริง อะไรที่เกิดขึ้นกับชีวิต เราก็จะอยู่กับมันได้ คือเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป สุดท้ายแล้วเราก็ใช้สติ ดูอะไรที่มันไม่ดีกับตัวเราก็ตัดทิ้ง อะไรที่ดีก็ทำมันเท่าที่เราพอทำได้ครับ"
หากการตัดทิ้งสิ่งที่ไม่พึงประสงค์ต่อชีวิต ที่อดีตพระวิสากโล ได้กล่าวกับ “ธรรมาภิวัตน์” คือการละกิเลส นั่นย่อมแสดงว่า บุรุษหนุ่มที่ชื่อ “นายธรรมดา เฉียบแหลม” ได้บรรลุถึงแก่นของการบวชที่แท้จริงครับ เพราะผู้ที่บวช คือผู้ต้องการตัดกิเลสเท่านั้น ไม่ใช่อย่างอื่นเลย เป็นคำตอบที่ดีที่สุด ถูกต้องที่สุด
เพราะการปฏิบัติธรรม หรือการบรรลุธรรม ฆราวาสก็สามารถทำได้ บรรลุธรรมถึงขั้นเป็นพระอรหันต์ได้ ไม่จำเป็นต้องอยู่ในสถานะของพระภิกษุ เพียงแต่ว่า หากอยู่ในสถานะของฆราวาสแล้ว ไม่สามารถหลีกหนีหรือหลีกเลี่ยงจากกิเลสรอบข้างได้ ก็ให้มาบวชเป็นพระภิกษุ เพราะพระภิกษุมีเกราะป้องกัน นั่นคือ ศีลหรือพระวินัยหรือข้อห้ามต่างๆ สามารถป้องกันได้ทั้งจากบุคคลภายนอกและจิตใจตนเอง ซึ่งศีลหรือพระวินัยทั้งหมด เกี่ยวข้องกับการตัดกิเลสทั้งสิ้นครับ
พระครูปลัดวิมลสิริวัฒน์ หัวหน้าสำนักงานวัดชลประทานรังสฤษดิ์ ได้เมตตาเล่าถึงความเปลี่ยนแปลงในชีวิตช่วงก่อนและหลังบวช ของพระในโครงการอุปสมบทหมู่ของวัดชลประทานฯ ให้ฟังว่า
"พ่อแม่เพื่อนฝูงเห็นเขาเป็นผู้เป็นคนมากขึ้น บวชแล้วสิ่งที่เขาเคยทำไม่ดีไม่งาม เขาก็เปลี่ยนแปลงพฤติกรรม เป็นคนที่เอาอกเอาใจพ่อแม่มากขึ้น เข้าใจมากขึ้น ได้ผลน่าจะเกิน 80-90 % ด้วยซ้ำ สำหรับคนที่ตั้งใจจริงๆ แต่สำหรับคนที่ไม่ตั้งใจก็อาจจะได้บ้าง ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ยืนยันว่าได้มากกว่าเสีย
อีกอย่างคือเมื่อบวชแล้วจะเป็นคนพร้อมเชื่อฟัง เชื่อใจครูบาอาจารย์ เชื่อในวัตรปฏิบัติของวัด ซึ่งจะแนะนำไปในทางที่ถูกที่ควร แล้วปฏิบัติตามโดยที่ไม่มีข้อโต้แย้ง อันนี้เป็นสิ่งที่สำคัญที่คนมาบวชควรเตรียมตัวไว้ให้ดี เพราะคนส่วนใหญ่มักมีความเป็นตัวตนสูง”
นอกจากแก่นของการบวช คือการละสิ้นกิเลสทั้งปวงแล้ว กุศโลบายในการนำศาสนาเข้ามาปรับใช้กับการดำเนินชีวิตของสังคมไทยอีกประการคือ การนำเรื่องบวชมาเป็นธรรมเนียมประเพณีปฏิบัติ เพราะผู้มีศรัทธามั่นคงในพระพุทธศาสนา ต่างมุ่งหวังให้บุคคลอันเป็นที่รัก เช่น บุตรหลานของตน ได้เป็นศาสนทายาท สืบต่ออายุพระพุทธศาสนา ให้ยืนยาวต่อไป รวมทั้งได้ศึกษาเรียนรู้หลักธรรมทางพระพุทธศาสนา เพื่อจะได้นำหลักธรรมคำสอน มาประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน ให้ใช้ชีวิตอยู่ในสังคมที่วุ่นวายได้ และมีความสุขตามวิถีพุทธที่ได้ศึกษาปฏิบัติมานั่นเองครับ
(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 171 มีนาคม 2558 โดย กานต์ จอมอินตา ผู้อำนวยการโครงการธรรมาภิวัตน์ สถานีโทรทัศน์ NEWS1)