xs
xsm
sm
md
lg

พุทธอุทยานมาฆบูชาอนุสรณ์ หนึ่งเดียวของไทย หนึ่งเดียวของโลก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


จากปากทางเข้าสู่น้ำตกสาลิกาไม่ไกลนัก จะเห็นป้ายบอกทางเข้า “พุทธอุทยานมาฆบูชา” ทางด้านขวามือ เมื่อเลี้ยวรถเข้าไปอีกนิด สิ่งที่ปรากฏอยู่ตรงหน้าก็คือ พระพุทธรูปปางแสดงโอวาทปาติโมกข์ขนาดใหญ่ ที่แวดล้อมไปด้วยรูปปั้นพระอรหันตสาวก 1,250 รูป

ความรู้สึกที่ได้มายืนอยู่ ณ สถานที่นี้ คล้ายดั่งภาพเหตุการณ์ครั้งพุทธกาล ที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมโอวาทปาติโมกข์ แก่ภิกษุ 1,250 รูป ที่มาประชุมพร้อมกันโดยมิได้นัดหมาย ณ เวฬุวันมหาวิหาร ใกล้กรุงราชคฤห์ ในวันเพ็ญเดือน 3 ได้ย้อนมาปรากฏอยู่ตรงหน้าอีกวาระหนึ่ง

เพราะสถานที่แห่งนี้คือ “พุทธอุทยานมาฆบูชาอนุสรณ์” ซึ่งพระราชพิพัฒน์โกศล เจ้าอาวาสวัดศรีสุดาราม เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ เป็นประธานดำเนินการจัดสร้างขึ้น เนื่องในโอกาสครบ 2600 ปี แห่งการตรัสรู้ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพระพุทธเจ้า ในปี พ.ศ.2555 เพื่อถวายเป็นพุทธบูชา และเป็นอนุสรณ์เนื่องในโอกาสสำคัญดังกล่าวของพระพุทธศาสนา

สำหรับเหตุผลที่สร้างพุทธอุทยานมาฆบูชาอนุสรณ์นั้น พระราชพิพัฒน์โกศล บอกว่า เนื่องจากในทางพระพุทธศาสนา วันมาฆบูชาถือเป็นวันแรกที่พระพุทธเจ้าทรงประกาศหลักธรรมสำคัญ เพื่อเป็นแนวทางปฏิบัติให้แก่พระภิกษุผู้เป็นพุทธสาวก ได้นำไปปฏิบัติเพื่อเผยแผ่พระพุทธศาสนา และที่สำคัญยังพบว่า ในประเทศไทยไม่เคยมีที่ใดสร้างสถานที่เพื่อเป็นอนุสรณ์ของวันมาฆบูชามาก่อน

ด้วยเหตุนี้ บนพื้นที่กว่า 53 ไร่ หมู่ที่ 3 ต.สาริกา อ.เมือง จ.นครนายก ซึ่งแวดล้อมด้วยภูเขา และสายน้ำไหลผ่าน จึงได้กลายเป็นสถานที่ตั้งอันสัปปายะของพุทธอุทยานมาฆบูชาอนุสรณ์ ซึ่งได้เริ่มดำเนินการก่อสร้างเมื่อเดือนมกราคม พ.ศ. 2555

โดยถือฤกษ์ในวันที่ 7 มีนาคม พ.ศ. 2555 ซึ่งเป็นวันมาฆบูชา จัดพิธีเททองหล่อพระเกตุพระพุทธรูปปางแสดงโอวาทปาติโมกข์ ขนาดหน้าตักกว้าง 9 เมตร สูง 13.5 เมตร จากนั้นก็ได้ดำเนินการจัดสร้างรูปปูนปั้นพระอรหันตสาวก ขนาดหน้าตักกว้าง 90 ซม. สูง 1.50 เมตร จำนวน 1,250 รูป รวมทั้งรูปปั้นพระอสีติมหาสาวกจำนวน 80 รูป

ด้วยพลังศรัทธาของพุทธศาสนิกชนทั้งในและต่างประเทศ ที่ร่วมกันบริจาคปัจจัยในการก่อสร้างพุทธอุทยานฯแห่งนี้ที่ใช้งบประมาณราว 30 ล้านบาท ทำให้การก่อสร้างใช้เวลาเพียง 1 ปี ก็แล้วเสร็จ และมีการจัดงานเบิกเนตรสมโภชใหญ่พระพุทธรูปปางแสดงโอวาทปาติโมกข์ รวมทั้งพุทธอุทยานฯ ในวันที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556 ซึ่งตรงกับวันมาฆบูชา และได้มีการจัดกิจกรรมมาฆบูชาอย่างยิ่งใหญ่ โดยนิมนต์พระสงฆ์นานาชาติ เช่น ไต้หวัน ศรีลังกา อินเดีย ลาว พม่า บังกลาเทศ รวมจำนวน 1,250 รูป เท่ากับพระอรหันตสาวกในสมัยพุทธกาลมาร่วมเจริญพระพุทธมนต์

นอกจากการจัดสร้างพระพุทธรูปและรูปปั้นพระอรหันตสาวก เพื่อจำลองเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในวันมาฆบูชาครั้งพุทธกาลแล้ว ยังมีการจัดสร้างรูปจำลองพระธาตุประจำปีเกิด อาทิ พระบรมธาตุดอยสุเทพ สำหรับผู้เกิดปีมะแม พระมหาเจดีย์ชเวดากอง สำหรับผู้เกิดปีมะเมีย เจดีย์เจ็ดยอดหรือพุทธคยา สำหรับผู้เกิดปีมะเส็ง ฯลฯ และศาลาปฏิบัติธรรม 1 หลัง ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปพระพุทธเจ้า 28 พระองค์

รวมทั้งประติมากรรมทราย “พุทธจริยาวัตร 60 ปาง” เป็นการเล่าเรื่องเกี่ยวกับพระพุทธเจ้า ทำนองเดียวกับพุทธประวัติ รวมทั้งสถานที่สำคัญทางพุทธศาสนาในต่างประเทศ เช่น เจดีย์สวยัมภูวนารถ ที่เนปาล เจดีย์พุทธคยา ที่อินเดีย เป็นต้น ประติมากรรมทรายนี้มีขนาดกว้าง 7.4 เมตร ยาว 54 เมตร สูง 6.4 เมตร ใช้ทรายแม่น้ำน้ำหนัก 100 ตัน ถือได้ว่าเป็นประติมากรรมทรายที่มีขนาดใหญ่และน้ำหนักมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก

ในอนาคตจะมีการสร้างศาลาปฏิบัติธรรมเพิ่มขึ้น รวมทั้งปรับปรุงพื้นที่พุทธอุทยานมาฆบูชาอนุสรณ์ ให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวทางธรรม และสถานปฏิบัติธรรมต่อไป

พระราชพิพัฒน์โกศล บอกว่า สถานที่แห่งนี้เหมือนเป็นตำราเรียนประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนาเล่มใหญ่ สำหรับผู้สนใจ นักเรียน นักศึกษา ได้เข้ามาสัมผัสบรรยากาศที่เกิดขึ้นจริงเมื่อครั้งพุทธกาล ซึ่งไม่มีประเทศใดเคยสร้างมาก่อน

พุทธศาสนิกชนสามารถเดินทางมากราบไหว้ และร่วมน้อมรำลึกถึงพระกรุณาคุณขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่ได้ประทานโอวาทปาติโมกข์ ซึ่งถือเป็นหัวใจของพระพุทธศาสนา ในวันมาฆบูชา (ปี 2558 ตรงกับวันที่ 4 มีนาคม) ณ พุทธอุทยานมาฆบูชาอนุสรณ์แห่งนี้ได้ทุกวัน สามารถสอบถามเส้นทางได้ที่ โทร. 08-8400-9001-8

(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 171 มีนาคม 2558 โดย กองบรรณาธิการ)
รูปปั้นพระอสีติมหาสาวก 80 รูป อยู่ด้านหน้า
รูปปั้นพระสีวลี
ส่วนหนึ่งของรูปปั้นพระอรหันตสาวก
ส่วนหนึ่งของรูปปั้นพระอรหันตสาวก
รูปจำลองพระธาตุปีเกิด
รูปจำลองพระธาตุปีเกิด
พระพุทธรูปพระพุทธเจ้า 28 พระองค์ ภายในศาลาปฏิบัติธรรม
ประติมากรรมทรายเจดีย์สวยัมภูวนารถ
ประติมากรรมทราย ปางปรินิพพาน
ประติมากรรมทราย ปางปรินิพพาน
บรรยากาศโดยรวม

กำลังโหลดความคิดเห็น