xs
xsm
sm
md
lg

ธรรมาภิวัตน์ : พม่า 5 มหาสถาน (ตอนจบ) สักการะพระเจดีย์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เมื่อฉบับที่แล้ว ผู้เขียนได้นำพาไปกราบสักการะพระมหามัยมุนี ซึ่งเป็น 1 ใน 5 มหาสถานศักดิ์สิทธิ์ที่ชาวพม่าและชาวพุทธทั่วโลกให้ความศรัทธา และเป็นเพียงมหาสถานหนึ่งเดียวที่มิได้เป็นพระเจดีย์

ขณะที่อีก 4 มหาสถาน ล้วนแต่เป็นพระเจดีย์ที่ทรงคุณค่าทางพระพุทธศาสนา ประวัติศาสตร์ และศิลปวัฒนธรรมอันเก่าแก่ เต็มเปี่ยมไปด้วยอจลศรัทธา (ศรัทธาที่มีต่อพระพุทธศาสนาอย่างคงมั่น) โดยเฉพาะเมื่อไปเยือนศาสนสถานต่างๆในพม่า ก็จะพบกับพุทธศาสนิกชนจำนวนมาก ที่พากันไปกราบไหว้บูชา สวดมนต์ภาวนาทั่วอาณาบริเวณ น่าอนุโมทนาบุญด้วยยิ่งนักครับ

พม่าได้ชื่อว่าเป็นดินแดนแห่งอารยธรรมพุทธ เนื่องจากเต็มไปด้วยศาสนสถาน วัดวาอาราม พุทธปฏิมา ตลอดจนพระเจดีย์ ดังนั้น หากเอ่ยถึงการเดินทางไปเยือนพม่าแล้ว เชื่อว่า “พระมหาเจดีย์ชเวดากอง” (Shwedagon Pagoda) จะเป็นศาสนสถานแห่งแรกที่ทุกท่านจะนึกถึง

พระมหาเจดีย์ชเวดากอง เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์สูงสุดของชาวพม่า อยู่คู่บ้านคู่เมืองมาตั้งแต่สมัยโบราณกาล ตั้งตระหง่านอยู่ใจกลางเมืองย่างกุ้ง ซึ่งเป็นเมืองหลวงเก่า เราจะเห็นชาวพม่าจำนวนมากรอนแรมมาจากต่างที่ต่างถิ่น เพื่อมากราบสักการะพระมหาเจดีย์ชเวดากองให้ได้สักครั้งหนึ่งในชีวิต มีทั้งคนหนุ่มคนแก่ลูกเล็กเด็กแดงเต็มไปหมด ทั้งกลางวันและกลางคืน โดยเฉพาะยามค่ำคืนต้องถือว่าเป็นไฮไลท์ครับ เพราะเมื่อพระมหาเจดีย์ต้องแสงไฟสีทองแล้ว ดูอร่ามงามจับตาเห็นมาตั้งแต่ไกลเลยทีเดียวครับ

สำหรับการไหว้พระแบบชาวพม่านั้น มีการจุดธูปเทียน ถวายดอกไม้ บริจาคเงินเหมือนกับคนไทยครับ แต่จะมีเพิ่มเติมบ้างบางคนที่นิยมถวายฉัตรที่ทำด้วยกระดาษทองอย่างสวยงาม การกราบก็จะนั่งพับเพียบแล้วกราบ 3 ครั้งเช่นเดียวกับคนไทย จากนั้นชาวพม่ามักจะนิยมนั่งสมาธิ หลับตาสวดมนต์ บ้างก็นับลูกประคำเพื่อทำสมาธิ เมื่อกราบนมัสการเสร็จแล้วก็จะเดินประทักษิณคือเดินเวียนขวา หลักการก็คือให้ยึดถือเอาสิ่งศักดิ์สิทธิ์เอาไว้ด้านขวามือแล้วเดินไปโดยรอบให้ครบ 3 รอบ (ห้ามเดินเวียนซ้ายนะครับ เพราะถือว่าเป็นการเดินรอบเมรุเผาศพ)

ชื่อ “ชเวดากอง" มาจากคำในภาษาพม่าคือคำว่า “ชเว” แปลว่า “ทอง” กับคำว่า “ดากอง” หรือ “ดะโก่ง” ซึ่งเป็นชื่อเดิมของเมืองหย่างโกง หรือย่างกุ้ง อันมีความหมายว่า “หมดสิ้นศัตรู” นั่นเองครับ

แม้ตามตำนานจะเล่าว่า พระมหาเจดีย์ชเวดากองสร้างขึ้นมาเมื่อประมาณ 2,500 ปีมาแล้ว ภายหลังจาก 2 พี่น้องพ่อค้าคือ ตปุสสะ และภัลลิกะ ได้เข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า และพระองค์ทรงประทานพระเกศาธาตุมาให้ 8 เส้นด้วยกัน จึงมีการสร้างเจดีย์อิฐสูงประมาณ 9 เมตร ครอบเอาไว้ ซึ่งนักโบราณคดีเชื่อว่า น่าจะมีการสร้างขึ้นราวคริสต์ศตวรรษที่ 6-10 และมีการต่อเติมเรื่อยมา ทั้งในสมัยของพระนางซินส่อปุ๊ ผู้สืบราชบัลลังก์ต่อจากพระเจ้าพะหยิ่นพยาจัน เป็นผู้บูรณะครั้งใหญ่ จนทำให้รูปทรงของพระเจดีย์เปลี่ยนไปมาก แต่ยังคงรักษาพื้นฐานศิลปะแบบมอญเอาไว้ได้อยู่

ต่อมาในสมัยพระเจ้าธรรมเจดีย์ ก็โปรดให้ตีทองคำเป็นแผ่นเพื่อหุ้มองค์พระธาตุเอาไว้ และยังทรงให้สร้างหลักจารึกขึ้นอีก 3 หลัก 3 ภาษา คือภาษาพม่า ภาษามอญ และภาษาบาลี จารึกถูกค้นพบโดยนักโบราณคดีชาวเยอรมันราวปีพ.ศ. 2423 ดังนั้น หากใครมีโอกาสไปกราบสักการะพระมหาเจดีย์ชเวดากอง ก็อย่าลืมไปศึกษาประวัติศาสตร์ผ่านจารึกที่ตั้งไว้ในบริเวณนั้นด้วยนะครับ

ในสมัยพระเจ้าตะเบงชเวตี้ ก็โปรดให้เสริมยอดเจดีย์ด้วยทอง ส่วนพระเจ้าบุเรงนองก็ทรงเสริมพระเจดีย์ให้สูงขึ้นเป็น 90 เมตร เหล่านี้ย่อมสะท้อนถึงศรัทธาของชาวพม่า ตั้งแต่ระดับกษัตริย์จนถึงอาณาประชาราษฎร์ที่มีต่อพระมหาเจดีย์ชเวดากอง อันเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ประดิษฐานพระเกศาธาตุ สิ่งแทนองค์พระพุทธเจ้า ทั้งยังเป็นศูนย์รวมหรือที่พึ่งทางใจของชาวพม่า ไม่ว่าจะจากบ้านต่างเมืองไปอยู่แห่งหนตำบลใดก็ตาม

มหาสถานแห่งที่ 3 ที่ชาวพม่าให้ความเคารพนับถือสูงสุดคือ “เจดีย์ชเวมอว์ดอว์” หรือพระเจดีย์มุเตา ตั้งอยู่ที่เมืองหงสาวดี หรือเมืองพะโค (Bago) ในภาษาพม่า คนไทยคุ้นเคยกับเมืองนี้ดี เพราะมีความเกี่ยวพันกับประวัติศาสตร์ไทย เนื่องจากพระสุพรรณกัลยา และสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ทรงเคยประทับอยู่ที่เมืองนี้ในฐานะ “องค์ประกัน”

เจดีย์ชเวมอว์ดอร์ แปลว่า “เจดีย์ทององค์ใหญ่” ซึ่งจะเห็นเจดีย์สีเหลืองทองเด่นสะดุดตามาแต่ไกล เราถอดรองเท้าไว้บริเวณทางเข้าศาสนสถานตามธรรมเนียมของชาวพม่าครับ จากนั้นจึงเดินเท้าเปล่าเข้าวัด

ก่อนจะมาเป็นราชธานีของพม่า เมืองนี้เคยเป็นเมืองมอญ สร้างโดย 2 พี่น้อง ชื่อ สมละ และวิมละ ต่อมากษัตริย์มอญก็ได้พัฒนาเมืองนี้เรื่อยมา ดังนั้น เจดีย์ชเวมอว์ดอร์ จึงเรียกเป็นภาษามอญว่า “เจดีย์มุเตา” ซึ่งแปลว่า “เจดีย์จมูกร้อน” นั่นหมายถึงเมื่อแหงนหน้าคอตั้งบ่า เพ่งมองไปยังองค์เจดีย์มากเข้า ก็จะรู้สึกร้อนจมูกร้อนใบหน้าจากแดดที่แผดเผา เนื่องจากว่าเจดีย์มีขนาดใหญ่และสูงที่สุดในพม่านั่นเองครับ

มีการค้นพบหลักฐานการสร้างเจดีย์แห่งนี้ในจารึกกัลยาณี สร้างขึ้นในสมัยพระเจ้าธรรมเจดีย์ ที่ทรงให้มีการจารึกไว้บนแผ่นหิน (เฉกเช่นเดียวกับเจดีย์ชเวดากอง) โดยสันนิษฐานว่า เจดีย์ชเวมอว์ดอร์มีมาตั้งแต่ต้นพุทธศตวรรษที่ 20 ด้วยความที่องค์เจดีย์มีขนาดค่อนข้างใหญ่ เมื่อเดินประทักษิณแล้วควรนับรอบให้ครบ จำให้แม่นว่าถอดรองเท้าเดินเข้าวัดมาจากทางไหนให้ออกไปตามทางเดิม เพราะทางขึ้นสู่ลานเจดีย์ทั้ง 4 ทิศของเจดีย์ชเวมอว์ดอร์มีลักษณะเหมือนกันหมด หากลงผิดก็จะเหมือนกับเดินไปที่ถนนอีกเส้นหนึ่งเลยทีเดียว

เจดีย์ชเวมอว์ดอร์เคยได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหวถึง 3 ครั้ง ครั้งสุดท้ายเมื่อพ.ศ. 2473 ได้รับความเสียหายมากพังทะลายลงมาเกือบทั้งองค์เจดีย์ เหตุการณ์ครานั้นทำให้ชาวพม่าร่ำไห้ไปทั้งเมือง แต่ด้วยศรัทธาอันแรงกล้าของบรรดาพุทธศาสนิกชนทั้งชาวพม่าและชาวต่างชาติ ก็ได้ช่วยกันบริจาคทุนทรัพย์เพื่อบูรณะเจดีย์ชเวมอว์ดอร์ขึ้นมาใหม่จนสำเร็จ และมียอดฉัตรองค์ใหม่ที่ประดับเพชรขนาดใหญ่กว่าเดิม

วันต่อมาผู้เขียนเดินทางสู่เมือง “พุกาม” หรือ “บากัน” (Bagan) ครับ ชาวพม่าเรียกเมืองนี้ว่า เป็นเมืองแห่งเจดีย์ 4,000 องค์ และเมืองนี้ยังเป็นที่ตั้งของมหาสถานแห่งที่ 4 นั่นคือ “เจดีย์ชเวซิกอง” (Shwezigon Pagoda) อันมีความหมายว่า “เจดีย์ทองแห่งชัยชนะ” ครับ

พระเจดีย์ชเวซิกอง เป็นต้นแบบเจดีย์ก่อตันของพม่า ตั้งอยู่บนพื้นทราย สร้างในสมัยพระเจ้าอโนรธา ว่ากันว่า เงาของพระเจดีย์ชเวซิกองนั้นไม่เคยล้ำออกมาจากนอกฐานสี่เหลี่ยม หากล้ำออกมาจะถือว่าเป็นลางร้าย ตามตำนานระบุว่า พระเจดีย์ชเวซิกองเป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุส่วนพระนลาฏ (หน้าผาก) และพระทันตธาตุของพระพุทธเจ้า โดยพระบรมสารีริกธาตุส่วนพระนลาฏนั้น พระเจ้าอโนรธาแห่งอาณาจักรพุกาม ทรงอัญเชิญมาจากเมืองศรีเกษตร (เมืองแปร) ส่วนพระทันตธาตุนั้นอัญเชิญมาจากประเทศศรีลังกา ในขณะที่บางตำราก็เล่าว่า พระเจดีย์ชเวซิกองยังมีพระบรมสารีริกธาตุส่วนพระรากขวัญ (ไหปลาร้า) ประดิษฐานอยู่ด้วย

สิ่งที่สำคัญในมหาสถานแห่งนี้คือ พระพุทธรูปยืน 4 องค์เป็นศิลปะแบบอินเดียสมัยปาละ หล่อด้วยโลหะสำริดที่มีความงดงามที่สุดกว่าพระพุทธรูปองค์อื่นๆ ประดิษฐานอยู่ในวิหารทิศ วิหารละองค์ สูงประมาณ 12-13 ฟุต ส่วนความพิเศษที่แตกต่างอีกอย่างหนึ่งของมหาสถานแห่งนี้ คือ พระเจดีย์ชเวซิกองแบบระฆังคว่ำ ซึ่งมีความสูง 160 ฟุต ตั้งอยู่บนพื้น ไม่มีเนินเขาให้หนุนสูงเฉกเช่นมหาเจดีย์อื่น

ส่วนที่บริเวณฐานเจดีย์เป็นฐานประทักษิณขนาดใหญ่ 3 ชั้นในผังสี่เหลี่ยมยกเก็จ ฐานเจดีย์มีแผ่นดินเผาเคลือบเล่าเรื่องชาดกและเรียงรายด้วยปูรณฆฏพ (หม้อน้ำแห่งความสมบูรณ์) ซึ่งเป็นสัญลักษณ์เก่าแก่ของชาวอินเดียโบราณ เป็นเหมือนการให้โชคให้ลาภนั่นเองครับ ดังนั้น พระเจดีย์ชเวซิกองจึงเป็นมหาสถานที่สำคัญอีกแห่ง ที่ต้องมากราบสักการะหากมีโอกาสได้เดินทางมาพม่า

มหาสถานแห่งสุดท้ายในพม่า อาจจะต้องใช้ศรัทธาเป็นเครื่องพิสูจน์มากหน่อยครับ เนื่องจากการเดินทางไปยัง “พระธาตุอินทร์แขวน” ค่อนข้างทุลักทุเลสักนิด แต่หากเทียบกับในอดีตแล้ว ก็ต้องบอกว่า ปัจจุบันการเดินทางสบายกว่ามากครับ พระธาตุอินทร์แขวนเป็นพระธาตุประจำปีนักษัตรปีจอ ดังนั้น คนเกิดปีจอจึงไม่ควรพลาดมาสักการะพระธาตุอินทร์แขวน หากมีโอกาสเดินทางมาเที่ยวพม่า

“พระธาตุอินทร์แขวน” หรือ “ไจก์ทิโย” (Kyaikhtiyo) ในภาษามอญแปลว่า “หินรูปหัวฤาษี” เนื่องเพราะมีลักษณะเป็นก้อนหินสีทองอร่ามที่ตั้งหมิ่นเหม่ต่อการตกลงไปสู่เบื้องล่าง คล้ายกับพระอินทร์นำมาแขวนเอาไว้บนยอดเขาที่มีความสูงราว 3,600 ฟุตจากระดับน้ำทะเล

การเดินทางไปพักค้างบนคินปูนแคมป์ (Kinpun Base Camp) มีโรงแรมให้เลือกพักอยู่พอสมควรครับ กระนั้นเราก็ยังเห็นศรัทธาอันแรงกล้าของพุทธศาสนิกชน โดยเฉพาะคนพม่าที่นิยมปักหลักพักค้างกันกลางลานวัดโล่งๆ นัยว่าเพื่อต้องการเข้าถึงพุทธศาสนาให้ได้มากที่สุด หากเป็นคนไทยก็จะนิยมมากราบไหว้ 3 ครั้ง คือในช่วงเย็น ช่วงค่ำ และเช้ามืด เนื่องจากมหาสถานแห่งนี้มิได้มีกำหนดเวลาเปิดปิดครับ ซึ่งก็สอดรับกับความเชื่อของชาวพม่าที่ว่า ในชีวิตหนึ่งต้องได้มาแสวงบุญที่นี่ 3 ครั้ง จึงจะสมปรารถนาที่ได้อธิษฐานไว้

ผู้เขียนได้นำพาญาติธรรมไปนั่งสวดมนต์เบื้องหน้าพระธาตุอินทร์แขวน และนำพาฆราวาสชายเข้าไปปิดทองยังองค์พระธาตุ ซึ่งไม่อนุญาตให้ผู้หญิงเข้าไป จึงทำได้เพียงฝากทองไปช่วยปิดและถ่ายภาพเป็นที่ระลึกกันบริเวณหน้าองค์พระธาตุเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม พระธาตุอินทร์แขวนจะศักดิ์สิทธิ์อย่างที่พุทธศาสนิกชนชาวพม่าและทั่วโลกเชื่อหรือไม่ ไม่ใช่เรื่องสำคัญครับ จิตใจของเราที่ดั้นด้นขึ้นไปกราบไหว้ต่างหากที่สำคัญยิ่งกว่า ถ้าสักการะด้วยใจบริสุทธิ์ มีสมาธิแน่วแน่ไปยังองค์พระธาตุ เปล่งเสียงสวดมนต์ด้วยความเคารพ ก้มกราบด้วยจิตที่เต็มเปี่ยมไปด้วยศรัทธา บุญกุศลก็จะบังเกิดขึ้นแก่เราแน่นอน

ผู้เขียนนั่งสวดมนต์เบื้องหน้าพระธาตุราวๆหนึ่งชั่วโมงครับ ได้สังเกตเห็นทั่วบริเวณว่า ยิ่งค่ำก็ยิ่งคนมาก ยิ่งดึกก็ยิ่งคนเยอะ ผู้คนบนพระธาตุอินทร์แขวนมีจำนวนมากมายราวกับดาวบนท้องฟ้า ที่ส่องประกายสะท้อนเงาแสงแห่งศรัทธาระยิบระยับ เนื่องด้วยศรัทธาของพุทธศาสนิกชน จากสิบเป็นร้อย เป็นหมื่น เป็นล้านดวง จิตแห่งศรัทธาก็จะสามารถช่วยกันส่องสว่างดวงแสงแห่งธรรม เพื่อนำทางตนเองและผู้อื่นไปสู่หนทางแห่งการหลุดพ้นที่แท้จริง

(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 169 มกราคม 2558 โดย กานต์ จอมอินตา ผู้อำนวยการโครงการธรรมาภิวัตน์ สถานีโทรทัศน์ NEW 1)
พระมหาเจดีย์ชเวดากอง
พระมหาเจดีย์ชเวดากอง
คณะท่องเที่ยวท่องธรรมหน้าองค์พระมหาเจดีย์ชเวดากอง
เจดีย์ชเวมอว์ดอว์
ทางเข้าเจดีย์ชเวมอว์ดอว์
เจดีย์ชเวซิกอง
พระพุทธรูปยืนที่วิหารทิศเจดีย์ชเวซิกอง
พระธาตุอินทร์แขวน
คณะท่องเที่ยวท่องธรรมร่วมสวดมนต์ที่องค์พระธาตุอินทร์แขวน
กำลังโหลดความคิดเห็น