xs
xsm
sm
md
lg

ธรรมาภิวัตน์ : พม่า 5 มหาสถาน (ตอน1) “พระมหามัยมุนี” พระพุทธรูปมีชีวิต

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ในการเดินทางไป “ท่องเที่ยว ท่องธรรม ณ พม่า” ช่วงปลายเดือนมกราคม 2558 นี้ ผู้เขียนวางแนวทางไว้ว่า จะไปกราบสักการะ5 มหาสถานศักดิ์สิทธิ์ ที่ชาวพม่าและชาวพุทธทั่วโลกให้ความศรัทธา ทำให้ต้องเดินทางไปหลายเมืองครับ

เริ่มตั้งแต่ “กรุงย่างกุ้ง” เดิมชื่อเมือง “ตะเกิง” (Dagon) เพื่อไปสักการะมหาสถานแห่งที่ 1 คือ พระมหาเจดีย์ชเวดากอง (Shwedagon Pagoda) พระเจดีย์ทองคำคู่บ้านคู่เมืองของพม่า และใหญ่ที่สุดในพม่า อายุกว่า 2,500 ปี ภายในประดิษฐานเส้นพระเกศาธาตุของพระพุทธเจ้า

จากนั้นเดินทางต่อไปที่เมืองหงสาวดี หรือ “บาโก” (Bago) บ้า งก็เรียก “พะโค” ส่วนชาวมอญจะเรียกเมืองนี้ว่า “หานตาวดี” (Hanthawaddy) เพราะเป็นเมืองหลวงของมอญครับ เป็นที่ตั้งของพระเจดีย์ชเวมอดอว์ (Shwemawdaw Pagoda) หรือพระธาตุมุเตา มหาสถานแห่งที่ 2 นั่นเอง

ต่อมาก็สู่เมืองไจ้ทีโย แห่งรัฐมอญ ขึ้นสู่ยอดเขาเพื่อสักการะพระธาตุอินทร์แขว พระเจดีย์ที่บรรจุพระเกศาธาตุของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นมหาสถานสำคัญแห่งที่ 3 ที่ต้องมาให้ได้

ส่วนที่เมืองมรดกโลกพุกาม หรือ “บากัน” (Bagan) เมืองแห่งทุ่งเจดีย์ 4,000 องค์ เป็นที่ตั้งของเจดีย์ทองแห่งชัยชนะ คือ พระเจดีย์ชเวชิกอง (Shwezigon Pagoda) มหาสถานแห่งที่ 4 เป็นเจดีย์สีทองขนาดใหญ่ ที่นี่ถือเป็นศูนย์กลางของพระพุทธศาสนานิกายเถรวาทในพุกาม

จากนั้นไปต่อกันที่มัณฑะเลย์ เข้าสู่ตัวเมืองอมรปุระ(Amrapura) ราชธานีของพระเจ้าโบดอพญา หรือพระเจ้าปดุง ที่คนไทยคุ้นเคยพระนามจากเหตุการณ์สงคราม 9 ทัพ สงครามใหญ่ครั้งสุดท้ายระหว่างไทยกับพม่าในสมัยรัชกาลที่ 1 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์

โดยไฮไลท์การเดินทางของเราจะอยู่ที่อมรปุระครับ คือการตื่นแต่เช้ามืดไปกราบสักการะและร่วมพิธีสรงพระพักตร์ "พระมหามัยมุนี" หนึ่งเดียวใน 5มหาสถานของพม่า ที่มิได้เป็นเจดีย์

พระมหามัยมุนี (Mahamuni Buddha) หรือพระมหามุนี ชาวพม่ามักเรียกสั้นๆว่า “มหามุนี” บางคนก็เรียกว่า “พยาจี” แปลว่า “พระใหญ่” หรือเรียกตามชื่อเมืองว่า “ยาไคน์เซดี” แปลว่า “พระเมืองยะไข่” หรือ “อาระกันเซดี” แปลว่า “พระเมืองอาระกัน” (อาระกันคืออีกชื่อของเมืองยะไข่) และชาวพม่าจะเรียกชื่อวัดพระมหามัยมุนี ว่าวัดปยกยี (Payagyi) ซึ่งแปลว่า วัดยะไข่ หรือวัดอาระกัน หรือวัดพยาจี

พระมหามัยมุนีเป็นพระพุทธรูปทองคำขนาดใหญ่ทรงเครื่องกษัตริย์ ที่ได้รับการขนานนามว่า “พระพุทธรูปทองคำเนื้อนิ่ม” (คนไทยเรียก "พระเนื้อนิ่ม") เป็นพระพุทธรูปประทับนั่ง ปางมารวิชัย หน้าตักกว้าง 9 ฟุต สูง 12 ฟุต พระพักตร์หล่อด้วยสำริดที่มีความเงาวาวเป็นพิเศษ พระวรกายเป็นปูนปั้นหุ้มด้วยทองคำเปลวหนา 2 นิ้ว ทรงเครื่องประดับทองและสิ่งของมีค่าหลายชนิด ประกอบด้วยมงกุฎ กุณฑล กรรเจียก อินทรธนู กรองศอ และสังวาล ในทางสถาปัตยกรรมนั้นสันนิษฐานว่า ได้รับอิทธิพลมาจากทางอินเดียและสมัยอยุธยา

พระพุทธรูปองค์นี้ได้รับการอัญเชิญมาประดิษฐาน ณ เมืองมัณฑะเลย์ เมื่อพ.ศ. 2328 ชาวพม่าเชื่อว่าเป็นพระพุทธรูปที่ได้รับการประทานลมหายใจจากพระพุทธเจ้า จึงเชื่อว่าเป็น “โยะฉิ่นด่อ” หรือ “พระพุทธรูปมีชีวิต” เป็นพระพุทธรูปที่แสดงถึงพระบารมีของพระมหากษัตริย์ที่ได้ครอบครองความพิเศษดังกล่าว ทำให้พระมหามัยมุนีเกี่ยวพันกับการสงครามอยู่เสมอ ดั่งนามของพระพุทธรูปองค์นี้ที่มีความหมายว่า “ปราชญ์ผู้ยิ่งใหญ่”

ตามตำนานเล่าไว้ว่า พระเจ้าจันทสุริยะมีพระประสงค์จะเสด็จไปสักการะพระพุทธเจ้าที่เมืองสาวัตถี ประเทศอินเดีย ทว่าเมื่อพระพุทธองค์ทรงทราบก็ได้เสด็จมาที่เมืองธรรมวดี (รัฐยะไข่) ด้วยพระองค์เอง โดยเสด็จเหาะมาประทับบนเนินเขาศีลคีรี ตรงข้ามกับเมืองเจ๊าก์ด่อ

พระเจ้าจันทสุริยะทรงทราบว่าพระพุทธเจ้าเสด็จมา จึงไปถวายสักการะและสดับพระธรรมเทศนา ในครั้งนั้นพระพุทธเจ้าได้เสด็จไปประทับ ณ ราชธานีของพระเจ้าจันทสุริยะเป็นเวลา 7 วัน ก่อนเสด็จกลับ พระเจ้าจันทสุริยะได้ทูลขอให้ทรงสร้าง “รูปเคารพ” เพื่อประดิษฐานไว้ที่เมืองนี้ ท้าวสักกเทวราชจึงเสด็จมาเนรมิตพระพุทธรูปองค์หนึ่งซึ่งงดงามดุจมีชีวิต พระพุทธเจ้าทรงพอพระทัยมาก ตรัสว่า

“ … ตถาคตจะนิพพานเมื่ออายุได้ 80 ปี แต่พระพุทธรูปองค์นี้และคำสอนของเราจะดำรงสืบต่อไปนานถึง 5,000 ปี เท่ากับอายุพระศาสนาของตถาคต … "

พร้อมทั้งประทานพระเกศาให้เป็นเครื่องบูชา ซึ่งจะดำรงอยู่สืบไปอีก 5,000 ปี ภายหลังจากที่พระพุทธองค์ได้เสด็จปรินิพพานแล้ว

รูปเคารพองค์ดังกล่าวได้ประดิษฐานไว้บนเนินเขาศิริกูฏ ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของพระราชวัง เมื่อพระพุทธเจ้าได้ประทานลมหายใจสู่รูปเคารพนี้ จึงทำให้เกิดมีชีวิตขึ้น

ทั้งหมดนี้เป็นเรื่องที่เล่าขานกันมาจนเป็นตำราครับ ทว่าข้อเท็จจริงในเชิงวิชาการได้ค้นพบหลักฐานในพงศาวดารยะไข่ ปรากฏบันทึกที่เกี่ยวกับพระมหามัยมุนีในช่วงพุทธศตวรรษที่ 13 ทว่ากาลเวลาผ่านไป พระพุทธรูปองค์นี้ก็เปลี่ยนแปลงตามไปด้วย ทั้งเป็นเป้าหมายในการปล้นชิง กองทัพปยูได้ขูดเอาทองคำไปจากแผ่นหลังขององค์พระ ส่วนกองทัพมอญ กองทัพพุกาม ก็ตัดขาข้างขวากลับนครของตนเอง ซึ่งสะท้อนตามที่ผู้เขียนได้กล่าวไว้ข้างต้นว่า พระมหามัยมุนีเป็นพระพุทธรูปที่ต้องเกี่ยวพันกับการศึกการสงครามมาโดยตลอด

การทำลายหรือเคลื่อนย้ายพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์สำคัญของเมือง ไปยังนครของผู้ชนะสงครามนี้ กระทำกันเป็นเรื่องปกติ เพื่อเป็นการแสดงสัญลักษณ์แห่งชัยชนะ พระมหามัยมุนีก็เช่นกันครับ ใน พ.ศ. 2328 เคยถูกแยกออกเป็น 3 ส่วน แล้วลากจูงข้ามเขาอาระกันโยมา และอัญเชิญจากยะไข่ลงเรือการะเวกล่องไปถึงราชธานีอมรปุระ ซึ่งพระเจ้าปดุงได้สร้างวัดเตรียมไว้ เพื่อประดิษฐานพระมหามัยมุนี

สมเด็จพระกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงเป็นชาวไทยบุคคลแรกๆที่ได้สักการะพระมหามัยมุนี ได้สันนิษฐานถึงขั้นตอนการขนย้ายและการบูรณะในครั้งนั้น และจดบันทึกไว้ในหนังสือเที่ยวเมืองพม่า ว่า

" … พระพุทธรูปมหามัยมุนีเห็นจะชำรุดมาแต่โบราณ การบูรณะต้องปั้นแทนเนื้อทองของเดิมที่หักหายหลายแห่ง จึงเป็นอยู่อย่างทุกวันนี้ เมื่อตรวจดูในพงศาวดารก็พอคิดถึงเหตุที่ชำรุด ด้วยปรากฏว่าเคยถูกเลาะออกเป็นท่อนๆ เพื่อประสงค์ย้ายเอาไปประเทศอื่น ข้อนี้ส่อว่าเวลาเจ้าของเดิมได้เมืองยักไข่ (ยะไข่-ผู้เขียน) คืน คงเอากลับเข้าติดต่อกันอีก การที่ต่อของใหญ่มิใช่ง่ายนะ พระมหามัยมุนีคงเริ่มบุบสลายด้วย ต้องติดต่อซ่อมแซม แต่ยังอยู่เมืองยักไข่แล้ว แต่เจ้าของย่อมปกปิด เช่นเดียวกับพม่าปกปิดในเวลานี้

เมื่อพระเจ้าปดุงสั่งให้เชิญมาเมืองพม่า ก็คงไม่ทรงทราบว่าบุบสลาย การที่เลาะพระองค์ออกเป็น 3 ท่อนเอาลงเรือ แล้วเอาขึ้นใส่ตะเฆ่ลากข้ามภูเขามาเมืองพม่า ก็น่าจะกระทบกระเทือนให้ชำรุดยิ่งขึ้นอีก เมื่อเชิญขึ้นประดิษฐานจึงต้องพอกพูนประกอบตรงที่ชำรุด และให้ลงรักปิดทองเสียทั้งองค์ แต่เกรงคนจะสงสัยว่า มิใช่พระมหามัยมุนีจึงให้ขัดชักเงาแต่ที่ดวงพระพักตร์ให้เห็นว่าเป็นพระหล่อ ...”


ในปี พ.ศ. 2427 สมัยพระเจ้าธีบอ ก่อนจะเสียเมืองพม่าให้อังกฤษได้เกิดไฟไหม้วัดมหามัยมุนี จึงทำให้ทองคำเปลวที่ปิดพระไว้ละลาย รวบรวมเนื้อทองได้นํ้าหนักถึง 700 บาท (ตามบันทึกของสมเด็จพระกรมพระยาดำรงราชานุภาพ) บ้างก็ว่ามากถึง 5,450 บาท (ประมาณ 90 กก.) และได้มีการนำทองคำเหล่านั้นพอกกลับองค์พระดังเดิม

ผู้อ่านที่ได้เดินทางไปพม่า จะต้องไปกราบสักการะองค์พระมหามัยมุนีและร่วมพิธีสรงพระพักตร์ ซึ่งจะมีขึ้นทุกเช้าเวลาประมาณ 04.00 น. (แนะนำให้เดินทางไปรอที่บริเวณหน้าวัดตั้งแต่ 03.30 น. เนื่องจากมีพุทธศาสนิกชนทั้งพม่า ไทย และชาวต่างชาติ ไปร่วมพิธีดังกล่าวเป็นจำนวนมาก)

เมื่อถึงเวลา 04.00 น. เสียงมโหรีเริ่มบรรเลง พร้อมกับเสียงสวดมนต์ดังขึ้นทั่วบริเวณวัด พิธีสรงพระพักตร์มีขั้นตอนต่างๆ เสมือนการทำกิจวัตรยามเช้าของคนเราครับ พูดง่ายๆคือมีการล้างหน้าแปรงฟัน โดยท่านเจ้าอาวาสวัดเป็นผู้ประกอบพิธี เจ้าอาวาสรูปปัจจุบันชื่อพระอุ โอ ตะมะ เป็นผู้สืบทอดรูปที่ 4 ที่ได้ทำหน้าที่ศักดิ์สิทธิ์นี้

พิธีเริ่มจากการนำผ้ามาคลุมพระวรกายขององค์พระ ถวายอาหาร ผลไม้ เปลี่ยนดอกไม้เก่าออกไป นำดอกไม้ใหม่มาถวาย จากนั้นนำน้ำไม้จันทน์หอมและทานาคา (สมุนไพรทำแป้งพม่าที่หลายคนคุ้นหูดี) มาประพรม กลิ่นหอมอบอวลไปทั่วบริเวณ เสริมให้พิธีนี้มีความขลังมากยิ่งขึ้น

ขั้นตอนการล้างพระพักตร์จะล้างด้วยขันทอง 3 ครั้ง ขันเงิน 3 ครั้ง และขันธรรมดา 3 ครั้ง แปรงพระโอษฐ์ด้วยแปรงทองขนาดใหญ่ จากนั้นท่านเจ้าอาวาสจะนำผ้าที่ชาวพุทธนำมาถวาย เพื่อเช็ดพระพักตร์และซับจนแห้งสนิท กอปรกับการโบกพัดทองถวายในช่วงสุดท้ายของพิธี เปรียบเสมือนการอุปัฏฐากพระมหาเถระ

จากนั้นจะอนุญาตให้ฆราวาสชายบางส่วนขึ้นไปปิดทองคำเปลว ส่วนผู้หญิงไม่ได้รับอนุญาต ต้องฝากทองขึ้นไปปิด แต่ก็ไม่เป็นไรครับ เพราะทุกคนมีศรัทธาอยู่ที่ใจ ส่วนผู้เขียนได้มีโอกาสขึ้นไปยังส่วนฐานของพระมหามัยมุนี เพื่อกราบสักการะ ปิดทอง และร่วมบันทึกภาพพิธีสำคัญในครั้งนี้ จึงได้สังเกตเห็นร่องรอยความเสียหายและการซ่อมแซม สะท้อนว่าพระมหามัยมุนีได้รับการซ่อมแซมมาแล้วหลายครั้งครับ ไม่นับรวมทองคำเปลวที่พุทธศาสนิกชนนำมาปิด ทำให้เกิดผิวที่เป็นปุ่มปม ขรุขระ ส่วนบริเวณพระอุทร(ท้อง) ซึ่งไม่ถูกทองคำเปลวปิดจนพอกนูนเหมือนส่วนอื่น มีร่องรอยนูนขึ้นเป็นขอบหนา ทำให้เห็นเนื้อแท้ที่ปิดทับด้วยทองคำ

เมื่อพินิจพระพักตร์ของพระมหามัยมุนีในระยะใกล้ชิด ก็สัมผัสได้ถึงความมีชีวิตที่ไม่เหมือนพระพุทธรูปทั่วไป เพราะพระพักตร์ซึ่งถูกล้างเช็ดถูทุกวันจนขึ้นเงาวาว สีทองสุกปลั่ง เมื่อสัมผัสเนื้อทองที่พระวรกายจะรู้สึกนิ่มๆทั้งองค์ เนื่องเพราะถูกปิดทองคำเปลวจนหนา

และเมื่อมองลงมายังเบื้องล่าง เห็นชาวพุทธจากทั่วสารทิศกำลังกราบไหว้บูชา และนำผ้าเช็ดหน้าผืนเล็กซึ่งได้จากการเช็ดพระพักตร์พระมหามัยมุนี กลับไปกราบไหว้บูชา ก็ถือว่าเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ อันจะนำมาซึ่งสิริมงคลแก่ผู้บูชานั้น อันเป็นเครื่องบ่งชี้ “ศรัทธา” ของชาวพุทธที่มีต่อพุทธศาสนาอย่างมั่นคง จนทำให้พุทธศาสนาหยั่งรากลึกไปยังดินแดนต่างๆ รวมถึงประเทศพม่าแห่งนี้ด้วย

การเดินทางของท่องเที่ยว ท่องธรรม “พม่า 5 มหาสถาน” เพิ่งจะเริ่มต้น ฉบับหน้าจะกลับมาเขียนถึงอีก 4 มหาสถานในพม่ากันครับ

(อ่านต่อฉบับหน้า)

(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 168 ธันวาคม 2557 โดย กานต์ จอมอินตา ผู้อำนวยการโครงการธรรมาภิวัตน์ สถานีโทรทัศน์ ASTV)
พิธีสรงพระพักตร์พระมหามัยมุนี
พิธีสรงพระพักตร์พระมหามัยมุนี
วัดปยกยี ที่ประดิษฐานพระมหามัยมุนี
ภายในวัดปยกยี
ส่วนหนึ่งของคณะท่องเที่ยว ท่องธรรม เข้าร่วมพิธีสรงพระพักตร์
ส่วนหนึ่งของคณะท่องเที่ยว ท่องธรรม เข้าร่วมพิธีสรงพระพักตร์
กำลังโหลดความคิดเห็น