xs
xsm
sm
md
lg

ธรรมบันเทิง : The Hundred-Foot Journey การเดินทางสู่ความสำเร็จ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


The Hundred-Foot Journey เป็นภาพยนตร์อเมริกันที่ผสมกลิ่นอายวัฒนธรรมอินเดียกับฝรั่งเศสได้อย่างกลมกลืน หนังเปิดเรื่องในเช้าวันหนึ่ง ณ ตลาดอันแสนวุ่นวายของเมืองมุมไบ คุณแม่คนหนึ่งพาลูกชายฝ่าฝูงชนออกไปซื้อวัตถุดิบชั้นเลิศมาทำอาหาร นั่นคือ หอยเม่น ขณะที่ผู้คนกำลังยื้อแย่งกันซื้อนั้น เด็กชายตัวน้อยเป็นคนเดียวที่ลองหยิบมันขึ้นมาชิม เพื่อรับรู้รสชาติความอร่อย จนพ่อค้าสังเกตว่า นี่ล่ะคือคนที่รู้คุณค่าของวัตถุดิบชนิดนี้จริงๆ

ฉากเปิดของหนังต้องการสื่อให้เห็นว่า “เด็กชายฮัสซัน” มีพรสวรรค์ในการเรียนรู้ว่า วัตถุดิบชนิดใดที่จะนำมาปรุงเป็นอาหารเลิศรส แต่ส่วนหนึ่งเขาก็ได้รับการถ่ายทอดศาสตร์การปรุงอาหารจากผู้เป็นแม่

เรื่องราวเล่าข้ามมาอีกหลายปี ฮัสซันในวัยหนุ่มพร้อมครอบครัว อพยพไปฝรั่งเศส เพื่อสร้างเนื้อสร้างตัวและเริ่มต้นชีวิตใหม่ เพราะร้านอาหารของเขาในอินเดียถูกไฟไหม้ ด้วยน้ำมือของนักการเมืองท้องถิ่น ทำให้ฮัสซันต้องสูญเสียแม่ไป แต่วิชาความรู้การปรุงอาหารที่เขาได้รับมายังติดตัวไปตลอด

เมื่อมาถึงฝรั่งเศส “ปาป้า” หรือพ่อ ผู้เป็นหัวหน้าครอบครัว ก็ตระเวนหาสถานที่เปิดร้านอาหาร จนกระทั่งไปเจอร้านอาหารเก่าที่ปิดกิจการไปแล้ว ประกาศขายบ้านและที่ดิน เขาไม่ปล่อยโอกาสทองให้หลุดไป แม้จะมีเสียงคัดค้านจากลูกชายคนโตและลูกสาวคนรอง เนื่องจากฝั่งตรงข้ามเป็นร้านอาหารฝรั่งเศสหรูหราระดับติดดาวมิชลิน (การรับประกันจากนักวิจารณ์ชั้นนำในแวดวงอาหารที่ให้การยอมรับในระดับสากล) และยังเป็นร้านที่รัฐมนตรีของฝรั่งเศสแวะเวียนมาบ่อยๆ และนั่นเป็นสาเหตุว่า ทำไมร้านเก่าต้องปิดกิจการ

แต่ด้วยความมั่นใจว่า อาหารอินเดียมีเอกลักษณ์โดดเด่นไม่แพ้ชาติใดในโลก และมีความแตกต่างจากอาหารฝรั่งเศส แถมยังมีลูกชายอย่างฮัสซัน เป็นเชฟมือหนึ่ง ปาป้าจึงตัดสินใจซื้อร้านเก่ามาปรับปรุง เตรียมเปิดร้านอาหารอินเดีย โดยไม่ครั่นคร้ามต่อร้านอาหารฝรั่งเศสชื่อดัง

ร้านอาหารฝรั่งเศสแห่งนี้มี “มาดามมัลลอรี” หญิงหม้ายสูงวัยเป็นเจ้าของ เธอมีฝีมือการปรุงอยู่ในระดับแนวหน้า เมื่อมีร้านอาหารอินเดียเตรียมมาเปิดใหม่ เธอจึงไม่ค่อยสบอารมณ์นัก แล้วมาดามมัลลอรีก็ต้อนรับเพื่อนบ้านร้านใหม่ด้วยการแวะเข้าไปทักทาย ทำทีสนใจอยากรู้ว่า อาหารอินเดียเป็นอย่างไร พร้อมขอรายการอาหารวันเปิดร้าน แต่สิ่งที่เธอทำในวันรุ่งขึ้น คือ กว้านซื้อวัตถุดิบที่ฮัสซันต้องใช้ประกอบอาหารจนเกลี้ยงตลาดในชุมชน ทำให้ปาป้ากับฮัสซันต้องเดือดร้อนขับรถออกไปไกลเพื่อหาซื้อวัตถุดิบ

หลังจากแก้ปัญหาแรกได้อย่างทุลักทุเล ก็ถึงเวลาเปิดร้านตอนเย็น ปาป้ายืนสวมสูทรอต้อนรับหน้าร้าน แต่ลูกค้ากลับทยอยเข้าร้านมาดามมัลลอรี เขาจึงหันมาใช้กลยุทธ์จุดเด่นสไตล์อินเดีย แต่งชุดอินเดียเต็มยศ พร้อมทั้งจับลูกสาวมาห่มส่าหรีเรียกลูกค้า ทำให้ความคึกคักของร้านอาหารอินเดียในค่ำคืนแรก ไม่น้อยไปกว่าร้านฝรั่งเศส

แต่ศึกครานี้ ยังไม่จบง่ายๆ การชิงไหวชิงพริบยังคงเกิดขึ้นอยู่เรื่อยๆ แต่ขณะที่ปาป้ากับมาดามมัลลอรี กำลังเปิดศึกสงครามจิตวิทยากันนั้น ฮัสซันกลับสานสัมพันธ์อันดีกับ “มาการิต้า” ผู้ช่วยเชฟร้านฝรั่งเศส และเรียนรู้พัฒนาทักษะจากตำราอาหารฝรั่งเศส เพื่อนำมาประยุกต์ และผสมผสานกับอาหารอินเดียให้ถูกปากลูกค้าชาวยุโรป

แม้กระทั่งในวันที่ปาป้าแอบไปซื้อนกพิราบจนหมดตลาด ฮัสซันก็ปรุงเมนูจานนั้นสุดฝีมือมาให้มาดามมัลลอรีเพื่อเสิร์ฟรัฐมนตรี พร้อมกล่าวขอโทษแทนผู้เป็นพ่อ แม้ว่าต่อหน้าคนอื่น มาดามคนดังจะชิมเมนูนั้นแล้วเททิ้งอย่างไม่ไยดี แต่ลับหลังเธอแอบไปร้องไห้ เพราะรู้ดีว่ากำลังทำร้ายจิตใจผู้อื่น เพราะฝีมือการปรุงของเชฟหนุ่มสอบผ่านมาตรฐานที่เธอต้องการด้วยซ้ำ

และแล้ววันหนึ่ง ความขัดแย้งที่ก่อตัวมานานก็ถึงจุดเดือด เมื่อเชฟหนุ่มฝรั่งเศสรายหนึ่งพาพรรคพวกไปถล่มร้านอาหารอินเดียจนเสียหาย เมื่อมาดามมัลลอรีทราบ จึงไล่เชฟคนดังกล่าวออกทันที เหตุการณ์ดังกล่าว ทำให้เธอรู้สึกผิด จึงเริ่มใจอ่อนเปิดโอกาสให้ฮัสซันลองทำไข่เจียว เมนูสุดง่ายที่เธอใช้เป็นพื้นฐานในการตัดสินใจว่า เชฟคนไหนฝีมือยอดเยี่ยมจริง ผลจากการใฝ่เรียนรู้ของฮัสซัน ทำให้เขาชนะใจมาดามมัลลอรี กลายเป็นเชฟเนื้อหอม ที่เธอซื้อตัวไปทำหน้าที่แทนเชฟที่เพิ่งไล่ออก

แม้จะดูเป็นเรื่องประหลาดที่เชฟอาหารอินเดียจากร้านคู่แข่ง มาเป็นเชฟมือหนึ่งของร้านอาหารฝรั่งเศส ตอนแรกปาป้าไม่เห็นด้วย แต่เมื่อคิดว่านี่เป็นโอกาสดีที่ลูกชายจะได้ก้าวสู่ความสำเร็จอีกขั้นหนึ่ง จึงยอมให้ลูกชายเดินตามความฝัน

วันเวลาผ่านไปแรมเดือน ความหมั่นเพียรเรียนรู้ของฮัสซัน ก็สร้างความสำเร็จให้ร้านมาดามมัลลอรีได้รับดาวดวงที่ 2 ของมิชลิน และสร้างชื่อเสียงให้กับเขาด้วย จนกระทั่งร้านอาหารสุดหรูในกรุงปารีส จ้างเขาไปเป็นเชฟในภัตตาคารระดับ 3 ดาวมิชลิน

ช่วงท้ายของเรื่อง หนังถ่ายทอดให้เห็นความสำเร็จของฮัสซัน ที่กลายเป็นเชฟคนดังระดับประเทศฝรั่งเศส แต่เมื่อความสำเร็จอิ่มตัวถึงจุดหนึ่ง เขาก็เลือกกลับมาที่ชนบทเล็กๆ ณ ร้านอันเป็นจุดเริ่มต้น เพื่อสานต่อร้านอาหาร 2 แห่ง ที่เขารักในที่สุด

เมื่อดูภาพยนตร์เรื่อง The Hundred-Foot Journey จบลง ผู้ชมย่อมได้รับความรู้สึกและข้อคิดจากหนังไปไม่น้อย โดยเฉพาะหากนำหลักพุทธศาสนาเรื่อง “อิทธิบาท 4” มาประกอบ

เพราะอิทธิบาท 4 คือ หลักธรรมที่เป็นจุดเริ่มต้นของความสำเร็จในกิจการงานทั้งปวง อันได้แก่ ฉันทะ (ความพอใจรักใคร่ในสิ่งนั้น) วิริยะ (ความพากเพียรในสิ่งนั้น) จิตตะ (เอาใจใส่ ไม่ทอดทิ้งในสิ่งนั้น) และ วิมังสา (หมั่นสอดส่องในเหตุผลแห่งความสำเร็จให้ลึกซึ้ง)

โดยหลักธรรม 4 ประการนี้ สื่อให้เห็นชัดเจนจากความสำเร็จของฮัสซัน ที่เริ่มต้นด้วยพื้นฐานความไม่มีอะไรเลย ไม่ได้เรียนจบด้านอาหาร ไม่มีประกาศนียบัตรจากสถาบันใดๆ มีเพียงแต่ “ฉันทะ” ความพึงพอใจในศาสตร์ด้านการปรุง มาตั้งแต่แม่ยังมีชีวิตอยู่ เมื่อรักและหลงใหลในสิ่งนั้น ทำให้เกิด “วิริยะ” ขวนขวาย พัฒนาตนเอง จากการอ่านตำรา และทดลองสิ่งใหม่ๆ เช่น การทำอาหารฝรั่งเศส การประยุกต์อาหารอินเดีย การประยุกต์เมนูสุดล้ำที่เกิดจากความเพียรศึกษามานาน

ส่วน “จิตตะ” นั้น เห็นได้ชัดจากวิถีชีวิตของเชฟหนุ่ม ที่ไม่เคยทอดทิ้งสิ่งที่ทำอยู่ เปรียบได้กับการมีสมาธิ แน่วแน่ใส่ใจในกิจที่กระทำ โดยเขาใช้เวลาว่างหมดไปกับการอ่านตำราอาหาร ออกไปหาวัตถุดิบชั้นดี และทดลองทำ เพื่อเรียนรู้ปรับปรุง แม้กระทั่งช่วงที่กลายเป็นคนดังในกรุงปารีส ก็ไม่ได้หลงใหลไปกับชื่อเสียงที่ถาโถมเข้ามา แต่ยังคงตั้งใจพัฒนาฝีมือของตนต่อไป

สุดท้าย คือ “วิมังสา” อันเป็นการสอดส่องในความสำเร็จที่เกิดขึ้น หรืออีกนัยอาจรวมถึงการใช้ “ปัญญา” ซึ่งหนังถ่ายทอดให้เราเห็นว่า หลังจากฮัสซันขึ้นไปสู่จุดสูงสุดในวิชาชีพ คืนหนึ่งเขามีโอกาสกินอาหารอินเดียกับเพื่อนร่วมชาติ ทำให้เขาเกิดปัญญาว่า ท้ายที่สุดแล้ว การเดินทางกลับไปหารากฐานความเป็นตัวตนที่เรียบง่ายแบบดั้งเดิม ก็เป็นสิ่งที่มีคุณค่าไม่ต่างไปจากชื่อเสียงที่มีอยู่

การเดินทางของฮัสซัน จากจุดเริ่มต้นจนถึงบทสรุป จึงเป็นไปตามหลักอิทธิบาท 4 ซึ่งผู้ชมเอง หากตรึกตรองชีวิตหน้าที่การงานของตน และนำหลักธรรมดังกล่าวมาใช้ ก็ย่อมค้นพบการเดินทางที่ประสบผลสำเร็จได้เช่นกัน

(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 169 มกราคม 2558 โดย ชยวรรศ มานะศิริ)








กำลังโหลดความคิดเห็น