ปีใหม่ 2558 นี้ มาเริ่มต้นปีกันด้วยผลไม้ไทยๆ อย่าง “กล้วย” ที่อุดมไปด้วยคุณค่าทางโภชนาการ กินแล้วทำให้มีชีวิตชีวา เอาฤกษ์เอาชัยให้ปีใหม่นี้ชีวิตมีแต่เรื่องกล้วยๆ ทำอะไรก็สำเร็จสมหวังง่ายดายเหมือน “ปอกกล้วยเข้าปาก”
ปอกกล้วยเข้าปากทำให้ชีวิตดีสุขภาพดีได้จริงๆ เพราะกล้วยอุดมไปด้วยโปรตีน วิตามิน และแร่ธาตุต่างๆที่สำคัญและเป็นประโยชน์ต่อร่างกายมากมาย เช่น คาร์โบไฮเดรต โปรตีน ธาตุเหล็ก ฟอสฟอรัส โพแทสเซียม แมกนีเซียม วิตามินเอ วิตามินบี 6 วิตามินบี 12 วิตามินซี วิตามินอี
นอกจากนี้ ยังอุดมไปด้วยเส้นใย กากอาหาร และน้ำตาลจากธรรมชาติ 3 ชนิด คือ ซูโครส กลูโคส และฟรุคโทส ซึ่งช่วยเพิ่มพลังงานให้ร่างกายอีกด้วย
มีข้อมูลบอกว่า กล้วยมีวิตามินและแร่ธาตุต่างๆมากกว่าแอปเปิ้ลถึง 2 เท่า โดยมีคาร์โบไฮเดรตมากกว่า 2 เท่า มีฟอสฟอรัสมากกว่า 3 เท่า มีโปรตีนมากกว่า 4 เท่า วิตามินเอและธาตุเหล็กมากกว่า 5 เท่า
มาดูกันว่า กล้วย 3 ชนิด คือ กล้วยไข่ กล้วยน้ำว้า และกล้วยหอม ที่คนทั่วไปนิยมรับประทานนั้น ดีกับสุขภาพแค่ไหน
เสริมสร้างการเจริญเติบโตของเด็ก
ในกล้วย โดยเฉพาะกล้วยน้ำว้ามีกรดอะมิโนฮีสติดิน (Histidine) และอาร์จีนิน (Arginine) ซึ่งเป็นกรดที่จำเป็นต่อร่างกาย ช่วยในการเสริมสร้างการเจริญเติบโตของร่างกายอย่างต่อเนื่อง ผู้ใหญ่สมัยก่อนจึงมักให้เด็กๆกินกล้วยนํ้าว้าสุกเป็นประจำ
ลดความดันโลหิต
กล้วยมีโซเดียมเพียงเล็กน้อย แต่มีโพแทสเซียมสูง ซึ่งจะช่วยลดความดันโลหิตลงได้ ในประเทศอินเดียมีความเชื่อว่า หากรับประทานกล้วย 2 ผลต่อวัน จะสามารถลดความดันโลหิตได้ถึงร้อยละ 10 ภายในระยะเวลา 1 สัปดาห์
เพิ่มพลังสมอง
เพราะมีสารที่ช่วยทำให้มีเกิดสมาธิและมีการตื่นตัวตลอดเวลา
ลดอารมณ์แปรปรวน
ผู้หญิงในช่วงระหว่างก่อนมีหรือมีประจำเดือน อารมณ์จะหงุดหงิดแปรปรวนง่าย รวมไปถึงอาการปวดหัว ปวดท้อง หากรับประทานกล้วยก็จะช่วยป้องกันและบรรเทาอาการเหล่านี้ได้
ช่วยระบายท้อง
กล้วยมีเส้นใยและกากอาหาร ซึ่งจะช่วยให้ขับถ่ายได้อย่างปกติ ช่วยในการระบายท้อง ลดอาการท้องผูก และป้องกันโรคริดสีดวงทวาร
รักษาโรคโลหิตจาง
ในกล้วยมีธาตุเหล็กสูง ซึ่งจะช่วยในการผลิตฮีโมโกลบินในเลือด ป้องกันการเกิดโลหิตจาง
บรรเทาอาการเจ็บคอ หรืออาการเจ็บหน้าอกจากการไอแห้งๆ ทานวันละ 5-6 ผล จะช่วยให้อาการระคายเคืองลดน้อยลงไป
ลดอาการซึมเศร้า
กล้วยมีสารทริปโตเฟน(Tryptophan) ซึ่งช่วยในการผลิตสารซีโรโทนิน(Serotonin) หรือสารแห่งความสุข จึงช่วยให้รู้สึกผ่อนคลาย
ลดความเสี่ยงจากโรคหลอดเลือดสมอง
กล้วยอุดมไปด้วยโพแทสเซียม ซึ่งจะช่วยลดภาวะจากการเป็นโรคหลอดเลือดสมองได้
ลดการเกิดแผลในกระเพาะและลำไส้
กล้วยมีใยอาหารมาก ซึ่งจะช่วยให้ลำไส้เล็กย่อยอาหารได้ดีขึ้น และยังช่วยเคลือบกระเพาะอาหารให้ลดการระคายเคืองของกรดต่างๆ ไม่ให้เกิดแผลในกระเพาะ
ลดการเกิดก้อนนิ่วในไต
การที่แคลเซียมถูกขับออกมาทางปัสสาวะ ทำให้บางครั้งไตทำงานหนัก อาจจะเกิดเป็นก้อนนิ่ว การรับประทานอาหารที่มีโพแทสเซียมสูงอย่างกล้วยจะช่วยให้ลดการเกิดนิ่วในไตได้
กล้ามเนื้อเป็นตะคริว
กล้ามเนื้อเป็นตะคริว ส่วนหนึ่งมาจากการขาดโพแทสเซียม หรือมีโพแทสเซียมในร่างกายต่ำ การรับประทานกล้วยเป็นประจำจะช่วยลดอาการดังกล่าวได้
ลดน้ำหนัก
กล้วยเหมาะสำหรับคนที่ต้องการลดความอ้วน เนื่องจากกล้วยมีคุณค่าทางอาหารสูงพอๆ กับมันฝรั่ง แต่มีปริมาณไขมัน โคเลสเตอรอล และเกลือแร่ต่ำ
บำรุงประสาท
กล้วยมีวิตามินบีมาก ซึ่งจะช่วยบำรุงประสาทและการทำงานของสมอง
ชะลอความชรา
กล้วยมีสารต้านอนุมูลอิสระมาก จึงช่วยชะลอความเสื่อมของเซลล์ต่างๆ
ปกป้องมะเร็ง
เพราะกล้วยอุดมด้วยสารต้านอนุมูลอิสระอย่างวิตามินอี เบตาแคโรทีน และวิตามีนซี จึงมีฤทธิ์ป้องกันการเกิดเซลล์มะเร็ง และยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์เนื้อร้ายได้
• กล้วยไข่
กล้วยไข่ 100 กรัม ให้พลังงาน 145 กิโลแคลอรี กล้วยไข่มีเบตาแคโรทีน (BETA-CAROTENE) มากที่สุด ช่วยป้องกันการเกิดอนุมูลอิสระ สาเหตุของโรคมะเร็ง และวิตามินอีสูงกว่ากล้วยน้ำว้าและกล้วยหอม
กล้วยไข่ 2 ผลเท่ากับข้าว 1 ทัพพี มีน้ำตาลและคาร์โบไฮเดรตอยู่พอสมควร จึงไม่เหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการลดน้ำหนัก
• กล้วยน้ำว้า
กล้วยน้ำว้า 100 กรัม ให้พลังงาน 147 กิโลแคลอรี และยังมีวิตามินเอมากที่สุดเมื่อเทียบกับกล้วยไข่และกล้วยหอม รวมทั้งมีปริมาณสารต้านอนุมูลอิสระพวกโพลิฟีนอล (POLYPHENOL) แทนนิน (TANNIN) คาเทชิน (CATECHIN) และเส้นใยอาหาร สูงกว่ากล้วยไข่และกล้วยหอมด้วย สมัยโบราณบอกไว้ว่า กินกล้วยนํ้าว้าสุกวันละ 1-2 ผล เป็นยาอายุวัฒนะ
กล้วยน้ำว้ามีแคลเซียมสูงและดูดซึมได้เร็ว 5-6 เท่า เมื่อถูกความร้อนโดยเฉพาะกล้วยบวดชีและกล้วยปิ้ง
• กล้วยหอม
กล้วยหอม 100 กรัม ให้พลังงาน 131 กิโลแคลอรี กล้วยหอมมีฟอสฟอรัสมากกว่ากล้วยไข่และกล้วยน้ำว้า ซึ่งจะช่วยส่งเสริมสุขภาพเหงือกและฟันให้แข็งแรง และซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอของร่างกาย รวมทั้งช่วยบรรเทาอาการปวดจากข้ออักเสบได้
(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 169 มกราคม 2558 โดย ปุยฝ้าย)