สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ได้ทรงนิพนธ์เรื่อง “จิตฺตนคร” ขึ้นสำหรับบรรยายทางรายการวิทยุ อส.พระราชวังดุสิต ประจำวันอาทิตย์ ระหว่าง พ.ศ. ๒๕๑๑-๒๕๒๓ และได้รวบรวมพิมพ์ครั้งแรกในเรื่อง การบริหารทางจิตสำหรับผู้ใหญ่ เมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๑
พระนิพนธ์เรื่องนี้ ทรงนำเอาเรื่องจิตและธรรมะที่เกี่ยวกับจิตในแง่มุมต่างๆมาผูกเป็นเรื่องราวทำนองปุคคลาธิษฐาน
แต่นครสามีหรือเจ้าเมืองก็ยังโปรดปรานพอใจสมุทัย ว่าเป็นผู้สร้างสรรค์ความสุขความเจริญต่างๆ สมชื่อว่าสมุทัย ที่เจ้าเมืองให้ความหมายว่า เป็นเหตุแห่งความสุขต่างๆ เพราะยังมองไม่เห็นว่าจะเป็นสมุทัย คือเหตุแห่งความทุกข์หรือเดือดร้อน แต่ก็เป็นที่น่าสงสัยว่า ไฉนจึงได้เกิดมีความทุกข์เดือดร้อนกันมากขึ้นทุกที มองเห็นผลถนัดขึ้น แต่ยังคลำหาเหตุไม่พบ คล้ายกับพอมองเห็นรางๆ แต่ก็ยังไม่ชัดเจนว่าอะไร
ฝ่ายคู่บารมีที่ได้เข้ามาตักเตือน แม้จะรู้อยู่เต็มใจว่าใครเป็นต้นเหตุ ก็ยังเห็นว่ายังไม่ถึงเวลาที่จะบอก เพราะเจ้าเมืองจะไม่ยอมเชื่อเป็นอันขาด ด้วยยังโปรดปรานกันมาก ยังเห็นว่าดีด้วยประการทั้งปวง การที่จะไปชี้หน้าคนโปรดของผู้ใดว่าไม่ดี ก็เท่ากับไปชี้หน้าผู้นั้นเองด้วยเหมือนกัน แต่ก็จำเป็นที่จะต้องหาวิธีทำให้เจ้าเมืองได้รู้ได้เห็นขึ้นด้วยตนเอง
นครสามีเมื่อยังคิดไม่เห็นเหตุก็ถามปรึกษาคู่บารมีว่า ทำไมถึงได้เกิดผลเช่นนี้ และจะแก้ไขอย่างไร คู่บารมีตอบว่า จะไปหารือพระบรมครูก่อน
ถามว่า พระบรมครูคือใคร
ตอบว่า คือองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า
ถามว่า ท่านคือผู้ใดเล่า
ตอบว่า ท่านคือผู้ตรัสรู้พระธรรมด้วยพระองค์เอง แล้วทรงสั่งสอนคนทั้งปวงให้รู้ตาม ตั้งพระศาสนาขึ้นที่เรียกว่า พระพุทธศาสนา
ถามว่า พระธรรมคืออะไรเล่า
ตอบว่า พระธรรมคือสัจจะความจริงหรือของจริง ที่เมื่อรู้แล้วพ้นทุกข์ทั้งปวงได้
ถามว่า ก็ทุกข์เดือดร้อนทั้งปวงของจิตตนครนี้ เมื่อได้รู้พระธรรมแล้ว จะพ้นได้หรือไม่
ตอบว่า พ้นได้แน่
ถามว่า ถ้าเช่นนั้น พระสัมมาสัมพุทธเจ้าและพระธรรมดีแน่ แต่มีพยานหรือไม่ว่าพระองค์ตรัสรู้ธรรมจริง
ตอบว่า มีพยานแน่นอน ต่อไปจะเรียกพระองค์ว่า “พระพุทธเจ้า” เท่านั้นก็ได้ พระบรมครูก็ได้
ถามว่า พยานคือใครเล่า
ตอบว่า คือพระสงฆ์ ได้แก่หมู่ชนที่ได้ฟังคำสั่งสอนแล้วได้รู้ตาม ได้พ้นทุกข์ตามพระบรมครูซึ่งมีอยู่จำนวนมาก
นครสามีได้ฟังดังนั้นเกิดปีติโสมนัสในพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ กล่าวสรรเสริญคู่บารมีว่า เป็นกัลยาณมิตรผู้ประเสริฐ ผู้ได้แนะนำให้ได้ยินได้ฟังคำว่า พระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ เพียงเท่านี้ก็เริ่มได้รับความสบายใจ จึงถามต่อไปว่า เวลานี้พระองค์ประทับอยู่ที่ไหน จะไปเฝ้าพระองค์ได้หรือไม่
ตอบว่า ในโลกของกายมนุษย์ พระองค์ได้เสด็จปรินิพพานแล้ว แต่ในจิตตนครพระองค์ยังประทับอยู่ ถ้าปรารถนาจะได้เฝ้าพระองค์ ก็ให้ปฏิบัติจนเห็นธรรม ดังที่ได้ตรัสสั่งไว้ว่า “ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นเรา”
ฉะนั้น ถ้าไม่เห็นธรรม ก็เท่ากับพระองค์ประทับอยู่ไกลที่สุด ไปเท่าไรก็ไม่ถึง แต่ถ้าเห็นธรรมก็เท่ากับพระองค์ประทับอยู่ใกล้ที่สุด แต่อันที่จริง ไม่มีเวลาอันเกี่ยวแก่อดีต อนาคต ปัจจุบัน ไม่มีการไปมาอันเกี่ยวแก่ไกล ใกล้ ไม่มีพื้นที่ ระดับ ขนาด อันเกี่ยวกับกว้าง ยาว ตื้น ลึก หนา บาง เป็นต้น
บรรดาพุทธศาสนิกผู้มาบริหารจิตนั้น ที่จริงก็คือผู้พยายามจะแลให้เห็นพระพุทธเจ้านั่นเอง บริหารจิตได้เพียงใด ก็จะสามารถเห็นพระพุทธเจ้าได้เพียงนั้น คือสำหรับผู้บริหารจิตได้ดีมาก ก็เหมือนเห็นพระพุทธเจ้าใกล้มาก ชัดมาก ผู้บริหารจิตได้ดีน้อย ก็เหมือนเห็นพระพุทธเจ้าไกลมาก ไม่ชัดเลย
เพราะการบริหารจิตคือการทำจิตของตนให้สูงขึ้นดีขึ้น พ้นจากกิเลสยิ่งขึ้น ซึ่งจิตของผู้ใดเป็นไปเช่นไร ผู้นั้นย่อมรู้ได้ด้วยตนเอง เมื่อผู้ใดเห็นความใสสว่างในจิตตนเพียงใด ก็จะพอเข้าใจถึงความใสสว่างแห่งพระหฤทัยของพระพุทธเจ้าเพียงนั้น นี่แหละที่เรียกว่า ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นพระพุทธเจ้า
• คู่บารมีแนะนาให้ใช้ศีล หิริ โอตตัปปะ
คู่บารมีของเจ้าเมืองจิตตนครก็ได้เข้าเฝ้าพระบรมครู กราบทูลเรื่องที่เกิดขึ้นในจิตตนคร ตลอดถึงที่ได้เข้าตักเตือนนครสามี และได้แจ้งแก่นครสามีว่า จะกราบทูลถามพระบรมศาสดา ว่าอะไรเป็นตัวเหตุให้เกิดผลเดือดร้อนต่างๆ
ฝ่ายองค์พระบรมครูผู้ทรงประกอบด้วยทศพลญาณ (พระญาณที่เป็นกำลัง ๑๐ ประการ) ผู้ทรงรู้ทรงเห็นจิตตนครทั้งหมด ผู้ตรัสรู้จตุราริยสัจ ผู้ทรงชนะมารและเสนา ทรงทราบพระญาณเหตุผลที่เกิดขึ้นในจิตตนครถ้วนทั่วทุกประการ ทรงมีพระมหากรุณาในนครสามี ผู้เป็นเจ้าเมืองจิตตนคร ซึ่งนับเข้าไว้ในเวไนยนิกร คือหมู่แห่งชนผู้ที่พระองค์จะพึงทรงแนะนำสั่งสอน ได้มีโอกาสที่จะได้เข้าเฝ้าเห็นพระองค์สักคราวหนึ่งในต่อไป
แต่เวลาปัจจุบันขณะนั้น นครสามียังมีกายเศร้าหมองอับแสง ไม่อาจที่จะรู้จะเห็นพระองค์และธรรมที่ละเอียดลุ่มลึกได้ เพราะสมุทัยยังครอบงำใจให้หลงเห็นผิดอยู่อย่างลึกซึ้ง จำต้องอาศัยคู่บารมีช่วยดูแลอยู่อย่างใกล้ชิด ไม่ทอดทิ้งหรือทอดธุระเสียเหมือนอย่างแต่ก่อน
เมื่อนครสามีได้มีคู่บารมีอยู่ใกล้ มีกายผุดผ่องมีแสงขึ้น ก็ค่อยๆตักเตือนให้ดูเหตุผลที่ใกล้ๆ หรือที่ตื้น แล้วเตือนให้ดูไกลออกไป หรือให้ดูที่ลุ่มลึกละเอียดเข้าโดยลำดับ ก็จะจับตัวต้นเหตุที่สำคัญได้ในที่สุด
พระบรมครูได้ตรัสประทานพระธรรโมวาท พร้อมทั้งวิธีปฏิบัติ เพื่อคู่บารมีจะได้นำไปช่วยนครสามีให้พ้นภัยพิบัติที่กำลังเกิดขึ้นในจิตตนคร คู่บารมีได้รับพระพุทธโอวาทแล้ว เข้าพบนครสามีแล้วกล่าวว่า พระบรมครูตรัสให้ตั้งกระทู้ถาม ๒ ข้อก่อนว่า
๑ โลโภ ความโลภอยากได้ โทโส ความโกรธแค้นขัดเคือง โมโห ความหลง มีคุณหรือมีโทษ
๒ คนที่โลภ โกรธ หลง แล้วจึงฆ่าเขาบ้าง ลักของเขาบ้าง ลักลอบผิดลูกเมียเขาหรือผิดสามีเขาบ้าง พูดเท็จหลอกลวงเขาบ้าง ดื่มนํ้าเมาอันเป็นฐานประมาทบ้าง เป็นคนดีหรือคนชั่ว มีคุณหรือมีโทษ
นครสามีได้ฟังดังนั้นแล้ว มองเห็นเหตุผลทันทีว่าไม่ดี มีโทษทั้ง ๒ ข้อ เหตุผลได้มีอยู่ในกระทู้ทั้ง ๒ ข้อนี้แล้ว คือ โลโภ โทโส โมโห เป็นตัวมูลเหตุ การฆ่าเขา ลักของเขาเป็นต้น ดังที่เรียกว่าทุจริตหรือคอรัปชั่น เป็นผลแห่งมูลเหตุทั้ง ๓ นั้น และเป็นเหตุแห่งความทุกข์เดือดร้อนต่างๆ นครสามีเริ่มจับเหตุผลได้ประจักษ์ใจ แล้วยกมือขึ้นพนมถวายนมัสการพระบรมครูผู้ประทานกระทู้ให้ได้คิด
พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า การบูชาชนทั้งหลายผู้ควรบูชา เป็นมงคลอันสูงสุด นครสามีผู้มีความเคารพในองค์พระบรมครูเกิดขึ้น ก็เช่นเดียวกับได้ทำบูชาพระบรมครูผู้ควรบูชา ย่อมจะได้รับมงคลอันสูงสุด นั่นคือย่อมจะไม่ตกเป็นผู้หลงเชื่อสมุทัยอย่างงมงาย จนถึงยอมเป็นทาสของสมุทัย ให้สมุทัยมีอำนาจครอบครองอย่างเด็ดขาดสิ้นเชิงตลอดไป
บรรดาผู้มาบริหารจิตทั้งหลาย แม้รู้จักบูชาท่านผู้ควรบูชา รู้จักเคารพท่านผู้ควรเคารพ ปฏิบัติให้เหมาะให้ควร ก็จะเป็นผู้มีมงคลอันสูงสุด สมดังคำของพระพุทธเจ้า
(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 168 ธันวาคม 2557 โดย สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก)