ปีนี้วันเพ็ญเดือนสิบสอง หรือวันลอยกระทง ตรงกับวันที่ 6 พฤศจิกายน ผู้เขียนจึงอยากชวนอ่านเรื่องราวความสัมพันธ์ของสายน้ำ วิถีชีวิต ผู้คน กับศาสนา โดยเฉพาะนาม "พระแม่คงคา" เมื่อเราอธิษฐานจิตขอขมาในวันลอยกระทง
พิธีลอยกระทงของไทยสันนิษฐานว่า ได้รับอิทธิพลมาจากอินเดีย เห็นได้จากพวกพราหมณ์-ฮินดูนั้น มีความเชื่อและปฏิบัติต่อกันมานานว่า “ลอยกระทงเพื่อบูชาแม่น้ำคงคา” แม่น้ำสายศักดิ์สิทธิ์ของอินเดีย และเพื่อบูชาพระผู้เป็นเจ้า คือ “พระนารายณ์” ซึ่งบรรทมสินธุ์อยู่กลางเกษียรสมุทร
ขณะที่พุทธศาสนิกชนมีความเชื่อว่า การลอยกระทงเป็นการทำพิธีเพื่อต้อนรับพระพุทธเจ้าในวันเสด็จจากเทวโลกสู่โลกมนุษย์ หลังจากพระพุทธองค์เสด็จโปรดพุทธมารดาบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ บ้างก็เชื่อว่าเพื่อบูชาพระบรมสารีริกธาตุที่บรรจุไว้ในพระจุฬามณี พระเจดีย์บนสวรรค์ บางคนก็ว่าเพื่อเป็นการบูชารอยพระพุทธบาทที่ทรงประทับไว้ ณ หาดทรายริมฝั่งแม่น้ำนัมมหานทีในแคว้นทักขิณาบถของอินเดีย (ปัจจุบันเรียกว่าแม่น้ำเนรพุททา) และอีกเหตุผลดังที่ได้เขียนมาข้างต้นคือ การลอยกระทงเพื่อขอบคุณพระแม่คงคา ที่ให้เราได้อาศัยน้ำกินน้ำใช้ และขออภัยที่ได้ทิ้งสิ่งปฏิกูลต่างๆ ลงในน้ำนั่นเองครับ
ในพระไตรปิฎกก็มีบันทึกไว้ชัดเจนว่า ตลอดชีวิตแห่งความเป็นพระบรมศาสดาของพระโคดมพุทธเจ้านั้น ล้วนแต่เกี่ยวเนื่องอยู่ในบริเวณ “ลุ่มแม่น้ำคงคา” พอสมควร แม้กระทั่งในวาระสุดท้ายของชีวิต ก็ไปไม่ไกลแม่น้ำคงคาเท่าใดนัก โดยเฉพาะการข้ามแม่น้ำคงคาจากเมืองท่า “ปัฏนะ” ไปสู่ “พระนครไพศาลี” นั้น เป็นรอยประวัติศาสตร์ชัดเจนบันทึกไว้ในพระไตรปิฎก
“คงคา” เป็น 1 ในแม่น้ำใหญ่ 5 สาย ที่เรียกว่า “ปัญจมหานที” ได้แก่ แม่น้ำคงคา ยมุนา มหิ สรภู และอจิรวดี ซึ่งเปรียบเสมือนเส้นเลือดใหญ่ที่หล่อเลี้ยงชีวิตของชาวอินเดีย ในสมัยพุทธกาล ณ บริเวณลุ่มแม่น้ำคงคากับยมุนาบรรจบกันนั้น เป็นอาณาบริเวณที่อุดมสมบูรณ์ เป็นที่ตั้งของนครและแว่นแคว้นที่สำคัญต่างๆ
“คงคา” แปลตามตัวอักษรได้ว่า “ผู้ไปเร็ว” นับเป็นอารยธรรมแห่งสายน้ำที่ยิ่งใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก มีความสำคัญที่สุด และประเสริฐที่สุด เพราะเชื่อว่าเป็นแม่น้ำที่ไหลมาจากสวรรค์ ต้นน้ำคงคาเกิดบนเทือกเขาหิมาลัยไหลลงมาเบื้องล่าง สูงกว่าระดับน้ำทะเล 13,800 ฟุต ณ บริเวณที่เรียกว่า “ภาคีรส”
ในคัมภีร์ปุรณะกล่าวไว้ว่า น้ำพระคงคาไหลพุ่งออกจาก “โคมุขี” หรือปากวัว ซึ่งถือเป็นที่ศักดิ์สิทธิ์ เป็นบันไดชั้นแรกที่พระศิวะเสด็จจากบัลลังก์บนยอดเขาไกรลาศ แล้วไหลลงมาตามช่องเขา ลงสู่ที่ลาดสูงแห่งหนึ่งเรียกว่า “คงโคตรี” ที่นั่นถือเป็นแหล่งศักดิ์สิทธิ์แห่งหนึ่งทางศาสนา มีโบสถ์พราหมณ์ตั้งอยู่หลังหนึ่ง เป็นที่รู้จักกันในหมู่ฮินดู ใครๆก็อยากไปถึงที่นั่นกันทุกคนครับ
พราหมณ์-ฮินดูเขาเชื่อกันอย่างจริงจังตลอดมานับพันๆปีแล้วว่า แม่น้ำคงคาคือหนทางสู่สวรรค์ ดังนั้น สวรรค์ของชาวอินเดียจึงอยู่ที่แม่น้ำคงคาเท่านั้น เพราะเชื่อว่าสามารถล้างบาปให้คนได้ หรือหากจะดื่มกินก็ได้บุญ ยิ่งอาบทุกวันก็ยิ่งได้บุญ แม้แต่คนที่ตายไปแล้ว หากเอาศพโยนลงน้ำก็ดี หรือเอาเถ้าอังคารโปรยลงไปในน้ำก็ดี ก็เชื่อว่าจะได้ขึ้นสวรรค์
ตามริมฝั่งแม่น้ำคงคาจะมีพวกแขกที่เรียกตัวเองว่า “คงคาบุตร” เป็นผู้จัดพิธี และให้คำแนะนำกับคนที่จะมาอาบน้ำ ในวันหนึ่งๆจะมีผู้คนพากันไปอาบน้ำล้างบาปกันเต็มท่าน้ำไปหมด โดยเฉพาะท่าอัศวเมธ เมืองพาราณสี ยิ่งหากเป็นวันเพ็ญเดือนสิบสองด้วยแล้ว ชาวฮินดูจากทั่วทุกสารทิศนับแสนคน จะพากันมุ่งหน้าสู่พาราณสี เพียงเพื่อจะล้างบาปที่แม่น้ำคงคา และยังเป็นสถานที่ที่ชาวฮินดูทุกคน ล้วนปรารถนาจะมาตายและได้เผาศพที่นี่
บางคนรู้ตัวว่าใกล้ตายก็จะให้ลูกหลานพามารอที่นี่เลย เพื่อให้แน่ใจว่าตัวเองได้มาตายที่พาราณสี ซึ่งใกล้กับท่าน้ำจะมี "เรือนนอนตาย" เตรียมเอาไว้สำหรับคนอนาถาและคิดว่าตัวเองกำลังจะตาย จึงมาพักเพื่อรอตายและจะได้ง่ายต่อการเผา อันมีที่มาจากศรัทธาและความเชื่อที่ว่าจะได้ไปสู่ภพชาติที่ดีกว่า บาปจะได้รับการชำระเสียแต่ชาตินี้ ดังนั้น เมื่อใกล้เวลาจะสิ้นอายุขัย ชาวอินเดียจึงปรารถนาว่า อยากจะมาตายริมฝั่งแม่น้ำคงคา
ในเมืองพาราณสีจะมีที่เผาศพจุดใหญ่ๆ 3 จุด สังเกตอย่างง่ายๆ ครับว่า จุดที่เผาศพจะมีฟืนกองเรียงรายตามริมฝั่งเพื่อใช้สำหรับเผา พระธรรมวิทยากรท่านได้เมตตาอธิบายความรู้ต่างๆมากมาย ให้กับผู้เขียนและคณะที่เดินทางไป “ท่องเที่ยว ท่องธรรม” 4 สังเวชนียสถาน เอาไว้ว่า
"ดูศพให้สังเกตที่ผ้าห่อศพ หากศพที่ห่อผ้าสีพื้นเป็นศพผู้ชาย แต่ถ้าผ้าห่อศพเป็นลายดอกไม้หรือสีสันอื่นๆที่งดงามลานตามักจะเป็นศพผู้หญิง"
ลักษณะศพจะถูกห่อหุ้มด้วยผ้าและผูกติดกับแคร่ไม้ไผ่ เป็นแคร่ที่ใช้หามศพมายังที่เผานี่แหละครับ พิธีเผาศพของพวกฮินดูก็แสนจะเรียบง่าย ใช้ฟืนกองขึ้นเป็นเชิงตะกอน เอาศพจุ่มในแม่น้ำคงคาเป็นการชำระบาป จากนั้นนำศพขึ้นมาวางบนเชิงตะกอนแล้วจุดไฟเผา พอมอดก็กวาดเถ้าลงแม่น้ำคงคาเป็นอันว่าเสร็จพิธี
ณ จุดที่เผาศพริมแม่น้ำคงคา จะมีศพถูกนำมาเผาวันละประมาณ 80-100 ศพ หากเป็นคนจนก็มีเงินในการซื้อฟืนน้อย แต่ถ้าเป็นพราหมณ์หรือเป็นคนรวยจะซื้อฟืนมากกว่า ทำให้ฟืนเป็นสิ่งหนึ่งที่บ่งบอกสถานะของผู้ตาย แต่ถ้าหากว่าเป็นคนยากจนมากๆ ไม่มีเงินจะซื้อฟืน พระพรหมทรงอนุญาตให้ไปสวรรค์ทั้งตัว คือเอาศพโยนลงไปในแม่น้ำให้ลอยไป เพราะสักพักก็จะมีฝูงอีแร้งบินมาแย่งกิน รวมทั้งฝูงปลามาดูดเนื้อหนังและเลือดไปเป็นอาหาร ไม่นานร่างกายก็จะเหลือแต่กระดูก และจมลงไปในแม่น้ำอันเป็นสายธารสู่สวรรค์
ชาวฮินดูเมื่อมาถึงเมืองพาราณสี นอกจากจะมาทำปัจเจกพิธีที่แม่น้ำคงคาแล้ว มีความเชื่อกันว่า จะต้องไปนมัสการสถานที่สำคัญริมแม่น้ำ เรียกว่า “ปัญจตีรถะ” หรือท่าน้ำทั้ง 5 คือ ท่าอัสสี ท่าทศอัศวเมธ ท่าปัญจคงคา ท่ามณิกรรณิกา และท่าอธิเกศวร เป็นความเชื่อคล้ายกับชาวพุทธเราที่ว่า เมื่อมาอินเดียต้องมานมัสการสังเวชนียสถานครบทั้ง 4 แห่งให้ได้
ทว่า สำหรับพุทธศาสนิกชนคนไทย เมื่อไปแสวงบุญที่อินเดียแล้ว จะต้องมีหนึ่งวันที่ต้องเดินทางไปยังแม่น้ำคงคา เมืองพาราณสีครับ เนื่องจากพาราณสีเป็นเมืองที่มีท่าน้ำลงสู่แม่น้ำคงคามากที่สุด ผู้เขียนเองก็ต้องตื่นนอนตั้งแต่ตี 4 เพื่อจะล่องเรือไปกลางแม่น้ำคงคาตอนเช้ามืด ประกอบพิธีลอยประทีปและดอกไม้เพื่อขอขมาพระแม่คงคา
อย่าได้แปลกใจ..หากว่าเดินเท้าเข้าไปถึงท่าน้ำ แล้วจะต้องพบกับผู้คนชาวอินเดียจำนวนมาก ที่มาประกอบภารกิจแตกต่างหลากหลาย อันสัมพันธ์กับวิถีชีวิตของตนตั้งแต่เกิดจนตาย ณ แม่น้ำคงคาแห่งนี้ มีทั้งขอทาน พวกที่มาเผาศพ ฤษีนักบวชมานั่งสวดมนต์ทำท่าทางแปลกๆ
พลันที่แสงสุริยาเริ่มพ้นขอบฟ้าทางทิศตะวันออก จะได้ยินเสียงเคาะระฆัง สั่นกระดิ่งเสียงดังกังวาน อันเป็นสัญญาณที่ส่งผ่านไปยังผู้คนที่ยืนอยู่ริมแม่น้ำ ให้เดินลงหรือกระโจนลงสู่ผืนน้ำ ทั้งอาบ ทั้งดื่ม และบรรจุลงภาชนะ นำกลับไปให้ญาติมิตรที่บ้านอีกด้วยครับ
ชาวฮินดูส่วนใหญ่ในหนึ่งวันจะอาบน้ำเพียงหนเดียวคือในยามเช้า โดยเฉพาะผู้คนที่อยู่แถบริมแม่น้ำคงคา การอาบน้ำในยามเช้าของคนอินเดียที่นับถือศาสนาฮินดู มีเหตุผลสองประการ คือ
1. เป็นการชำระร่างกายอันเป็นกิจประจำ สำหรับการทำความสะอาดภายนอก หากยังถือเป็นน้ำที่ “แม่” หรือ “มาตา” อันหมายถึงพระแม่คงคาประทานให้อาบและดื่ม ถือเป็นการล้างบาปไปด้วยในตัว
2. การอาบในเวลาพระอาทิตย์ขึ้น เป็นการขอพรและบูชาพระสุริยเทพต่อการดำเนินชีวิตในแต่ละวัน
เมืองพาราณสีนั้นจะแบ่งออกเป็น 2 ส่วน ตามฝั่งแม่น้ำคงคา กล่าวคือฝั่งหนึ่งนั้นเชื่อว่าเป็นฝั่งสวรรค์ จะมีผู้คนอาศัยสร้างตึกรามบ้านช่องอยู่ติดแม่น้ำ ที่โดดเด่นเห็นจะเป็นพระราชวังของพระเจ้าพรหมทัตแห่งกรุงพาราณสีเอง รวมถึงพระราชวังของราชาต่างเมืองอีกหลายองค์ที่มาสร้างปราสาทไว้ริมฝั่งแม่น้ำคงคาฝั่งสวรรค์ เฉกเช่นเดียวกับผู้คนทั่วไปจำนวนมากที่อยากจะมาเกิด มาอยู่ มาตายที่ฝั่งนี้ เพราะเชื่อว่าจะได้ไปสวรรค์
ส่วนอีกฝั่งนั้นเมื่อมองไปไกลๆ จะเห็นแต่ความมืดมิด แม้จะมีแสงสว่างแต่ก็ยังมองไปไม่เห็นฝั่ง ตามความเชื่อนั้นถือว่าเป็นฝั่งนรก จึงไม่มีใครกล้าไปอยู่ จะมีก็แต่ฝูงอีแร้งและหมาจิ้งจอกเท่านั้น
แม่น้ำคงคาตรงเมืองพาราณสีนี้ ไหลกลับขึ้นไปทางทิศเหนือ นับว่าแปลกกว่าที่อื่นๆ ในคัมภีมหาภารตะจึงสร้างความสำคัญขึ้นว่า ตรงนี้เป็นที่ซึ่งเทวโลก มนุสสโลก ยมโลก มาพบกัน ผู้ใดมาอดอาหารที่นี่หนึ่งเดือน และอาบน้ำตรงนี้ ผู้นั้นจะมองเห็นเทวดาทั้งหลาย
วิถีชีวิตของชนชาวพื้นเมือง ณ ริมฝั่งน้ำคงคาแห่งนี้ ได้สะท้อนให้เห็น “วิถีแห่งวัฒนธรรม” โดยเฉพาะอย่างยิ่ง วัฒนธรรมแบบฮินดู ที่ฝังรากลึกมากว่าสามพันปี ก่อนที่พระพุทธเจ้าจะเสด็จไปเผยแผ่พระพุทธศาสนาในเมืองนี้ พาราณสีได้ชื่อว่า เป็นเมืองที่มีหลักความเชื่อและแนวคิดของศาสนาฮินดูฝังรากลึกมากที่สุด กว่าทุกๆเมืองในอินเดีย และมีวัฒนธรรมและอารยธรรมทางศาสนาที่เก่าแก่ที่สุด การมาเยือนพาราณสี จึงทำให้ผู้เขียนสัมผัสถึงเรื่องความตายได้อย่างเข้าใจในธรรมมากยิ่งขึ้นครับ
ดังนั้น คนอินเดียจึงได้ชื่อว่าเป็นผู้ที่อยู่กับธรรมชาติ และละวางต่อวาระแห่งความตายได้ดียิ่ง เป็นที่รู้กันว่า “ความตาย” หรือ “การตาย” เป็นเรื่องปกติธรรมของชาวฮินดู เพราะเหนือความตายเป็นการก้าวสู่ชีวิตใหม่ เป็นไปตามพระประสงค์ของพระผู้เป็นเจ้าที่คนฮินดูนับถือกราบไหว้
จะว่าไปก็คล้ายกับหลักธรรมของทางพุทธเราเหมือนกันนะครับ ในการระลึกถึงความตาย มีคำหนึ่งในทางพุทธศาสนา คือ “มรณานุสติ” ได้แก่ การระลึกถึงเรื่องความตาย ว่าเป็นสิ่งที่คนเราหลีกหนีไม่พ้น ดังนั้น จะมัวทุกข์กับความตายไปใย เมื่อรู้อยู่แล้วว่าสักวันไม่ช้าก็เร็ว เราก็ต้องตาย และมิอาจจะแบกเอาทรัพย์สมบัติ ลาภ ยศใดๆ ไปด้วยได้
เมื่อตายไปก็ต้องทิ้งทุกสิ่งไว้ในโลก มีเพียงสิ่งเดียวที่จะติดตัวไปได้ก็คือคุณงามความดี ที่จะเป็นวีซ่าไปสู่สวรรค์ชั้นฟ้า และให้คนที่ยังอยู่ได้ระลึกถึงบ้าง แล้วเหตุใดยังมัว “หลง” หรือ “ยึดติด” ทรัพย์สมบัติในโลก อันเป็นของอนิจจังนั้นไปเพื่ออะไร
การที่เรารู้จักการยกมรณาขึ้นมาพิจารณาอยู่เสมอ จะส่งผลให้จิตของเราเข้าใจปรากฏการณ์อันเป็นธรรมชาตินี้ และสามารถปล่อยวางความยึดมั่นถือมั่นในตัวตนลงได้ในที่สุด ดังนั้น ช่วงเวลาที่เหลืออยู่นี้จึงควรนำหลักธรรมแห่งความตายมาใช้สอนตนอยู่เสมอว่า
“มะระณะธัมโมมหิ มะระณัง อะนะตีโต”
เรามีความตายเป็นธรรมดา จะล่วงพ้นความตายไปไม่ได้
(อภิณหปัจจเวกขณ์)
(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 167 พฤศจิกายน 2557 โดย กานต์ จอมอินตา ผู้อำนวยการโครงการธรรมาภิวัตน์ สถานีโทรทัศน์ ASTV)