xs
xsm
sm
md
lg

ธรรมะกับสุขภาพ : สถาบันเจริญสติในเรือนจำ ชี้ทางพ้นทุกข์ให้ผู้ต้องขัง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ในประเทศไทย จากสถิติผู้ต้องราชทัณฑ์ทั่วประเทศ ของกรมราชทัณฑ์ สำรวจ ณ วันที่ 1 กันยายน 2557 พบว่า ผู้ต้องขังในเรือนจำทั่วประเทศมี 311,006 คน เป็นผู้ต้องขังเด็ดขาด 234,371 คน อีก 73,511 คน เป็นผู้ต้องหาที่อยู่ระหว่างพิจารณาคดีและไม่มีประกัน และบางคนได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว ในจำนวนนี้เป็นคดียาเสพติดร้อยละ 66

เมื่อพ้นโทษแล้ว ผู้ต้องขังเหล่านี้ก็กลับไปเป็นประชาชนทั่วไป แต่ก็มีปัญหาว่า ผู้ต้องหาที่พ้นโทษบางส่วนยังไม่มีความพร้อมในการกลับไปใช้ชีวิตในสังคม ขาดที่พึ่ง อาชีพ ขาดรายได้ในการเลี้ยงชีพ และสังคมรอบข้างไม่ยอมรับ ทำให้ผู้พ้นโทษเหล่านี้มีปัญหาในการดำรงชีวิตมาก ร้อยละ 13 จึงกลับไปกระทำความผิดซ้ำอีก

ดังนั้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงมีกระบวนการฟื้นฟูสภาพจิตใจ ร่างกาย การฝึกอาชีพ เพื่อเตรียมตัวให้ผู้พ้นโทษสามารถใช้ชีวิตเหมือนประชาชนทั่วไป

ในสหรัฐอเมริกา มีผู้พ้นโทษถูกปล่อยออกมาปีละ 650,000 ราย คนเหล่านี้ก็มีปัญหาเช่นเดียวกับที่กล่าวมาข้างต้น เพราะเมื่อพวกเขาอยู่ในเรือนจำย่อมมีปัญหาทางจิตใจ มีความเครียด ซึมเศร้า โดดเดี่ยว เจ็บแค้น โกรธ เกลียดชังสังคม

ดังนั้น จึงมีองค์กรเอกชนที่ไม่แสวงหากำไร ซึ่งทำงานด้านช่วยฟื้นฟูผู้ป่วยให้มีความพร้อมในการกลับเข้ามาใช้ชีวิตในสังคมต่อไป องค์กรที่น่าสนใจและมีผลงานอย่างยาวนานน่าประทับใจองค์กรหนึ่งคือ สถาบันการเจริญสติในเรือนจำ (Prison mindfulness Institute) ดำเนินการโดย ฟลีท มอลล์ (Fleet Maull) ผู้อำนวยการสถาบันฯ

มอลล์เคยเป็นศิษย์และปฏิบัติธรรมกับท่าน เชอเกียม ตรุงปะ รินโปเช ครูผู้สอนพุทธศาสนาแบบทิเบต แห่งสำนักชัมบาลา รัฐโคโลราโด สหรัฐอเมริกา

ดังนั้น เมื่อมอลล์ต้องเข้าไปอยู่ในเรือนจำ ด้วยข้อหาเกี่ยวกับการใช้และค้ายาเสพติด ในปี 1985 เขาก็ช่วยสอนผู้ต้องหาให้ฝึกการเจริญสติ เพื่อพัฒนาจิตของตนเอง มีผู้ต้องหาหลายร้อยคนได้รับการฝึกการเจริญสติจากเขา

มอลล์สอนอยู่ในเรือนจำติดต่อกัน 14 ปี (1985-1999) โดยในปี 1989 เขาได้ตั้งกลุ่มเครือข่ายผู้ปฏิบัติธรรมในเรือนจำ (Prison Dharma Network) โดยได้รับการช่วยเหลือจากสำนักปฏิบัติธรรมหลายแห่งนอกเรือนจำ นอกจากนั้น ยังได้จัดตั้งสถานพยาบาล เพื่อดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายในเรือนจำ (End-of-Life Care for Terminally- ill prisoners) ด้วย

ในปี 1991 เขาได้เข้าร่วมก่อตั้งสมาคมสถานพยาบาล เพื่อดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายในเรือนจำแห่งชาติขึ้น ซึ่งปัจจุบันมีเรือนจำเกือบ 75 แห่งที่มีสถานพยาบาลในลักษณะนี้

ต่อมาในปี 2010 เครือข่ายของเขาได้เปลี่ยนชื่อเป็น “สถาบันเจริญสติในเรือนจำ” (Prison Mindfulness Institute) มีสำนักงานอยู่ที่โรส ไอร์แลนด์ องค์กรนี้ทำงานในการพัฒนาศักยภาพ โดยสอนการเจริญสติให้ผู้ต้องหา เพื่อเตรียมความพร้อมในการออกไปใช้ชีวิตในสังคมหลังพ้นโทษ

เครือข่ายของเขาทำงานอย่างต่อเนื่องกว้างขวาง สร้างครูผู้สอนการเจริญสติและผู้ให้คำปรึกษาปัญหาต่างๆแก่ผู้ต้องขัง โดยเป็นอาสาสมัครทำงานในเรือนจำ

การเจริญสติเป็นวิธีการหนึ่งที่จะช่วยให้ผู้ต้องขังได้พัฒนาจิตวิญญาณของตนเอง จากการศึกษาผู้ต้องขัง 6 แห่ง ในมลรัฐแมสซาชูเซตส์ ช่วงปี 1992 - 1996 จำนวน 2,000 คน โดยให้เข้าฝึกการเจริญสติ หลักสูตรการเจริญสติ 8 สัปดาห์ (MBSR Program) ของศาสตราจารย์จอน คาแบค ซิน และประเมินก่อนและหลังการฝึก พบว่า การเจริญสติช่วยให้ผู้ต้องขังลดความก้าวร้าว ความรุนแรงลง มีการควบคุมอารมณ์ดีขึ้น มีความสงบเยือกเย็นขึ้น และมีความภูมิใจในตนเองมากขึ้น (Self-esteem) (www.ncjrs.gov/pdf files/170088.pdf ดูหน้า 64)

หลังพ้นโทษ มอลล์ได้บวชเป็นพระนิกายเซนตามแนวทางของอาจารย์เบอร์นี่ แกสแมน แห่งสำนักพุทธเซน ( Zen Peacemaker order) และยังเป็นอาจารย์อาวุโสสำนักพุทธทิเบต ชัมบาลา มหาวิทยาลัยนาโรปะ รัฐโคโลราโด และทำงานร่วมกับสำนักปฏิบัติธรรมอีกหลายแห่ง

ท่านเขียนหนังสือ Dhrama in Hell ซึ่งเล่าเรื่องการแสวงหาทางพ้นทุกข์ของตัวเองในเรือนจำ ปัจจุบัน ท่านเป็นผู้อำนวยการสถาบันการเจริญสติในเรือนจำ (www.prisonmindfulness.org) ให้ความช่วยเหลือผู้ต้องขัง โดยฝึกอาสาสมัครหลายพันคน สร้างเครือข่ายอาสาสมัครที่ทำงานช่วยผู้ป่วยในเรือนจำทั่วประเทศ ในลักษณะองค์กรเอกชนไม่แสวงหากำไร ปัจจุบันมีองค์กรลักษณะนี้อยู่จำนวนมาก ซึ่งมีทั้งพระภิกษุและฆราวาส ทำงานจิตอาสาสอนการฝึกจิตตภาวนาให้ผู้ต้องขังในเรือนจำทั่วประเทศ

นอกจากนั้น สถาบันฯยังได้ทำวิจัยผลการฝึกจิตตภาวนาในเรือนจำ ได้พัฒนาหลักสูตรต่างๆขึ้นมา เพื่อใช้พัฒนาบุคลากร

สามารถดูได้จากรายงานประจำปีของสถาบัน www.prisonmindfulness.org/about-us/annual report รวมทั้งฟังคำบรรยายใน www.youtube.com/fleet maull มีคำบรรยายให้เลือกฟังมากมาย

ปัจจุบัน ฟีท มอลล์ เป็นผู้นำทางจิตวิญญาณที่ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวาง ในวงการปฏิบัติธรรมของอเมริกา ท่านได้รับเชิญไปบรรยายธรรม ในการประชุมทางวิชาการบ่อยครั้ง รวมทั้งเขียนบทความลงวารสารต่างๆ และสอนการเจริญสติทางทีวีเป็นประจำ

ฟลีท มอลล์ เป็นคนในยุค 60 มาจากครอบครัวที่มีพื้นฐานดี แต่เขาเข้ากับค่านิยมทางสังคมเวลานั้นไม่ได้ เขาจบมัธยมปลาย ปี 1968 เป็นคนหนุ่มหัวรุนแรง มีความกระตือรือร้นในการแสวงหา เขาเข้าเรียนในมหาวิทยาลัย พร้อมกับทำกิจกรรมทางการเมือง แสวงหาสันติภาพ ต่อต้านสงครามเวียดนาม ศึกษาปรัชญาตะวันออก ร่วมกับการใช้ดนตรี Rock ‘n’ Roll ยาเสพติด และการมั่วเพศ เพื่อระบายความเครียด ความกดดัน ซึ่งเป็นแฟชั่นของคนหนุ่มสาวหัวก้าวหน้าสมัยนั้น

เขาเสพแอล เอส ดี สารเสพติดที่มีฤทธิ์หลอนประสาทรุนแรงที่สุด ต่อมาก็โคเคน ซึ่งเขาพยายามจะเลิก แต่ก็ทำไม่ได้

มอลล์มีความใฝ่ฝันที่จะไปอเมริกาใต้ ดังนั้น เขาจึงเดินทางไปเม็กซิโกกับเพื่อน ล่องเรือไปในทะเลแคริบเบียน ใช้ชีวิตอยู่บนเรือ 8 เดือน จนกระทั่งไปถึงเปรู เขาอาศัยอยู่ในหมู่บ้านแห่งหนึ่งกับชนพื้นเมือง ที่ทำฟาร์มเลี้ยงสัตว์ ปลูกผักผลไม้ ระหว่างนี้เขาอ่านหนังสือเกี่ยวกับศาสนาตะวันออก พุทธ เต๋า เซน โดยเฉพาะพุทธทิเบต เขาสนใจการฝึกสมาธิอย่างมาก และพยายามฝึกด้วยตนเอง

เขาอ่านพบเรื่องของสถาบันนาโรปะ เมืองโบวเดอร์ รัฐโคโรลาโด ซึ่งเป็นสถาบันการศึกษาพุทธศาสนาแบบทิเบต โดย อาจารย์เชอเกียม ตรุงปะ รินโปเช เป็นผู้ก่อตั้งขึ้น

ดังนั้น ในปี 1976 เขาจึงกลับมาที่อเมริกา พร้อมภรรยาชาวเปรู ซึ่งกำลังตั้งท้องอยู่ และเข้าเรียนที่สถาบันนาโรปะ ช่วงนี้เขามีโอกาสฝึกหัดเรื่องจิตตภาวนาอย่างเข้มข้น จากอาจารย์เชอเกียม

มอลล์ยังคงเรียนไปด้วยและใช้ยาเสพติดไปด้วย โดยปกปิดไม่ให้ใครรู้ ทำให้เขามีปัญหาการเงินที่จะนำมาใช้จ่ายดำรงชีพ ดังนั้น เขาจึงเลือกใช้วิธีขายโคเคน ซึ่งได้ครั้งละ 500-1,000 ดอลลาร์ จนกระทั่งเรียนจบปริญญาโทสาขาจิตตภาวนาบำบัด ในปี 1979 และทำงานให้อาจารย์เชอเกียมที่สถาบัน รวมทั้งยังใช้ชีวิตด้านลบอยู่กับยาเสพติด แต่แล้วในปี 1985 เขาก็โดนตำรวจจับข้อหาค้ายาเสพติด ถูกศาลตัดสินจำคุก 25 ปี

หลังจากถูกคุมขังในเรือนจำ มอลล์เขียนจดหมายเล่าความจริงทุกสิ่งทุกอย่างให้อาจารย์รับรู้ แต่อาจารย์ก็ได้ให้กำลังใจและยังรับเขาเป็นศิษย์ รวมทั้งได้แนะนำให้เขาปฏิบัติธรรมต่อไปในเรือนจำ และคอยให้ความช่วยเหลือเรื่องต่างๆในเวลาต่อมา

เขาถูกคุมขังอยูในเรือนจำสปริงส์ฟิลด์ มิสซูรี่ ที่นี่เขานั่งหลังชนกำแพงอยู่คนเดียวในความมืด และครุ่นคิดอยู่ตลอดเวลา ความกลัว ความโดดเดี่ยว ความท้อแท้สิ้นหวัง ครอบงำจิตของเขาราว 7 เดือนหลังถูกตัดสินจำคุก เขาคิดถึงลูกอายุ 9 ขวบ โดยเขาแยกทางกับภรรยาก่อนหน้าที่จะถูกจับ 2 ปี

หลังจากนั้น มอลล์เริ่มคิดถึงการปฏิบัติธรรม โดยเห็นว่าการอยู่ในเรือนจำสภาพคล้ายกับเวลาที่เขาปฏิบัติแบบเข้มข้น ต้องอยู่คนเดียวในที่จำกัดในที่เงียบสงบ และฝึกสมาธิภาวนาตลอดเวลา วันละ 12 ชั่วโมง

เพียงแต่ในเรือนจำบรรยากาศไม่เอื้อต่อการปฏิบัติ เนื่องจากมีเสียงดัง สับสนอลหม่าน การระบายความก้าวร้าว ความโกรธแค้น เสียงทุบกำแพง ทะเลาะวิวาท ด่าทอกันเป็นประจำ

มอลล์จึงเริ่มฝึกสมาธิครั้งละ 2 ชั่วโมง แล้วเพิ่มเป็น 4 ชั่วโมง โดยเฉพาะในเวลากลางคืนซึ่งจะเงียบสงบกว่ากลางวัน ไม่นานจิตของเขาเริ่มตั้งมั่น สงบ สว่าง หลังจากนั้นเขาถูกย้ายไปขังเดี่ยว ทำให้เกื้อหนุนการปฏิบัติมาก บางครั้งเขามีโอกาสที่ไม่ต้องทำงานประจำในเรือนจำ เขาก็ฝึกอย่างเข้มข้นต่อเนื่องวันละ 12 ชั่วโมง ติดต่อกัน 5-7 วัน ทำให้จิตของเขาสงบเป็นสมาธิมากขึ้น สิ่งรอบข้างไม่สามารถรบกวนเขาได้อีกต่อไป เขาสามารถกำหนดรู้แล้วปล่อยวางได้ สามารถเปลี่ยนจากจิตที่ท้อแท้ หดหู่ เศร้าเสียใจ เป็นความสุขสดชื่น เต็มไปด้วยความหวัง และสามารถสร้างสันติสุขให้เกิดขึ้นในใจ ซึ่งทำให้เกิดผลดีตามมาในช่วงชีวิตที่เหลืออยู่

และเนื่องจากมอลล์ได้ทำคุณประโยชน์แก่วงการฟื้นฟูผู้ต้องขังเป็นอย่างมากมาก เขาจึงพ้นโทษหลังจากถูกคุมขังอยู่ราว 14.5 ปี

(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 167 พฤศจิกายน 2557 โดย นพ.แพทย์พงษ์ วรพงศ์พิเชษฐ)
ฟลีท มอลล์ ผู้อำนวยการสถาบันการเจริญสติในเรือนจำ
ฟลีท มอลล์ ผู้อำนวยการสถาบันการเจริญสติในเรือนจำ
ฟลีท มอลล์ ผู้อำนวยการสถาบันการเจริญสติในเรือนจำ
ฟลีท มอลล์ (ขวา) และอาจารย์เบอร์นี่ แกลสแมน (ซ้าย)
มอลล์ที่สำนักพุทธทิเบต ชัมบาลา
หนังสือที่มอลล์เขียน
ฟลีท มอลล์ ผู้อำนวยการสถาบันการเจริญสติในเรือนจำ
กำลังโหลดความคิดเห็น