xs
xsm
sm
md
lg

ความรู้คู่สุขภาพ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


อย่าอาย..เมื่อป่วยต้องใส่หน้ากาก ป้องกันเชื้อแพร่กระจาย

ปัจจุบัน มีโรคติดเชื้อระบบทางเดินหายใจที่มีความรุนแรงมากขึ้น นายแพทย์โสภณ เมฆธน อธิบดีกรมควบคุมโรค จึงได้ชวนคนไทยให้ใส่หน้ากากป้องกันโรค เพราะแม้ระบบสาธารณสุขจะมีความพร้อมเพียงใด แต่หากประชาชนไม่เห็นความสำคัญและขาดความร่วมมือร่วมใจ ก็ยากที่จะรับมือกับโรคต่างๆที่อาจเกิดขึ้นได้

ดังนั้น ประชาชนจึงควรตื่นตัวในการป้องกันโรค ทั้งแก่ตนเองและครอบครัวให้ปลอดภัยจากโรค ทุกคนต้องร่วมกันสร้างค่านิยมใหม่ในการใส่หน้ากากป้องกันโรค เมื่อป่วยเป็นหวัดหรือโรคติดเชื้อทางเดินหายใจอื่นๆ เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องน่าอาย แต่เป็นการแสดงความใส่ใจ และห่วงใยต่อคนรอบข้าง

ในระยะแรกอาจเห็นเป็นเรื่องแปลก ไม่คุ้นชินกับการใส่หน้ากากป้องกันโรค ใส่แล้วอึดอัด อาย กลัวถูกสังคมรังเกียจ แต่เมื่อเวลาผ่านไปผู้คนส่วนใหญ่จะเห็นเป็นเรื่องปกติธรรมดา การที่ไอจามโดยไม่ปิดปาก หรือไม่ใส่หน้ากากป้องกันโรค จะกลายเป็นเรื่องที่น่าอายมากกว่า

อย.มอบคาถา “4 ไม่” ป้องกันผลิตภัณฑ์สุขภาพต้องห้าม

เดี๋ยวนี้จะซื้ออะไรก็ต้องระวัง โดยเฉพาะพวกผลิตภัณฑ์อาหาร ยา เครื่องสำอาง เพราะมีพวกของปลอม ของไม่ได้มาตรฐานมากมาย เกี่ยวกับเรื่องนี้ ภก.ประพนธ์ อางตระกูล รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) รู้สึกห่วงใย จึงมอบคาถา 4 ไม่ ให้สังเกตว่าหากมีลักษณะดังนี้ต้องไม่ซื้อ ไม่ใช้เด็ดขาด คือ 1.ไม่มีฉลากภาษาไทย ซึ่งฉลากผลิตภัณฑ์อาหาร ยา และเครื่องสำอาง ต้องแสดงฉลากภาษาไทย พิมพ์ด้วยอักษรที่ชัดเจน และมีข้อความตามที่กฎหมายกำหนด เช่น ชื่อผลิตภัณฑ์ วันเดือนปีที่ผลิต และ/หรือ วันเดือนปีที่ หมดอายุ ชื่อและที่อยู่ของผู้ผลิต เป็นต้น 2.ไม่ขออนุญาตกับ อย. ซึ่งผลิตภัณฑ์อาหารที่ได้รับอนุญาตจาก อย. แล้ว ดูได้จากเลขสารบบอาหารในกรอบเครื่องหมาย อย. ส่วนผลิตภัณฑ์ยาและผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง ไม่ต้องมีเครื่องหมาย อย. บนฉลาก แต่ยาจะต้องแสดงเลขทะเบียนตำรับยา เช่น ทะเบียนยาเลขที่ 1A 9999/46 เครื่องสำอางต้องมีเลขที่ใบรับแจ้ง 10 หลัก

3. ไม่แสดงชื่อที่ตั้งผู้ผลิต ซึ่งถือว่าเป็นผลิตภัณฑ์ที่ไม่น่าไว้วางใจ เพราะเมื่อพบปัญหาก็ไม่สามารถร้องเรียนและเอาผิดกับผู้ผลิตนั้นได้ 4. ไม่บอกความจริงผู้บริโภค หรือโฆษณาโอ้อวด สรรพคุณเกินจริง ทำให้เสียโอกาสในการรักษาอย่างถูกต้องจากแพทย์ โดยเฉพาะผู้ป่วยโรคตับ ไต หัวใจ มะเร็ง เบาหวาน และโรคเรื้อรังต่างๆ เพราะหากบริโภคผลิตภัณฑ์ที่อ้างว่ารักษาโรคได้ จนละเลยการไปพบแพทย์ หรือละเลยการใช้ยาประจำตัว อาจทำให้โรคกำเริบจนถึงขั้นเสียชีวิตได้

ไม่ออกกำลังกาย อันตรายพอๆกับสูบบุหรี่

ผลการวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสาร Lancet ในสหรัฐอเมริกา รายงานว่า การขาดกิจกรรมที่ต้องออกแรงกายเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตของคนทั่วโลกมากเป็นอันดับสี่ และเป็นปัจจัยเสริมสำคัญของการเสียชีวิตอย่างน้อย 6 ใน 10 รายของจำนวนผู้เสียชีวิตทั่วโลกจากโรคไม่ติดต่อ อาทิ โรคหัวใจ โรคเบาหวาน มะเร็งลำไส้ และมะเร็งเต้านม

ไอ มินลี นักพยาธิวิทยาแห่งภาควิชาการแพทย์ มหาวิทยาลัยฮาร์วาด หนึ่งในทีมวิจัยเรื่องนี้ กล่าวว่า การขาดกิจกรรมที่ต้องออกแรงกายเป็นอันตรายต่อสุขภาพ อันตรายพอๆกับการสูบบุหรี่ที่ทำให้เสียชีวิต

โดยทีมวิจัยได้ศึกษาดูความเสี่ยงต่อการเจ็บป่วยด้วยโรคต่างๆ ที่เพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากผู้ป่วยขาดการออกแรงทางกาย เธอบอกว่า คนที่ออกกำลังกายหรือทำกิจกรรมที่ทำให้ออกแรง ไม่นั่งอยู่เฉยๆ มักจะไม่สูบบุหรี่หรือสูบบุหรี่น้อย และยังมีน้ำหนักตัวน้อยกว่าคนที่อยู่เฉยๆ ไม่ลุกขึ้นทำกิจกรรมใดๆรอบตัว

เธอแนะนำว่า คนทั่วไปควรพยายามออกกำลังกายที่ต้องออกแรงระดับปานกลาง ให้ได้สัปดาห์ละ 2 ชั่วโมงครึ่ง จะออกกำลังกายแบบใดก็ได้ กิจกรรมที่ทำให้ต้องออกแรง ดีต่อร่างกายทั้งนั้น แม้ทำไม่ได้ตามเป้าสองชั่วโมงครึ่งต่อสัปดาห์ ก็ยังดีกว่าไม่ออกกำลังกายเลย และยิ่งออกกำลังกายมากขึ้นก็ยิ่งดีขึ้นไปอีก

นักวิจัยฝรั่งชี้นวดแบบผ่อนคลาย ช่วยแก้ปัญหานอนไม่หลับ

ทีมนักวิจัยแห่งศูนย์สุขภาพเพื่อการศึกษาเรื่องสุขภาพ ในเมืองซีแอตเทิล ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้ชี้ให้เห็นถึงประโยชน์มากมายจากการนวดแบบผ่อนคลาย เช่น แก้ปัญหาการนอนไม่หลับ เพิ่มภูมิต้านทาน และลดความเครียด

โดยนักวิจัยอธิบายว่า การนวดช่วยกระตุ้นการไหลเวียนของโลหิต และการทำงานของต่อมน้ำเหลืองในร่างกาย จึงมีผลในการเพิ่มภูมิคุ้มกัน รวมทั้งลดการหลั่งฮอร์โมนคอร์ติโซล ที่สร้างความเครียด และสร้างสารเซโรโทนินกับโดพามีน สารสื่อประสาทที่ทำให้รู้สึกผ่อนคลายและหลับสบายด้วย

ทั้งนี้ นักวิจัยบอกด้วยว่า การนวดอาจช่วยบำบัดอาการเจ็บปวดบางอย่างของร่างกาย ดีกว่าการฝังเข็มหรือการกดกระดูกสันหลัง

“ใส่ฟันปลอมนอน” เสี่ยงอักเสบ ติดเชื้อราในช่องปาก

ยิ่งแก่..ฟันก็ยิ่งเหลือน้อยลง เพราะฉะนั้นต้องดูแลให้ดี รวมทั้งผู้ที่ใส่ฟันปลอมด้วย

นายแพทย์ณรงค์ อภิกุลวณิช รองอธิบดีกรมการแพทย์ แนะนำว่า การดูแลสุขภาพช่องปากของผู้สูงอายุเบื้องต้นนั้น ควรเริ่มจากการดูแลความสะอาดของฟัน อุปกรณ์ทำความสะอาดควรเลือกด้ามจับที่ถนัดมือ ตัวแปรงควรมีขนาดเหมาะกับช่องปาก ขนแปรงนิ่ม ควรเปลี่ยนแปรงสีฟันเมื่อขนแปรงบาน หรือมีอายุการใช้งาน 2-3 เดือน

สำหรับผู้สูงอายุที่ใส่ฟันปลอม ควรทำความสะอาดฟันปลอม ด้วยการแช่ในน้ำสะอาด และควรถอดฟันปลอมอย่างน้อยวันละ 4-8 ชั่วโมง ไม่ควรใส่ฟันปลอมนอน เพราะอาจทำให้เกิดการอักเสบและติดเชื้อราในช่องปากได้

นอกจากนี้ อาจเลือกใช้เครื่องมือช่วยทำความสะอาดฟันเพิ่มเติม เช่น แปรงซอกฟัน ทำความสะอาดฟันที่เป็นช่อง มีเหงือกร่นหรือฟันห่าง รวมถึงการทำความสะอาดกระพุ้งแก้มไปจนถึงโคนลิ้น เพื่อขจัดอาหารและคราบจุลินทรีย์ที่ตกค้าง และควรพบทันตแพทย์เป็นประจำทุกๆ4-6 เดือน

(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 165 กันยายน 2557 โดย ธาราทิพย์)




กำลังโหลดความคิดเห็น