ขณะนี้ข่าวการระบาดอย่างรวดเร็วของโรคติดเชื้อไวรัสอีโบลา(Ebola virus disease หรือ EVD) ในประเทศแถบแอฟริกาตะวันตก ได้แก่ กินี ไลบีเรีย เซียร์ราเลโอน และไนจีเรีย ทำให้ทั่วโลกเกิดการตื่นตัวเฝ้าระวังภัยจากโรคร้ายนี้กันอย่างเต็มที่ รวมทั้งประเทศไทยที่ยังไม่เคยพบมีรายงานผู้ป่วยด้วยโรคติดเชื้อไวรัสอีโบลามาก่อน
นายแพทย์ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ได้เปิดเผยว่า จากการประเมินความเสี่ยงโอกาสเกิดการระบาดในประเทศไทย พบว่าอยู่ในเกณฑ์ต่ำ แต่เพื่อความไม่ประมาท กระทรวงสาธารณสุขก็ได้เตรียมความพร้อมในการเฝ้าระวังโรคนี้อย่างเต็มที่
ทั้งนี้ จากข้อมูลองค์การอนามัยโลก ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ - 13 สิงหาคม 2557 พบผู้ป่วยสะสมรวม 1,975 ราย เสียชีวิต 1,069 ราย ใน 4 ประเทศ ได้แก่ กินี ไลบีเรีย เซียร์ราลีโอน และไนจีเรีย โดยเป็นผู้ป่วยประเทศกินี 510 ราย (เสียชีวิต 377 ราย) ไลบีเรีย 670 ราย (เสียชีวิต 355 ราย) เซียร์ราลีโอน 783 ราย (เสียชีวิต 334 ราย) และไนจีเรีย 12 ราย (เสียชีวิต 3 ราย)
• จุดเริ่มต้นของอีโบลา
โรคอีโบลาเดิมเรียกว่าโรคไข้เลือดออกอีโบลา เป็นโรคของคนที่มีอาการรุนแรงและมักจะถึงแก่ชีวิต ปรากฏขึ้นครั้งแรกในปี 1976 เป็นการระบาดที่เกิดขึ้นพร้อมกันในสถานที่ 2 แห่ง คือ เมืองนซารา ประเทศซูดาน และเมืองยัมบูกู สาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก การระบาดที่เมืองยัมบูกูเกิดขึ้นที่หมู่บ้านแห่งหนึ่งริมแม่น้ำอีโบลา โรคนี้จึงได้ชื่อตามชื่อแม่น้ำแต่นั้นมา
ส่วนแหล่งรังโรคตามธรรมชาติ ยังไม่ทราบแน่ชัด จนปัจจุบัน ทวีปแอฟริกาและแปซิฟิกตะวันตกดูเหมือนว่าน่าจะเป็นแหล่งโรค แต่ก็ยังไม่สามารถอธิบายได้ ถึงแม้ว่าสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม เช่น ลิง จะเป็นสาเหตุของการติดเชื้อในมนุษย์ แต่ก็ไม่ใช่รังโรค เชื่อว่าติดเชื้อมาจากสัตว์ป่า ปัจจุบัน ตรวจพบเชื้อในพวกกอริลลา ชิมแปนซี (ไอวอรี่โค้ด และคองโก) กอริลลา(กาบอนและคองโก) และในสัตว์พวกกวางที่มีเขาเป็นเกลียว(คองโก) ในการศึกษาทางห้องปฏิบัติการครั้งหนึ่งแสดงว่า ค้างคาวติดเชื้ออีโบลาแล้วไม่ตาย ทำให้เกิดสมมติฐานว่า สัตว์จำพวกนี้หรือไม่ ที่ทำให้เชื้อไวรัสยังคงมีอยู่ในป่าแถบร้อนชื้น
• การแพร่โรค
เชื้ออีโบลาเข้าสู่มนุษย์ผ่านการสัมผัสกับเลือด สิ่งคัดหลั่ง อวัยวะ หรือของเหลวชนิดอื่น จากร่างกายของสัตว์ที่ติดเชื้อ ในแอฟริกามีหลักฐานว่า การติดเชื้อเกิดขึ้นได้จากการจับต้องสัตว์ติดเชื้อได้แก่ ชิมแปนซี กอริลลา ค้างคาวผลไม้ ลิง แอนติโลปป่า และเม่น สัตว์เหล่านี้อาจกำลังป่วย หรือพบเป็นซากอยู่ในป่าทึบที่มีฝนตกมาก จากนั้นโรคอีโบลาก็แพร่ระบาดไปในชุมชน โดยการแพร่โรคจากคนสู่คน
สำหรับการติดต่อจากคนสู่คน เกิดจากการสัมผัสโดยตรงกับเลือดที่ติดเชื้อ สารคัดหลั่ง อวัยวะ หรือนํ้าอสุจิ นอกจากนี้ การติดเชื้อในโรงพยาบาลก็พบได้บ่อย ผ่านทางเข็มและหลอดฉีดยาที่ปนเปื้อนเชื้อ และยังพบการแพร่กระจายเชื้ออีโบลาในพิธีศพได้บ่อย เนื่องจากญาติผู้เสียชีวิตอาจมีการสัมผัสโดยตรงกับร่างกายของผู้เสียชีวิต แต่ยังไม่มีรายงานการติดเชื้อผ่านทางละอองฝอยที่ลอยในอากาศ
โดยในระยะติดต่อของโรค จะไม่มีการแพร่เชื้อก่อนระยะมีไข้ และจะแพร่เชื้อเพิ่มมากขึ้นในระยะที่มีอาการป่วยนานเท่าที่เลือดและสารคัดหลั่งยังมีไวรัสอยู่
• ลักษณะของโรคอีโบลา
เป็นโรคติดเชื้อไวรัสชนิดเฉียบพลันรุนแรง เกิดจากเชื้อไวรัสอีโบลา (Ebola virus) ซึ่งอยู่ในตระกูล Filoviridae family ประกอบด้วย 5 สายพันธุ์ (species) ได้แก่ สายพันธุ์ไอวอรีโคสต์ สายพันธุ์ซูดาน สายพันธุ์ซาร์อี สายพันธุ์เรสตัน (Reston) และสายพันธุ์ Bundibugyo โดยสายพันธุ์ซูดาน สายพันธุ์ซาร์อี และสายพันธุ์ Bundibugyo ทำให้เกิดการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสอีโบลาในแอฟริกา และทำให้มีอัตราป่วยตายประมาณร้อยละ 25-90 ในขณะที่สายพันธุ์ไอวอรีโคสต์ และสายพันธุ์เรสตัน (Reston) มักไม่ทำให้เกิดอาการรุนแรง และยังไม่มีรายงานการเสียชีวิตจากสายพันธุ์เรสตัน (Reston)
• อาการ
โรคนี้มีระยะฟักตัวประมาณ 2 - 21 วัน ผู้ป่วยจะมีไข้สูงทันทีทันใด อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ และเจ็บคอ ตามด้วยอาการ อาเจียน ท้องเสีย และมีผื่นนูนแดงตามตัว (maculopapular rash) ในรายที่มีอาการรุนแรงและเสียชีวิต จะพบมีเลือดออกง่าย โดยเกิดทั้งเลือดออกภายในและภายนอกร่างกาย (internal and external bleeding) มักเกิดร่วมกับภาวะตับถูกทำลาย ไตวาย หรือก่อให้เกิดอาการของระบบประสาทส่วนกลาง ช็อก และเสียชีวิตได้
• การป้องกันโรค
เนื่องจากยังไม่มีวัคซีน หรือการรักษาแบบเฉพาะเจาะจงสําหรับโรคติดเชื้อไวรัสอีโบลา ดังนั้น ผู้ป่วยที่อาการรุนแรงจำเป็นต้องได้รับการดูแลรักษาแบบประคับประคองอย่างเข้มงวด
ผู้ป่วยมักจะมีอาการขาดน้ำบ่อยๆ จึงจำเป็นต้องได้สารละลายเกลือแร่ เพื่อแก้ไขอาการขาดน้ำ โดยอาจให้ทางปากหรือทางเส้นเลือด รวมทั้งป้องกันการมีเพศสัมพันธ์หลังการเจ็บป่วยเป็นเวลา 3 เดือน หรือจนกระทั่งตรวจไม่พบไวรัสในนํ้าอสุจิ
แม้โรคนี้ยังไม่เคยเกิดขึ้นในประเทศไทย แต่อาจมีประชาชนบางกลุ่ม รวมถึงนักท่องเที่ยวเดินทางไปในประเทศที่มีการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสอีโบลา ดังนั้น กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข จึงได้ให้คําแนะนํา เรื่องการป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสอีโบลา สําหรับผู้เดินทางไปต่างประเทศ นักท่องเที่ยว และประชาชนทั่วไป ดังนี้
คําแนะนําสําหรับประชาชนทั่วไป
1. หลีกเลี่ยงการสัมผัสสัตว์ป่าที่นําเข้ามาโดยไม่ผ่านการตรวจโรคทั้งที่ป่วยหรือไม่ป่วย
2. หลีกเลี่ยงการรับประทานสัตว์ป่าที่ป่วยตายโดยไม่ทราบสาเหตุ โดยเฉพาะสัตว์จําพวกลิง หรือ
ค้างคาว หรืออาหารเมนูพิสดารที่ใช้สัตว์ป่า หรือสัตว์แปลกๆ มาประกอบอาหาร
คําแนะนําสําหรับผู้ที่จะเดินทางไปยังประเทศที่มีการระบาดของโรค
1. หลีกเลี่ยงการสัมผัสสัตว์ป่า ทั้งที่ป่วยหรือไม่ป่วย
2. หลีกเลี่ยงการรับประทานสัตว์ป่าที่ป่วยตายโดยไม่ทราบสาเหตุ โดยเฉพาะสัตว์จําพวก ลิง หรือ
ค้างคาว หรืออาหารเมนูพิสดารที่ใช้สัตว์ป่า หรือสัตว์แปลกๆ มาประกอบอาหาร
3. หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับสารคัดหลั่ง เช่น เลือด หรือสิ่งของเครื่องใช้ของผู้ป่วยที่อาจปนเปื้อนกับสารคัด
หลั่งของผู้ป่วย หรือศพของผู้ป่วยที่เสียชีวิต
4. หลีกเลี่ยงการสัมผัสโดยตรงกับผู้ป่วย หากมีความจําเป็นให้สวมอุปกรณ์ป้องกันร่างกาย และล้างมือ
บ่อยๆ
5. หากมีอาการเริ่มป่วย เช่น มีไข้สูง อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ เจ็บคอ อาเจียน ท้องเสีย และ
มีผื่นนูนแดงตามตัว ให้รีบพบแพทย์ทันที
(ข้อมูลจากสํานักโรคติดต่ออุบัติใหม่ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข)
(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 165 กันยายน 2557 โดย กองบรรณาธิการ)