• “นัมโซ” ทะเลสาบศักดิ์สิทธิ์ของชาวพุทธ เสียแชมป์ใหญ่ที่สุดในทิเบต
จีน : มีรายงานวิจัยชิ้นใหม่เผยว่า ทะเลสาบนัมโซ ซึ่งเป็นทะเลสาบศักดิ์สิทธิ์ของชาวพุทธ ได้สูญเสียตำแหน่งทะเลสาบน้ำเค็มที่ใหญ่ที่สุดในเขตปกครองตนเองทิเบต ให้แก่ทะเลสาบเซอร์ลิงโซ ซึ่งได้ขยายกว้างขึ้นอย่างรวดเร็ว เนื่องจากธารน้ำแข็งได้หลอมละลายและมีฝนเพิ่มขึ้น
ซาง กัวจิง ผู้ช่วยนักวิจัยของสถาบันวิจัยที่ราบสูงชิงไห่-ทิเบต และสถาบันวิทยาศาสตร์แห่งชาติจีน เผยว่า ในเดือนมิถุนายน 2014 ทะเลสาบเซอร์ลิงโซวัดเนื้อที่ได้ 2,391 ตร.กม. กว้างกว่าทะเลสาบนัมโซ 369 ตร.กม.
ทั้งนี้ หลายปีที่ผ่านมา พื้นที่ทะเลสาบต่างๆในเขตปกครองตนเองทางด้านตะวันตกเฉียงใต้ของจีน ได้ขยายตัวเพิ่มขึ้น แต่การขยายตัวของทะเลสาบเซอร์ลิงโซเป็นไปอย่างรวดเร็วจนน่าทึ่ง ซึ่งในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา มีพื้นที่เพิ่มขึ้นถึง 535 ตร.กม. นับเป็น 1 ใน 3 ของพื้นที่เดิม
อนึ่ง ทะเลสาบนัมโซ มีความหมายว่า ทะเลสาบสวรรค์ ชาวพุทธทิเบตเชื่อว่า มีความศักดิ์สิทธิ์ ทุกๆปีจะมีผู้ศรัทธามาประกอบพิธีกรรมด้วยการเดินไปรอบๆทะเลสาบซึ่งกินเวลาหลายเดือน
(จาก Xinhua)
• บังกลาเทศขุดพบวัดพุทธโบราณอายุ 1,500 ปี
บังกลาเทศ : หลายปีที่ผ่านมา มีการขุดพบวัดโบราณจำนวนมากตามสถานที่ต่างๆในบังกลาเทศ และล่าสุดเดือนกรกฎาคม 2014 ทีมนักโบราณคดี ซึ่งนำโดย ศจ.ซูฟี มอสตาฟิเซอร์ ราห์มัน แห่งมหาวิทยาลัยจาฮันคิรนาคาร ได้ขุดพบวัดอีกแห่งหนึ่งที่เมืองเดอร์การ์ นาการ์ อันเป็นเมืองเก่าแก่อายุ 2,500 ปี
ย้อนไปในปี 2012 ทางทีมนักโบราณคดี ประกอบด้วยนักศึกษาโบราณคดีราว 40-50 คน ซึ่งลงพื้นที่ขุดสำรวจความยาว 14 กม. ได้พบซากปรักหักพังของวัดและสถูปเล็กๆหลายองค์ โดยเมื่อพิจารณาจากลักษณะสถาปัตยกรรมที่สำคัญ เช่น ห้องโถงภายใน ระเบียง ศาลา และสถูป จึงสรุปได้ว่า เป็นวัดโบราณที่มีอายุเกือบ 1,500 ปี
“มีการขุดพบสถูป 4 องค์ในพื้นที่ใกล้เคียง ซึ่งผมเชื่อว่าเป็นของวัดแห่งนี้ และยังอาจมีสถูปอีกหลายองค์ในบริเวณนี้ เราต้องขุดค้นหาต่อไป ผมแน่ใจว่า หากเราขุดไปเรื่อยๆ จะพบสิ่งก่อสร้างอีกมากมาย” มาห์บูบุล อลัม ฮิเมล ตัวแทนผู้นำทีมขุดสำรวจ กล่าว
การขุดพบวัดแห่งนี้ ถือเป็นหลักฐานที่แสดงว่า เขตอูวารี-โบเตสชอร์ เคยเป็นดินแดนที่อารยธรรมทางพุทธศาสนาเจริญรุ่งเรือง ขณะที่ ศจ.ซูฟี กล่าวว่า “เราขุดพบซากวัดเพียง 1 ใน 4 ส่วนเท่านั้น แต่เราจะเข้าใจถึงความสำคัญของวัดแห่งนี้ เมื่อมีการขุดสำรวจทั่วทั้งพื้นที่ และเป็นที่ประจักษ์ชัดเจนว่า พุทธศาสนาได้ปรากฏขึ้น ณ ดินแดนแห่งนี้เมื่อครั้งอดีต อันจะส่งผลให้บริเวณนี้ กลายเป็นส่วนสำคัญส่วนหนึ่งในชุมชนและวัฒนธรรมพุทธสมัยโบราณ”
(จาก Buddhistdoor)
• จีนเปิดศูนย์ฉายภาพยนตร์ 3 มิติ วัดถ้ำผาม่อเกา ให้นักท่องเที่ยวสัมผัสพุทธศิลป์แบบเสมือนจริง
จีน : เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2014 สถาบันตุนหวงได้เปิดศูนย์ฉายภาพยนตร์ระบบ 3D หรือ 3มิติ รูปทรงโดม บริเวณถ้ำผาม่อเกา เมืองตุนหวง มณฑลกานซู ประเทศจีน อย่างเป็นทางการ โดยมีนักท่องเที่ยวชุดแรกเข้าชมกว่า 2,700 คน
ฟาน จินชิ ผู้อำนวยการสถาบันตุนหวงเผยว่า สถาบันฯได้ถ่ายภาพจิตรกรรมฝาผนังจากถ้ำผาม่อเกาแต่ละถ้ำ ด้วยความละเอียดสูง แล้วนำมาจัดทำเป็นภาพยนตร์ 3 มิติ เพื่อให้นักท่องเที่ยวได้ชมภาพพุทธศิลป์อันงดงามภายในถ้ำต่างๆ รวมทั้งบริเวณที่ไม่เปิดให้เข้าชมด้วย
อนึ่ง ถ้ำผาม่อเกาเป็นถ้ำพุทธที่มีชื่อเสียงไปทั่วโลก ภายในเต็มไปด้วยพระพุทธรูปแกะสลักเขียนสีกว่า 2,000 องค์ และจิตรกรรมฝาผนังรวมความยาวกว่า 45,000 ตารางเมตร ซึ่งเป็นพุทธศิลป์ในช่วงศตวรรษที่ 4-14 องค์การยูเนสโกจึงได้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกในปี 1987
(จาก China.org.cn)
• อินเดียจับมือจีนออกสารานุกรม วัฒนธรรมอินเดีย-จีน เป็นครั้งแรก
อินเดีย : เมื่อเร็วๆนี้ นายโมฮัมหมัด ฮามิด อันซารี รองประธานาธิบดีอินเดีย และนายหลี่ หยวนเฉา รองประธานาธิบดีจีน ได้ร่วมกันเปิดตัวสารานุกรม “India-China Cultural Contacts” หรือ “ความเชื่อมโยงทางวัฒนธรรมของอินเดีย-จีน” เป็นครั้งแรก
สารานุกรมดังกล่าวมีเนื้อหาเกี่ยวกับความเชื่อมโยงทางวัฒนธรรมของอินเดียและจีนที่มีมายาวนาน ย้อนหลังไปในประวัติศาสตร์กว่า 2,000 ปี เริ่มจากพระเสวียนจั้ง (หรือพระถังซัมจั๋ง) ภิกษุจีนที่เดินทางไปยังอินเดียในคริสต์ศตวรรษที่ 7 เพื่ออัญเชิญพระไตรปิฎก มาจนถึงปัจจุบัน นอกจากนี้ ยังมีเนื้อหาครอบคลุมความสัมพันธ์ทางการค้า เศรษฐกิจ วรรณคดี ปรัชญา และการทูต อีกด้วย
โดยมีคณะกรรมการรวบรวมข้อมูล ซึ่งประกอบด้วยบรรดาเจ้าหน้าที่และนักวิชาการของทั้งสองประเทศ ร่วมกันจัดทำและตีพิมพ์เป็นภาษาอังกฤษและจีน
(จาก PTI)
• โรตารีสากลมอบรางวัลเกียรติยศ แก่ “ธรรมาจารย์เชงเยน” แห่งฉือจี้
ไต้หวัน : เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2014 สโมสรโรตารีสากลได้มอบรางวัลเกียรติยศให้ธรรมาจารย์เชงเยน ผู้ก่อตั้งมูลนิธิพุทธฉือจี้ไต้หวัน จากการทำงานด้านมนุษยธรรมอย่างต่อเนื่อง และสนับสนุนให้เกิดสันติสุขขึ้นในโลก นับเป็นชาวพุทธจีนคนแรกที่ได้รับรางวัลนี้ รางวัลดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงวัตถุประสงค์ของมูลนิธิฉือจี้ ที่มีเหล่าอาสาสมัครใจเมตตาคอยช่วยเหลือผู้ได้รับความทุกข์
มูลนิธิพุทธฉือจี้ไต้หวัน ก่อตั้งขึ้นในปี 1966 เป็นองค์กรการกุศลไม่แสวงหากำไร ให้ความช่วยเหลือด้านการกุศล เวชกรรม การศึกษา และการปลูกฝังด้านมนุษยธรรม ปัจจุบันมีสาขาใน 87 ประเทศทั่วโลก สมาชิกกว่า 5 ล้านคน โดยอาสาสมัครจะแต่งกายในชุดสีน้ำเงินและสีขาว จึงมักถูกเรียกว่า “ทูตสวรรค์สีน้ำเงิน”
มูลนิธิได้ส่งอาสาสมัครและความช่วยเหลือไปยังที่เกิดเหตุภัยพิบัติครั้งสำคัญต่างๆทั่วโลก เช่น แผ่นดินไหวจิจิในไต้หวัน ปี 1999 พายุเฮอริเคนแซนดี้ในสหรัฐอเมริกา ปี 2012 และล่าสุดเหตุเครื่องบินโดยสารสายการบินมาเลเซียแอร์ไลน์ เที่ยวบิน MH370 ที่หายสาบสูญเมื่อเดือนมีนาคม 2014 อีกทั้งได้สนับสนุนงานบริการต่างๆทางสังคม เช่น สร้างโรงเรียน วิทยาลัยพยาบาล มูลนิธิทางการแพทย์ ฯลฯ
ธรรมาจารย์เชงเยน หรือที่เรียกกันว่า “แม่ชีเทเรซาแห่งเอเชีย” เป็นภิกษุณีในพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน เกิดในปี 1937 ที่ตำบลชิงสุ่ย เมืองไถจง ประเทศไต้หวัน เมื่ออายุ 25 ปี ได้ตัดสินใจออกบวช โดยมีพระมหาเถระอิ้นซุ่นเป็นพระอุปัชฌาย์ ซึ่งได้สั่งสอนว่า “ขอจงทำเพื่อพระพุทธศาสนา ทำเพื่อมวลชีวันทุกเวลา” ซึ่งธรรมาจารย์เชงเยนได้ถือปฏิบัติตราบจนทุกวันนี้
(จาก Tzuchi.org.tw)
• วัดเกาหลีใต้จัดแข่งสวดมนต์แนวใหม่ หวังดึงคนหนุ่มสาวสนใจพุทธศาสนา
เกาหลีใต้ : วัดโชเกซา กรุงโซล วัดหลักในพุทธศาสนานิกายโชเก (นิกายมหายานที่ใหญ่ที่สุดในเกาหลีใต้) ได้ริเริ่มจัดประกวดการแข่งขันสวดมนต์แนวใหม่ขึ้น โดยผู้ชนะจะได้รับเงินรางวัล 3 ล้านวอน (ราว 9 หมื่นบาท) ทั้งนี้ มีพระสงฆ์และแม่ชีวัยหนุ่มสาวกว่า 300 คน เข้าร่วมขับขานบทสวดมนต์แบบดั้งเดิม หรือบทสวดที่แต่งขึ้นใหม่ในสไตล์แร็พและฮิปฮอป ประกอบเครื่องดนตรีโบราณ เช่น กลอง ฆ้อง ในขณะที่ผู้ชมจำนวนมากพากันสวดมนต์แบบเดิมตามไปด้วย
พระเยกัง หนึ่งในผู้เข้าแข่งขันกล่าวว่า “การสวดมนต์แนวใหม่นี้ เพื่อต้องการดึงคนรุ่นใหม่ให้หันมาสนใจในพุทธศาสนา และเข้าใจความหมายของบทสวดมนต์ต่างๆ”
พระยินมุค พระเถระชั้นผู้ใหญ่ของนิกายโชเก และเป็นหนึ่งในกรรมการตัดสิน กล่าวถึงความพยายามที่จะทำให้บทสวดมนต์เข้าถึงคนหนุ่มสาวได้ง่ายขึ้นว่า
“มีบทสวดมนต์จำนวนมากที่เขียนด้วยคำโบราณ ซึ่งคนทั่วไปไม่คุ้นเคย เราจึงขอให้ผู้เข้าแข่งขันเขียนบทสวดมนต์ขึ้นใหม่ ด้วยภาษาธรรมดา ที่เข้าใจง่าย เพราะเราต้องการให้คนทั่วไป โดยเฉพาะคนหนุ่มสาวและเด็กได้รู้ว่า 'ยัมบุล’ (บทสวดมนต์และพระสูตร) เป็นสิ่งที่น่าสนใจและง่ายที่จะปฏิบัติตามมากกว่าที่พวกเขาคิด”
(จาก Buddhistdoor)
(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 165 กันยายน 2557 โดย เภตรา)