• กรมสุขภาพจิตแนะ 2 วิธี ดูแลผู้ป่วยโรคจิต
นพ.เจษฎา โชคดำรงสุข อธิบดีกรมสุขภาพจิต บอกว่าจิตเวชเป็นโรคเรื้อรังและเป็นโรคทางสมองอย่างหนึ่ง ที่ทำให้ผู้ป่วยควบคุมตนเองได้ไม่ดี ต้องดูแลตัวเองอย่างต่อเนื่องและอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์ สาเหตุของการเกิดโรคมาจากหลายปัจจัยด้วยกัน
การดูแลผู้ป่วยจิตเวช มีอยู่ 2 ประการสำคัญ คือ 1. ต้องดูแลไม่ให้ขาดยาเป็นอันขาด 2. ครอบครัวหรือคนรอบข้างต้องช่วยกันดูแลผู้ป่วยให้ใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันได้อย่างปกติ เพราะหากเกิดสภาพแวดล้อมที่แปลกแยกหรือกดดัน กีดกัน รังเกียจ อาจเพิ่มปัญหาต่อการรักษามากยิ่งขึ้น ทำให้ผู้ป่วยเกิดความกดดัน ปลีกตัว หรืออาละวาดขึ้นมาได้ ประกอบกับต้องให้ความรัก ความห่วงใย เอาใจใส่ดูแลอย่างใกล้ชิด ไม่ให้ผู้ป่วยขาดยา หากผู้ป่วยปฏิเสธการทานยาควรปรึกษาจิตแพทย์ทันที
• จับสังเกต 7 สัญญาณเสี่ยงติดสุรา
นพ.ปริทรรศ ศิลปกิจ รอง ผอ.ฝ่ายการแพทย์ รพ.สวนปรุง แนะวิธีสังเกตบุคคลในครอบครัวหรือผู้ใกล้ชิด ว่าเริ่มติดสุราหรือไม่ โดยเช็คจาก 3 ใน 7 อาการ ต่อไปนี้ 1. ต้องเพิ่มปริมาณการดื่มมากขึ้นจึงจะได้ฤทธิ์เท่าเดิม 2. มีอาการทางร่างกายเมื่อไม่ได้ดื่ม 3.ควบคุมการดื่มไม่ได้ 4. มีความต้องการอยู่เสมอที่จะเลิกดื่ม หรือพยายามหลายครั้งแล้วแต่ไม่สำเร็จ 5.หมกมุ่นกับการดื่มหรือการหาสุรา 6.มีความบกพร่องในหน้าที่การงานหรือการพักผ่อนหย่อนใจ 7.ยังคงดื่มอยู่ทั้งๆที่มีผลเสียเกิดขึ้นแล้ว
ซึ่งหากสังเกตพบได้เร็ว ก็จะยิ่งช่วยผู้ติดสุราให้เข้าสู่กระบวนการบำบัดรักษาได้เร็วยิ่งขึ้น นอกจากนี้ ผู้ติดสุราที่ต้องการหยุดหรือลดปริมาณการดื่มลง ถ้าหยุดกะทันหัน อาจเป็นอันตรายได้ วิธีลดละเลิกสุราที่ปลอดภัย คือ การขอรับบริการปรึกษาในหน่วยงานที่ให้บริการบำบัดรักษาผู้มีปัญหาการดื่มสุรา หรือสายด่วนเลิกเหล้า 1413 หรือโรงพยาบาลในสังกัดกรมสุขภาพจิตทุกแห่ง หรือโทรสายด่วนสุขภาพจิต 1323 ฟรี ตลอด 24 ชม.
• หน้าฝน ระวังโรคฉี่หนู อาจถึงตาย!!
นพ.โสภณ เมฆธน อธิบดีกรมควบคุมโรค บอกว่า เชื้อโรคฉี่หนูสามารถเข้าสู่ร่างกายทางผิวหนังตามรอยแผล รอยถลอก รอยขีดข่วน เยื่อบุตา จมูก ปาก หรือผิวหนังปกติที่แช่น้ำเป็นเวลานานจนอ่อนนุ่ม และจากการกินอาหารหรือน้ำที่มีเชื้อปนเปื้อน ผู้ที่ได้รับเชื้ออาจมีหรือไม่มีอาการก็ได้ อาการมักแสดงออกหลังได้รับเชื้อ 2-3 วัน จนถึง 2-3 สัปดาห์
อาการสำคัญ คือ มีไข้สูงทันทีทันใด ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ โดยเฉพาะที่น่องและโคนขาอย่างมาก คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย เบื่ออาหาร เป็นต้น ถ้าไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้อง อาจมีอาการแทรกซ้อนตัวเหลือง ตาเหลือง ไตวาย หรืออาการทางสมองและระบบประสาท อาจถึงตายได้
ส่วนการป้องกันโรคไข้ฉี่หนู มีดังนี้ 1.หลีกเลี่ยงการเดินลุยน้ำย่ำโคลนที่ชื้นแฉะเป็นเวลานาน โดยเฉพาะผู้ที่เป็นโรคเบาหวาน ที่มีปัญหาชาที่เท้า ต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ เนื่องจากอาจมีแผลที่เท้าและไม่รู้สึกเจ็บ มีโอกาสเสี่ยงติดโรคสูง 2. ผู้ที่ต้องทำงานที่เสี่ยงต่อโรค เช่น ชาวสวน ชาวนา คนงานขุดลอกท่อระบายน้ำ ขอให้สวมถุงมือยาง ใส่รองเท้าบู๊ทยาง เพื่อป้องกันการติดเชื้อ 3. หมั่นล้างมือบ่อยๆ อาบน้ำชำระร่างกายหลังจากเสร็จภารกิจทำงาน 4. กำจัดขยะในบ้านเรือน สถานที่ทำงานให้สะอาด โดยเฉพาะเศษอาหาร เพื่อไม่ให้เป็นแหล่งอาหารของหนู 5. ดื่มน้ำต้มสุกและรับประทานอาหารที่ปรุงสุกร้อนใหม่ๆ
• ทันตแพทย์เตือนสิงห์อมควัน เสี่ยงสูญเสียฟัน-มะเร็งช่องปาก
นพ.พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมอนามัย บอกว่า ผู้ที่สูบบุหรี่ 5-14 มวนต่อวัน จะมีโอกาสสูญเสียฟันมากกว่าคนไม่เคยสูบ 2 เท่า และแม้จะเลิกสูบแล้วก็ต้องใช้เวลา 10-12 ปี ความเสี่ยงต่อการสูญเสียฟันจึงจะลดลงเท่าคนปกติ
ทั้งนี้ การสูบบุหรี่ทำให้เกิดคราบสีดำหรือน้ำตาลติดแน่นบนตัวฟัน เป็นอุปสรรคต่อการรักษาทางทันตกรรม ผู้สูบบุหรี่ที่เป็นโรคปริทันต์จะรักษาไม่หายขาด และโรคยังจะลุกลามมากขึ้น จนต้องสูญเสียฟัน สำหรับผู้ที่ต้องถอนฟัน ผ่าฟันคุด หรือผ่าตัดในช่องปาก ถ้าไม่หยุดสูบบุหรี่จะทำให้แผลหายช้า และมีโอกาสติดเชื้อที่เบ้ากระดูกได้ง่าย
นอกจากนี้ ควันและความร้อนของบุหรี่ทำให้เนื้อเยื่ออ่อนในช่องปากระคายเคือง อักเสบ และหนาตัว ลิ้นเป็นฝ้าจนการรับรสด้อยลง สุดท้ายเสี่ยงต่อการเปลี่ยนเป็นเนื้อร้ายหรือมะเร็งช่องปาก สังเกตได้จากรอยแผ่นคราบสีขาวหรือสีแดง ขูดไม่ออก บริเวณกระพุ้งแก้ม เหงือก ลิ้น และแผลในช่องปากไม่หายเองใน 2 สัปดาห์ หากมีความผิดปกติเช่นนี้ต้องรีบพบทันตแพทย์ทันที โดยเฉพาะผู้สูบบุหรี่ทุกวันและมีอายุ 40 ปีขึ้นไป
• วิจัยพบ “ย้อมผม” อาจก่อให้เกิดโรคมะเร็ง
นักวิจัยเตือนว่า สารย้อมผมชนิดสีติดทนถาวรและการทำสีผมในร้านทำผม อาจมีสาร Toluidines (สารประกอบอินทรีย์ที่มีกลิ่นหอม) ซึ่งเป็นสารต้องห้าม ที่ก่อให้เกิดโรคมะเร็ง
งานวิจัยใหม่ของมหาวิทยาลัยลุนด์ ประเทศสวีเดน พบว่า ช่างทำผมอาจได้รับสารก่อมะเร็งดังกล่าว โดยสารย้อมผมชนิดสีติดทนถาวร หรือที่เรียกว่า สารย้อมผมออกซิเดทีฟ เป็นชนิดที่ก่ออันตรายแก่ช่างทำผมและผู้ย้อมมากที่สุด
ทั้งนี้ นักวิจัยได้ตรวจวัดระดับสาร o-toluidine ในเลือด ซึ่งได้รับการยืนยันแล้วว่าเป็นสารก่อมะเร็ง รวมถึงระดับสารประกอบอินทรีย์ที่มีกลิ่นหอมอื่นๆ ซึ่งอาจทำให้เกิดมะเร็งได้อีก 7 ชนิด ในช่างผมสตรี 295 คน พบว่า บรรดาช่างผมได้รับสาร o-toluidine และ meta-toluidine (m-toluidine) โดยตรง ซึ่งระดับสาร o-toluidine ตรวจพบได้ในการทำสีผมเช่นกัน
“ส่วนประกอบของสีย้อมผมและผลิตภัณฑ์ทำสีผม ควรได้รับการตรวจวิเคราะห์เพื่อดูว่า มีแนวโน้มเป็นแหล่งให้ผู้ใช้ได้รับสาร toluidine อย่างต่อเนื่องหรือไม่ และบรรดาช่างผมควรสวมถุงมือ เพื่อป้องกันภัยที่เกิดจากผลิตภัณฑ์เหล่านี้ดูดซึมผ่านทางผิวหนัง” นักวิจัยกล่าว
• กระดูกสันหลังคดอันตราย แพทย์แนะวิธีตรวจด้วยตัวเอง
นพ.สุพรรณ ศรีธรรมมา อธิบดีกรมการแพทย์ บอกว่า กระดูกคดเกิดจากภาวะกระดูกสันหลังโค้งงอไปทางด้านซ้ายหรือด้านขวาจนผิดปกติ ทำให้เกิดอาการปวดบริเวณหลัง เอว คอ เรื้อรัง เนื่องจากกล้ามเนื้อในแต่ละส่วนแบกรับน้ำหนักไม่เท่ากัน รวมทั้งมีอาการเหนื่อยง่าย เนื่องจากกระดูกหน้าอกไปกดทับปอดมากกว่าปกติ
การสำรวจตนเองง่ายๆว่า มีอาการกระดูกสันหลังคดหรือไม่ โดยให้สังเกตความสูงของระดับหัวไหล่ ความนูนของกระดูกสะบัก และระดับแนวกระดูกสะโพกของร่างกาย ซึ่งมักจะมีระดับสูง-ต่ำไม่เท่ากัน หรือทดสอบโดยการยืนให้เท้าชิดกันและให้ก้มไปด้านหน้า ใช้มือทั้ง 2 ข้างแตะให้ถึงพื้น จะเห็นความนูนของหลังไม่เท่ากัน ซึ่งหากมีอาการผิดปกติดังกล่าวให้ไปพบแพทย์ เพราะหากได้รับการรักษาที่ถูกต้อง จะช่วยให้กระดูกสันหลังกลับมาใกล้เคียงภาวะปกติ
(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 164 สิงหาคม 2557 โดย ธาราทิพย์)