xs
xsm
sm
md
lg

ฉี่หนู 7 เดือนตาย 7 ราย พบซื้อยากินเองจนดับ แนะวิธีป้องกันโรคช่วงหน้าฝน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ทั่วประเทศป่วยฉี่หนู 861 ราย ตาย 7 ราย เหตุเข้าใจโรคผิด ซื้อยากินเองทำเชื้อรุนแรงขึ้น แนะวิธีป้องกันโรคช่วงหน้าฝน

นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า ในฤดูฝนโรคที่มีแนวโน้มพบมากขึ้น คือ โรคเลปโตสไปโรสิส (Leptospirosis) หรือโรคฉี่หนู ซึ่งจากรายงานข้อมูลการเฝ้าระวังโรคฉี่หนู ของสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค (คร.) รายงานว่า ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. - 14 ก.ค. 2557 พบผู้ป่วยโรคฉี่หนูทั่วประเทศ 861 ราย ใน 61 จังหวัด มีผู้เสียชีวิต 7 ราย พบได้ทั้งผู้ที่อยู่ในชนบทและอยู่ในเมือง กลุ่มอายุที่ป่วยมากที่สุดคือวัยแรงงงาน 25-54 ปี ผู้ป่วยเป็นชายมากกว่าหญิง ถึง 5 เท่าตัว กว่าครึ่งประกอบอาชีพเกษตรกรรม รองลงมาคือรับจ้างทั่วไป เมื่อแยกเป็นรายภาคพบว่า 3 ใน 5 จังหวัดที่มีอัตราป่วยต่อแสนประชากร มากที่สุดอยู่ในภาคใต้ ได้แก่ สตูล ระนอง และยะลา ส่วนอีก 2 จังหวัดอยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แก่ กาฬสินธุ์ และศรีสะเกษ ได้สั่งการให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ทุกแห่ง เร่งประชาสัมพันธ์ให้ความรู้ประชาชนในการป้องกันโรค เพื่อป้องกันการเสียชีวิตให้ได้มากที่สุด โดยโรคนี้รักษาให้หายขาดได้ แต่อาจติดเชื้อและป่วยซ้ำได้อีก

ด้าน นพ.โสภณ เมฆธน อธิบดี คร.กล่าวว่า โรคฉี่หนูเป็นโรคติดต่อจากสัตว์สู่คน นอกจากหนูที่เป็นตัวการหลักในการแพร่เชื้อแล้ว ยังพบว่าสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมหลายชนิด เช่น สุนัข สุกร โค กระบือ แมว แพะ แกะ ก็แพร่เชื้อได้เช่นกัน เชื้อโรคนี้จะออกมาพร้อมกับฉี่ของสัตว์ดังกล่าว แต่พบได้น้อยกว่าหนู โดยเชื้อโรคฉี่หนู สามารถเข้าสู่ร่างกายโดยไชเข้าทางผิวหนังตามรอยแผล รอยถลอก รอยขีดข่วน เยื่อบุของตา จมูก ปาก หรือผิวหนังปกติที่แช่น้ำเป็นเวลานานจนอ่อนนุ่ม และติดจากการกินอาหารหรือน้ำที่มีเชื้อปนเปื้อนเข้าไปก็ได้ ผู้ที่ได้รับเชื้ออาจมีหรือไม่มีอาการก็ได้ ในผู้ที่มีอาการมักแสดงหลังจากได้รับเชื้อ 2-3 วัน จนถึง 2-3 สัปดาห์

นพ.โสภณกล่าวต่อว่า อาการที่สำคัญ คือ มีไข้สูงทันทีทันใด ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ โดยเฉพาะที่น่องและโคนขาอย่างมาก คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย เบื่ออาหาร เป็นต้น ถ้าไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้อง ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการแทรกซ้อน คือตัวเหลือง ตาเหลือง ไตวาย หรืออาการทางสมองและระบบประสาท อาจถึงตายได้ โดยอัตราการตายอาจสูงถึงร้อยละ 10-40 หากมีอาการที่กล่าวมา ขอให้สงสัยไว้ก่อนว่าอาจเป็นโรคฉี่หนู และให้รีบไปพบแพทย์ เนื่องจากโรคนี้มียารักษาหายขาดได้ อย่าซื้อยารับประทานเอง จากการติดตามประวัติในกลุ่มที่เสียชีวิต พบว่าส่วนใหญ่มักจะซื้อยากินเองก่อน โดยเฉพาะยาที่มีฤทธิ์แก้ปวดและลดไข้ เพราะเข้าใจว่าเป็นไข้ทั่วไปที่เกิดมาจากการทำงานหนัก จึงทำให้อาการรุนแรงขึ้น เชื้อโรคเข้าไปทำลายอวัยวะอื่น เช่น ไต ทำให้ไตวาย และเสียชีวิตได้

นพ.โสภณกล่าวอีกว่า ในการป้องกันโรคไข้ฉี่หนูในช่วงหน้าฝน ซึ่งบางพื้นที่อาจมีน้ำป่าไหลหลาก น้ำท่วม มีคำแนะนำดังนี้ 1. หลีกเลี่ยงการเดินลุยน้ำย่ำโคลนที่ชื้นแฉะเป็นเวลานาน โดยเฉพาะผู้ที่เป็นโรคเบาหวาน ที่มีปัญหามึนชาที่เท้า ต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ เนื่องจากอาจมีแผลที่เท้าและไม่รู้สึกเจ็บ มีโอกาสเสี่ยงติดโรคสูง 2. ผู้ที่ต้องทำงานที่เสี่ยงต่อโรค เช่น ชาวสวน ชาวนา คนงานขุดลอกท่อระบายน้ำ ขอให้สวมถุงมือยาง ใส่รองเท้าบู๊ทยาง เพื่อป้องกันการติดเชื้อ 3. หมั่นล้างมือบ่อยๆ อาบน้ำชำระร่างกายหลังจากเสร็จภารกิจทำงาน 4. กำจัดขยะในบ้านเรือน สถานที่ทำงานให้สะอาด โดยเฉพาะเศษอาหาร เพื่อไม่ให้เป็นแหล่งอาหารของหนู และ 5. ดื่มน้ำต้มสุกและรับประทานอาหารที่ปรุงสุกร้อนใหม่ๆ

ติดตาม Instagram และ Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่





กินเนื้อหมูสุกๆ ดิบๆ เสี่ยงป่วยโรคไข้หูดับ อาจถึงตาย!
กินเนื้อหมูสุกๆ ดิบๆ เสี่ยงป่วยโรคไข้หูดับ อาจถึงตาย!
สธ.เตือนประชาชน หน้าฝนอากาศอับชื้อ หลีกเลี่ยงกินเนื้อหมู เลือดหมู สุกๆ ดิบๆ จำพวกลาบก้อย หลู้ ส้า มีความเสี่ยงสูงติดเชื้อโรคไข้หูดับ มีอันตรายขั้นเสียชีวิต หรือหูหนวกตลอดชีวิต ส่วนกลุ่มนักดื่ม หรือมีโรคประจำตัวหากติดเชื้ออาการป่วยจะรุนแรงขึ้น เผยตั้งแต่ต้นปี 2557 ถึงกลางเดือน พ.ค.พบไทยมีผู้ป่วย 74 ราย เสียชีวิต 8 ราย ชี้หมูที่ติดเชื้อจะไม่แสดงอาการ ย้ำซื้อเนื้อหมูในตลาด หรือห้างที่ผ่านมาตรฐานรับรอง ขณะที่ผู้เลี้ยงควรสวมรองเท้าบูตป้องกัน มีบาดแผลไม่ควรสัมผัสหมู พร้อมย้ำ สสจ.เร่งให้ความรู้เพื่อลดป่วยและเสียชีวิต
กำลังโหลดความคิดเห็น