xs
xsm
sm
md
lg

เตือนอย่ากินเห็ดดอกตูม แยกยากมี-ไม่มีพิษ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เตือนอย่ากินเห็ดช่วงดอกตูม สธ. ชี้แยกยากว่าเป็นเห็ดมีพิษหรือไม่มีพิษ เหตุลักษณะคล้ายกัน สอดคล้องสถิติผู้ป่วยจากการกินเห็ดพิษ เพราะกินช่วงยังเป็นดอกตูม

นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า ในช่วงฤดูฝนยังคงมีปัญหาประชาชนเก็บเห็ดพิษมากิน จนเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิต ซึ่งพบได้ทุกปี โดยข้อมูลของสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. - 23 มิ.ย. พบผู้ป่วยจากการกินเห็ดพิษ 214 ราย จาก 40 จังหวัด เสียชีวิต 3 ราย ส่วนใหญ่เป็นเกษตรกร รองลงมาคือรับจ้าง และนักเรียน จึงได้ให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ทั่วประเทศ เร่งให้ให้ความรู้ประชาชน

นพ.โสภณ เมฆธน อธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) กล่าวว่า เห็ดที่มีพิษรุนแรงที่สุดและเป็นเหตุให้เสียชีวิตบ่อยที่สุด คือ เห็ดระโงกหิน และเห็ดไข่ตายซาก จะมีสารพิษ 2 ชนิดคือ อะมาท็อกซินส์ (Amatoxins) และฟาโลท็อกซินส์ (Phallotoxins) ทำลายระบบทางเดินอาหาร ตับ ไต สมอง ระบบเลือด ระบบหายใจ ทำให้เสียชีวิตได้ใน 4 - 10 ชั่วโมง สารพิษในเห็ดทนความร้อนได้ดี ดังนั้น แม้เห็ดจะสุกแล้ว แต่ความเป็นพิษก็ยังสูง จะมีอาการหลังรับประทานประมาณ 3 ชั่วโมง เช่น ปวดศีรษะ คลื่นไส้อาเจียน ท้องเสีย หัวใจเต้นเร็ว ปวดเกร็งในท้อง ที่ต้องระวังเป็นพิเศษ คือ อย่ากินเห็ดพร้อมกับดื่มสุรา เนื่องจากเห็ดบางชนิดจะเกิดพิษทันที และฤทธิ์ของแอลกอฮอล์จะเป็นตัวนำทางให้พิษแพร่กระจายอย่างรวดเร็วและรุนแรงขึ้น และอย่ากินเห็ดป่าที่ดอกยังตูมๆ หรือเรียกว่าเห็ดอ่อน เนื่องจากจะไม่สามารถรู้ได้เลยว่าเป็นเห็ดพิษหรือไม่มีพิษ เพราะลักษณะดอกภายนอกจะเหมือนกัน ซึ่งจากการสอบสวนผู้ป่วยที่เมาเห็ดพิษ พบว่าส่วนใหญ่จะนิยมกินเห็ดดอกตูม เพราะรสชาติดีกว่าเห็ดบาน

นพ.โสภณ กล่าวอีกว่า เห็ดป่า เป็นอาหารที่มีคุณค่าเช่นโปรตีน หากจะให้ได้ทั้งคุณค่าอาหารและความปลอดภัย ขอแนะนำประชาชนยึดหลัก ดังนี้ 1. ควรกินเฉพาะเห็ดที่แน่ใจและเพาะได้ทั่วไป อย่ากินเห็ดที่สงสัย ไม่รู้จัก และไม่แน่ใจ เช่น เห็ดที่ขึ้นที่มูลสัตว์หรือใกล้มูลสัตว์ 2. ไม่ควรซื้อหาเห็ดป่าที่ไม่รู้จักมาปรุงอาหารกิน 3. ขอให้จดจำลักษณะเห็ดพิษที่สังเกตง่าย ได้แก่ มีสีเข้มจัด เช่น แดง ส้ม ดำ หรือมีสีฉูดฉาด มีแผ่นหรือเกล็ดขรุขระบนหมวกเห็ด มีขนหรือหนามเล็กๆ กระจายอยู่ทั่วไป และมีกลิ่นเหม็นเอียน และ 4. การเก็บเห็ดที่มีรอยแมลงกัดกิน ไม่ได้แสดงว่าเห็ดนั้นปลอดภัย

“เห็ดระโงกพิษรูปร่างจะคล้ายเห็ดระโงกที่กินได้ แต่มีข้อแตกต่างคือ เห็ดระโงกพิษ จะมีก้านสูง กลางดอกหมวกจะนูนเล็กน้อย มีกลิ่นเอียนและค่อนข้างแรง ช่วงที่เสี่ยงอันตรายที่สุด คือ ช่วงที่เห็ดยังดอกตูม หรือกำลังเป็นไข่ ซึ่งชาวบ้านนิยมบริโภค ในพื้นที่ที่เคยมีรายงานผู้ป่วยเสียชีวิตจากเห็ดพิษ ขอให้ประชาชนตระหนักว่ามีเห็ดพิษชนิดรุนแรงอยู่ในพื้นที่ เพราะในช่วงฤดูฝนเห็ดสามารถเจริญเติบโตซ้ำได้ทุกๆ ปี” อธิบดี คร. กล่าว

นพ.โสภณ กล่าวด้วยว่า สำหรับภูมิปัญญาพื้นบ้านที่ใช้ในการทดสอบเห็ดพิษหลายวิธี เช่น การต้มกับข้าวสาร หรือต้มกับช้อนเงิน แล้วเปลี่ยนสี ไม่สามารถนํามาใช้กับเห็ดพิษได้ โดยเฉพาะกลุ่มเห็ดระโงกพิษ ทั้งนี้ ในการช่วยเหลือผู้ป่วยที่รับประทานเห็ดพิษ หลักการสำคัญที่สุด จะต้องทำให้ผู้ป่วยอาเจียน เอาเศษอาหารที่อยู่ในกระเพาะอาหารออกมาให้มากที่สุด เพื่อลดการแพร่กระจายพิษ ให้ผู้ป่วยดื่มน้ำอุ่นผสมเกลือแกง 3 ช้อนชา แล้วล้วงคอเพื่อให้อาเจียนโดยเร็วที่สุด แต่วิธีนี้ห้ามใช้กับเด็กต่ำกว่า 5 ขวบ จากนั้นให้รีบนำส่งโรงพยาบาล พร้อมกับนำตัวอย่างเห็ดพิษ หากยังเหลืออยู่ ไปให้แพทย์ดูด้วย

ติดตาม Instagram และ Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่





กำลังโหลดความคิดเห็น