xs
xsm
sm
md
lg

เตือนกินเห็ดมากเสี่ยงอาหารเป็นพิษ!!

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สธ. คาดหน้าฝนผู้ป่วยกินเห็ดพิษเพิ่มขึ้น 4-5 เท่า สั่งเร่งให้ความรู้การกินเห็ด เตือนอย่ากินพร้อมเหล้า เหตุทำให้พิษกระจายไปทั่วร่างไว และอย่ากินเห็ดอิ่มเกินไป เพราะย่อยยาก ระบุคนระบบย่อยอาหารอ่อนแอเสี่ยงอาหารเป็นพิษได้

นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า ช่วงหลังฝนตกจะมีเห็ดขึ้นตามธรรมชาติ ทั้งที่กินได้และเห็ดพิษ ซึ่งกินไม่ได้ แต่กลับมีลักษณะใกล้เคียงกับเห็ดที่กินได้ ทำให้ประชาชนเข้าใจผิดเก็บมากินจนเป็นอันตรายแก่ชีวิต ซึ่งพบได้ทุกปี โดยปี 2557 ตั้งแต่ ม.ค.-เม.ย. มีรายงานผู้ป่วยกินเห็ดพิษทั่วประเทศ 91 ราย ยังไม่มีเสียชีวิต ส่วนใหญ่อยู่ในชนบท ลักษณะการป่วยมักเป็นแบบยกบ้าน คือ ป่วยพร้อมกันทั้งครอบครัว เนื่องจากกินข้าวร่วมวงกัน คาดว่าจำนวนผู้ป่วยจะเพิ่มขึ้นกว่านี้ 4-5 เท่าในช่วงฤดูฝน สำหรับปี 2556 มีรายงานผู้ป่วยกินเห็ดพิษ 1,381 ราย เสียชีวิต 3 ราย จึงได้ให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ทั่วประเทศเร่งให้ให้ความรู้ประชาชน ในการบริโภคเห็ดป่า เพื่อป้องกันปัญหาเจ็บป่วยและเสียชีวิตให้มากที่สุด

ด้าน นพ.โสภณ เมฆธน อธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) กล่าวว่า เห็ดพิษที่บริโภคและเกิดปัญหาบ่อย พบว่าอยู่ในกลุ่มสารพิษ 7 กลุ่ม ซึ่งมีประมาณ 12 ชนิด พิษมีทั้งอันตรายไม่รุนแรงจนถึงรุนแรงทำให้เสียชีวิต อาการเจ็บป่วยหลังกินเห็ด พบได้หลายแบบขึ้นอยู่กับชนิดของเห็ด โดยเห็ดที่มีพิษรุนแรงที่สุดและเป็นเหตุให้เสียชีวิตบ่อยที่สุดคือเห็ดระโงกหิน หรือเห็ดไข่ตายซาก จะมีสารพิษ 2 ชนิดคือ อะมาท็อกซินส์ และฟาโลท็อกซินส์ ทำลายระบบทางเดินอาหาร ตับ ไต สมอง ระบบเลือด ระบบหายใจ ทำให้เสียชีวิตได้ใน 4-10 ชั่วโมง สารพิษในเห็ดจะทนความร้อนได้ดี ดังนั้น แม้เห็ดจะสุกแล้ว แต่ความเป็นพิษก็ยังมีสูง อาการป่วยจะปรากฏหลังกินเห็ดพิษประมาณ 3 ชั่วโมง เช่น ปวดศีรษะ คลื่นไส้อาเจียน ท้องเสีย หัวใจเต้นเร็ว ปวดเกร็งในท้อง

ประการสำคัญ ขอให้ประชาชนระมัดระวัง อย่ากินเห็ดพร้อมกับดื่มสุรา เนื่องจากเห็ดบางชนิดจะเกิดพิษทันที และเมื่อดื่มสุราไปด้วย ฤทธิ์ของแอลกอฮอล์จะเป็นตัวนำทางให้พิษเห็ดแพร่กระจายไปอย่างรวดเร็วและรุนแรงขึ้นอีก โดยการกินเห็ด อย่ากินอิ่มจนเกินไปเพราะอาจทำให้ย่อยยาก และผู้ที่ระบบย่อยอาหารอ่อนแอ อาจเกิดอาหารเป็นพิษได้เช่นกัน ดังนั้น การกินเห็ดมีข้อแนะนำคือ 1. กินเฉพาะเห็ดที่แน่ใจ 2. ไม่ซื้อเห็ดป่าไม่รู้จักมากิน 3. เห็ดพิษมีสีเข้มจัด ฉูดฉาด มีแผ่นหรือเกล็ดขรุขระบนหมวกเห็ด มีกลิ่น 4. ตระหนักว่ามีเห็ดพิษในพื้นที่ หากเคยมีรายการป่วยตายจากการกินเห็ดพิษ 5. การตรวจแยกเห็ดพิษตามภูมิปัญญาพื้นบ้านใช้กับเห็ดพิษไม่ได้ และ 6. เห็ดที่มีรอยแมลงกัดกิน ไม่ได้แสดงว่าเห็ดนั้นปลอดภัย” อธิบดี คร. กล่าว

นพ.โสภณ กล่าวว่า การช่วยเหลือผู้กินเห็ดพิษ จะต้องทำให้ผู้ป่วยอาเจียนเอาเศษอาหารที่อยู่ในกระเพาะอาหารออกมาให้มากที่สุด เพื่อลดการแพร่กระจายพิษ โดยให้ดื่มน้ำอุ่นผสมเกลือแกง 3 ช้อนชา แล้วล้วงคอเพื่อให้อาเจียนโดยเร็วที่สุด แต่วิธีนี้ห้ามใช้กับเด็กต่ำกว่า 5 ขวบ จากนั้นให้รีบนำส่งโรงพยาบาล พร้อมกับตัวอย่างเห็ดพิษหากยังเหลืออยู่ไปให้แพทย์ดูด้วย




กำลังโหลดความคิดเห็น