xs
xsm
sm
md
lg

เตือน! หน้าฝนนี้ระวัง “โรคฉี่หนู” ระบาด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

แพทย์เตือนหน้าฝนระวังโรคฉี่หนูระบาด แนะเลี่ยงแช่ ดื่มน้ำไม่มีภาชนะปิดเสี่ยงเชื้อปนเปื้อน พบอาการไข้สูง ปวดหัว เลือดออกเยื่อบุตารีบปรึกษาแพทย์

พญ.กรุณา อธิกิจ อายุรแพทย์ โรงพยาบาลปิยะเวท กล่าวว่าโรคที่มากับหน้าฝนและน้ำที่สำคัญ คือ โรคฉี่หนู หรือ เล็ปโตสไปโรสิส (Leptospirosis) เป็นโรคที่ติดต่อจากสัตว์มาสู่คน โดยสัตว์ที่เป็นพาหะที่พบบ่อย คือ หนู ไม่ว่าจะเป็นหนูบ้าน หนูท่อ หนูนา หนูพุก หนูตะเภา โดยเชื้อโรคมาจากในปัสสาวะของหนู จึงเรียกโรคนี้ว่า “ฉี่หนู” แต่สามารถพบได้ในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมอื่น ได้แก่ หมู วัว ควาย แพะ แกะ ม้า นก กระรอก รวมทั้ง สุนัข แเมว ซึ่งเป็นสัตว์เลี้ยงใกล้ตัวเรานั้นเอง ซึ่งจะติดต่อเมื่อหนูฉี่ลงในน้ำที่ท่วมขัง แล้วเราไปย่ำลงน้ำ เชื้อโรคจะเข้าสู่ร่างกายผ่านทางผิวหนังที่มีบาดแผล หรือเข้าผ่านมาทางผิวหนังที่เปียกชุ่มจากการแช่น้ำนานๆ ตามซอกนิ้วมือนิ้วเท้า หรือเกิดจากการกินอาหารหรือน้ำที่มีเชื้อปนเปื้อน อาจหายใจเอาละอองเชื้อจากของเหลวที่ปนเปื้อนเชื้อ แต่ยังไม่พบการติดต่อจากคนถึงคนโดยตรง ระยะฟักตัวของโรคประมาณ 1 - 2 สัปดาห์ หลังได้รับเชื้อ โดยอาการของโรคผู้ที่ได้รับเชื้อจะมีอยู่ 2 กลุ่ม คือ แบบแรกมีอาการไม่รุนแรง จะพบได้มากสามารถรักษาได้ง่าย อาการของโรคจะคล้ายไข้หวัดใหญ่ คือ มีไข้หนาวสั่น อาจมีไข้ติดต่อกันหลายวันสลับกับระยะไข้ลด ปวดศีรษะค่อนข้างมาก ตาแดงเลือดออกที่เยื่อบุตา คลื่นไส้ อาเจียน และปวดกล้ามเนื้อมาก โดยเฉพาะ ปวดน่องขาทั้ง 2 ข้าง อาจมีอาการปวดหลังและท้อง

แบบที่สอง มีอาการรุนแรงนั้นถึงขั้นเสียชีวิตได้ มีอัตราการเสียชีวิตราว 5-15% โดยที่ผู้ป่วยจะมีอาการตัวเหลือง ตาเหลือง ตับโต ม้ามโต ตับวาย ไตวายเฉียบพลัน ตับอ่อนอักเสบรุนแรง สับสน เยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ เจ็บหน้าอก หอบเหนื่อย จนถึงระบบหายใจล้มเหลว อาจเกิดภาวะเลือดออกง่าย เช่น ผื่น จุดเลือดออกที่ผิวหนัง ไอมีเสมหะปนเลือด เลือดออกในทางเดินอาหาร เลือดออกในช่องเยื่อหุ้มสมอง ทำให้เสียชีวิตในที่สุด หากพบว่าตัวเองมีความผิดปกติดังกล่าวควรรีบมาพบแพทย์ทันที เพื่อทำการตรวจเลือกและปัสสาวะและให้ยาปฏิชีวนะที่รวดเร็วและเหมาะสม อย่างน้อย 7 วัน ในผู้ป่วยที่อยู่ในกลุ่มอาการไม่รุนแรง จะให้ในรูปแบบยากิน และรักษาแบบผู้ป่วยนอก ส่วนในผู้ป่วยกลุ่มอาการรุนแรง ต้องนอนโรงพยาบาล และให้ยาปฏิชีวนะทางหลอดเลือดดำ ดังนั้นเราควรป้องการก่อนที่จะเกิดโรคขึ้นโดยการไม่เดินย่ำน้ำ หรือแช่ในน้ำที่ท่วมขัง ถ้าจำเป็นต้องลุยน้ำควรสวมรองเท้าบูทยาง หรือถุงมือยางป้องกัน หากสัมผัสกับน้ำท่วมขังให้รีบอาบน้ำหรือล้างผิวด้วยน้ำสบู่ทันที หลีกเลี่ยงการสัมผัสสัตว์ที่เป็นพาหะโรคฉี่หนู ทานอาหารที่ปรุงสุกใหม่ ด้วยความร้อน หลีกเลี่ยงอาหารหรือน้ำที่ไม่มีภาชนะปกปิด เพราะอาจมีหนูมากินได้
 
พญ.กรุณา กล่าวอีกว่า หากมีอาการไข้สูงเฉียบพลัน ตาแดง ปวดเมื่อยตามตัว เจ็บกล้ามเนื้อน่องมาก ร่วมกับมีประวัติ เดินลุยน้ำ หรือมีประวัติ เดินป่า ตั้งแคมป์ ท่องเที่ยวตามแม่น้ำ ลำคลอง ทะเลสาบและน้ำตก อย่าซื้อยาปฏิชีวนะทานเอง เพราะอาจเกิดอันตรายจากการแพ้ยาหรือใช้ยาไม่ตรงกับโรค ดังนั้น ควรรีบมาพบแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยและรักษาอย่างถูกต้องต่อไป

ติดตาม Instagram และ Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่




กำลังโหลดความคิดเห็น