xs
xsm
sm
md
lg

ผู้ประสบภัยน้ำท่วมป่วยโรคน้ำกัดเท้า-ปวดเมื่อย-ปวดหัว มากสุด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพ mekhala.dwr.go.th
สธ.กำชับเจ้าหน้าที่ดูแลผู้ประสบภัยน้ำท่วมใกล้ชิด โดยเฉพาะผู้สูงอายุ เด็ก คนท้อง ผู้ป่วยเรื้อรัง พิการ โดยจัดหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ดูแลสุขภาพกายและจิตต่อเนื่อง พร้อมแนะ ปชช.ในพื้นที่น้ำลดและเตรียมทำความสะอาดสวมใสถุงมือยาง สวมรองเท้าบู๊ทเมื่อต้องย่ำน้ำ หวั่นอันตรายจากสัตว์มีพิษ โรคฉี่หนู ระบุเมื่อทำความสะอาดร่างกายให้สะอาดหลังเสร็จภารกิจโดยเร็ว แจงโรคที่พบผู้ประสบภัยป่วยมากที่สุด คือ น้ำกัดเท้า ปวดเมื่อยและปวดหัว

วันนี้ (29 ก.ย.) นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยภายหลังเดินทางติดตาม น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ซึ่งนำคณะลงพื้นที่พบปะให้กำลังใจและมอบสิ่งของช่วยเหลือผู้ประสบภัยที่จังหวัดปราจีนบุรีและศรีสะเกษ ถึงแนวทางความช่วยเหลือด้านการแพทย์และสาธารณสุขแก่ผู้ประสบภัยน้ำท่วม ว่า สธ.ได้จัดส่งหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ออกให้บริการดูแลสุขภาพผู้ประสบภัยน้ำท่วมในทุกพื้นที่ โดยเน้นย้ำให้ดูแลทั้งด้านร่างกายและจิตใจอย่างต่อเนื่องจนกว่าจะเข้าสู่ภาวะปกติ รวมทั้งให้พื้นที่ระดมพลังอาสาสมัครสาธารณสุข หรือ อสม. ออกเยี่ยมบ้านกลุ่มเปราะบางต่อการเกิดปัญหาสุขภาพ ได้แก่ ผู้สูงอายุ เด็ก หญิงตั้งครรภ์-หลังคลอด ผู้ป่วยเรื้อรัง ผู้พิการ อย่างใกล้ชิด เพื่อติดตามดูแลปัญหาสุขภาพ ป้องกันผู้ป่วยเรื้อรังขาดยา ให้ความรู้ในการดูแลสุขภาพ และป้องกันเกิดโรคติดต่อที่อาจเกิดขึ้นในภาวะน้ำท่วม เช่น โรคฉี่หนู ไข้เลือดออก ตาแดง อุจจาระร่วง เป็นต้น

สำหรับบางจังหวัดที่ระดับน้ำลดลงเข้าสู่ระยะการฟื้นฟู เช่น จังหวัดชุมพร กาญจนบุรี ประจวบคีรีขันธ์ กาฬสินธุ์ นครราชสีมา ได้เน้นย้ำให้ดูแลเรื่องสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะการล้างทำความสะอาดตลาดสด ประปาชุมชน ให้ถูกต้องตามหลักสุขาภิบาล เพื่อป้องกันโรคติดต่อ และให้ความรู้ประชาชนที่เริ่มกลับเข้าไปทำความสะอาดบ้านเรือนให้ปลอดภัยจากอุบัติเหตุต่างๆ อันตรายจากสัตว์มีพิษ และโรคติดต่อ โดยเฉพาะโรคฉี่หนู ซึ่งเชื้อโรคจากฉี่หนูที่ปนเปื้อนอยู่ในน้ำ ดินโคลน หรือพื้นเปียกแฉะ จะเข้าสู่ร่างกายโดยการไชเข้าทางบาดแผลหรือเข้าทางเยื่อบุอ่อนๆ เช่น ง่ามมือง่ามเท้า เยื่อบุตาได้ ดังนั้นขอให้เก็บกวาดขยะใส่ถุงพลาสติกมัดปากถุงให้แน่น ไม่ให้เป็นแหล่งอาหารของหนูและสัตว์อื่นๆ สวมถุงมือยางในขณะทำความสะอาดบ้านเรือน หากต้องลุยน้ำย่ำโคลน สวมรองเท้าหรือรองเท้าบู๊ท และอาบน้ำชำระร่างกายให้สะอาดและเช็ดให้แห้งหลังเสร็จภารกิจโดยเร็วที่สุดหากมีไข้สูง ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อโดยเฉพาะน่องและโคนขา ไม่ควรซื้อยามารับประทานเอง ขอให้รีบไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาล หรือหน่วยแพทย์ที่ออกมาให้บริการในพื้นที่

นพ.ประดิษฐกล่าวต่อว่า ทั้งนี้ ผลการออกหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ให้บริการผู้ประสบภัย จนถึงขณะนี้ออกให้บริการรวม 504 ครั้ง มีประชาชนเจ็บป่วย 26,016 ราย มากที่สุดคือน้ำกัดเท้า ปวดเมื่อย และปวดศีรษะ เยี่ยมบ้านผู้ประสบภัย 18,500 ราย โดยวอร์รูมน้ำท่วมของกระทรวงสาธารณสุข ได้ส่งยาชุดน้ำท่วมให้จังหวัดที่ประสบภัยแล้ว 80,000 ชุด สำรองไว้ที่ส่วนกลาง 120,000 ชุด และให้องค์การเภสัชกรรมผลิตเพิ่มอีก 300,000 ชุด สำหรับสถานบริการสาธารณสุขที่ได้รับผลกระทบ มีทั้งสิ้น 35 แห่ง ส่วนใหญ่เป็นโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล เจ้าหน้าที่สาธารณสุขยังคงทำงานดูแลสุขภาพประชาชน โดยบางแห่งที่ไม่สามารถให้บริการได้ หรือไม่สะดวกในการเดินทางเข้าออก ให้ย้ายจุดไปให้บริการในจุดที่ประชาชนรับบริการสะดวก
 

กำลังโหลดความคิดเห็น