xs
xsm
sm
md
lg

5 จังหวัดเสี่ยง "โรคฉี่หนู" ระบาด สธ.สั่งเฝ้าระวังเข้ม!

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สธ.สั่งเฝ้าระวัง 5 จังหวัดเสี่ยง "โรคฉี่หนู" แพร่ระบาด เหตุเป็นพื้นที่พบโรคบ่อย ยิ่งน้ำท่วมยิ่งเพิ่มการแพร่ระบาด ระบุปีนี้พบผู้ป่วยแล้ว 2,182 ราย แนะเลี่ยงเดินลุยน้ำย่ำดินโคลน ย้ำติดเชื้อมีอาการไข้สูง ปวดกล้ามเนื้อโคนขา น่อง ห้ามซื้อยากินเอง ต้องไปพบแพทย์ด่วนก่อนเสียชีวิต
ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต
วันนี้ (17 ต.ค.) นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า ตนได้กำชับให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ในพื้นที่น้ำท่วมและน้ำลด ดำเนินการ 4 เรื่องคือ 1.จัดบริการทางการแพทย์ให้ทั่วถึง ขณะนี้แจกยาชุดน้ำท่วมไปแล้วกว่า 3 แสนครัวเรือน 2.เฝ้าระวังปัญหาสุขภาพจิต 3.ดูแลความสะอาดสุขาภิบาลสิ่งแวดล้อม ตรวจระดับคลอรีนตกค้างในน้ำประปา ซึ่งในช่วงที่มีน้ำท่วมกำหนดให้อยู่ในระดับ 0.5 พีพีเอ็ม และคงไว้ 1 เดือนหลังน้ำลดเพื่อป้องกันโรคระบบทางเดินอาหาร และ4.เฝ้าระวัง ป้องกัน ควบคุมโรคติดต่อ เช่น โรคฉี่หนู โรคอุจจาระร่วง โรคตาแดง โรคไข้เลือดออก โรคมาลาเรีย

นพ.ประดิษฐ กล่าวอีกว่า จากการประเมินโรคติดต่อที่มากับน้ำท่วม ขณะนี้แม้ยังไม่พบความผิดปกติ แต่น้ำท่วมที่ขังหลายจังหวัด บางพื้นที่มีโรคเลปโตสไปโรซีสหรือโรคฉี่หนูอยู่แล้ว โดยข้อมูลทั่วประเทศพบผู้ป่วยโรคฉี่หนูปี 2556 จำนวน 2,182 ราย พื้นที่ที่เคยพบโรคนี้ เมื่อมีน้ำท่วมอาจจะระบาดในพื้นที่ได้ ได้ให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขเฝ้าระวังและให้เพิ่มเป็นกรณีพิเศษใน 5 จังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แก่ สุรินทร์ ศรีสะเกษ อุบลราชธานี บุรีรัมย์ และยโสธร ขอให้เจ้าหน้าที่ติดตามเฝ้าระวังหลังน้ำลดต่อเนื่องเป็นเวลา 15 วัน เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่เคยมีรายงานพบผู้ป่วยมาก่อนเกิดน้ำท่วม

ด้าน นพ.โสภณ เมฆธน อธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) กล่าวว่า เมื่อน้ำท่วมหนูจะหนีน้ำเข้ามาอาศัยตามบ้านเรือนและในที่มีแหล่งอาหารและฉี่ออกมาพร้อมเชื้อ เชื้อชนิดนี้จะมีความเข้มข้นในแหล่งน้ำที่เป็นแอ่งน้ำตื้นๆ และบริเวณดินโคลนชื้นแฉะ และไชเข้าทางแผล รอยถลอกหรือบริเวณง่ามมือง่ามเท้าหรือผิวหนังที่แช่น้ำนาน หรือรับประทานอาหารที่มีเชื้อปนเปื้อน หลังติดเชื้อประมาณ 10 วัน จะมีอาการป่วย อาการที่เป็นสัญญาณเด่นของโรคนี้คือ มีไข้สูง ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ โดยเฉพาะน่องและโคนขา หากมีอาการดังกล่าวขอให้รีบไปพบแพทย์ มียารักษาหาย ประการสำคัญอย่าซื้อยากินเอง โดยเฉพาะยาลดไข้แก้ปวด เพราะยาชนิดนี้ไม่ได้ฆ่าเชื้อ จะทำให้โรคกำเริบรุนแรงขึ้น และเสียชีวิตได้

นพ.โสภณ กล่าวด้วยว่า การป้องกันโรค หากจำเป็นต้องลุยน้ำย่ำโคลน เดินบนที่ชื้นแฉะ ขอให้สวมรองเท้าบูท หรือรองเท้าที่กันน้ำได้ หากมีบาดแผลขอให้ระวังเป็นพิเศษ หลีกเลี่ยงการแช่น้ำ ย่ำโคลนนานๆ เมื่อขึ้นจากน้ำต้องรีบล้างอาบน้ำชำระร่างกายให้สะอาด เก็บอาหารให้มิดชิด อาหารค้างคืนต้องอุ่นให้ร้อน เก็บกวาดขยะโดยเฉพาะเศษอาหารลงในถุงพลาสติกและมัดปากถุงให้แน่น ดูแลที่พักให้สะอาด ไม่ให้เป็นแหล่งอาศัยและแหล่งอาหารของหนู


กำลังโหลดความคิดเห็น