อิริยาบถ คือ อาการเคลื่อนไหวของร่างกาย ในความควบคุมของใจ มี ๔ ประการ คือ ยืน เดิน นั่ง นอน วิธีการอบรมจิตเกี่ยวกับอิริยาบถ เป็นดังนี้
๑. ยืนอบรมจิต มักใช้ปฏิบัติคั่นในระหว่างการเดินจงกรม เพื่อพักผ่อนร่างกายเป็นระยะๆไป คือ ยืนพักขาข้างหนึ่ง โดยผลัดเปลี่ยนกันไป ในเมื่อขาหนึ่งเมื่อย ก็เปลี่ยนพักอีกขาหนึ่ง ในขณะที่ยืนนั้นก็ทำการอบรมจิตเรื่อยไป เมื่อปฏิบัติในอิริยาบถยืนพอสมควรแล้ว ควรใช้อิริยาบถอื่นต่อไป
๒. เดินจงกรม คือ เดินสำรวมจิตไปมา บนทางที่ทำไว้อย่างดี ราบรื่นสะอาด กว้างประมาณ ๒ ศอก ยาวประมาณ ๒๐ ศอก หรือ ๒๐ ก้าว ทางเช่นนี้เรียกว่า “ทางจงกรม” ต้องทำไว้ในที่เงียบสงัด ไม่เปิดเผยเกินไป และไม่ทึบเกินไป อากาศโปร่ง ถ้ามีที่เหมาะพอทำได้พึงทำเป็นทางเฉียงตะวัน เงาของตัวเองไม่รบกวนตัวเอง และท่านว่าเป็นการตัดกระแส แต่ถ้าทำที่จงกรมตามลักษณะที่ว่านี้ไม่ได้ แม้ที่เช่นใดเช่นหนึ่งก็พึงใช้เถิด ข้อสำคัญอยู่ที่การเดินสำรวมจิตเท่านั้น
วิธีจงกรมนี้ พระบาลีไม่แสดงไว้ แต่ที่ปฏิบัติกัน ให้เอามือทั้งสองกุมกันไว้ข้างหน้า ปล่อยแขนลงตามสบาย ทอดสายตาลงต่ำ มองประมาณชั่ววาหนึ่ง ทำสติสัมปชัญญะควบคุมจิตให้อยู่ในความสงบ จะเอากัมมัฏฐานบทหนึ่งมาเป็นอารมณ์หรือไม่ก็ตาม แล้วก้าวเดินช้าๆ ไปสุดหัวจงกรม แล้วหยุดยืนนิดหน่อย จึงกลับหลังหันก้าวเดินมาสู่ที่ตั้งต้น ครั้นถึงที่ตั้งต้นหยุดยืนนิดหน่อย แล้วกลับหลังหันก้าวเดินไปอีก โดยทำนองนี้เรื่อยๆไป เมื่อเมื่อยขาพึงยืนพักดังที่กล่าวไว้ในอิริยาบถยืน หรือจะนั่งพักในอิริยาบถนั่ง ซึ่งจะกล่าวต่อไปก็ได้
อานิสงส์ที่ได้ในการจงกรมนี้ พระบรมศาสดาตรัสว่า
๑. เดินทางไกลทน
๒. ทำความเพียรทน
๓. เจ็บป่วยน้อย เดือดร้อนน้อย
๔. อาหารที่ดื่มกินแล้ว ค่อยๆย่อยไปไม่บูดเน่า
๕. สมาธิที่ได้ด้วยการจงกรม ดำรงมั่นนาน ไม่เคลื่อนง่าย
ส่วนการเดินยืดแข้งยืดขานั้นไม่มีแบบ แล้วแต่อัธยาศัยและความถนัด การเดินชนิดนั้นท่านเรียก “ชังฆวิหาร” เป็นชนิดการเดินเล่นเรื่อยเปื่อยไปตามอัธยาศัยนั่นเอง ถึงอย่างนั้นนักปฏิบัติก็ไม่ละโอกาสเหมือนกัน ย่อมมีสติควบคุมจิตใจ หรือคิดอ่านอะไรๆ ซึ่งเป็นเครื่องอบรมใจไปด้วย
๓. นั่งเจริญฌาน อิริยาบถนั่งในการเจริญฌานนี้ พระบาลีบอกไว้สั้นๆ เราเข้าใจกันไม่ค่อยแจ่มแจ้ง ที่ทรงแสดงไว้ในวิธีเจริญอานาปานสติว่า ให้นั่งคู้ขา (บาลีว่า ปลฺลงฺกํ อาภุชิตฺวา) จะคู้ขาแบบไหนก็ไม่ชัดอีก ทั้งนี้คงเป็นเพราะวิธีนั่งแบบนั้นเป็นที่เข้าใจง่ายในสมัยโน้น ที่ทรงใช้คำสั้นๆ เช่นนั้นพอรู้เรื่องกัน
คำว่า ปลฺลงฺกํ อาจตรงกับคำไทยว่า “นั่งแท่น” ก็ได้ กิริยานั่งแท่นก็คือนั่งขัดสมาธินั่นเอง โดยวิธีนั่งคู้ขาท่อนล่างเข้ามา เอาขาขวาท่อนล่างทับขาซ้ายท่อนล่าง พอให้ปลายเท้าทั้งสองจดถึงเข่าทั้งสองพอดี วิธีนั่งแบบนี้ตรงกับแบบของโยคี ที่เขาเรียกว่า “ปัทมาศนะ” นั่งแบบกลีบบัว จะด้วยเหตุนี้กระมัง นักจิตรกรจึงวาดภาพพระพุทธเจ้านั่งบนดอกบัว
การนั่งแบบนี้บังคับให้ต้องนั่งตัวตรงจึงสบาย และนั่งทนด้วย สตรีไทยรังเกียจการนั่งแบบนี้ โดยถือว่าเป็นการขาดคารวะ จึงชอบนั่งแบบที่เรียกว่า “พับเพียบ” คือ ขาคู้ข้างหนึ่งพับไปข้างหลัง อีกข้างหนึ่งคู้เข้ามายันเข่าข้างหนึ่งไว้ ท่านี้บุรุษเพศไม่ค่อยถนัด ถึงจะนิยมใช้อยู่ในหมู่ผู้ดีก็นั่งกันไม่ค่อยทน แม้ในหมู่บรรพชิตที่ต้องใช้อยู่บ่อยๆ ก็นั่งไม่ค่อยทน สู้แบบบัลลังก์ไม่ได้
ยังมีแบบนั่งอีกแบบหนึ่งในการเจริญฌาน คือ แบบนั่งตั่ง ได้แก่ นั่งเก้าอี้ห้อยเท้านั่นเอง วิธีนี้ใช้ในการเจริญกสิณ ส่วนนั่งตามสบายนั้นไม่มีแบบตายตัว แล้วแต่ความถนัดของบุคคล
เมื่อได้ทราบแบบนั่งเช่นนี้แล้ว พึงทราบวิธีปฏิบัติในการนั่งสืบไป
ก. นั่งแบบบัลลังก์ ตั้งตัวให้ตรง อย่าให้เอน วางหน้าให้ตรง อย่าก้ม อย่าเงย และอย่าเอียง วางมือบนตัก เอามือขวาวางทับมือซ้าย พอให้หัวแม่มือจดกัน ตั้งสติให้มั่น สำรวมจิตเข้ามาตั้งไว้ตรงกลางทรวงอก เอาข้อกัมมัฏฐานข้อหนึ่งที่ตนเลือกแล้ว มาคิดและอ่านเรื่อยไป จนกว่าจะได้ความ เมื่อได้ความแล้วจิตจะสงบเป็นหนึ่ง มีปีติและสุขเกิดขึ้น เลี้ยงจิตให้เกิดความชุ่มชื่นกายใจ มีความสุขกายสบายจิต โปร่งใจขึ้นมากน้อยตามกำลังของความวิเวก และความสงบ พึงดำรงความรู้สึกเช่นนี้ไว้ให้นานที่สุดที่จะนานได้
เมื่อเห็นว่าสมควรแล้ว พึงค่อยๆ ถอยจิตออก คือ นึกขึ้นว่าจะออกเท่านั้น จิตก็จะเคลื่อนจากฐานทันที แล้วค่อยๆ ผ่อนความรู้สึกให้จางออกทีละน้อยๆ จนกลับมาสู่ความรู้สึกอย่างธรรมดา แล้วจึงพิจารณาสิ่งแวดล้อมในขณะนั้น จดจำเอาไว้เป็นบทเรียนสำหรับคราวหน้า และพิจารณาตรวจลักษณะองค์ฌานที่ปรากฏแก่จิตในคราวนั้นให้แจ่มใจ แล้วจึงเคลื่อนไหวอิริยาบถต่อไป
อย่าออกจากสมาธิโดยรีบร้อน จะทำให้ประสาทได้รับความกระเทือนแรงไป เหมือนตื่นนอนแล้วรีบลุกอย่างตะลีตะลาน ย่อมไม่สบายฉะนั้น
ข. นั่งแบบนั่งตั่ง นั่งบนเก้าอี้ หรือตั่ง ห้อยเท้าลงจดพื้น ถ้าเท้าไม่จดถึงพื้นเพราะตั่งหรือเก้าอี้สูง พึงหาอะไรรองเท้าพอให้สบายๆ โดยไม่ต้องห้อยขาต่องแต่ง วางมือแบบเดียวกับนั่งบัลลังก์ก็ได้ เอามือทั้งสองกุมกันไว้บนตักก็ได้ วางตัวและหน้าให้ตรงเช่นที่กล่าวในข้อ ก. (นั่งแบบบัลลังก์)
ต่อนั้นไปพึงปฏิบัติโดยนัยที่กล่าวในข้อ ก. ถ้าเจริญกสิณ ก็พึงตั้งดวงกสิณให้ห่างจากที่นั่งประมาณวาหนึ่ง แล้วนั่งตามแบบ ลืมตาดูดวงกสิณ พินิจให้แน่แล้วหลับตานึกดู จนเห็นภาพดวงกสิณชัดเจนในตาใจ (วิธีปฏิบัติต่อไปนี้จะได้กล่าวไว้ในข้อว่าด้วยกสิณ พึงติดตามไปอ่านที่นั้นอีก)
ค. นั่งแบบพับเพียบ แบบนี้เป็นแบบที่ถนัดของสตรีไทย พึงนั่งพับเพียบวางมือบนตักวางตัวให้ตรง วางหน้าให้ตรง ดำรงสติให้มั่น สำรวมจิตคิดอ่านข้อกัมมัฏฐานที่เลือกไว้ โดยนัยที่กล่าวในข้อ ก. นั้นทุกประการ
ง. นั่งแบบสบาย คือ นั่งตามถนัดของตนๆ แล้วคิดอ่านข้อกัมมัฏฐานอันใดอันหนึ่ง หรือไม่คิดอ่านอะไร เพียงแต่ตั้งสติสำเหนียกอยู่ที่จิต คอยจับตาดูความเคลื่อนไหวของจิต หรือสังเกตลมหายใจเข้าออกตามแต่อัธยาศัย
การที่แนะนำข้อนี้ไว้ ก็โดยที่การบำเพ็ญฌาน ย่อมทำได้ทุกท่า ผู้ไม่ประมาทย่อมไม่ปล่อยให้เวลาล่วงไปเปล่าๆ ย่อมสำเหนียกจับตาดูจิตใจของตนเสมอๆ แม้ในเวลาทำกิจใดๆ อยู่ก็ไม่ละทิ้งเลย
อนึ่ง ในการนั่งเจริญฌานนี้ ก็มีการพักผ่อนกายในระหว่างเจริญฌานได้เช่นเดียวกัน วิธีพักกายในการนั่งคือ เมื่อนั่งตรงๆ เมื่อยแล้ว พึงนั่งย่อตัวลงสักหน่อย หายเมื่อยแล้วจึงนั่งตัวตรงอีก ส่วนการพักมือก็ทำได้เช่นกัน คือ พักในท่าวางมือพลิกคว่ำพลิกหงาย หรือประสานมือก็ได้ แต่ต้องระวังอย่าให้จิตเคลื่อนจากฐานเท่านั้น
คำว่า “ฐาน” นี้หมายถึงว่าจิตดำรงอยู่ในอารมณ์เช่นไร หรือในความสงบขนาดไหนในขณะนั้น อันนั้นจัดเป็นฐานคือที่ตั้งของจิตในขณะนั้น
๔. นอนเจริญฌาน อิริยาบถนอนในการเจริญฌาน มี ๒ อย่าง คือ นอนพักผ่อนร่างกาย กับนอนเพื่อหลับ มีวิธีปฏิบัติต่างกัน ดังนี้
ก. นอนพักผ่อนร่างกาย คือ เมื่อเจริญฌานในอิริยาบถทั้ง ๓ มาแล้ว เกิดความมึนเมื่อยหรืออ่อนเพลียร่างกาย พึงนอนเอนกายเสียบ้าง นอนในท่าที่สบายๆตามถนัด จะหลับตาหรือลืมตาก็ได้ กำหนดใจอยู่ในกัมมัฏฐานข้อใดข้อหนึ่ง หรือเอาสติควบคุมใจให้สงบนิ่งอยู่เฉยๆ ก็ได้
ข. นอนเพื่อหลับ การนอนหลับ เป็นการพักผ่อนที่จำเป็นของร่างกาย ใครๆก็เว้นไม่ได้ แม้แต่พระอรหันต์ก็ต้องพักผ่อนหลับนอนเช่นเดียวกับปุถุชน
ที่ท่านว่าพระอรหันต์ไม่หลับเลยนั้น ท่านหมายทางจิตใจต่างหาก มิได้หมายทางกาย การหลับนอนแต่พอดี ย่อมทำให้ร่างกายสดชื่นแข็งแรง ถ้ามากเกินไปทำให้อ้วนเทอะทะไม่แข็งแรง ถ้าน้อยเกินไปทำให้อิดโรยอ่อนเพลียความจำเสื่อมทรามและง่วงซึม
ประมาณที่พอดีนั้น สำหรับผู้ทำงานเบา เพียง ๔-๖ ชั่วทุ่มเป็นประมาณพอดี ผู้ทำงานหนักต้องถึง ๘ ชั่วทุ่มจึงจะพอดี ในเวลาประกอบความเป็นผู้ตื่น(ชาคริยานุโยค) นั้น ทรงแนะให้พักผ่อนหลับนอนเพียง ๔ ชั่วทุ่ม เฉพาะยามท่ามกลางของราตรีเพียงยามเดียว เวลานอกนั้นเป็นเวลาประกอบความเพียรทั้งสิ้น และทรงวางแบบการนอนไว้เรียกว่า “สีหไสยา” คือ นอนอย่างราชสีห์
การนอนแบบราชสีห์นั้น คือ นอนตะแคงข้างขวา เอนไปทางหลังให้หน้าหงายนิดหน่อย มือข้างขวาหนุนศีรษะ แขนซ้ายแนบไปตามตัว วางเท้าทับเหลื่อมกันนิดหน่อยพอสบาย แล้วตั้งสติอธิษฐานจิตให้แข็งแรงว่า ถึงเวลาเท่านั้นต้องตื่นขึ้นทำความเพียรต่อไป
ก่อนหลับพึงทำสติอย่าให้ไปอยู่กับอารมณ์ภายนอก ให้อยู่ที่จิต ปล่อยวางอารมณ์เรื่อยไปจนกว่าจะหลับ ถ้าให้สติอยู่กับอารมณ์ภายนอกแล้ว จะไม่หลับสนิทลงได้
ครั้นหลับแล้วตื่นขึ้น พึงกำหนดดูเวลาว่า ตรงกับอธิษฐานหรือไม่? แล้วพึงลุกออกจากที่นอน ล้างหน้า บ้วนปาก ทำความเพียรชำระจิตใจให้บริสุทธิ์จากนิวรณ์สืบไป
ถ้าสามารถบังคับให้ตื่นได้ตามเวลาที่กำหนดไว้ไม่เคลื่อนคลาด ชื่อว่าสำเร็จอำนาจบังคับตัวเองขั้นหนึ่งแล้ว พึงฝึกหัดให้ชำนาญต่อไป ทั้งในการบังคับให้หลับ และบังคับให้ตื่นได้ตามความต้องการ จึงจะชื่อว่ามีอำนาจเหนือกาย ซึ่งเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการปฏิบัติอบรมจิตใจขั้นต่อๆ ไป
(ส่วนหนึ่งจากหนังสือทิพยอำนาจ)
(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 163 กรกฎาคม 2557 โดย พระอริยคุณาธาร (ปุสโส เส็ง) วัดป่าเขาสวนกวาง จ.ขอนแก่น)