วงการหนังไทย ไม่ค่อยมีคนทำหนังว่าด้วยชีวิตของ “คุณครู” มาพักใหญ่ จนกระทั่งเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา “คิดถึงวิทยา” ก็กลายเป็นหนังที่เรียกเสียงชื่นชมได้พอสมควร เพราะสามารถผนวกเรื่องราวโรแมนติกเล็กๆ ถ่ายทอดข้อคิดอันงดงาม และสร้างให้ผู้ชมตระหนักในคุณค่าของความเป็นครูได้ดี
ภาพยนตร์เรื่องนี้ถ่ายทอดชีวิตของครูหนุ่มสาวสองคน ซึ่งเป็นตัวละครหลัก ในห้วงเวลาแตกต่างกัน แต่ทั้งคู่มีโอกาสไปใช้ชีวิตในสถานที่เดียวกัน นั่นคือ โรงเรียนกลางเขื่อนอันห่างไกลความเจริญ
เริ่มที่ “สอง” หนุ่มอารมณ์ดี อดีตนักกีฬามวยปล้ำระดับแชมป์ แต่ด้วยชีวิตที่ไม่แน่นอน ทำให้ผกผันมาสู่แวดวงการศึกษา เขามาสมัครเป็นครูที่โรงเรียนบ้านแก่งวิทยา จังหวัดลำพูน ด้วยความหวังว่า ทักษะด้านกีฬาจะทำให้ได้สอนวิชาพลศึกษา แต่แล้วผู้อำนวยการกลับบอกข่าวร้ายว่า ตำแหน่งเดียวที่ว่างอยู่ตอนนี้ คือ ครูประจำโรงเรียนที่สาขาเรือนแพ
โรงเรียนบ้านแก่งวิทยานั้น มีสาขาเรือนแพ ซึ่งเป็นเรือนแพสมชื่อ เพราะสถานศึกษาแห่งนี้ คือ แพสองชั้นขนาดเล็กๆ ที่สร้างขึ้นภายในพื้นที่เขื่อนภูมิพล อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน มองไปเห็นเพียงผืนน้ำกว้างใหญ่ กับภูเขาโอบกอดอยู่รอบด้าน เรือนแพแห่งนี้เปรียบเสมือนโรงเรียนขยายโอกาส เพราะความห่างไกล และความยากลำบากเกินกว่าจะเข้าไปเรียนในเมืองของบรรดาลูกหลานชาวบ้านริมน้ำปิง หรือชาวประมง ผู้ใช้ชีวิตภายในเขื่อนนั่นเอง
ความยากลำบากของคุณครูมือใหม่อย่าง “ครูสอง” เริ่มตั้งแต่การต้องนั่งเรือไปรับเด็กๆจากบ้าน ประกาศให้ทราบว่า มีครูมาประจำที่โรงเรียนแล้ว โดยเด็กๆจะต้องใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันบนเรือนแพตลอดสัปดาห์ที่เปิดสอน
แม้ท้ายที่สุด “ครูสอง” รับเด็กๆมาได้เพียง 4 คน แต่ก็สร้างความปวดเศียรเวียนเกล้าได้ไม่น้อย เพราะเด็กแต่ละคน เรียนคนละช่วงชั้น โจทย์ยากของคุณครูคนใหม่ จึงต้องวางแผนจัดการว่า จะสอนเด็กๆ ในหลักสูตรที่แตกต่างได้อย่างไร ไม่รวมถึงความซนของเด็กๆ หรือการต้องมาใช้ชีวิตภายในสถานที่อันไร้ซึ่งน้ำประปา ไฟฟ้า และสัญญาณโทรศัพท์
ท่ามกลางความยากลำบาก และปัญหาสารพัดที่เกิดขึ้น “ครูสอง” ยังถูกซ้ำเติมให้ชอกช้ำด้วยปัญหาส่วนตัว คือ แฟนสาวไปคบชายคนใหม่
อย่างไรก็ตาม ขณะที่สถานการณ์ย่ำแย่ จนแทบไร้ความหวัง ครูสองได้พบไดอารี่เล่มหนึ่ง ซึ่งเป็นบันทึกของครูสาวคนก่อนที่มาอยู่ที่นี่ เธอชื่อ “แอน” บันทึกของครูแอนช่วยเป็นเครื่องมือแนะนำแนวทาง ให้ข้อคิด แก้เหงา และปลอบประโลมจิตใจของครูสองได้เป็นอย่างดี
ครูแอนเขียนเรื่องราวชีวิตของตนเอง นับตั้งแต่การย้ายเข้ามาอยู่ใหม่ การต้องเจอกับอุปสรรค ไร้สิ่งอำนวยความสะดวก ว่ายน้ำไม่เป็น แถมเด็กๆก็มีพื้นฐานการเรียนต่ำ ซึ่งเธอก็ต้องงัดกลยุทธ์ทุกรูปแบบเอาชนะใจเด็กๆ ให้สนุกกับการเรียน พร้อมๆกับการปรับตัวเองอยู่ตลอดเวลา
บันทึกของครูแอนยังบอกถึงความรู้สึกอีกด้านหนึ่ง ในการเลือกมาสอนที่เรือนแพ คือ การตัดสินใจใช้ชีวิตห่างจากแฟนหนุ่มที่ชื่อ “ครูหนุ่ย” ซึ่งเป็นคุณครูระดับผู้บริหาร
ครูหนุ่ยรักและเป็นห่วงครูแอนมาก แต่ในความรักและห่วงนั้น ก็เกิดเป็นปัญหาความไม่เข้าใจ ทะเลาะกันอยู่บ่อยครั้ง จนกระทั่งเวลาผ่านพ้นไปหนึ่งปี ครูหนุ่ยจึงตัดสินใจขอแฟนสาวแต่งงาน และขอให้ครูแอนย้ายมาสอนโรงเรียนในเมืองที่ตนดูแลอยู่
แม้ว่าครูแอนยังอาลัยเด็กๆที่เรือนแพอยู่ไม่น้อย แต่ชีวิตอีกด้านก็ดึงให้เธอกลับสู่โลกที่คุ้นเคย และตัดสินใจย้ายไปประจำโรงเรียนใหญ่ในที่สุด
เมื่อครูสองอ่านบันทึกมาจนถึงบทนี้ เขาทั้งโกรธ ทั้งเสียใจ และรู้สึกเหมือนอกหัก เพราะท่ามกลางความเหงาอยู่ตัวคนเดียวเหนือสายน้ำอันเงียบสงบ เขามีเพียงบันทึกครูแอน ที่ช่วยให้กำลังใจ แม้ไม่เคยเจอตัวจริง แต่ก็เสมือนว่า ครูแอนเป็นเพื่อนร่วมทุกข์ ร่วมสุข ในการแนะนำแนวทางการใช้ชีวิตบนสถานศึกษาเรือนแพ ขณะเดียวกันเขาก็แอบหวังลึกๆว่า สักวันจะได้เจอกับครูสาวคนนี้
ความเหงา ความรู้สึกเหมือนโดนทิ้ง ทำให้ครูสองตัดสินใจไปโรงเรียนในเมือง ตั้งใจว่า อยากจะไปพูดคุยกับครูแอนสักคำ ก่อนที่เธอจะตัดสินใจแต่งงาน แต่สุดท้ายก็ไม่มีโอกาสได้พบกัน เขาจึงกลับมาเขียนบันทึกเรื่องราวของตนเอง ต่อท้ายจากไดอารี่เล่มเดียวกัน
เรื่องราววุ่นๆยังไม่จบ เพราะครูแอนกับครูหนุ่ยยังมีเรื่องขัดใจกันบ่อยครั้ง ไม่ว่าจะเป็นแนวทางในการสอนที่โรงเรียนใหญ่ ซึ่งระบบการศึกษาบางอย่างนั้น ตีกรอบไว้แคบๆตามทฤษฎี ไม่เปิดโอกาสให้คิดสร้างสรรค์นำมาประยุกต์ใช้ได้จริงในชีวิต แบบที่ครูแอนเคยสอนในโรงเรียนเรือนแพ
ซ้ำร้ายไปกว่านั้น จุดพลิกผันสำคัญอยู่ที่ วันหนึ่งมีหญิงสาวอุ้มท้องมาหาครูแอน ก่อนบอกความจริงว่า พ่อของเด็ก คือ ครูหนุ่ย ว่าที่เจ้าบ่าวของครูแอนนั่นเอง
ความซ้อนทับแต่สลับตำแหน่งของครูแอนกับครูสอง จึงเกิดขึ้นอีกครั้ง ครูแอนตัดสินใจเลิกกับคนรัก และกลับไปสอนที่โรงเรียนเรือนแพเช่นเดิม ขณะที่ครูสองตัดสินใจขอไปศึกษาต่อเพื่อพัฒนาตนเอง ทั้งคู่จึงสวนทางกันอีกครั้ง แต่ทว่าคราวนี้ ครูแอนได้เปิดอ่านบันทึกที่ต่อท้ายของครูสองแล้ว
ความรู้สึกดีๆต่อกันแม้ไม่เคยเห็นหน้ากันมาก่อน แค่เพียงการอ่านจากตัวอักษร ก็ทำให้เกิดความผูกพันบางอย่าง รอเพียงแค่จังหวะเวลาที่จะนำให้ครูหนุ่มสาวทั้งสอง ที่มีอุดมการณ์ร่วมกัน ได้โคจรมาเจอกัน ในวันเวลาที่เหมาะสักครั้ง
หนังไทยเกี่ยวกับชีวิตคุณครูเรื่องนี้ เชื่อมโยงหลักพุทธศาสนาว่าด้วย “ธรรมะสำหรับผู้ที่เป็นครู” ได้หลากหลายข้อ เพราะคุณสมบัติความเป็นครูที่สมบูรณ์ ต้องประยุกต์หลักธรรมหลายด้าน ใช้เป็นกรอบในการดำเนินชีวิต
แต่สำหรับหนังเรื่อง “คิดถึงวิทยา” หลักธรรมหนึ่งที่เด่นชัด คือ “สังคหวัตถุ 4” ซึ่งประกอบด้วย ทาน ปิยวาจา อัตถจริยา และสมานัตตา
เหตุที่ยกหลักธรรมนี้ขึ้นมาเทียบเคียง เพราะการเป็นครูนั้นเสมือนผู้ให้ “ทาน” คือความรู้ ในสิ่งที่มีประโยชน์แก่ศิษย์ ส่วน “ปิยวาจา” ซึ่งหมายถึง การพูดด้วยความหวังดี สร้างประโยชน์แก่ผู้ฟัง มีบทสนทนาตอนหนึ่งที่ครูสอง อ้อนวอนเด็กคนหนึ่งให้มาเรียนหนังสือ โดยบอกว่า จะได้รู้ทันคนอื่น ไม่โดนใครโกง ขณะที่ครูแอนก็ย้ำเตือนให้เด็กตระหนักความสำคัญในการศึกษา การพูดจาหว่านล้อมต่างๆ กับพ่อแม่หรือตัวเด็ก ถือเป็นการใช้ปิยวาจา แนะนำ และสร้างโอกาสดีๆให้แก่ผู้อื่น
สำหรับ “อัตถจริยา” อันหมายถึง การประพฤติเป็นประโยชน์ การขวนขวายช่วยเหลือกิจการที่เป็นสาธารณประโยชน์ ข้อนี้ชัดเจนมากสำหรับการที่ครูหนุ่มสาว ตัดสินใจมาใช้ชีวิตในสถานที่ห่างไกลความเจริญ มาพัฒนาด้านการศึกษาในชนบท
ปิดท้ายที่ “สมานัตตา” คือ การกระทำตนเสมอต้นเสมอปลาย วางตัวให้เหมาะแก่ฐานะ เหตุการณ์ และสิ่งแวดล้อม นับว่ามีความชัดเจนไม่ต่างกัน เพราะด้วยความเสียสละ และนึกถึงอนาคตของเยาวชน ครูแอนกับครูสองจึงตัดสินใจทุ่มเทการสอนไปจนจบภาคเรียนแต่ละปี อดทนต่อความยากลำบาก จนสามารถปรับตัวให้เข้ากับสภาวะแวดล้อมที่ต้องใช้ชีวิตได้ และกลายเป็นส่วนสำคัญของสถานศึกษาแห่งนี้
(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 161 พฤษภาคม 2557 โดย ชยวรรศ มานะศิริ)