หม่อน หรือ มัลเบอร์รี มีชื่อวิทยาศาสตร์ คือ Morus alba Linn. ชื่อภาษาอังกฤษว่า Mulberry Tree มีชื่อเรียกแตกต่างกันไปในแต่ละพื้นที่ เช่น มอน(อีสาน) และ ซิวเอียะ (ภาษาจีนแต้จิ๋ว)
ลักษณะเป็นไม้พุ่มขนาดกลาง เปลือกต้นสีน้ำตาลแดง ลำต้นตั้งตรง ใบเป็นใบเดี่ยว เรียงสลับ รูปไข่ ขอบเรียบหรือหยักเว้าเป็นพู(ขึ้นกับพันธุ์) ผิวใบสาก ปลายเรียวแหลมยาว ฐานใบกลมรูปหัวใจ หรือค่อนข้างตัด ออกดอกเป็นช่อ กลีบดอกสีขาวหม่น รูปทรงกระบอกที่ซอกใบ และปลายยอด ผลเป็นช่อรูปทรงกระบอก มีสีเขียว เมื่อสุกจะมีสีม่วงแดงเข้ม เกือบดำ
หม่อนเป็นอาหารชั้นดีชนิดเดียวของหนอนไหม และเป็นยาพื้นบ้านชั้นเยี่ยมของคนเรา ดังนี้
ใบ มีรสจืดเย็น เป็นยาขับเหงื่อ แก้ไข้ แก้ตัวร้อน แก้ร้อนในกระหายน้ำ ทำยาต้มใช้อมแก้เจ็บคอ และทำให้เนื้อเยื่อชุ่มชื้น แก้ไอ ระงับประสาท หรือต้มเอาน้ำล้างตา แก้ตาแดง ตาแฉะ ฝ้าฟาง และแก้ริดสีดวงจมูก
ผล รักษาโรคไขข้อ บำรุงหัวใจ บำรุงผมให้ดกดำ
ราก ขับพยาธิ และเป็นยาสมาน ตากแห้งต้มผสมน้ำผึ้ง ยานี้จะมีรสหวานเย็น ใช้มากในโรคทางเดินหายใจ และการมีน้ำสะสมในร่างกายผิดปกติ ใช้แก้โรคความดันโลหิตสูง แขนขาหมดความรู้สึก กิ่งอ่อน ใบอ่อน แก้ไข้ แก้หวัด แก้ไอ
เมล็ด ใช้เพิ่มกากใยอาหาร
เปลือก เป็นยาระบาย และยาถ่ายพยาธิ
ส่วนของใบหม่อนนอกจากใช้เลี้ยงไหมแล้ว ยังนำมาทำเป็นใบชา ชงกับน้ำดื่ม ช่วยลดไขมันในเส้นเลือด ลดความดันโลหิต แก้ร้อนใน กระหายน้ำ แก้ไอ และบำรุงธาตุให้แข็งแรง นอกจากนี้ ยังใช้ประกอบเป็นอาหารได้หลายชนิด เช่น ใส่ต้มยำ แกงอ่อม ต้มแซ่บต่างๆ ทำให้กลมกล่อมแทนชูรส (โดยไม่ต้องพึ่งสารเคมี)
ในประเทศจีนถือว่าหม่อนเป็นสมุนไพรฤทธิ์เย็น ใช้ใบหม่อนเป็นสมุนไพรรักษาอาการไอ ความดันเลือดสูง และคลายกังวล ใช้เปลือกราก กิ่งอ่อน ใบ ผล เป็นยาบำรุง แก้โรคเกี่ยวกับทรวงอก ขับปัสสาวะแก้ไอ หืด วัณโรคปอด การสะสมน้ำในร่างกายผิดปกติ โรคปวดข้อ เปลือกต้น เป็นยาถ่าย และยาขับพยาธิ ใช้ผลหม่อนสุกในการป้องกันผมหงอกก่อนวัย
รายงานการศึกษาวิจัยจากประเทศญี่ปุ่น พบว่า ใบหม่อนมีคุณสมบัติในการป้องกันและรักษาโรคต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับผู้สูงอายุ โดยเฉพาะโรคเบาหวาน ช่วยลดโคเลสเตอรอล และความดันโลหิตสูง
ส่วนการค้นคว้าวิจัยของสถาบันหม่อนไหมแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ร่วมกับสถาบันอาหาร มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยรังสิต มหาวิทยาลัยนเรศวร และกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ พบว่า
ใบหม่อนมีกรดอะมิโนที่จำเป็นต่อร่างกายครบทุกชนิด มีแคลเซียมสูง มีสารต้านอนุมูลอิสระที่สำคัญหลายชนิด เช่น เควอซิติน (Quercetin) แคมเฟอรอล (Kaempferol) และ รูติน (Rutin) ซึ่งสามารถป้องกันการดูดซึมของน้ำตาลในลำไส้เล็ก ทำให้กระแสเลือดหมุนเวียนดี และหลอดเลือดแข็งแรง ยับยั้งการเกิดสารก่อมะเร็งเม็ดเลือด มะเร็งเต้านม และมะเร็งลำไส้ใหญ่ ลดอาการแพ้ต่างๆ และยืดอายุเม็ดเลือดขาว
นอกจากนี้ ยังพบสารดีเอ็นเจ มีสรรพคุณลดระดับน้ำตาลในเลือด สารกาบา ลดความดันโลหิต และสารกลุ่มฟายโตสเตอโรล (Phytosterol) ลดโคเลสเตอรอล อีกทั้งไม่พบผลข้างเคียง จึงปลอดภัยต่อผู้บริโภค
และล่าสุด สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ทำการวิจัยพบว่า สารสกัดน้ำจากใบหม่อนสามารถยับยั้งการเกิดหลอดเลือดแข็งตัวได้ด้วย
(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 161 พฤษภาคม 2557 โดย มีคณา)